เราเพิ่งกลับมาจาก Devasom Khao Lak เพื่อเข้าร่วมงาน SOL Festival 2025 เทศกาลฮีลกายใจแห่งเขาหลัก ที่จัดขึ้นตั้งแต่วันนี้จนถึง 11 พฤษภาคม 2568 มีกิจกรรมหนึ่งที่เราว่าน่าสนใจและคนเมืองสมควรมาสัมผัส คือ ‘Kayak Adventure & Forest Bathing’ การพายคายัคสำรวจคลองคึกคัก คลองน้ำจืดสายเล็กข้างรีสอร์ตที่ไหลลงสู่หาดลงทะเล กิจกรรมนี้แม้ดูเรียบง่าย และเหมือนการพายคายัคธรรมดา แต่สิ่งที่ทำให้น่าสนใจ คือ ‘ความเงียบสงบ’ และ ‘ผืนป่า’ สองฝั่งคลองที่ให้เรารู้สึกถึงการโอบล้อมของธรรมชาติ
ในวันที่ใจเหนื่อยล้าและหัวสมองเต็มไปด้วยเสียงรบกวนจากโลกภายนอก การเดินเข้าหาธรรมชาติอาจช่วยเราฮีลใจเราได้ดีอย่างไม่น่าเชื่อ แค่การได้อยู่ใต้ร่มเงาต้นไม้ สูดกลิ่นดินหอมชื้นหลังฝนตก หรือเงยหน้าดูแสงแดดลอดผ่านใบไม้ ก็สามารถฟื้นคืนความนิ่งภายในได้ ทั้งหมดนี้คือหัวใจของ ‘Forest Bathing’ หรือ ‘การอาบป่า’ แนวทางบำบัดใจที่ไม่ได้ต้องการอะไรมากไปกว่าการอยู่กับธรรมชาติอย่างสติเพื่อให้ธรรมชาติเยียวยา
Forest Bathing คืออะไร
Forest Bathing หรือ Shinrin-yoku เป็นแนวคิดจากญี่ปุ่นที่แปลตรงตัวว่า ‘การอาบป่า’ โดยมาจากคำว่า Shinrin (森林) แปลว่า ‘ป่าไม้’ ผสมรวมกับ Yoku (浴) แปลว่า ‘การอาบ’ หรือ ‘แช่ตัว’ การอาบป่าไม่ใช่แค่การเดินป่าเพื่อออกกำลังกาย แต่เป็นการใช้เวลากับธรรมชาติอย่างมีสติ เปิดรับทุกสิ่งรอบตัว ไม่ว่าจะเป็นกลิ่นของดิน เสียงของใบไม้เสียดสี เสียงของนก สัตว์น้อยนานาพันธุ์ หรือแม้แต่เสียงของหัวใจตัวเอง
Forest Bathing ดีต่อกายและใจอย่างไร
งานวิจัยจำนวนมากชี้ว่า Forest Bathing ช่วยลดความดันโลหิตและอัตราการเต้นของหัวใจ ซึ่งมีผลดีต่อสุขภาพหัวใจและหลอดเลือด นอกจากนี้ยังช่วยเพิ่มสมาธิ เพิ่มระดับภูมิคุ้มกัน และทำให้นอนหลับดีขึ้น แต่สิ่งที่น่าประหลาดใจกว่าคือ ‘ความเบาสบาย’ ที่เกิดขึ้นทันทีหลังได้อยู่กับป่า หลายคนรู้สึกเหมือนได้พักจริงๆ ไม่ใช่แค่หยุดงาน แต่เป็นการพักลึกลงไปถึงภายใน เป็นการฟื้นพลังใจในแบบที่การพักผ่อนรูปแบบอื่นให้ไม่ได้
ที่ไหนก็ทำ Forest Bathing ได้
แน่นอนว่าการทำ Forest Bathing ถ้าให้ดีต้องทำในป่า ไม่ได้มีรูปแบบตายตัวคุณไม่จำเป็นต้องปีนเขาหรือเดินไกล บางคนอาจเลือกนั่งเงียบๆ ใต้ต้นไม้ พายเรือในป่าชายเลน หรือแค่เดินช้าๆ อยู่ในสวนใกล้บ้านก็เพียงพอที่จะให้ธรรมชาติค่อยๆ ซึมซาบเข้าสู่หัวใจ เคล็ดลับสำคัญคือ ‘อยู่กับปัจจุบันขณะ’ วางมือถือลง เปิดประสาทสัมผัสให้กว้าง สังเกตแสงที่เปลี่ยนไปตามกิ่งไม้ เสียงกรอบแกรบของใบไม้ หรือแม้แต่เงาของตัวเองที่ทอดผ่านทางเดิน
การใช้เวลาอยู่ท่ามกลางธรรมชาติอย่างมีสติ เปิดรับด้วยประสาทสัมผัสทั้งห้า ไม่จำเป็นต้องเดินเร็ว ไม่จำเป็นต้องมีเป้าหมาย แค่ ‘อยู่’ กับธรรมชาติอย่างตั้งใจ ให้ธรรมชาติซึมซาบเข้าสู่ใจและร่างกาย เหมือนเรากำลังอาบแสง ลม กลิ่น และพลังของป่า การอยู่กับป่าจึงไม่ใช่แค่การหลบหนีจากโลกวุ่นวาย แต่คือการกลับมาอยู่กับตัวเอง
ภาพ: พลอยจันทร์ สุขคง, Shutterstock