×

เงินเฟ้อไทยพลิก ‘ติดลบ’ ครั้งแรกในรอบ 13 เดือน แทบรั้งท้ายอาเซียน สะท้อนอุปสงค์ภายในประเทศอ่อนแอ?

06.05.2025
  • LOADING...
thai-inflation-negative-2025

อัตราเงินเฟ้อไทยเมษายนพลิก ‘ติดลบ’ ครั้งแรกในรอบ 13 เดือน! ต่ำกว่าเป้าแบงก์ชาติ 3 เดือนติด แต่กระทรวงพาณิชย์ยืนยัน ไทย ‘ยังไม่เข้าสู่ภาวะเงินฝืด’ ธนาคารโลก (World Bank) มอง เงินเฟ้อไทยแทบรั้งท้ายอาเซียนสะท้อน อุปสงค์ภายในประเทศอ่อนแอ

 

วันนี้ (6 พฤษภาคม) พูนพงษ์ นัยนาภากรณ์ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) โฆษกกระทรวงพาณิชย์ เผยว่า ดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไปของไทย (Headline CPI) เดือนเมษายน 2568 เท่ากับ 100.14 เมื่อเทียบกับเดือนเมษายน 2567 ซึ่งเท่ากับ 100.36 ทำให้อัตราเงินเฟ้อทั่วไปลดลงหรือ ‘ติดลบ’ 0.22% (YoY) โดยมาจากปัจจัยหลัก ดังนี้

 

  • การลดลงของราคาสินค้าในกลุ่มพลังงาน ได้แก่ แก๊สโซฮอล์ น้ำมันเบนซิน และค่ากระแสไฟฟ้า ตามสถานการณ์ราคาน้ำมันในตลาดโลก 
  • มาตรการช่วยเหลือลดภาระค่าครองชีพของภาครัฐ
  • การลดลงของราคาผักสด และไข่ไก่ เนื่องจากสภาพอากาศที่ร้อนน้อยกว่าปีก่อน

 

อย่างไรก็ตาม พูนพงษ์กล่าวว่า ราคาสินค้าอาหารบางชนิดปรับตัวสูงขึ้น อาทิ เนื้อสุกร อาหารสำเร็จรูป และเครื่องประกอบอาหาร สำหรับราคาสินค้าและบริการอื่นๆ ส่งผลกระทบต่อภาวะเงินเฟ้อไม่มากนัก

 

ขณะที่อัตราเงินเฟ้อพื้นฐาน (Core CPI) ซึ่งเป็นอัตราเงินเฟ้อทั่วไป เมื่อหักอาหารสดและพลังงานออก สูงขึ้น 0.98% (YoY) เร่งตัวขึ้นจากเดือนมีนาคม 2568 ที่สูงขึ้น 0.86% (YoY)

 

เปิดตัวเลขเงินเฟ้อย้อนหลัง: พบติดลบครั้งแรกรอบ 13 เดือน

 

  • มกราคม 2567: -1.11%
  • กุมภาพันธ์ 2567: -0.77%
  • มีนาคม 2567: -0.47%
  • เมษายน 2567: 0.19%
  • พฤษภาคม 2567: 1.54%
  • มิถุนายน 2567: 0.62%
  • กรกฎาคม 2567: 0.83%
  • สิงหาคม 2567: 0.35%
  • กันยายน 2567: 0.61%
  • ตุลาคม 2567: 0.83%
  • พฤศจิกายน 2567: 0.95%
  • ธันวาคม 2567: 1.23%
  • มกราคม 2568: 1.32%
  • กุมภาพันธ์ 2568: 1.08%
  • มีนาคม 2568: 0.84%
  • เมษายน 2568: -0.22%

 

ส่องเงินเฟ้อไทย ‘ติดลบ’ ครั้งแรกในรอบ 13 เดือน

 


 

เงินเฟ้อทั่วไปไทย vs. ต่างประเทศ World Bank มองอุปสงค์ภายในประเทศอ่อนแอ 

 

ข้อมูลล่าสุดเดือนมีนาคม 2568 พบว่า อัตราเงินเฟ้อทั่วไป

ของไทยสูงขึ้น 0.84% (YoY) ซึ่งยังคงอยู่ในกลุ่มประเทศที่มีอัตราเงินเฟ้อต่ำ โดยอยู่ระดับต่ำอันดับ 24 จาก 134 เขตเศรษฐกิจที่ประกาศตัวเลข และต่ำเป็นอันดับ 2 ในกลุ่มประเทศอาเซียนจาก 8 ประเทศที่ประกาศตัวเลข (ได้แก่ บรูไน สิงคโปร์ อินโดนีเซีย มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ เวียดนาม สปป.ลาว) 

 

  • 🇧🇳บรูไน -0.5%
  • 🇹🇭ไทย 0.84%
  • 🇸🇬สิงคโปร์ 0.9%
  • 🇮🇩อินโดนีเซีย 1.03%
  • 🇲🇾มาเลเซีย 1.4%
  • 🇵🇭ฟิลิปปินส์ 1.8%
  • 🇻🇳เวียดนาม 3.13%
  • 
🇱🇦สปป.ลาว 11.2%

 

ในรายงานภาวะเศรษฐกิจรายเดือนของไทย (Thailand Monthly Economic Monitor) ของธนาคารโลก (World Bank) ฉบับล่าสุด เมื่อวันที่ 22 เมษายนระบุว่า อัตราเงินเฟ้อไทยเมื่อเดือนมีนาคม ยังคงเป็นระดับต่ำในกลุ่มอาเซียน โดยการลดลงดังกล่าวเกิดขึ้นจากหลายปัจจัย โดยได้รับแรงหนุนจากต้นทุนเชื้อเพลิง ค่าสาธารณูปโภค และค่ารักษาพยาบาลที่ลดลง ประกอบกับอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานที่ลดลง 0.9% ซึ่งสะท้อนถึงอุปสงค์ภายในประเทศที่อ่อนแอ 

 

เงินเฟ้อไทยแทบ ‘รั้งท้าย’ อาเซียน

 


 

เปิดแนวโน้มอัตราเงินเฟ้อทั่วไป เผยจ่อปรับค่ากลางเงินเฟ้อทั้งปีลง

 

พูนพงษ์กล่าวถึงแนวโน้มอัตราเงินเฟ้อทั่วไปเดือนพฤษภาคม 2568 คาดว่าจะอยู่ระดับใกล้เคียงกับเดือนเมษายน 2568 และมีแนวโน้มลดลงต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 2

 

โดยมีปัจจัยสนับสนุนให้อัตราเงินเฟ้อทั่วไปลดลง ได้แก่

  • ราคาน้ำมันดิบดูไบในตลาดโลกต่ำกว่าปีก่อนหน้าอย่างมีนัยสำคัญ และจะส่งผลให้ราคาแก๊สโซฮอล์ภายในประเทศปรับตัวลดลงทิศทางเดียวกัน
  • ภาครัฐมีแนวโน้มดำเนินมาตรการช่วยเหลือลดภาระค่าครองชีพอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะการปรับลดราคาค่ากระแสไฟฟ้างวดเดือนพฤษภาคม-สิงหาคม 2568 ลง 17 สตางค์ เหลือ 3.98 บาทต่อหน่วย
  • ฐานราคาผักสดในปีก่อนหน้าที่อยู่ระดับสูง เนื่องจากได้รับผลกระทบจากภัยพิบัติทางธรรมชาติ ขณะที่ในปี 2568 สภาพอากาศเอื้ออำนวยต่อการเพาะปลูกมากขึ้น ส่งผลให้ปริมาณผลผลิตเข้าสู่ระบบเพิ่มขึ้น
  • การจัดทำกิจกรรมส่งเสริมการตลาดของผู้ประกอบการรายใหญ่ เพื่อให้สอดคล้องกับมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐ

 

สำหรับปัจจัยสนับสนุนให้อัตราเงินเฟ้อทั่วไปปรับสูงขึ้น ได้แก่

  • ราคาน้ำมันดีเซลในประเทศปัจจุบันเท่ากับ 31.94 บาทต่อลิตร ซึ่งสูงกว่าช่วงเดียวกันของปีก่อน
  • ราคาสินค้าเกษตรบางชนิดและเครื่องประกอบอาหารมีแนวโน้มสูงกว่าปีก่อนหน้า เช่น มะพร้าว มะขามเปียก กาแฟ เกลือป่น น้ำมันพืช และเนื้อสุกร 

 

พูนพงษ์ยังกล่าวว่า เตรียมปรับค่ากลางของประมาณการเงินเฟ้อทั่วไปของไทยปีนี้ลง โดยขอดูสถานการณ์เดือนหน้าก่อน หรือเมื่อข้อมูลมีความชัดเจนมากขึ้น

 

ยืนยัน ‘ไทย’ ไม่เข้าสู่ภาวะเงินฝืด

 

พูนพงษ์กล่าวว่า ไทยยังไม่เข้าสู่ภาวะเงินฝืด โดยหากพิจารณาจากอัตราเงินเฟ้อพื้นฐาน (Core CPI) เดือนปัจจุบันยังคงอยู่ที่ 0.98% หมายความว่า ถ้าตัดกลุ่มพลังงาน ซึ่งมีสัดส่วนถึง 12% ในตะกร้าเงินเฟ้อเดือนนี้ อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานยังเป็นบวกอยู่ สะท้อนว่า ไทยยังไม่เข้าสู่ภาวะเงินฝืด

 

เปิดนิยามภาวะเงินฝืด

 

โดยตามนิยามของธนาคารกลางยุโรป (ECB) การจะเข้าสู่ภาวะเงินฝืดได้ต้องเข้าเงื่อนไข 4 ข้อ ได้แก่ 

  1. อัตราเงินเฟ้อติดลบเป็นเวลานานพอสมควร (Prolonged Period) 
  2. อัตราเงินเฟ้อติดลบกระจายในหลายๆ หมวดสินค้าและบริการ
  3. การคาดการณ์เงินเฟ้อในระยะยาวต่ำกว่าเป้าหมายระยะปานกลางอย่างมีนัย 
  4. อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจติดลบ และอัตราว่างงานมีแนวโน้มสูงขึ้น

 

ส่องคาดการณ์เงินเฟ้อไทยปี 2568

 

ปัจจุบัน สำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) โฆษกกระทรวงพาณิชย์ คาดการณ์เงินเฟ้อทั่วไปของไทยปี 2568 อยู่ที่ 0.3-1.3% โดยมีค่ากลางอยู่ที่ 0.8% เช่นเดียวกับสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) กระทรวงการคลัง

 

ขณะที่ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) คาดว่า อัตราเงินเฟ้อทั่วไปมีแนวโน้มลดลงต่ำกว่ากรอบเป้าหมายจากราคาน้ำมันดิบโลกและมาตรการภาครัฐ ซึ่งมีส่วนช่วยบรรเทาค่าครองชีพและลดต้นทุนของภาคธุรกิจ

 

อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานมีแนวโน้มทรงตัวและเงินเฟ้อคาดการณ์ในระยะปานกลางยังยึดเหนี่ยวอยู่ในกรอบเป้าหมาย ทั้งนี้ นโยบายกีดกันทางการค้าและการเปลี่ยนแปลงห่วงโซ่การผลิตโลกอาจส่งผลต่อแนวโน้มเงินเฟ้อในระยะข้างหน้า

 

โดยคาดการณ์เงินเฟ้อทั่วไปปี 2568 ของธปท.อยู่ที่ 0.5% ใน Reference Scenario ซึ่งเป็นฉากทัศน์ที่การเจรจาทางการค้ามีความยืดเยื้อและภาษีนำเข้าของสหรัฐฯ ใกล้เคียงกับอัตราปัจจุบัน และ 0.2% ใน Alternative Scenario ซึ่งเป็นฉากทัศน์ที่สงครามการค้ารุนแรงมากและภาษีนำเข้าของสหรัฐฯ อยู่ในอัตราที่สูง

 

เปิดคาดการณ์เงินเฟ้อไทยปี 2568

 


 

รู้จักตะกร้า CPI ไทยมีสินค้ามีอะไรบ้าง? 

 

ดัชนีราคาผู้บริโภค หรือ Consumer Price Index (CPI) เป็นตัวชี้วัดทางเศรษฐกิจที่ใช้วัดระดับราคาสินค้าและบริการที่ผู้บริโภคซื้อในช่วงเวลาหนึ่ง โดยเปรียบเทียบกับช่วงเวลาอื่นๆ เพื่อดูว่าอัตราเงินเฟ้อ (Inflation) เพิ่มขึ้นหรือลดลงอย่างไร

 

โดยดัชนีราคาผู้บริโภคคำนวณจากราคาของสินค้าและบริการใน ตะกร้าสินค้า (Basket of Goods) ซึ่งเป็นสินค้าที่ผ่านการสำรวจของกระทรวงพาณิชย์ว่าสินค้าชนิดใดที่ประชาชนมีการบริโภคเป็นสัดส่วนใหญ่

 

ตามข้อมูลที่กระทรวงพาณิชย์เปิดเผย แบ่งออกเป็น 7 หมวดหมู่ ได้แก่ 

  1. อาหารและเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ คิดเป็นสัดส่วน 39.00%
  2. เคหสถาน คิดเป็นสัดส่วน 24.69%
  3. พาหนะ การขนส่ง และการสื่อสาร คิดเป็นสัดส่วน 22.57%
  4. การตรวจรักษาและบริการส่วนบุคคล คิดเป็นสัดส่วน 6.38%
  5. การบันเทิง การอ่าน การศึกษา ฯลฯ คิดเป็นสัดส่วน 4.02%
  6. เครื่องนุ่งห่มและรองเท้า คิดเป็นสัดส่วน 2.10%
  7. ยาสูบและเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ คิดเป็นสัดส่วน 1.24%

 

ทั้งนี้ สินค้าในตะกร้ามีการปรับเปลี่ยนอยู่ตลอดเวลาเพื่อให้สอดคล้องกับพฤติกรรมการใช้จ่ายของประชาชน โดยรายการสินค้าที่ถูกปรับเปลี่ยนในการคำนวณดัชนีราคาผู้บริโภคครั้งล่าสุด ตัวอย่างเช่น 

 

โดยเมื่อต้นปี 2568 มีรายการเพิ่มใหม่ ได้แก่ ส้มโอ ปลาแซลมอน น้ำปลาร้า (ปรุงสำเร็จ) และชุดสุกี้พร้อมทาน รถพลังงานไฟฟ้า (EV) ชุดตรวจโควิด (ATK) ถุงยางอนามัย ผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดผิวหน้า (คลีนซิ่ง) ค่าสมาชิกฟิตเนส ค่าสมาชิกดูหนังฟังเพลงออนไลน์ ค่าคนดูแลผู้สูงอายุ และค่ารักษาพยาบาลสัตว์ (โปรแกรมวัคซีนรักษาสัตว์รวม)

 

โดยเมื่อต้นปี 2568 มีรายการตัดออก ได้แก่ เป็ดพะโล้ เส้นหมี่ แหนม และลูกอม แบตเตอรี่สำรอง มุ้ง ค่าอะไหล่รถยนต์ กระเป๋าถือ ค่าแรงช่างไฟฟ้า ค่าแรงช่างประปา ค่าโดยสารรถสามล้อเครื่อง และค่าสมาชิกเคเบิลทีวี

 

รู้จักตะกร้า CPI ไทยมีสินค้าอะไรบ้าง?

 

ภาพประกอบ: ธิดามาศ เขียวเหลือ

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising