ในช่วงวันที่ 9-11 พฤษภาคมนี้ จับตายานอวกาศ Kosmos 482 ของอดีตสหภาพโซเวียต จะตกกลับสู่โลกอย่างไร้การควบคุม หลังจากลอยล่องอยู่ในวงโคจรรอบโลกมานานกว่า 53 ปี
Kosmos 482 ออกเดินทางจากโลกเมื่อวันที่ 31 มีนาคม 1972 พร้อมกับภารกิจออกเดินทางไปลงจอดบนดาวศุกร์ ทว่าข้อผิดพลาดระหว่างการจุดเครื่องยนต์จรวด ส่งผลให้ยานลำนี้ติดอยู่ในวงโคจรที่มีความรีสูง นั่นคือมีจุดใกล้โลกสุดที่ระยะห่าง 205 กิโลเมตร และจุดไกลสุดห่างออกไป 9,805 กิโลเมตร
อันที่จริง ชื่อ Kosmos 482 ก็เป็นชื่อที่ทางการโซเวียตใช้เพื่อปกปิดข้อผิดพลาดของภารกิจ เพราะแท้จริงแล้วยานลำนี้เป็นยานสำรวจฝาแฝดกับ Venera 8 ที่ประสบความสำเร็จในการลงจอดบนดาวศุกร์ได้เป็นครั้งที่สอง และถูกปล่อยขึ้นบินตามหลังไปเพียงแค่ 4 วันเท่านั้น
NPO Lavochkin บริษัทอวกาศผู้ออกแบบและพัฒนายานสำรวจดาวศุกร์ของโซเวียต ระบุว่ารูปแบบและอุปกรณ์บนยาน Kosmos 482 นั้นเหมือนกับยาน Venera 8 ทำให้ทราบได้ว่าแคปซูลลงจอดของยานอวกาศลำนี้ ชิ้นส่วนเดียวที่ยังเหลืออยู่ในวงโคจรรอบโลก ได้ถูกออกแบบมาเพื่อทนทานต่อสภาพแวดล้อมของดาวศุกร์ ในความกดอากาศมากกว่าระดับน้ำทะเลปานกลางบนโลก 100 เท่า และแรง 300 G อีกด้วย
เนื่องจากไม่มีใครสามารถบังคับยาน Kosmos 482 ได้อีกต่อไป และส่วนอื่นๆ ที่นำส่งขึ้นไปต่างตกกลับมาเผาไหม้ในบรรยากาศโลกหมดแล้ว ทำให้เหลือเพียงแคปซูลลงจอดขนาด 1 เมตรลำนี้ ที่จะตกกลับโลกอย่างไร้การควบคุม และไม่สามารถคาดการณ์ได้อย่างแน่ชัดว่ายานจะลงจอดเหนือบริเวณใดของโลก แต่จะอยู่ในขอบเขตละติจูด 52 องศาเหนือ จนถึง 52 องศาใต้ ซึ่งรวมถึงบริเวณประเทศไทยเช่นกัน
มีความเป็นไปได้ว่า Kosmos 482 อาจรอดจากการตกสู่บรรยากาศโลกได้ จากแผ่นกันความร้อนที่หนากว่ายานทั่วไป และแม้ว่าบนยานลำนี้จะมีร่มชูชีพที่ถูกออกแบบมาเพื่อชะลอความเร็วระหว่างลงดาวศุกร์ แต่คาดว่าตัวร่มอาจเสื่อมสภาพจากการเผชิญรังสีบนอวกาศเป็นเวลายาวนาน หรือมีความเป็นไปได้ที่มันอาจถูกกางออกโดยไม่ได้ตั้งใจในอวกาศไปแล้ว จากภาพถ่ายโดย Ralf Vandebergh นักดาราศาสตร์ที่ใช้กล้องโทรทรรศน์บันทึกภาพจากภาคพื้นโลก
ด้าน Marco Langbroek นักดาราศาสตร์ผู้ติดตามตำแหน่งของยานอวกาศลำนี้อย่างต่อเนื่อง คำนวณว่าช่วงเวลาที่ Kosmos 482 จะตกกลับสู่โลกนั้นอยู่ในช่วงวันที่ 10 พฤษภาคม เวลา 14:37 น. ตามเวลาประเทศไทย โดยมีค่าความคลาดเคลื่อน ± 1 วันด้วยกัน สอดคล้องกับช่วงเวลาที่ศูนย์ปฏิบัติการร่วมอวกาศ กองทัพอวกาศสหรัฐ หรือ CSpOC ระบุไว้ในวันที่ 10 พฤษภาคม เวลา 4:33 น. ตามเวลาประเทศไทย พร้อมค่าความคลาดเคลื่อน ± 20 ชั่วโมง
หากแคปซูลของ Kosmos 482 พุ่งผ่านบรรยากาศโลกมาได้โดยไม่ถูกเผาไหม้ไปหมดเสียก่อน มันจะตกกลับสู่โลกด้วยความเร็วประมาณ 242 กิโลเมตร/ชั่วโมง โดยไม่มีร่มชูชีพช่วยชะลอความเร็ว ซึ่งอาจทำให้เกิดความรุนแรงใกล้เคียงกับดาวตกต่างๆ ที่พุ่งชนโลก และคงเหลือซากอุกกาบาตขนาดใหญ่ประมาณ 40-55 เซนติเมตร จากการคำนวณโดยโมเดลของ Langbroek
ข่าวการตกอย่างไม่สามารถควบคุมได้ของ Kosmos 482 อาจเป็นเรื่องน่ากลัว แต่เคยมีเหตุการณ์ใกล้เคียงกันในช่วงก่อนหน้านี้ อาทิ สถานีอวกาศเทียนกง-1 ของประเทศจีน หรือสถานีอวกาศสกายแล็บของสหรัฐอเมริกา ที่ตกอย่างไร้การควบคุมเช่นกัน ซึ่งโชคดีที่สถานีอวกาศเหล่านี้ตกเหนือผิวน้ำ ในบริเวณที่ไม่มีมนุษย์อยู่อาศัย และไม่มีรายงานว่ามีใครได้รับผลกระทบจากซากชิ้นส่วนของสถานีอวกาศดังกล่าว
ด้วยขนาดใหญ่เพียง 1 เมตร แคปซูลของ Kosmos 482 มีขนาดเล็กกว่าสถานีอวกาศมาก และอาจตกกระแทกเหนือผืนมหาสมุทรเหมือนกับสถานีอวกาศในข้างต้น โดย Langbroek เปิดเผยกับ AP ว่า “คุณมีโอกาสถูกฟ้าผ่าในชั่วชีวิตนี้ มากกว่าจะถูกชนโดยแคปซูลยานลำนี้อีก”
“แม้จะมีโอกาสน้อยมากที่มันจะชนกับคนหรือสิ่งปลูกสร้างใดๆ แต่เราไม่สามารถบอกได้ว่ามันเป็นไปไม่ได้เสียทีเดียว”
ด้วยสถานการณ์ตอนนี้ นักดาราศาสตร์ได้เฝ้าจับตาตำแหน่งของยาน Kosmos 482 อย่างต่อเนื่อง เพื่อปรับค่าโมเดลการทำนายวันและเวลาที่จะตกกลับสู่โลกให้มีความแม่นยำขึ้น แต่ด้วยความไม่แน่นอนของกิจกรรมจากดวงอาทิตย์ ที่มีผลต่อความหนาแน่นของอนุภาคในบรรยากาศโลก เช่นเดียวกับขนาดที่ค่อนข้างเล็กของตัวยาน ทำให้อาจต้องรอใกล้กับช่วงที่ยานจะตกกลับสู่โลกจริงๆ ถึงจะระบุได้ว่าพื้นที่ใดมีความเสี่ยงบ้าง
ข่าวดีของเรื่องนี้ คือทำให้เราได้เห็นถึงประสิทธิภาพในการติดตามวัตถุในวงโคจรรอบโลก ทั้งดาวเทียมเก่าแก่ ยานอวกาศจากยุคเมื่อครึ่งศตวรรษที่แล้ว รวมถึงเศษซากจรวดต่างๆ ได้อย่างค่อนข้างแม่นยำ
แต่นั่นก็คือข่าวร้ายเช่นกัน ว่าห้วงอวกาศรอบโลกเรานั้น เต็มไปด้วยซากขยะอวกาศจำนวนมากอยู่ในเวลานี้…
อ้างอิง: