ส.อ.ท. เผย เดือนเมษายนยอดผลิตรถยนต์ลดลงอีก 19.75% นับเป็นการผลิตต่ำสุดในรอบ 44 เดือน หรือเกือบ 4 ปี ครึ่งปีหลังห่วงภาษีทรัมป์ ทำเศรษฐกิจโลกชะลอ ทุบการส่งออก บวกกับยอดปฏิเสธสินเชื่อ-หนี้เสียพุ่ง พร้อมแนะรัฐบาลเร่งกระตุ้นจ้างงานแทนการแจกเงิน
วันนี้ (22 พฤษภาคม) สุรพงษ์ ไพสิฐพัฒนพงษ์ ที่ปรึกษาประธานกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์และโฆษกกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยว่า ยอดผลิตรถยนต์ในเดือนเมษายน 68 อยู่ที่ 104,250 คัน ลดลง 0.40% ผลิตต่ำสุดในรอบ 44 เดือน
ขณะที่ยอดขาย 47,193 คัน เพิ่มขึ้น 0.97% มาจากการขายรถ EV ที่เพิ่มขึ้น และยอดจองจากมอเตอร์โชว์
โดยช่วงเดือนที่ผ่านมามีการผลิตรถยนต์ ไฟฟ้าทั้ง BEV PHEV และ HEV ในประเทศมากขึ้นเพิ่มขึ้น โดย BEV ผลิต 4,764 คัน เพิ่มขึ้น 639.75% PHEV 1,031 คัน เพิ่มขึ้น 319.11% และ HEV 18,581 คัน เพิ่มขึ้น 35.31% โดยเดือนเมษายนไทยส่งออกรถยนต์นั่ง BEV ได้เป็น “เดือนแรกในประวัติศาสตร์” ถึงจำนวน 660 คัน
ส่วนรถยนต์นั่งสันดาปภายในผลิตลดลง 33.60% เพราะผลิตรถยนต์นั่งส่งออกลดลงถึง 36.93% เนื่องจากมีการเปลี่ยนรุ่นรถยนต์บางรุ่น รถกระบะยังคงผลิตลดลงร้อยละ 3.06 เพราะผลิตขายในประเทศลดลง 33.16% ตามยอดขายรถกระบะในประเทศที่ยังคงลดลง 22.25% ส่งผลให้จำนวนรถยนต์ที่ผลิตได้ในเดือนมกราคม-เมษายน 2568 มีจำนวนทั้งสิ้น 456,749 คัน ลดลงจากเดือนมกราคม-เมษายน 2567 กว่า 11.96%
ส่วนยอดขายรถยนต์ภายในประเทศก็ลดลง 15.42% อยู่ที่ 47,193 คัน แต่เพิ่มขึ้นจากเดือนเมษายน 2567 กว่า 0.97% เพิ่มขึ้นเล็กน้อยจากการขายรถยนต์นั่งไฟฟ้าเพิ่มขึ้น
ข่าวที่เกี่ยวข้อง:
- เปิด 5 ข้อเสนอที่ขุนคลังสหรัฐฯ เอ่ยปากชมไทย เผยเบื้องหลังกุนซือทีมไทยแลนด์ อัปเดตประเทศไหนเจรจาไปแล้วบ้าง
- “สถานการณ์ตอนนี้น้องๆ ต้มยำกุ้งเมื่อปี 39” แบงก์เข้มปล่อยสินเชื่อ โรงงานปิดตัว ข้าวของ-น้ำมันแพง ภาพสะท้อนบทเรียนอุตสาหกรรมรถยนต์ไทย
- ทำไม ‘ฮอนด้า’ เลือกที่จะปิดไลน์ผลิตรถยนต์ที่ ‘อยุธยา’ ย้ายไปโรงงานปราจีนบุรีที่เดียว สัญญาณนี้กำลังบอกอะไรกับอุตสาหกรรมรถยนต์ไทย
- เกิดอะไรขึ้นกับอุตสาหกรรมยานยนต์ไทย? ครั้งนี้ไม่เหมือนยุค 1980 ปิกอัพไทยเสี่ยงล่มสลาย ถูกกินรวบจาก EV จีน
ขณะที่รถกระบะและรถ PPV ยังคงขายลดลง จากการเข้มงวดในการอนุมัติสินเชื่อรถกระบะจากหนี้ครัวเรือนสูงและเศรษฐกิจในประเทศที่อ่อนแอเพราะดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมยังคงลดลงจากอุตสาหกรรมยานยนต์ยังคงลดลง 3.83% การลงทุนภาคเอกชนไตรมาสหนึ่งปีนี้ลดลง และจากค่าครองชีพที่ยังสูง ดัชนีความเชื่อมั่นทางธุรกิจ ดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรม และดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคลดลง
“ยอดปฏิเสธสินเชื่อรถยนต์ ยังพุ่งสูงที่ 50% ส่วนใหญ่ยังเป็นรถกระบะ และภาคการผลิตมีการจ้างงานกลุ่มนี้สูง แม้ว่ารัฐบาลจะระบุว่า GDP ไตรมาส 1 ปี 2568 จะโตถึง 3.1% แต่ก็ยังมีความไม่แน่นอนสูงจากหลายปัจจัย ประชาชนยังกำลังซื้อ ระมัดระวังจับจ่ายใช้สอย หากกระตุ้นภาคการผลิตให้บวกขึ้นมาได้”
อย่างไรก็ดี อุตสาหกรรมยานยนต์ไทยยังวิกฤต ต้องลุ้นว่า ยอดผลิตรถไฟฟ้าจะเพิ่มขึ้นได้มากขนาดไหน และสิ่งที่น่าห่วงคือการจ้างงาน ทั้งซัพพลายเชน ซึ่ง EV ใช้ชิ้นส่วน และภาคแรงงานยังน้อยกว่ารถสันดาปมาก และไทยผลิตชิ้นส่วนไปสหรัฐค่อนข้างมาก หากนโยบายภาษีสหรัฐมีผลก็กระทบหนัก
สุรพงษ์ระบุอีกว่า อาจต้องใช้เวลา 2-3 ปี กว่าอุตสาหกรรมยานยนต์ไทยจึงจะพ้นวิกฤตนี้ไปได้ ซึ่งสอดคล้องข้อห่วงใยจากสภาพัฒน์ก็สะท้อนว่า GDP ไทยยังโตต่ำก็ยิ่งฟื้นตัวลำบาก ทั้งจากภาวะชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก ซึ่งจะส่งผลให้ยอดคำสั่งซื้อจากต่างประเทศลดลง รวมถึงมาตรการภาษีตอบโต้ของสหรัฐ หากอัตราภาษียังอยู่ที่ 36% ก็ยิ่งลำบาก
“ต้องจับตาการเจรจาของทีมไทยแลนด์ว่าจะสามารถเจรจาได้มากน้อยขนาดไหน นอกจากนี้ต้องลุ้นมาตรการ ‘กระบะพี่ มีคลังค้ำ’ ของรัฐบาลว่าจะเพิ่มยอดขายกระบะได้เพียงใด จากสถานการณ์ดังกล่าว คาดว่ากลางปีนี้จะต้องมีการปรับเป้าผลิตแน่นอน” สุรพงษ์กล่าว
ต่อคำถามที่ว่า มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจรัฐบาลในขณะนี้เป็นอย่างไร สุรพงษ์ระบุว่า “มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจภาครัฐ ควรให้น้ำหนักไปที่การสร้างงานแทนการแจกเงิน” และการกระตุ้นเศรษฐกิจจากการลงทุน
“ในมุมภาคเอกชนการลงทุนยังติดลบ จึงต้องดูตัวเลข FDI ว่าจะเข้ามาเมื่อใด จากยอดอนุมัติการส่งเสริมการลงทุน BOI กว่า 1.2 ล้านล้านบาท ต้องรอดูการลงทุนที่แท้จริงว่าจะเท่าไร ซึ่ง BOI ระบุว่าปกติการลงทุนจะใช้เวลา 3 ปีหลังได้รับบัตรส่งเสริมการลงทุน”
ขณะที่ภาคการส่งออกมีความสำคัญมาก เพราะคิดเป็น 50% ของ GDP ดังนั้น จึงต้องดูแต่ละประเทศว่าจะเสียภาษีสหรัฐฯ เท่าไร จึงต้องรอให้ครบกำหนด 90 วัน และจะสามารถประเมินได้ ว่าการส่งออกยังดีอยู่หรือไม่ แต่หากไทยต้องเสียภาษีในอัตราที่สูงกว่าคู่แข่งก็จะขาดเม็ดลงเงินทุน กระทบรายได้
THE STANDARD WEALTH ได้รับข้อมูลจาก ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ซึ่งวิเคราะห์ การขึ้นภาษีรถยนต์และชิ้นส่วนของสหรัฐฯ ว่า มาตรา 232 กระทบส่งออกชิ้นส่วนไทยค่อนข้างมาก เนื่องจากสหรัฐฯ กำลังใช้มาตรการภาษีนำเข้าหลากรูปแบบ เพื่อดึงการลงทุนกลับประเทศ โดยมีรถยนต์และชิ้นส่วนเป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมเป้าหมายหลัก
ดังนั้น การส่งออกชิ้นส่วนรถยนต์ไทย “อาจกระทบค่อนข้างมาก” เพราะไทยส่งออกกลุ่มชิ้นส่วนระบบส่งกำลัง ชิ้นส่วนระบบกันสะเทือน และชิ้นส่วนไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งแม้จะมีมาตรการคืนเงินชดเชยภาษีตามออกมาแต่ก็ช่วยได้ไม่มาก การขึ้นภาษีนำเข้าของสหรัฐฯ ย่อมกระทบกับรถยนต์และชิ้นส่วนที่ส่งออกไปสหรัฐฯอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
โดยในปี 2567 มีมูลค่ารวม 6,426 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งคิดเป็นสัดส่วน 14% ของมูลค่าการส่งออกรถยนต์และชิ้นส่วนไทยไปทั่วโลก และคิดเป็นสัดส่วน 1.2% ของ GDP ไทยในปี 2567
ภาพ: Kevin Frayer / Getty images