×

‘สุรเกียรติ์’ แนะไทย-สหรัฐฯ ลงทุน 4 ด้าน หนุนตั้งยุทธศาสตร์เศรษฐกิจ 10 ปี ลงทุนกับคนรุ่นใหม่ รับมือโลกที่ไม่แน่นอน

20.05.2025
  • LOADING...

‘สุรเกียรติ์’ แนะไทย-สหรัฐฯ ควรร่วมมือ 4 ด้าน และตั้ง ‘เวทีเศรษฐกิจเชิงยุทธศาสตร์ไทย-สหรัฐฯ ระยะ 10 ปี’ ด้าน พิชัย รมว.คลัง ชี้ ไทยติด 1 ใน 25 ประเทศ ‘ตลาดเกิดใหม่’ น่าลงทุน ย้ำความสัมพันธ์ไทย-สหรัฐฯ ยังแน่นแฟ้น รัฐบาลไทยพร้อมร่วมมือเจรจาภาษี ลดขาดดุลการค้า 1.5 หมื่นล้านดอลลาร์

 

วันที่ 20 พ.ค. ศาสตราจารย์พิเศษ ดร.สุรเกียรติ์ เสถียรไทย อดีตรองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ กล่าวในงาน Thailand-U.S. Trade & Investment Summit 2025: Building on a Longstanding Partnership โดยหอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย ร่วมกับหอการค้าอเมริกันในประเทศไทย (AMCHAM) และหอการค้าประเทศสหรัฐอเมริกา (U.S. Chamber of Commerce) ว่า ความสัมพันธ์ระหว่างไทยนั้นยาวนาน และสหรัฐฯ มีพื้นฐานจากค่านิยมร่วมและความเคารพซึ่งกันและกัน 

 

“ยุคที่โลกเผชิญการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่จากความตึงเครียดทางภูมิรัฐศาสตร์ เทคโนโลยีใหม่ และความไม่แน่นอนทางเศรษฐกิจ ไทยในฐานะพันธมิตรเชิงยุทธศาสตร์สามารถมีบทบาทเป็น ‘ผู้เชื่อมโยง’ และ ‘ผู้สร้างเสถียรภาพ’ โดยเฉพาะในภูมิภาคอาเซียน”

 

ดร.สุรเกียรติ์มองว่า ไทย-สหรัฐฯ ควรวางแนวทางและขยายความร่วมมือด้านการค้า 4 ด้านหลัก คือ

 

  1. พลังงานสีเขียวและการเติบโตอย่างยั่งยืน โดยไทยตั้งเป้าเป็นกลางทางคาร์บอนภายในปี 2050 

 

“แต่การบรรลุเป้าหมายนี้ต้องอาศัยการลงทุนครั้งใหญ่ในโครงสร้างพื้นฐานด้านพลังงาน เช่น EV, Smart Grid และเทคโนโลยีสะอาด ซึ่งสหรัฐฯ เป็นผู้นำระดับโลกในด้านนวัตกรรมพลังงานสะอาด เรายินดีต้อนรับสหรัฐฯ ไม่ใช่แค่ในฐานะ ‘นักลงทุน’ แต่ในฐานะ ‘หุ้นส่วน’ ด้านการถ่ายทอดเทคโนโลยี การฝึกอบรม และโมเดลธุรกิจยั่งยืน”

 

  1. ความมั่นคงด้านอาหารและสุขภาพ แม้ไทยจะเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุแล้ว แต่ยังคงเป็นผู้ส่งออกอาหารและบริการสุขภาพรายใหญ่ 

 

“เรามีศักยภาพในด้านเกษตรอินทรีย์ การท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ ไปจนถึงไบโอเทค ขณะที่สหรัฐฯ มีความเชี่ยวชาญด้าน R\D นวัตกรรม และเงินทุน ลองจินตนาการถึงโลกที่ไทยเป็นศูนย์กลางด้านโภชนาการ สุขภาพ และการดูแลของเอเชีย โดยร่วมพัฒนากับสหรัฐฯ ทั้งเรื่องมาตรฐานและวิทยาศาสตร์”

 

  1. การเปลี่ยนผ่านสู่ดิจิทัลและ AI ความสามารถในการแข่งขันในอนาคตอยู่ที่เศรษฐกิจดิจิทัล ซึ่งไทยกำลังผลักดันนโยบายด้าน AI ในภาคการเงิน อุตสาหกรรม ระบบงาน ไปจนถึงจริยธรรม ความปลอดภัยไซเบอร์ และการค้าดิจิทัล แต่เราจะเดินไปข้างหน้าไม่ได้ หากไม่มี ‘ความร่วมมือระดับโลก’ และ ‘ภาวะผู้นำที่รับผิดชอบ’ ซึ่งสหรัฐฯ เป็นผู้นำในเรื่องนี้

 

  1. การแลกเปลี่ยนบุคลากรและการศึกษา ความสัมพันธ์ของเราควรตั้งอยู่บนพื้นฐานของ ‘คน’ ไม่ใช่แค่ ‘การค้า’ ประเทศไทยยินดีขยายความร่วมมือกับมหาวิทยาลัย ศูนย์วิจัย และโครงการผู้นำของสหรัฐฯ

 

“เราต้องร่วมมือกับสถาบันการศึกษาและบริษัทสหรัฐฯ พัฒนาทักษะใหม่ ๆ ในยุคที่โลกเปลี่ยนเร็ว อย่าง จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยซึ่งผมเป็นประธานสภา ร่วมมือกับ MIT ในโครงการ Chula-MIT LGO (Leaders for Global Operations) ให้เรียนต่อระดับปริญญาโทที่วิศวกรรมศาสตร์และ CBS และต่อเนื่องที่ MIT เตรียมคนไทยให้พร้อมสำหรับโลกยุคใหม่”

 


ข่าวที่เกี่ยวข้อง:


 

เสนอจัดตั้งความร่วมมือเศรษฐกิจเชิงยุทธศาสตร์ไทย-สหรัฐฯ ระยะ 10 ปี

 

ทั้งนี้ ดร.สุรเกียรติ์ เสนอให้จัดตั้ง ‘เวทีเศรษฐกิจเชิงยุทธศาสตร์ไทย-สหรัฐฯ’ สำหรับระยะ 10 ปี ที่เน้นความยืดหยุ่น นวัตกรรม ความทั่วถึง ความไว้วางใจ และการเชื่อมโยงทางด้านนโยบายเพื่อยกระดับความเป็นหุ้นส่วน “จากเชิงประวัติศาสตร์สู่อนาคตที่เปลี่ยนแปลงอย่างยั่งยืนและสร้างสรรค์”

 

โดยไทยเป็นศูนย์กลางของอาเซียน ซึ่งภูมิภาคมีประชากร 660 ล้านคน มีเศรษฐกิจดิจิทัลที่เติบโตเร็ว และชนชั้นกลางที่ขยายตัว ด้วยโครงสร้างพื้นฐานที่แข็งแรง เชื่อมโยงกับห่วงโซ่อุปทานระดับโลก และยังคงเป็นหนึ่งใน ‘จุดเริ่มต้นที่น่าเชื่อถือ’ สำหรับการเข้าสู่ตลาดภูมิภาค สำหรับภาคธุรกิจสหรัฐฯ จุดแข็งของไทยไม่ใช่แค่เรื่อง ‘ภูมิศาสตร์’ แต่คือความมั่นคงเชิงยุทธศาสตร์ในยุคที่เต็มไปด้วยความไม่แน่นอน

 

“ไม่ว่าจะในเวทีการทูตหรือธุรกิจ ความไว้วางใจไม่ได้เกิดขึ้นชั่วข้ามคืน แต่มันถูกสร้างขึ้นจากเวลา ความเคารพซึ่งกันและกัน และการพูดคุยที่จริงใจ ผมเชื่อว่าเราต้องลงทุนกับคนรุ่นใหม่ทั้งไทยและอเมริกัน เพื่อให้ความสัมพันธ์ของเรายืนหยัด” ดร.สุรเกียรติ์ กล่าว

 

 

ไทยยินดี ‘ลดขาดดุลการค้า 1.5 หมื่นล้านดอลลาร์’

 

ด้าน พิชัย ชุณหวชิร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวว่า ความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจระหว่างไทยและสหรัฐฯ แข็งแกร่งนับตั้งแต่สนธิสัญญาฉบับหนึ่ง ซึ่งมีผลบังคับใช้อย่างเคร่งครัดมาตั้งแต่ปี 1966 หรือกว่า 50-60 ปีที่ผ่านมา 

 

โดยเฉพาะภาคพลังงานของสหรัฐฯ ได้เข้ามามีบทบาทเป็นพันธมิตรสำคัญของไทย มีส่วนช่วยขับเคลื่อนการเติบโตและพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ 

 

“หากย้อนกลับไปในประวัติศาสตร์ที่ผ่านมา ประเทศไทยเคยพึ่งพาทรัพยากรด้านพลังงานในประเทศได้ถึง 100% แต่ในปัจจุบันความสามารถในการพึ่งพาตนเองลดลงเหลือเพียง 40% เท่านั้น อีก 60% เราจำเป็นต้องพึ่งการนำเข้า”

 

สะท้อนให้เห็นถึงความต้องการใหม่ในด้านการพัฒนาและการลงทุน ซึ่งสหรัฐฯ มีพื้นที่พลังงานอีกหลายแห่งในฝั่งตะวันตกและตอนใต้ โดยเฉพาะในทะเลลึก ที่ในอดีตอาจไม่คุ้มค่าทางเศรษฐกิจในการสำรวจหรือพัฒนา แต่ด้วยเทคโนโลยีสมัยใหม่ในปัจจุบัน เชื่อว่าพื้นที่เหล่านี้อาจมีศักยภาพมากพอๆ กับพื้นที่อ่าวไทย

 

ทั้งนี้ ไทยยินดีลดดุลการค้า 15,000 ล้านดอลลาร์ เช่น การนำเข้าสินค้าจากสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นและลดภาษีสินค้าบางประเภทลง โดยมั่นใจว่าความร่วมมือครั้งนี้จะนำไปสู่ผลลัพธ์แบบ Win-Win ซึ่งได้จัดทำข้อเสนอไปอย่างละเอียด และพร้อมที่จะเดินหน้าเจรจา

 

ชี้ไทยเป็นตลาดเกิดใหม่ที่น่าลงทุนที่สุด 25 อันดับแรกของโลก

 

พิชัยกล่าวอีกว่า ไทยได้รับการจัดอันดับให้อยู่ในลำดับที่ 9-10 ของประเทศตลาดเกิดใหม่ที่น่าลงทุนที่สุดใน 25 อันดับแรกของโลกในปีนี้ ถือเป็นสัญญาณที่ดีและโอกาสที่ไม่ควรมองข้าม จากดัชนีความเชื่อมั่นด้านการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (FDI Confidence Index 2025) โดยบริษัท Kearney จากแบบสำรวจเดียวกัน ยังระบุอีกว่า ประเทศไทยอยู่ในอันดับ 5 ด้านความเชื่อมั่นของนักลงทุน 

 

สำหรับความร่วมมือด้านการลงทุนระหว่างไทย-สหรัฐฯ ถือเป็นรากฐานสำคัญของความสัมพันธ์ที่แน่นแฟ้น ซึ่งปัจจุบันการลงทุนของบริษัทไทยในสหรัฐฯ มีมูลค่าสูงถึง 70,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ครอบคลุมมากกว่า 20 อุตสาหกรรม 

 

วันนี้จึงเป็นโอกาสการลงทุนแบบสองทาง (Two-way Investment) ไทยจะเปิดโอกาสในอีกหลายมิติ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในภาคพลังงาน พร้อมขยายความร่วมมือกับสหรัฐฯ ในหลากหลายสาขาหลัก เช่น ด้านดิจิทัล ที่บริษัทชั้นนำของสหรัฐฯ เช่น Amazon Web Services, Google และ Microsoft ได้เข้ามาลงทุนในประเทศไทยแล้ว

 

ขณะที่ พจน์ อร่ามวัฒนานนท์ ประธานกรรมการหอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศ กล่าวว่า ความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับสหรัฐฯ แน่นแฟ้นยาวนานถึง 192 ปี ท่ามกลางสงครามการค้าหอการค้าไทย-สหรัฐฯ พร้อมรับความท้าทายใหม่ของเศรษฐกิจโลก พร้อมเป็นหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจที่สมดุล

  • LOADING...

READ MORE






Latest Stories

Close Advertising