เมื่อทุกประเทศเดินหน้าสู่การเป็น Net Zero ชัดเจน โดยประเทศไทยประกาศไว้ภายในปี 2065 ดังนั้น ทุกภาคส่วนต่างช่วยกันสนับสนุนให้ไปสู่เป้าหมายนั้นได้ ตั้งแต่ลดการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ การใช้พลังงานทดแทนหรือพลังงานสะอาดมากขึ้น และหนึ่งในนั้นคือ การผลักดันให้เกิดธุรกิจขยะเชื้อเพลิงโดยเป็นการนำเชื้อเพลิงขยะจากทุกภาคส่วนมาเข้าสู่กระบวนการผลิตเป็นพลังงานเชื้อเพลิงเพื่อผลิตไฟฟ้าหรือกลับมาใช้เป็นพลังงานความร้อนในภาคอุตสาหกรรมมากขึ้น โดยศูนย์วิจัยกสิกรไทยได้มีการประมาณการว่า ‘ธุรกิจขยะเชื้อเพลิง’ ยังมีแนวโน้มเติบโตได้ แต่ก็ต้องขึ้นอยู่กับหลายปัจจัย
รู้จักเชื้อเพลิงขยะ
เชื้อเพลิงขยะ (Refuse Derived Fuel หรือ RDF) เป็นเชื้อเพลิงแข็งที่เกิดจากการแปรรูปขยะมูลฝอยที่ผ่านกระบวนการอัดแท่งและปรับปรุงคุณสมบัติต่างๆ เช่น ค่าความร้อน ความชื้น ความหนาแน่น หรือขนาด ให้เหมาะสมต่อการนำไปใช้เป็นเชื้อเพลิงต่อไป
ปัจจุบันผู้ใช้เชื้อเพลิง RDF มี 2 กลุ่ม คือ
- ภาคการไฟฟ้านำไปผลิตกระแสไฟฟ้าที่ 64 %
- ภาคอุตสาหกรรมที่นำไปผลิตพลังความร้อนเผาร่วมกับถ่านหินเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการเผาไหม้และลดการใช้งานถ่านหินทั้งหมดที่ 36 %
อะไรคือปัจจัยหนุนให้ RDF เติบโต
- พฤติกรรมการบริโภค ทั้งจากการสั่งอาหารออนไลน์และการฟื้นตัวของนักท่องเที่ยว ซึ่งเป็นปัจจัยที่ทำให้ภาครัฐต้องผลักดันนโยบายเพื่อจัดการกับปัญหาขยะล้นเมือง และ RDF คือหนทางหนึ่งที่จะนำขยะไปแปรรูปเพื่อผลิตพลังงานได้ต่อไป วิธีนี้นอกจากจะช่วยลดปริมาณขยะคงค้างแล้ว ยังถือเป็นการช่วยนำขยะกลับมาใช้เป็นทรัพยากรในการผลิตพลังงานได้อีกด้วย
- นโยบายภาครัฐสนับสนุน จากความต้องการ RDF เพิ่ม ภาครัฐจึงส่งเสริมโดยช่วงปี 2568-2569 ได้เปิดรับซื้อไฟฟ้าจากขยะชุมชน 282.98 เมกะวัตต์ ที่อัตรารับซื้อ 3.66-5.78 บาท/หน่วย ซึ่งสูงกว่าพลังงานแสงอาทิตย์และลม ที่มีอัตรารับซื้อที่ 2.22 บาท/หน่วย และ 3.10 บาท/หน่วย ตามลำดับ โดยอัตราการรับซื้อไฟที่สูง น่าจะช่วยดึงดูดผู้ประกอบการหันมาลงทุนในโรงไฟฟ้าขยะชุมชนมากขึ้น และคาดว่าจะทำให้ความต้องการ RDF ขึ้นไปแตะที่ระดับ 6 ล้านตันในปี 2569 ได้
ธุรกิจขยะเชื้อเพลิงยังเติบโต
ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่า ปี 2569 ปริมาณขยะมูลฝอยเพิ่มขึ้น 2.2 % หรืออยู่ที่ระดับ 28 ล้านตัน และสามารถนำมาแปรรูปเป็นเชื้อเพลิง RDF ได้ 9.5 ล้านตัน ซึ่งเป็นไปตามพฤติกรรมการบริโภคที่ส่งผลให้จำนวนขยะต่อคนเพิ่มขึ้นเป็น 1.16 กก./คน/วัน เทียบจากปี 2567 อยู่ที่ 1.15 กก./คน/วัน หรือมีปริมาณขยะมูลฝอยโดยรวมแตะ 27.20 ล้านตัน อีกทั้งประเมินว่า ปี 2569 มูลค่าของตลาดขยะเชื้อเพลิงจะเติบโตมากถึง 15.1 % หรือที่ 1.45 หมื่นล้านบาท จากการสนับสนุนของภาครัฐที่ต้องการบริหารจัดการกับปัญหาขยะและการเปลี่ยนถ่ายไปสู่พลังงานทดแทน
- ภาคการผลิตไฟฟ้า คาดว่า ปี 2569 การใช้ RDF ในภาคไฟฟ้าจะเติบโตได้ถึง 16.8 % เนื่องจากจะมีโรงไฟฟ้าขยะมีกำหนดจ่ายไฟเข้าระบบมีกำลังการผลิตรวม 70 เมกะวัตต์ รวมทั้งคาดว่า ปี 2580 ความต้องการ RDF จะมีมากถึง 15 ล้านตัน ตามแผนพัฒนาพลังงานทดแทน และพลังงานทางเลือก 2567-2580 (ร่างแผน AEDP 2024) ที่มีเป้าหมายกำลังการผลิตไฟฟ้าจากขยะชุมชน 1,142 เมกะวัตต์ ทว่า ปัจจุบัน สำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ยังไม่มีแผนเปิดรับซื้อไฟฟ้าจากขยะชุมชนเพิ่มเติม แต่ได้เตรียมการที่จะเปิดรับซื้อไฟฟ้าจากขยะอุตสาหกรรมเพิ่มอีก 30 เมกะวัตต์ ซึ่งส่วนใหญ่จะใช้ขยะอุตสาหกรรมที่ผลิตในโรงงานจึงไม่กระทบความต้องการ RDF จากขยะชุมชน
- ภาคอุตสาหกรรม คาดว่า ปี 2569 จะมีการใช้ RDF สำหรับการผลิตพลังงานความร้อนภาคอุตสาหกรรมเติบโต 10.8 % โดยประเมินว่าจะมีปริมาณความต้องการ RDF เพื่อผลิตพลังงานความร้อนแตะ 3.4 ล้านตัน หรือเพิ่มขึ้นมาประมาณ 3 แสนตัน และส่งผลให้การใช้พลังงานถ่านหินลดลงได้ถึง 6.6 % จากการเปลี่ยนผ่านสู่พลังงานทดแทน อีกทั้งจากมาตรการปรับคาร์บอนก่อนข้ามพรมแดน (CBAM) ของสหภาพยุโรปที่จะเก็บค่าธรรมเนียมสินค้าจากอุตสาหกรรมที่มีการปล่อยคาร์บอนสูง เช่น ปูนซีเมนต์
รายได้ธุรกิจ RDF ดี แต่ต้องลุ้นกับซัพพลายในประเทศ
แน่นอนว่าเมื่อความต้องการ RDF เพิ่มขึ้นทั้งในส่วนภาคการผลิตไฟฟ้าและการใช้พลังงานความร้อน ซึ่งศูนย์วิจัยฯ ประเมินไว้ว่า ปี 2569 รายได้ตลาดขยะเชื้อเพลิงจะอยู่ที่ 1.45 หมื่นล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปี 2568 อยู่ที่ 1.26 หมื่นล้านบาท แต่ขณะเดียวกันยังมีความเสี่ยงที่ต้องบริหารจัดการเนื่องจากซัพพลายในประเทศจะมีไม่พอความต้องการ เพราะจากข้อมูล พบว่า ปี 2567 ขยะมูลฝอยภายในประเทศที่สามารถนำไปแปรรูปเป็น RDF ได้ มีเพียง 35 % หรือประมาณ 9.5 ล้านตัน โดยขยะที่เหลือเป็นส่วนที่ไม่เหมาะสำหรับนำไปรีไซเคิลแปรรูปได้ และจากสัดส่วนดังกล่าวนำมาแปรรูปสามารถนำไปผลิตไฟฟ้าและความร้อน RDF ได้จริง 82 %
ดังนั้น สิ่งสำคัญจากนี้คือ ต้องสร้างการรับรู้และทำให้เกิดการคัดแยกขยะ รวมถึงรวบรวมขยะอย่างถูกต้องเพื่อที่จะช่วยกันผลักดันให้ปริมาณขยะมูลฝอยที่มีสามารถนำไปสู่กระบวนการแปรรูปเป็น RDF ได้มากขึ้น
ความเสี่ยงธุรกิจเชื้อเพลิงขยะ
- ความต้องการ RDF ภาคการผลิตไฟฟ้ามีความไม่แน่นอน เพราะขึ้นอยู่กับนโยบายภาครัฐเป็นหลัก อีกทั้งพลังงานเชื้อเพลิงจากขยะยังต้องแข่งขันกับพลังงานสะอาดประเภทอื่นที่ภาครัฐอาจสนับสนุนมากกว่า เช่น พลังงานแสงอาทิตย์ที่มีต้นทุนการผลิตไฟฟ้าต่อหน่วยต่ำกว่าเท่าตัว
- นโยบายจากห่วงโซ่การผลิตเชื้อเพลิงขยะของภาครัฐยังไม่เป็นหนึ่งเดียว ปัจจุบันยังต้องอาศัยการประสานงานหลายหน่วยงาน เช่น การจัดเก็บขยะกระทรวงมหาดไทยดูแล แต่การกำหนดนโยบายการรับซื้อพลังงานเป็นของกระทรวงพลังงาน
- ปริมาณขยะมูลฝอยถูกนำไปรีไซเคิลมากกว่าถูกนำไปแปรรูปเป็นพลังงาน โดยปี 2556-2566 อัตราการเติบโตของขยะที่ถูกรีไซเคิลสูงกว่าการรวบรวมขยะเพื่อผลิตพลังงานถึง 3.0%
- ธุรกิจ RDF อาจเติบโตไม่ยั่งยืนในระยะยาว เนื่องจากกระบวนการผลิตพลังงานจากขยะมักมาจากการเผาไหม้ ซึ่งมีการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ทำให้พลังงานขยะอาจถูกลดบทบาทได้ในอนาคตจากข้อกำหนดสิ่งแวดล้อมที่เข้มงวดขึ้น โดยเฉพาะหลังจากที่สหราชอาณาจักรจะนำพลังงานขยะเข้าสู่ระบบสิทธิการซื้อขายใบรับรองการปล่อยคาร์บอน (Emission Trading Scheme) ในปี 2571 ซึ่งสะท้อนถึงความกังวลด้านมลพิษจากพลังงานขยะ
22 บจ. ทำธุรกิจขยะเชื้อเพลิงพร้อมจับมือร่วมลงทุน
จากข้อมูลศูนย์วิจัยกสิกรไทย พบว่า มีบริษัทจดทะเบียนไทย (บจ.) ที่อยู่ในห่วงโซ่ธุรกิจขยะเชื้อเพลิง ทั้งหมด 22 บริษัท โดยแบ่งเป็น 3 ลักษณะการประกอบธุรกิจ คือ 1.ผู้ผลิตเชื้อเพลิงขยะ RDF ทั้งหมด 9 บริษัท 2.โรงไฟฟ้าขยะ 11 บริษัท และ 3.โรงงานปูนที่มีการใช้เชื้อเพลิงขยะ 2 บริษัท
ทั้งนี้ จากตารางผลการดำเนินงานแต่ละ บจ. ทั้ง 3 ประเภทในปี 2566 และ 2567 ต่างมีผลประกอบการออกมาเป็นบวกและลบสลับกันไป ทั้งยอดขาย รายได้ และกำไรจากการดำเนินงาน (Operating Profit) ขณะที่อัตราส่วนผลตอบแทนต่อส่วนของผู้ถือหุ้น (ROE) ถือว่ายังให้ผลตอบแทนที่ดี แต่อย่างไรก็ตาม ตัวเลขดังกล่าวอาจไม่สามารถสะท้อนแนวโน้มธุรกิจเชื้อเพลิงขยะในไทยโดยรวมได้ เนื่องจากผู้ประกอบการบางบริษัทมีผลประกอบการจากการดำเนินหลายธุรกิจ ได้แก่
บมจ.ยูเอซี โกลบอล (UAC) ทำธุรกิจนำเข้า ขาย สารเคมีที่ใช้ในอุตสาหกรรมน้ำมัน โรงกลั่น และปิโตรเคมี แต่ก็มีการลงทุนในอุตสาหกรรมด้านพลังงานทดแทนและพลังงานทางเลือก และระบบสาธารณูปโภคด้วย ซึ่งปัจจุบันมีโครงการผลิตเชื้อเพลิง RDF ทั้งในไทยและต่างประเทศ เช่น โครงการผลิตเชื้อเพลิงจากบ่อขยะอำเภอคลองหลวง จ.ปทุมธานี ซึ่งเชื้อเพลิงที่ผลิตได้จะส่งให้กับโรงงานปูนซีเมนต์ใช้เป็นเชื้อเพลิงต่อไป หรือ โครงการการผลิตเชื้อเพลิงที่เมืองซูกาบูมี อินโดนีเซีย
โดยมีแผนงานในอนาคตพร้อมขยายธุรกิจในกลุ่มประเทศกัมพูชา ลาว เมียนมา เวียดนาม (CLMV) เพื่อให้เกิดการใช้พลังงานให้มีประสิทธิภาพ (Energy Efficiency) และโมเดลเศรษฐกิจสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน (Bio Circular Economy) พร้อมร่วมมือกับพันธมิตรที่มีความสนใจในการทำธุรกิจร่วมกันในธุรกิจโรงไฟฟ้าขยะ เพื่อขยายโอกาสทางธุรกิจและเสริมสร้างความยั่งยืนในระยะยาว รวมถึง
ให้บริการติดตั้งและให้เช่าเครื่องจักรบดขยะและเครื่องคัดแยกขยะ เพื่อสนับสนุนผู้ประกอบการท้องถิ่นที่มีศักยภาพในการผลิตเชื้อเพลิง RDF3 แต่ขาดเงินทุนในการลงทุนเครื่องจักร
นอกจากนั้น ธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องขยะเชื้อเพลิงทั้ง 3 ประเภท ต่างก็ประกาศพร้อมเป็นพันธมิตรทางธุรกิจร่วมกัน เช่น เมื่อปี 2567 มี 3 บริษัท คือ บมจ.เบตเตอร์ เวิลด์ กรีน (BWG) บมจ.เอิร์ธ เท็ค เอนไวรอนเมนท์ (ETC) และ บมจ.กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์ (GULF) ที่ให้บริษัทลูก บริษัท กัลฟ์ เวสท์ ทู เอ็นเนอร์จี โฮลดิ้งส์ จำกัด (GWTE) ลงนามร่วมลงทุนโรงไฟฟ้าขยะอุตสาหกรรม 12 โครงการ และโครงการลงทุนโรงงานผลิตเชื้อเพลิงแข็งจากขยะอุตสาหกรรม (SRF) อีก 3 โครงการ มูลค่าการลงทุนรวม 20,800 ล้านบาท
ภาพ: Sutipond Somnam / Shutterstock
อ้างอิง: