เมื่อวันที่ 12 กรกฎาคมที่ผ่านมา ที่ประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ที่มีนายพรเพชร วิชิตชลชัย เป็นประธาน ได้ลงคะแนนลับในการเลือกคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ตามรายชื่อที่ผ่านการสรรหาจากคณะกรรมการสรรหาและที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกา โดยผลการลงคะแนนพบว่ามี 5 คนที่ได้รับคะแนนเสียงเกินกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนสมาชิก สนช. ให้ดำรงตำแหน่ง กกต. ชุดใหม่คือ
1. นายสันทัด ศิริอนันต์ไพบูลย์ นักวิชาการสาขาเทคโนโลยีสิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี
2. นายอิทธิพร บุญประคอง อดีตอธิบดีกรมสนธิสัญญาและกฎหมาย และอดีตเอกอัครราชทูต ณ กรุงไนโรบี สาธารณรัฐเคนยา และกรุงเฮก ราชอาณาจักรเนเธอร์แลนด์
3. นายธวัชชัย เทอดเผ่าไทย อดีตสมาชิกสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.)
4. นายฉัตรไชย จันทร์พรายศรี ผู้พิพากษาหัวหน้าคณะในศาลฎีกา
5. นายปกรณ์ มหรรณพ ผู้พิพากษาศาลฎีกา
ทั้งนี้ พ.ร.บ. ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยกรรมการการเลือกตั้ง พ.ศ. 2560 กำหนดให้มี กกต. จำนวน 7 คน แต่ในคราวลงมติที่ผ่านมามี 2 รายคือ นายสมชาย ชาญณรงค์กุล อดีตอธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และ นายพีระศักดิ์ หินเมืองเก่า อดีตผู้ว่าราชการหลายจังหวัด ไม่ผ่านความเห็นชอบจาก สนช. ซึ่งจะต้องมีการสรรหาใหม่ภายใน 90 วัน
ด้าน นายพรเพชร ในฐานะคณะกรรมการสรรหาคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) เปิดเผยว่า ในวันที่ 31 กรกฎาคมนี้ ที่กรรมการการเลือกตั้ง 5 คน ที่ผ่านความเห็นชอบจากที่ประชุม สนช. จะประชุมนัดแรกเพื่อเลือกประธาน กกต. จากนั้นจะเป็นขั้นตอนของการนำรายชื่อขึ้นกราบบังคมทูลเพื่อทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งต่อไป
ขณะที่ นายศุภชัย สมเจริญ ประธาน กกต. คนปัจจุบัน ได้ฝากถึง กกต. ชุดใหม่ว่า “คนที่มาปฏิบัติหน้าที่ กกต. ชุดใหม่ต้องเสียสละ อดทน อดกลั้น ศึกษาข้อกฎหมายและระเบียบที่มีความเปลี่ยนแปลงไปจากเดิมให้ดี โดยเฉพาะการเลือกตั้งครั้งหน้าที่มีการเปลี่ยนแปลงหลักเกณฑ์ต่างๆ เช่น บัตรเลือกตั้งใบเดียวใช้ได้ 3 อย่างคือ เลือก ส.ส. แบ่งเขตเลือกตั้ง ส.ส. บัญชีรายชื่อ และเลือกนายกรัฐมนตรีด้วย รวมทั้งในแต่ละเขตไม่ได้ใช้เบอร์เดียวกันทั่วราชอาณาจักร และยังมีผู้ตรวจการเลือกตั้ง ซึ่งเป็นสิ่งใหม่จึงต้องศึกษาให้ดี รวมทั้งอำนาจตามกฎหมายใหม่ที่ให้พนักงานสอบสวนเป็นพนักงานสอบสวนตามประมวลกฎหมายอาญา”
สำหรับภารกิจของ กกต. ชุดใหม่ที่จะต้องมารับไม้ต่อในการจัดการเลือกตั้งที่กำลังใกล้เข้ามาตามโรดแมปของรัฐบาล คสช. ซึ่งถือว่าเป็นโจทย์หินและต้องเร่งทำความเข้าใจงานด้านต่างๆ ให้ไวที่สุด ในขณะที่ตัวประธานเองก็ถือว่ามีความสำคัญในฐานะผู้นำองค์กร แม้จะมีหลายฝ่ายมองว่าตัวแทนจากสายศาลน่าจะได้รับเลือกให้เป็นประธาน แต่วันที่ 31 กรกฎาคมจะชัดเจนสู่สายตาสาธารณชนอีกครั้ง