“ผมไม่มีอะไรจะพูดถึงเรื่องอนาคตของผม” รูเบน อโมริม เปิดหัวการแถลงข่าวหลังจบเกมที่น่าผิดหวังที่ซานมาเมส เมื่อแมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด พ่ายแพ้ต่อท็อตแนม ฮอตสเปอร์ ในศึกนัดชิงชนะเลิศยูฟ่ายูโรปาลีก
ก่อนเกม แมนฯ ยูไนเต็ด หวังว่าอย่างน้อยการได้แชมป์รายการนี้ไม่เพียงจะเยียวยาฤดูกาลที่เลวร้ายที่สุดในรอบหลายสิบปีของสโมสร แต่ยังอาจจะช่วยประคับประคองความหวังของการก่อร่างสร้างทีมใหม่ในฤดูกาลหน้า
แต่ตลอด 90 นาทีเศษที่สนามของทีมแอธเลติกบิลเบา – หนึ่งในทีมที่พลพรรคอสูรแดงจัดการบุกมาถล่มอย่างเกรียงไกร – กลับไม่ได้แสดงให้เห็นเลยว่าพวกเขาคู่ควรกับการเป็นผู้ชนะเลย
ถึงแม้ว่าสเปอร์สเองก็ไม่ได้เล่นดีเด่อะไรเลยก็ตาม และมันเป็นหนึ่งในนัดชิงชนะเลิศที่คุณภาพเลวร้ายที่สุดสำหรับผู้ชมทั่วโลก แต่ขั้นต่ำที่สุด แอนจ์ ปอสเตโคกลู ก็ทำตามคำพูดที่ทุกคนเคยขบขันกับเขาเอาไว้ว่า “ผมจะพาทีมได้แชมป์เสมอในปีที่ 2”
แล้วอโมริม ผู้ที่ถูกคาดหวังว่าจะพาแมนฯ ยูไนเต็ด กลับมาสู่หนทางที่ยิ่งใหญ่อีกครั้ง เขาทำอะไรลงไป?
สิ่งที่น่าสนใจคือ ในขณะที่เสียงจากบอร์ดบริหารของโอลด์แทรฟฟอร์ดพร้อมจะวางใจให้กุนซือคนหนุ่มชาวโปรตุเกสทำทีมต่อไปในฤดูกาลหน้า
แต่คำถามเริ่มมาแล้วว่า หรือควรจะแยกทางกันแค่ตรงนี้ดีไหม?
บนความพ่ายแพ้ต่อท็อตแนม ฮอตสเปอร์ ในศึกยูโรปาลีกรอบชิงชนะเลิศนั้นไม่ได้ส่งผลเพียงแค่ในเรื่องของอารมณ์ ความรู้สึกของแฟนฟุตบอล Red Army ทั่วโลกหลายสิบล้านคนเพียงเท่านั้น
แน่นอนว่านี่เป็นฤดูกาลที่เลวร้ายที่สุดในรอบหลายทศวรรษตามประวัติศาสตร์อันยิ่งใหญ่ของสโมสร ที่ไม่เพียงแค่จบฤดูกาลด้วยมือเปล่า แต่อันดับในตารางคะแนนยังหล่นลงไปไกลถึงที่ 16 ในปัจจุบันด้วยจำนวนแต้มที่หากเป็นในอีกหลายฤดูกาลอยู่ในกลุ่มลุ้นหนีตกชั้นด้วย
แต่สิ่งที่เลวร้ายที่สุดที่กำลังจะเกิดขึ้นกับแมนฯ ยูไนเต็ด คือผลกระทบจากผลงานในสนามฤดูกาลนี้กำลังจะส่งผลต่อเนื่องถึงอนาคตของสโมสรในระยะยาว ที่อาจจะทำให้งานของ รูเบน อโมริม ยากยิ่งขึ้นไปอีกหลายเท่าในฤดูกาลหน้า
ใช่ อโมริมยังได้ ‘ไปต่อ’
แต่คำถามที่น่าสนใจกว่าคือ ที่ว่าไปต่อนี้จะไปอีกนานสักแค่ไหน?
สัญญาณเรื่องอนาคตของอโมริม นั้นมีเค้าความชัดเจนตั้งแต่ก่อนที่เกมนัดชิงชนะเลิศยูโรปาลีก ที่เมืองบิลเบา ประเทศสเปน จะเริ่มขึ้น
ข้อความนั้นชัดเจน “ไม่ว่าอะไรจะเกิดขึ้นรูเบน อโมริมจะได้ทำงานของเขาต่อไป”
กล่าวคือบอร์ดบริหารของสโมสรซึ่งนำโดยเซอร์ จิม แรตคลิฟฟ์ แห่ง INEOS เจ้าของร่วมสโมสรและ โอมาร์ เบอร์ราดา ซีอีโอของสโมสรที่ทำหน้าที่ในการบริหารกิจการของสโมสรในภาพรวมทั้งเรื่องในและนอกสนามยังคงพร้อมสนับสนุนอโมริมอย่างเต็มที่
การสนับสนุนนั้นอยู่บนหลักการและเหตุผลว่า กุนซือชาวโปรตุกีสสมควรจะได้โอกาสและเวลาในการทำงานของตัวเองอย่างเต็มที่ โดยเฉพาะการสนับสนุนด้วยการปรับกำลังทัพเพื่อสู้ศึกใหม่ในฤดูกาลหน้าซึ่งมีการวางแผนการเสริมทัพผู้เล่นมาสักระยะแล้ว หลังจากที่ในช่วงตลาดฤดูหนาวเสริมทัพด้วยผู้เล่นวิงแบ็กอย่าง แพทริก ดอร์กู เพียงแค่คนเดียว
เพราะการเข้ามารับงานกลางทางบนเงื่อนไขและสถานการณ์ที่ยากลำบากเป็นเรื่องที่ต่างฝ่ายต่างเห็นใจในความจำเป็นและจำใจ
หลายครั้งที่อโมริมแสดงให้เห็นถึงความตั้งใจจริงและจริงใจที่จะพยายามเปลี่ยนแปลงโชคชะตาของสโมสรแห่งนี้ที่ตกอยู่ในสภาพตกต่ำอย่างเหลือเชื่อ ทั้งๆ ที่เมื่อ 12 ปีที่แล้วพวกเขาเพิ่งเป็นแชมป์พรีเมียร์ลีก – แชมป์ลีกสูงสุดสมัยที่ 20 มากที่สุดของเกาะอังกฤษ – ในฤดูกาลสุดท้ายของ เซอร์อเล็กซ์ เฟอร์กูสัน
แต่เวลานี้อันดับหล่นไปไกลใกล้กับโซนตกชั้น
สถิติที่ทำให้หลายคนตกใจคือนับตั้งแต่เข้าปี 2025 เป็นต้นมา ในช่วง 5 เดือนที่ผ่านมาแมนฯ ยูไนเต็ด ของอโมริม เก็บได้เพียงแค่ 9 คะแนนเท่านั้น
9 คะแนนในรอบ 5 เดือน ไม่น่าใช่ผลงานของโคตรทีมอย่างแมนฯ ยูไนเต็ด
และในชัยชนะ 6 นัดในพรีเมียร์ลีกในยุคของเขา 3 ในนั้นเป็นการชนะ 3 ทีมที่ตกชั้นอย่าง เลสเตอร์, อิปสวิช และเซาแธมป์ตัน
“น่าอับอาย” น่าจะเป็นคำพูดที่สะท้อนความรู้สึกและความจริงได้ชัดเจน
ปัญหาของทีมปีศาจแดงใต้การนำของอโมริมนั้นเห็นได้ชัดมาตั้งแต่ช่วงเริ่มต้น เมื่อระบบและปรัชญาการเล่นของเขาไม่เข้ากันเลยกับผู้เล่นที่สโมสรมีอยู่ในเวลานี้
ถึงแม้ว่าจะมีความพยายามในการค้นหาคำตอบ ซึ่งมีผู้เล่นบางรายที่ทำได้ดี ยกระดับตัวเองขึ้นมาได้พอสมควร เช่น มัตไธส์ เดอ ลิกต์, แฮร์รี แม็กไกวร์, คาเซมิโร แต่ปัญหาใหญ่คือผู้เล่นอีกส่วนใหญ่ยังทำผลงานได้ไม่ดีอย่างที่ควรจะเป็น
เรื่องนี้ให้ความยุติธรรมกับอโมริมแล้วก็เข้าใจได้ เพราะการเข้ามากลางทางและหวังจะเปลี่ยนแปลงทุกอย่างได้อย่างรวดเร็วไม่ใช่เรื่องที่ง่าย
เพียงแต่หากมองถึงระยะเวลาเกินครึ่งฤดูกาลที่ผ่านมา ผลงานของกุนซือไฟแรงก็ชวนให้ตั้งคำถามเช่นกันว่าผ่านมาตั้งหลายเดือน ไม่สามารถทำให้ทีมเล่นในแบบที่ต้องการได้แม้แต่น้อยเลยหรือ
ในเกมนัดชิงชนะเลิศกับสเปอร์ส ซึ่งเป็นเกมสำคัญที่มีเดิมพันมากกว่าแค่เรื่องของความสำเร็จ เพราะเกี่ยวพันกับอนาคตการวางแผนงานของสโมสรที่หวังพึ่งรายได้มหาศาลจากโอกาสในการกลับไปเล่นยูฟ่าแชมเปียนส์ลีกอีกครั้งในฤดูกาลหน้า แมนฯ ยูไนเต็ด ยังคงเล่นได้อย่างน่าผิดหวัง
พูดเป็นภาษาไทยง่ายๆ คือ ‘No Bay’
‘ไม่เอาอ่าว’
อโมริม ยังไม่สามารถทำให้ทีมเล่นได้อย่างมีประสิทธิภาพในเกมรุก ไม่มีทรงบอลที่ชัดเจน เกมรับยังเต็มไปด้วยข้อบกพร่อง และไม่สามารถปลุกใจอังเดร โอนานา ผู้รักษาประตูของทีมให้กลับมามั่นใจอีกครั้งได้
ด้วยระยะเวลาที่มีอย่างน้อยขี้เหร่ที่สุดทีมก็ควรจะมีสัญญาณที่ดีให้เห็นบ้าง แต่สิ่งที่เห็นและเป็นอยู่คือไม่มีอะไรที่ดีขึ้นทั้งนั้น
และข้ออ้างเรื่องเวลานั้นยิ่งทำให้อโมริมดูแย่ เพราะกุนซือคนอื่นที่เข้ามากลางทางอย่าง วิตอร์ เปไรรา สามารถเปลี่ยนแปลงวูล์ฟแฮมป์ตัน วันเดอเรอร์ส ให้กลายเป็นทีมที่เล่นได้ดีอีกครั้งภายในระยะเวลาอันรวดเร็ว
เช่นเดียวกันกับ เดวิด มอยส์ ที่กลับมากอบกู้และเปลี่ยนแปลงเอฟเวอร์ตันให้กลับมาเป็นทีมที่มั่นใจได้อีกครั้ง
สิ่งเหล่านี้นำไปสู่ความคลางแคลงใจว่าหากให้โอกาสอโมริมทำงานต่อ ทุกอย่างจะกลับมาดีขึ้นอีกครั้งจริงๆ ใช่ไหม?
อย่าลืมว่าฤดูกาลแห่งความน่าผิดหวังนี้กำลังจะปิดฉากลง และนั่นคือสัญญาณของการเริ่มต้นใหม่ ซึ่งทีมจำเป็นต้องวางแผนว่าจะปรับทัพและเสริมทีมในจุดใดบ้าง
ลำพังเพียงจุดที่ต้องการปรับทัพก็แทบทุกจุดของทีมแล้ว ซึ่งแม้จะมีสัญญาณที่ดีอยู่บ้างกับนักเตะบางรายที่ดูมีท่าทีต้องการย้ายมาเล่นในโอลด์แทรฟฟอร์ด อย่าง มาเตอุส คุนญา กองหน้าอเนกประสงค์ตัวเก่งของวูล์ฟส และ มีเลียม ดีแลป หัวหอกดาวรุ่งจากอิปสวิช
แต่การที่แมนฯ ยูไนเต็ด ไม่ได้ไปแชมเปียนส์ลีกและไม่ได้ไปรายการยุโรปใดๆ อีกทำให้ส่งผลกระทบมหาศาลต่อรายรับของสโมสรที่ขาดรายได้หลัก ‘ร้อยล้านปอนด์’ โดยที่การจบอันดับ 16 (หรือดีที่สุดที่เป็นไปได้ในฤดูกาลนี้คือ 14) จะทำให้เงินรางวัลของพรีเมียร์ลีกตามระบบ Merit System น้อยกว่าทีมที่จบในกลุ่มหัวตารางมาก
ไม่นับรายได้เงินจากสปอนเซอร์ที่จะลดลงตามเงื่อนไข โดยเฉพาะ Adidas สปอนเซอร์ชุดแข่งที่มีรายงานว่าหากไม่ได้เล่นแชมเปียนส์ลีก รายรับจะลดลงจากที่ตกลงไว้ปีละ 90 ล้านปอนด์ลงอีกราวปีละ 10 ล้านปอนด์
ไม่ได้หมายความว่าแมนฯ ยูไนเต็ด ไม่มีเงิน เพราะพวกเขายังคงเป็นหนึ่งในสโมสรระดับท็อปของโลกที่ทำรายได้มากที่สุด พวกเขายังมีเงินอยู่แต่มันน้อยลงอย่างมีนัยสำคัญ และรายรับนั้นอาจไม่เพียงพอที่จะ ‘โปะ’ งบบัญชีของสโมสรที่สุ่มเสี่ยงต่อการละเมิดกฎ Profit and Sustainability Rules (PSR)
นั่นหมายถึงการจะขยับซื้อผู้เล่นเป็นไปได้ยากขึ้น ต้องเลือกอย่างรอบคอบมากขึ้น ไม่นับแรงดึงดูดผู้เล่นชั้นดีที่จะยากขึ้นไปอีกจากสถานการณ์ที่เป็นอยู่
การ ‘ขายทำทุน’ มีโอกาสสูงที่จะเกิดขึ้น โดยเฉพาะกลุ่มผู้เล่นที่ยังพอมีราคาอย่าง ค็อบบี เมนู และ อเลฮานโดร การ์นาโช สองสตาร์ดาวรุ่งจากอะคาเดมีที่นอกจากจะทำเงินได้สูงยังโปะกลับมาในส่วนของ PSR ได้ครบทุกปอนด์ ซึ่งจะช่วยในเรื่องของการเดินบัญชีมาก
คำถามคือเมื่อเป็นแบบนี้แล้วพวกเขายังมั่นใจที่จะซื้อผู้เล่นเพื่อสนองต่อระบบการเล่นแบบ ‘หลังสาม’ ของอโมริมจริงๆ ใช่ไหม?
เพราะระบบการเล่นของเขาแตกต่าง ผู้เล่นที่เหมาะสมกับระบบนี้อาจไม่เหมาะสมกับระบบอื่นก็ได้ ในกรณีที่ต้องมีการเปลี่ยนแปลงตำแหน่งนายใหญ่ในโอลด์แทรฟฟอร์ดอีกครั้งในอนาคตซึ่งเป็นเรื่องที่มีความเป็นไปได้สูง
หากเปรียบให้เห็นภาพง่ายๆ คือตอนนี้แมนฯ ยูไนเต็ด เหลือเงินก้นกระปุกอีกไม่มากนัก พวกเขาไม่สามารถลงทุนเรื่อยเปื่อยและผิดพลาดโดยไม่แคร์ได้เหมือนเดิมอีก การลงทุนทุกอย่างมีเป้าหมายเพื่อการทำให้ทีมกลับมาดีขึ้นอีกครั้งโดยเร็วที่สุด
ดังนั้นถึงแม้ว่าจะมีสัญญาณก่อนหน้านี้ว่า บอร์ดจะให้อโมริมไปต่อในแผนงานของเขา แต่คำถามคืออโมริมจะพาทีมไปต่อได้ไกลแค่ไหน
และยังมั่นใจใช่ไหมว่าเขาคือคนที่ ‘ใช่’ จริงๆ
ทีมในแบบของอโมริมหน้าตาเป็นแบบไหนมองเห็นชัดแล้วใช่ไหม? และรู้ใช่ไหมว่ากว่าจะมีทีมที่เขาฝันจริงๆ มันต้องใช้เวลาและการลงทุนอีกมากมายมหาศาลแค่ไหน ไม่ใช่ทุกอย่างจะสามารถเปลี่ยนแปลงได้ง่ายดายด้วยการโละผู้เล่น 20 คนและเติมผู้เล่นใหม่เข้ามาอีก 20 คน
ต่อให้ในเกม Football Manager ก็เป็นเรื่องที่แทบเป็นไปไม่ได้
หากมีสักช่วงเวลาของความไม่แน่ใจ บางทีการหันหน้ามาคุยกันสักนิดเพื่อทบทวนความรู้สึกระหว่างกันก็เป็นสิ่งที่ควรทำ
เช็กความรู้สึกกันและกันอีกครั้งว่า พร้อมจะไปต่อด้วยกันจริงๆ ใช่ไหม
หรือบางทีเราควรจะพอกันเพียงเท่านี้ แยกทางและต่างเริ่มต้นกันใหม่ เพราะตัวของอโมริมเองก็เปิดช่องว่า “หากคิดว่าเขาไม่ใช่ ก็พร้อมจะไปทันทีโดยไม่สนเรื่องเงินชดเชยด้วย”
มีหลายสิ่งที่แมนฯ ยูไนเต็ด ควรคิดและทบทวนให้ดี