กรุงวอร์ซอ โปแลนด์ – ท่ามกลางความกังวลที่ปกคลุมประชาคมโลก จากสถานการณ์ ‘นิติธรรมถดถอย’ ควบคู่ไปกับ ‘การขยายตัวของอำนาจนิยม’ ที่กำลังกัดกร่อนรากฐานประชาธิปไตยทั่วโลก เวที World Justice Forum 2025 มีขึ้น ณ กรุงวอร์ซอ ประเทศโปแลนด์ เพื่อเป็นพื้นที่ระดมสมองของนักกฎหมาย นักวิชาการ ภาคประชาสังคม นักสิทธิมนุษยชน องค์กรระหว่างประเทศ และสื่อมวลชน รวมกว่า 600 คน จาก 87 ประเทศ เพื่อส่งสัญญาณเตือนไปยังทั่วโลก
การประชุมที่จัดโดย World Justice Project (WJP) ในครั้งนี้ จึงไม่ได้เป็นเพียงการนำเสนอข้อมูลดัชนีชี้วัดที่น่าตกใจ แต่ยังเต็มไปด้วยความพยายามที่จะหาทางออกจากวิกฤต โดยที่ประชุมได้แสดงความเป็นห่วงอย่างยิ่งต่อสถานการณ์ แต่ในขณะเดียวกันก็ได้จุดประกายความหวัง ด้วยการประกาศ ‘หลักการแห่งวอร์ซอ’ (Warsaw Principles) เพื่อเป็นแนวทางให้ทุกภาคส่วนนำไปปรับปรุงและฟื้นฟูหลักนิติธรรมให้กลับมาเข้มแข็งอีกครั้ง
World Justice Forum 2025 ที่กรุงวอร์ซอ ประเทศโปแลนด์
ถอดรหัส ‘นิติธรรมถดถอย’ ผ่านดัชนี WJP
ก่อนจะเข้าใจความท้าทาย ต้องเข้าใจเครื่องมือวัดผลเสียก่อน
WJP Rule of Law Index คือเครื่องมือประเมินเชิงปริมาณที่ออกแบบมาเพื่อวัดหลักนิติธรรมจากประสบการณ์และการรับรู้ของคนทั่วไปในชีวิตประจำวัน โดยอาศัยข้อมูลจากแหล่งข้อมูลสำคัญ 2 ส่วน คือ การสำรวจภาคประชาชนกว่า 214,000 ครัวเรือน และผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมายอีกกว่า 3,500 คนทั่วโลก
ภาพที่ปรากฏจากดัชนีปี 2024 นั้นน่ากังวลอย่างยิ่ง:
- ภาวะถดถอยต่อเนื่องเป็นปีที่ 7: หลักนิติธรรมได้เสื่อมถอยลงใน 57% ของประเทศทั่วโลก
- อำนาจรัฐไร้การตรวจสอบ: ปัจจัย ‘การจำกัดอำนาจรัฐ’ อ่อนแอลงใน 59% ของประเทศ โดยเป็นผลมาจากการอ่อนแอลงของการตรวจสอบโดยฝ่ายนิติบัญญัติ ตุลาการ และองค์กรนอกภาครัฐ
- สิทธิมนุษยชนถูกคุกคาม: ปัจจัย ‘สิทธิขั้นพื้นฐาน’ ลดลงมากที่สุด คือใน 63% ของประเทศ โดยเฉพาะเสรีภาพในการแสดงออก การชุมนุม และการสมาคม
ผู้เข้าร่วมงาน World Justice Forum กว่า 600 คน จาก 87 ประเทศ
สำหรับประเทศไทย อันดับที่ 78 จาก 142 ประเทศ ด้วยคะแนน 0.50 อาจดูเหมือนอยู่กลางๆ แต่ ดร.พิเศษ สอาดเย็น ผู้อำนวยการสถาบันเพื่อการยุติธรรมแห่งประเทศไทย (TIJ) ซึ่งได้ร่วมประชุมในครั้งนี้ ชี้ให้เห็นมุมมองที่ลึกซึ้งว่า “มันเป็นความรู้สึกเชิงเปรียบเทียบ” เพราะแม้แต่ผู้พิพากษาจากเกาหลีใต้ที่อันดับอยู่ต้นๆ ก็ยังรู้สึกว่าหลักนิติธรรมในประเทศของเขากำลังถดถอย ดังนั้น ประเด็นสำคัญจึงไม่ได้อยู่ที่ตัวเลข แต่อยู่ที่ว่า สังคมไทยเรา ‘ไว’ ต่อตัวเลขนี้แค่ไหน การตระหนักรู้ว่านี่ไม่ใช่เรื่องไกลตัว คือจุดเริ่มต้นของการเปลี่ยนแปลง
‘หลักการแห่งวอร์ซอ’: แผนที่นำทางสู่การฟื้นฟู
เพื่อตอบโต้แนวโน้มที่น่ากังวลนี้ ที่ประชุมได้ร่วมกันร่าง ‘หลักการแห่งวอร์ซอ’ 10 ประการ เพื่อเป็นกรอบการทำงานร่วมกัน โดยมีหลักการสำคัญที่สอดคล้องกับสิ่งที่ TIJ พยายามขับเคลื่อน เช่น
หลักการที่ 1: เสริมสร้างการตรวจสอบและถ่วงดุล เพื่อจำกัดอำนาจฝ่ายบริหาร และปกป้องความเป็นอิสระและคุณธรรมของฝ่ายตุลาการและอัยการ
หลักการที่ 3: ปกป้องพื้นที่ภาคประชาสังคม โดยรับประกันเสรีภาพของสื่อ ส่งเสริมการมีส่วนร่วมของภาคประชาสังคม และต่อต้านเผด็จการทางดิจิทัล
หลักการที่ 5: ขจัดการทุจริต โดยส่งเสริมรัฐบาลเปิด (Open Government) รับประกันการเข้าถึงข้อมูล และสร้างความโปร่งใสในกระบวนการจัดซื้อจัดจ้างและงบประมาณ
หลักการที่ 6: ส่งเสริมกระบวนการยุติธรรมที่ยึดประชาชนเป็นศูนย์กลาง โดย ส่งเสริมระบบยุติธรรมที่เข้าถึงง่าย ครอบคลุม เป็นมิตรต่อผู้ใช้งาน และตอบสนองต่อความต้องการของบุคคลและชุมชนทุกกลุ่ม
ผู้เขียนร่วมรับฟังในงาน World Justice Forum 2025
ผู้เขียนในฐานะสื่อมวลชนจาก THE STANDARD ได้เดินทางมาร่วมสังเกตการณ์การประชุมครั้งนี้ ตามคำเชิญของสถาบันเพื่อการยุติธรรมแห่งประเทศไทย ซึ่งการประชุมจัดขึ้นระหว่างวันที่ 23-26 มิถุนายน 2568 และได้มีโอกาสพิเศษพูดคุยเจาะลึกกับ ศ.พิเศษ ดร.กิตติพงษ์ กิตยารักษ์ ประธานกรรมการ TIJ และ ดร.พิเศษ สอาดเย็น ผู้อำนวยการ TIJ เพื่อถอดรหัสความหมายของปรากฏการณ์นี้ และมองหาทิศทางของประเทศไทยในอนาคต
ผู้เขียนสัมภาษณ์ ศ.พิเศษ ดร.กิตติพงษ์ กิตยารักษ์ ประธาน TIJ
บทสนทนาจากวอร์ซอ: มุมมองสองผู้ขับเคลื่อนหลักนิติธรรมของไทย
THE STANDARD: การได้มาร่วมประชุม World Justice Forum ท่ามกลางความกังวลเรื่องหลักนิติธรรมถดถอยทั่วโลก มองเห็นภาพอะไรที่ชัดเจนขึ้นสำหรับประเทศไทย
ดร.กิตติพงษ์: การประชุมครั้งนี้ได้ประโยชน์ตรงที่ทำให้เห็นว่าปัญหาเรื่องหลักนิติธรรมไม่ได้เกิดขึ้นเฉพาะในบ้านเรา แต่เกิดขึ้นกับหลายประเทศเช่นกัน และยังได้เห็นแนวทางที่ประเทศต่างๆ พยายามแก้ไข ทำให้รู้ว่าเราไม่ได้อยู่คนเดียว มีหลายคนที่มีปัญหาเหมือนเราหรือยิ่งกว่าเรา สิ่งที่น่ากลัวในปัจจุบันคือภาวะนี้มองไม่ค่อยเห็น กระบวนการยุติธรรม ศาล หรือองค์กรอิสระก็ยังคงมีอยู่ แต่สิ่งเหล่านี้อาจจะไม่ได้ทำหน้าที่ที่ทำให้ประชาชนพึงพอใจ หรือไม่ได้ทำหน้าที่ในการป้องกันสิทธิพื้นฐานของประชาชน
ในอนาคตอาจไม่มีการฉีกรัฐธรรมนูญหรือรัฐประหารอย่างโจ่งแจ้ง แต่จะมีการใช้มาตรการทางกฎหมายมาเป็นเครื่องมือของผู้มีอำนาจ ทำให้กระบวนการประชาธิปไตยอ่อนแอลง การที่ WJP หยิบยกเรื่องนี้ขึ้นมาและรวบรวมปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้น ทำให้เราเห็นภาพที่เป็นรูปธรรม และเป็นสัญญาณเตือนภัยในความคิดของผม ทำให้เรารู้สึกว่าต้องพยายามประคับประคองหลักนิติธรรมของบ้านเราให้คงอยู่และดีขึ้น
THE STANDARD: ในฐานะองค์กรจากไทย TIJ มีภารกิจและได้นำเสนออะไรบ้างในเวทีนี้
ดร.พิเศษ: TIJ มุ่งมั่นที่จะเป็นองค์กรฐานความรู้เพื่อสร้างการเปลี่ยนแปลงในด้านหลักนิติธรรมของไทย การประชุมครั้งนี้จึงเป็นโอกาสสำคัญที่เราได้เรียนรู้พัฒนาการใหม่ๆ และกระชับความร่วมมือกับพันธมิตรหลักอย่าง WJP และ OECD เราได้นำเสนอ 2 เรื่องใหญ่ เรื่องแรกคือประสบการณ์การขับเคลื่อนหลักนิติธรรมระดับชาติ ผ่านคณะกรรมการระดับชาติเพื่อขับเคลื่อนหลักนิติธรรม (กขนช.) ซึ่งเราเน้นว่าการทำงานจะสำเร็จได้ต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกภาคส่วน
เรื่องที่สองคือ การนำเสนอรายงานผลการศึกษาที่ทำร่วมกับ OECD ซึ่งเป็นการศึกษาชิ้นแรกในประวัติศาสตร์ไทยที่ใช้โมเดลทางเศรษฐศาสตร์ประเมิน ‘ต้นทุนของอาชญากรรม’ ออกมาเป็นตัวเงิน เราพบว่าผลกระทบจากอาชญากรรมในปี 2022 คิดเป็นมูลค่าสูงถึง 5.6% ของ GDP ประเทศไทย ข้อมูลนี้ชี้ให้เห็นถึงความไม่สมดุลในการจัดสรรทรัพยากร เช่น ปัญหาความรุนแรงในครอบครัวที่สร้างต้นทุนทางสังคมสูงมาก แต่กลับได้รับการจัดสรรงบประมาณในการแก้ไขและเยียวยาน้อยมาก ในขณะที่เราทุ่มงบมหาศาลเพื่อการปราบปรามยาเสพติด แต่ผลกระทบในการแก้ไขปัญหายังไม่สูงเท่าที่ควร ข้อมูลเชิงประจักษ์เช่นนี้จะเป็นเครื่องมือสำคัญให้ TIJ ใช้ทำงานร่วมกับผู้กำหนดนโยบาย เพื่อทบทวนและจัดลำดับความสำคัญของปัญหาต่างๆ โดยอาศัยข้อมูลที่เป็นกลาง ไม่ใช่แค่ความเชื่อหรืออุดมการณ์
THE STANDARD: เมื่อมองกลับมาที่ประเทศไทย อะไรคือหัวใจสำคัญที่สุด และเป็นโจทย์เร่งด่วนที่ต้องแก้ไขเพื่อยกระดับหลักนิติธรรม
ดร.กิตติพงษ์: ผมว่าเรื่องของ ‘ความเชื่อถือศรัทธาในระบบยุติธรรม’ มีความสำคัญที่สุด เราต้องทำให้ระบบยุติธรรมเป็นที่เชื่อถือของประชาชน ซึ่งต้องทำหลายอย่างประกอบกัน เช่น ทำให้องค์กรตุลาการมีความเป็นอิสระ แต่ในขณะเดียวกันก็ต้องมีความรับผิดชอบตามระบอบประชาธิปไตย คือต้องถูกตรวจสอบได้ ไม่ใช่เป็นอิสระลอยๆ นอกจากนี้ ต้องทำให้กระบวนการยุติธรรมไม่เลือกปฏิบัติ และทำให้คนรู้สึกว่าเข้าถึงความยุติธรรมได้โดยไม่มีค่าใช้จ่ายที่แพงเกินไป
จากประสบการณ์ของผมที่ทำเรื่องความขัดแย้งทางการเมือง พบว่าก่อนที่ประเทศจะเป็นรัฐล้มเหลว มันเริ่มต้นจากระบบกฎหมายที่ไม่เป็นที่เชื่อถือ เมื่อกระบวนการยุติธรรมเลือกข้าง ไม่สามารถแก้ปัญหาความขัดแย้งได้ สังคมก็จะเริ่มเสื่อมถอยและไม่ศรัทธาในระบบรัฐ ดังนั้น ถ้าเรารู้สึกว่าหลักความยุติธรรมของเราเริ่มสั่นคลอน ปัญหาคอร์รัปชันมีมาก คนเริ่มไม่เชื่อถือองค์กรภาครัฐ มันก็เป็นสัญญาณเตือนว่าเราอาจจะต้องทำอะไรสักอย่างแล้ว และการแก้ปัญหานี้ไม่ใช่เรื่องของนักกฎหมาย ศาล ตำรวจ อัยการ เท่านั้น แต่จริงๆ แล้วหลักนิติธรรมเป็นของประชาชน กฎหมายต้องคุ้มครองประชาชน ดังนั้นประชาชนต้องตระหนักและเข้ามามีส่วนร่วม
ผู้เขียนสัมภาษณ์ ดร.พิเศษ สอาดเย็น ผู้อำนวยการ TIJ
THE STANDARD: TIJ มีแผนจะขับเคลื่อนเรื่องนี้ต่อในทางปฏิบัติอย่างไร
ดร.พิเศษ: สำหรับ TIJ เรามีโจทย์ใหญ่ที่ต้องกลับไปทำต่อหลายเรื่อง ผมคิดว่า ‘การตรวจสอบการใช้อำนาจ’ (Accountability) และ ‘การเปิดเผยข้อมูลภาครัฐ’ (Open Data) เป็นจุดเริ่มต้นที่ดีและเห็นผลเร็ว เพราะสังคมไทยคุ้นเคยกับเรื่องนี้และมีโครงสร้างพื้นฐานทางเทคโนโลยีรองรับอยู่แล้ว ภารกิจของเราคือการสร้างความเข้าใจให้หน่วยงานที่ถือข้อมูล อย่างเช่น ป.ป.ช. เห็นถึงความสำคัญและประโยชน์ของการเปิดเผยข้อมูล ซึ่งจะนำไปสู่การมีส่วนร่วมของภาคประชาชนในการตรวจสอบและลดความเสี่ยงคอร์รัปชัน
นอกจากนี้ ประเด็นบทบาทของภาคธุรกิจ เป็นเรื่องที่ถูกพูดถึงอย่างมากในการประชุมครั้งนี้ เราอยากนำข้อมูลอย่างตัวเลข ‘ต้นทุนของอาชญากรรม’ ไปสื่อสารให้นักธุรกิจเห็นภาพชัดเจนขึ้นว่า หากพวกเขาร่วมลงทุนในการแก้ไขปัญหา มันไม่ใช่เป็นเพียงการทำบุญ แต่แท้จริงแล้วมันคือ ‘การลงทุนเพื่อองค์กรและระบบนิเวศทางธุรกิจของตัวเอง’ นี่เป็นอีกจุดที่ TIJ อยากจะให้ความสำคัญ เพราะหลักนิติธรรมก็เหมือนสวนที่เราต้องคอยดูแลรดน้ำพรวนดิน กำจัดวัชพืชอย่างสม่ำเสมอ เป็นเรื่องที่ทุกคนต้องมีส่วนร่วม
มุมมองต่อยุทธศาสตร์ชาติ: หลักนิติธรรมกับการเข้าเป็นสมาชิก OECD
นอกเหนือจากการแก้ไขปัญหาภายในประเทศ การยกระดับหลักนิติธรรมยังเชื่อมโยงกับเป้าหมายเชิงยุทธศาสตร์ของชาติอย่างแยกไม่ออก โดยเฉพาะการเข้าเป็นสมาชิกองค์การเพื่อความร่วมมือและการพัฒนาทางเศรษฐกิจ (OECD)
ดร.กิตติพงษ์ ได้ให้มุมมองในประเด็นนี้ว่า ผมว่าสำคัญค่อนข้างมาก เพราะเรากำลังอยู่ในช่วงที่อยากจะเข้าเป็นสมาชิกของ OECD ซึ่งหมายถึงการยกระดับประเทศให้มีมาตรฐานด้านการลงทุนและระบบยุติธรรมเทียบเท่ากับประเทศที่พัฒนาแล้ว เวทีนี้ซึ่งวัดอันดับหลักนิติธรรมก็เชื่อมโยงกับมาตรฐานของประเทศโดยตรง TIJ มีความใกล้ชิดกับทั้ง World Justice Project และ OECD เราได้นำเสนอโครงการวิจัยที่ทำร่วมกับ OECD เป็นประเทศแรกในเอเชีย และได้พูดคุยถึงบทบาทของเราในฐานะองค์กรวิจัยที่เป็นสะพานเชื่อมให้องค์กรต่างๆ ของไทยได้เรียนรู้และพัฒนาไปสู่เป้าหมายการเป็นสมาชิก OECD ซึ่งหลังจากการพูดคุย เราก็มั่นใจว่าทั้งสององค์กรพอใจในบทบาทของเราและพร้อมที่จะร่วมมือกันต่อไป นอกจากนี้ งานวิจัยที่เราจะทำร่วมกับ OECD ต่อไป ก็จะเป็นการปูทางให้ประเทศไทยเมื่อจะเข้าร่วมจริงๆ จะได้ไม่ต้องเริ่มจากศูนย์