สนช. รับหลักการกฎหมายขึ้นเงินเดือนศาล-ตุลาการ-องค์กรอิสระแล้ว ปรับให้เหมาะสมกับภาวะเศรษฐกิจและค่าครองชีพที่สูงขึ้น นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ชี้แจงเพื่อให้ฝนตกทั่วฟ้า
วานนี้ (12 ก.ค.) ที่รัฐสภา การประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) มีมติรับหลักการร่าง พ.ร.บ. ที่เกี่ยวกับการขึ้นเงินเดือนและเงินประจำตำแหน่งของศาลยุติธรรม ศาลปกครอง และองค์กรอิสระ จำนวน 5 ฉบับ ได้แก่
- ร่าง พ.ร.บ. ระเบียบข้าราชการฝ่ายตุลาการศาลยุติธรรม
- ร่าง พ.ร.บ. จัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง
- ร่าง พ.ร.บ. เงินเดือน เงินประจำตำแหน่ง และประโยชน์ตอบแทนอื่นของประธานกรรมการและกรรมการในองค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญ
- ร่าง พ.ร.บ. เงินเดือน เงินประจำตำแหน่ง และประโยชน์ตอบแทนอื่นของประธานศาลรัฐธรรมนูญและตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ
- ร่าง พ.ร.บ. ระเบียบข้าราชการฝ่ายอัยการ
โดยมีสาระสำคัญคือ การแก้ไขเพิ่มเติมบัญชีอัตราเงินเดือนและเงินประจำตำแหน่งให้เหมาะสมกับภาวะเศรษฐกิจและค่าครองชีพที่เพิ่มสูงขึ้น รวมถึงให้สอดคล้องกับการปรับเพิ่มเงินเดือนในส่วนข้าราชการพลเรือนที่ปรับเพิ่มไปก่อนหน้านี้
นายวิษณุ เครืองาม รองนายกฯ ชี้แจงว่า ข่าวที่แพร่สะพัดตลอดสัปดาห์ว่า สนช. กำลังจะขึ้นเงินเดือนข้าราชการในขณะที่เศรษฐกิจและภาวะบ้านเมืองเป็นอย่างนี้ ซึ่งเราปรับเพื่อความเป็นธรรม และการปรับครั้งนี้ ไม่เหมือนกับทุกครั้งที่เคยปรับกันใหม่ทั้งแผง สูตรวันนี้คือ 1. เอาเงินเพิ่มไปรวมกับเงินเดือน ตั้งเป็นเงินเดือนใหม่ 2. ในบางตำแหน่งที่เงินข้าราชการพลเรือนเขาปรับนำไปแล้ว ต้องปรับให้ยึดโยงจริง ให้สอดคล้องกับค่าครองชีพของเมื่อปี 2557 ตามที่ข้าราชการอื่นๆ อาทิ ครู ทหาร ตำรวจ มีการปรับนำไปก่อนแล้วเมื่อวันที่ 1 ธันวาคม 2557 ครั้งที่ สนช. เข้ามาใหม่ๆ มีการปรับขึ้นเงินเดือนให้กับข้าราชการ แต่ตอนนั้นรัฐบาลมีเงินคงคลังเพียง 16,800 ล้านบาท ฝนจึงตกกระจายไม่ทั่วฟ้า เราจึงปรับเพื่อความเป็นธรรม ตามกำลังงบประมาณของรัฐบาล โดยดูเหตุการณ์บ้านเมือง ความรู้สึกนึกคิดของคนมาประกอบกันด้วย
วันนี้กฎหมายทั้ง5 ฉบับที่เสนอ มีตัวเลขการย้อนหลัง 2 พวก คือวันที่ 1 ธันวาคม 2557 และวันที่ 1 ตุลาคม 2548 ซึ่งพวกย้อนไปปี 2548 คือคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติที่ตกขบวนการปรับขึ้นเงินเดือนมาตลอด ก็ต้องชดเชยไป ผ่านการพิจารณามาหลายรัฐบาล ตกขบวนหลายครั้ง รถไฟออกขบวนไปครั้งแล้วครั้งเล่า แต่ กสม. ก็ไม่ได้ขึ้นขบวนไปกับเขาสักที
สำหรับบัญชีอัตราเงินเดือนและประจำตำแหน่งมีดังนี้
- ข้าราชการตุลาการ ประธานศาลฎีกา เงินเดือน 83,090 บาท และเงินประจำตำแหน่ง 55,000 บาท
- ตุลาการศาลปกครอง ประธานศาลปกครองสูงสุด เงินเดือน 83,090 บาท และเงินประจำตำแหน่ง 55,000 บาท
- ศาลรัฐธรรมนูญ ประธานศาลรัฐธรรมนูญ เงินเดือน 83,090 บาท และเงินประจำตำแหน่ง 55,000 บาท ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ เงินเดือน 81,920 บาท เงินประจำตำแหน่ง 50,000 บาท
- ข้าราชการอัยการ อัยการสูงสุด เงินเดือน 81,920 บาท เงินประจำตำแหน่ง 50,000 บาท
- องค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญ ประธานกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ประธานผู้ตรวจการแผ่นดิน ประธานกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ประธานกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน ประธานกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ เงินเดือน 81,920 บาท เงินประจำตำแหน่ง 50,000 บาท และผู้ดำรงตำแหน่งกรรมการในองค์อิสระ เงินเดือน 80,540 บาท เงินประจำตำแหน่ง 42,500 บาท