×

ธปท. เผย ‘คุณสู้ เราช่วย’ เฟส 2 ชัดเจน มิ.ย. นี้ ชี้การปรับเกณฑ์ลูกหนี้ค้างชำระ 1 วันเข้าร่วม ‘ต้องรอดูเงื่อนไข’

20.05.2025
  • LOADING...

วันนี้ (20 พฤษภาคม) สุวรรณี เจษฎาศักดิ์ ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายกำกับสถาบันการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า ขณะนี้อยู่ระหว่างการพิจารณาขยายขอบเขตการให้ความช่วยเหลือโครงการ ‘คุณสู้ เราช่วย’ ร่วมกับหน่วยงานอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องทั้งกระทรวงการคลัง สำนักงานสภาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สภาพัฒน์) สมาคมธนาคารไทย และสมาคมสถาบันการเงินเฉพาะกิจ (SFI) และต้องผ่านการพิจารณาของคณะกรรมการชุดต่างๆ จึงคาดว่าจะประกาศเกณฑ์ใหม่ หรือ ‘คุณสู้ เราช่วย’ ระยะที่ 2 ได้ช่วงกลางเดือนมิถุนายน หรือปลายเดือนมิถุนายน 2568 ก่อนที่จะครบกำหนดปิดลงทะเบียนระยะแรกในวันที่ 30 มิถุนายนนี้

 

ดังนั้น กรณีที่มีข่าวจะขยายคุณสมบัติลูกหนี้ของมาตรการ ‘จ่ายตรง คงทรัพย์’ จากเดิมที่ต้องค้างชำระเกิน 30 วันขึ้นไป (ณ วันที่ 30 ตุลาคม 67) ปรับเป็นลูกหนี้ที่เคยมีประวัติค้างชำระ 1 วันขึ้นไปนั้น สุวรรณีกล่าวว่า ขณะนี้ยังคงใช้เกณฑ์เดิมคือ ณ วันที่ 30 ตุลาคม 2567 ต้องมีสถานะหนี้ค้างชำระ 30 วันขึ้นไป และหากจะขยายขอบเขตเป็นค้างชำระ 1 วัน ต้องดูว่าลูกหนี้เข้าข่ายเป็นอย่างไร และต้องมีเงื่อนไขอื่นประกอบด้วย

 

ทั้งนี้ ลูกหนี้ที่เข้าโครงการคุณสู้ เราช่วย ระยะแรก สามารถเข้าร่วมระยะที่ 2 ได้ด้วย เพราะเป็นการขยายขอบเขตคุณสมบัติเท่านั้น แต่สิทธิประโยชน์ที่ได้รับยังเหมือนเดิม

 

ความเคลื่อนไหวครั้งนี้มีขึ้นหลังจากเมื่อวันที่ 18 พฤษภาคม ดร.เผ่าภูมิ โรจนสกุล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า กระทรวงการคลังกำลังอยู่ระหว่างหารือกับ ธปท. เพื่อขยายเงื่อนไขโครงการ ‘คุณสู้ เราช่วย’ อาทิ การขยายคุณสมบัติลูกหนี้ของมาตรการ ‘จ่ายตรง คงทรัพย์’ จากเดิมที่ต้องค้างชำระเกิน 30 วันขึ้นไป (ณ วันที่ 30 ตุลาคม 67) ปรับเป็นลูกหนี้ที่เคยมีประวัติค้างชำระ 1 วันขึ้นไป และเคยปรับโครงสร้างหนี้ เพื่อเป็นการขยายโอกาสให้พี่น้องประชาชนเข้าร่วมมาตรการได้มากยิ่งขึ้น

 

เปิดความคืบหน้า ‘คุณสู้ เราช่วย’

 

สำหรับความคืบหน้าคุณสู้ เราช่วย ตั้งแต่เริ่มโครงการเดือนธันวาคม 2567 ถึง 19 พฤษภาคม 2568 พบว่า จำนวนลูกนี้ลงทะเบียนทั้งหมด 1.3 ล้านราย จากลูกหนี้ที่มีคุณสมบัติทั้งหมด 1.9 ล้านราย แต่มีลูกหนี้ที่ลงทะเบียนแล้วสามารถเข้าร่วมโครงการได้ 580,000 ราย คิดเป็นร้อยละ 30 ของลูกหนี้ที่มีคุณสมบัติทั้งหมด หรือมียอดหนี้ 430,000 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 48 ของยอดหนี้ที่มีคุณสมบัติเข้าร่วมโครงการ 890,000 ล้านบาท

 

สุวรรณีกล่าวอีกว่า จากลูกหนี้ที่ลงทะเบียนแล้วสามารถเข้าร่วมโครงการได้ ณ เดือนมีนาคม 2568 มีลูกหนี้ที่ได้รับการช่วยเหลือแล้ว คิดเป็นยอดหนี้ประมาณ 300,000 ล้านบาท ซึ่งส่วนใหญ่เป็นสินเชื่อบ้าน เนื่องจากสถาบันการเงินสามารถติดต่อลูกหนี้ได้มากกว่าสินเชื่อประเภทอื่นๆ

  • LOADING...

READ MORE






Latest Stories

Close Advertising