สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) เปิดรับฟังความคิดเห็น (เฮียริ่ง) ต่อหลักการและร่างประกาศเกี่ยวกับการกำหนดหลักเกณฑ์เกี่ยวกับโทเคนดิจิทัลของรัฐบาล (Government Token: G-Token) เพื่อสนับสนุนและส่งเสริมการเพิ่มทางเลือกและโอกาสด้านการออมและการลงทุนของประชาชนอย่างทั่วถึง (Financial Inclusion)
รวมถึงการนำประโยชน์จากเทคโนโลยีและนวัตกรรมมาใช้เพิ่มประสิทธิภาพในการระดมทุนและลงทุนในตลาดทุนไทย (Promoting Digital Financial Innovation) โดยมีการกำกับดูแลที่เหมาะสม เกิดความเท่าเทียมกันในการแข่งขัน (Level Playing Field) และมีกลไกในการดูแลผู้ลงทุนอย่างเพียงพอ (Investor Protection)
ตามที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) ในการประชุมเมื่อวันที่ 13 พฤษภาคม 2568 มีมติอนุมัติการดำเนินการของกระทรวงการคลังในการออกและดำเนินการที่เกี่ยวข้องกับ G-Token ซึ่งเป็นการกู้เงินด้วยวิธีการอื่นใดตามที่คณะรัฐมนตรีอนุมัติ ตามมาตรา 10 วรรคหนึ่ง แห่งพระราชบัญญัติการบริหารหนี้สาธารณะ พ.ศ. 2548 (พ.ร.บ.การบริหารหนี้สาธารณะ) และอนุมัติในหลักการร่างประกาศกระทรวงการคลัง เรื่อง การกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการออกโทเคนดิจิทัล พ.ศ. …. ตามที่กระทรวงการคลังเสนอเพื่อพัฒนากลไกบริหารหนี้สาธารณะ โดยใช้เทคโนโลยีดิจิทัลในการเข้าถึงแหล่งเงินทุนและเพิ่มการเข้าถึงการออมและการลงทุนอย่างทั่วถึง รวมทั้งส่งเสริมให้ผู้ลงทุนสามารถลงทุนด้วยเงินจำนวนไม่มาก
โดยการกู้เงินดังกล่าวเป็นไปตามกรอบวงเงินกู้เพื่อชดเชยการขาดดุลงบประมาณ ตามพระราชบัญญัติการบริหารหนี้สาธารณะ พ.ศ. 2548 ทั้งนี้ จากการหารือสำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ (สบน.) กระทรวงการคลังประสงค์จะกู้เงินด้วยการออกเสนอขาย G-Token ซึ่งกำหนดสิทธิให้ผู้ถือมีสิทธิได้รับคืนเงินต้นและผลตอบแทนตามที่กำหนด โดยประชาชนอาจจองซื้อ G-Token ในตลาดแรกและซื้อขาย G-Token ในตลาดรอง ผ่านผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล และผู้ประกอบธุรกิจหลักทรัพย์ได้ นั้น
คณะกรรมการ ก.ล.ต. ได้มีมติเห็นชอบหลักการกำหนดหลักเกณฑ์เกี่ยวกับ G-Token ทั้งการเสนอขายในตลาดแรกและการให้บริการ G-Token ที่เกี่ยวข้องในตลาดรอง เช่น การกำหนดลักษณะของ G-Token การยกเว้นการขออนุญาตเสนอขาย G-Token และหลักเกณฑ์ที่เกี่ยวข้องกับการให้บริการ G-Token สำหรับผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลและผู้ประกอบธุรกิจหลักทรัพย์ เป็นต้น เพื่อให้การกำกับดูแลมีความเหมาะสม และเกิดประโยชน์สูงสุดต่อประชาชน
ก.ล.ต. จึงเปิดรับฟังความคิดเห็นต่อหลักการและร่างประกาศที่เกี่ยวข้องดังกล่าว โดยมีสาระสำคัญดังนี้
- การกำหนดลักษณะโทเคนดิจิทัลสำหรับ G-Token กล่าวคือ เป็นโทเคนดิจิทัลที่ออกและดำเนินการโดยกระทรวงการคลัง ซึ่งเป็นการกู้เงินด้วยวิธีการอื่นใดตาม พ.ร.บ. การบริหารหนี้สาธารณะฯ โดยมีการกำหนดสิทธิให้ผู้ถือมีสิทธิได้รับชำระคืนเงินต้นและผลตอบแทนตามที่กระทรวงการคลังกำหนด
- การยกเว้นการขออนุญาตเสนอขาย G-Token รวมถึงไม่ต้องยื่นแบบแสดงรายการข้อมูล และร่างหนังสือชี้ชวน และไม่ต้องเสนอขายผ่านผู้ให้บริการระบบเสนอขายโทเคนดิจิทัล (ICO portal) ทั้งนี้ สอดคล้องกับแนวทางในการกำกับดูแลผลิตภัณฑ์การลงทุนประเภทอื่นที่ออกโดยกระทรวงการคลัง
- การยกเว้นการขอใบอนุญาตให้แก่ผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลและผู้ประกอบธุรกิจหลักทรัพย์ ได้แก่
(1) ยกเว้นการขอใบอนุญาตประกอบธุรกิจนายหน้าซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัล (DA Broker) ให้แก่ศูนย์ซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัล (DA Exchange) และผู้ค้าสินทรัพย์ดิจิทัล (DA Dealer) สำหรับการให้บริการเกี่ยวกับ G-Token
และ (2) ยกเว้นการขอใบอนุญาตประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลในส่วนที่เกี่ยวข้องกับ G-Token ให้แก่ผู้ประกอบธุรกิจหลักทรัพย์ (บล.) ตามประเภทใบอนุญาตที่ผู้ประกอบธุรกิจหลักทรัพย์ได้รับอนุญาต โดยกำกับดูแล บล. ผ่านหลักเกณฑ์การประกอบกิจการอื่น ตามพระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ. 2535
- การกำหนดหลักเกณฑ์เกี่ยวกับการให้บริการ G-Token ได้แก่ หลักเกณฑ์เกี่ยวกับการให้คำแนะนำและบริการลูกค้า การรวบรวมและประเมินข้อมูลลูกค้า และกำหนดแนวทางการเปิดเผยราคาอ้างอิง (Indicative Price) รวมถึงหลักเกณฑ์เฉพาะสำหรับ DA Exchange เกี่ยวกับการทำสัญญา การเปิดเผยข้อมูล และการลงทุนใน G-Token ด้วย
ทั้งนี้ ก.ล.ต. ได้เผยแพร่เอกสารรับฟังความคิดเห็น อสน.17/2568 เรื่อง การกำหนดหลักเกณฑ์เกี่ยวกับ โทเคนดิจิทัลของรัฐบาล (Government Token) และร่างประกาศที่เกี่ยวข้อง บนเว็บไซต์ ก.ล.ต. https://www.sec.or.th/TH/Pages/PB_Detail.aspx?SECID=1078 และระบบกลางทางกฎหมาย
https://law.go.th/listeningDetail?survey_id=NTM2MkRHQV9MQVdfRlJPTlRFTkQ= ผู้ที่เกี่ยวข้องและผู้สนใจสามารถแสดงความคิดเห็นได้ที่เว็บไซต์ หรือทาง e-mail: [email protected], [email protected] หรือ [email protected] จนถึงวันที่ 10 มิถุนายน 2568