×

รู้จัก ‘หมอณัฐ’ ผู้ร่วมขับเคลื่อนประกันสังคมก้าวหน้า หมอยุคใหม่ที่ขอยืนข้างคนไข้

30.04.2025
  • LOADING...
ณัฐ ศิริรัตน์บุญขจร

1 พฤษภาคมของทุกปีเป็นวันแรงงาน เดิมมีภาพจำเกี่ยวการทำงานของลูกจ้าง พนักงานบริษัท กรรมกรที่การทำงานเน้นการใช้เรี่ยวแรงและร่างกาย ซึ่งคนวัยทำงานของไทย หากไม่ใช่ข้าราชการก็จะเป็นพนักงานบริษัทภาคเอกชน และอีกจำนวนมากไม่ได้อยู่ในระบบประกันสังคม

 

อย่างไรก็ตาม นับแต่มหาวิทยาลัยออกนอกระบบราชการ อาจารย์มหาวิทยาลัยเปลี่ยนสถานะไม่ใช่ข้าราชการอย่างในอดีต กลายเป็นผู้ประกันตนมาตรา 33 เป็นพนักงานมหาวิทยาลัย เป็นลูกจ้างเช่นเดียวกับอาชีพอื่นๆ ในภาคเอกชน รวมถึงอาจารย์โรงเรียนแพทย์ในมหาวิทยาลัยของรัฐที่สังกัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ก็เป็นผู้ประกันตน มาตรา 33 เช่นกัน แม้ว่าแพทย์ในโรงพยาบาลรัฐ แพทย์ในระบบราชการ แพทย์ที่ไม่ใช่อาจารย์มหาวิทยาลัย จะยังคงเป็นข้าราชการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ได้รับสวัสดิการข้าราชการไม่เปลี่ยนแปลง

 

THE STANDARD สัมภาษณ์ นพ.ณัฐ ศิริรัตน์บุญขจร วัย 31 ปี คน Gen Y ที่มีประสบการณ์ร่วมกับ Gen Z เพราะเกิดในปีที่ใกล้เคียงกัน ปัจจุบันเขาเป็นอาจารย์สาขาวิชารังสีรักษาและมะเร็งวิทยา คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล, หนึ่งในทีมประกันสังคมก้าวหน้า และเป็นสมาชิกสมาพันธ์แพทย์ผู้ปฏิบัติงาน (สพง.) ด้วย

 

หมอก็เป็นผู้ใช้แรงงาน 

ผมเกิดปี 2537 ดังนั้น มหาวิทยาลัยออกนอกระบบราชการตั้งแต่ผมยังเป็นเด็ก อาจารย์แพทย์ในรุ่นที่ผมได้เรียนหนังสือด้วยในมหาวิทยาลัยมหิดล โรงพยาบาลรามาธิบดี จึงมีทั้งอาจารย์ที่เป็นข้าราชการคือเข้ามาเป็นอาจารย์ตั้งแต่มหาวิทยาลัยยังไม่ออกนอกระบบราชการ และอาจารย์ที่เป็นพนักงานมหาวิทยาลัย เป็นผู้ประกันตนมาตรา 33 คือเข้ามาเป็นอาจารย์นับแต่มหาวิทยาลัยออกนอกระบบ

แต่ในวงการแพทย์ เราจะเรียกกันว่าอาจารย์ แม้บางท่านไม่ได้มีตำแหน่งเป็นอาจารย์มหาวิทยาลัย คำว่า “อาจารย์” จึงมีทั้งหมอที่เป็นอาจารย์สอนหนังสือนิสิตนักศึกษาในมหาวิทยาลัย และหมอที่ทำงานในโรงพยาบาล ซึ่งช่วยฝึกสอนหมอรุ่นใหม่ มีการส่งต่อความรู้จากรุ่นพี่สู่รุ่นน้อง

 

น่าตกใจที่อาจารย์โรงเรียนแพทย์ไม่ใช่ข้าราชการ แม้หมอในโรงพยาบาลรัฐส่วนใหญ่เป็นข้าราชการ

 

ผมเป็นอาจารย์มหาวิทยาลัยมหิดล โรงพยาบาลรามาธิบดี แต่ไม่ใช่ข้าราชการ 

เราเรียนจบแพทย์ก็เป็นหมอ แล้วไปจับสลากใช้ทุนเข้าสู่โรงพยาบาลรัฐ ซึ่งเป็นข้าราชการสังกัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เกือบทั้งหมด ยกเว้นไปสังกัดอื่นๆ ใดๆ และจะมีหมอที่ปฏิบัติงานในโรงพยาบาลรัฐ แล้วเลือกเส้นทางเป็นอาจารย์มหาวิทยาลัย ซึ่งสังกัด อว. ไม่ได้สังกัด สธ. 

 

อย่างมหาวิทยาลัยมหิดล สังกัด อว. และมหาวิทยาลัยออกนอกระบบราชการมานานแล้ว ดังนั้นผมไม่ได้เป็นข้าราชการ ผมเป็นลูกจ้างมหาวิทยาลัย เป็นผู้ประกันตนมาตรา 33 ซึ่งก็สอดคล้องกับการไปร่วมกับ ‘ทีมประกันสังคมก้าวหน้า’

 

แต่หมอในโรงพยาบาลรัฐก็ไม่ใช่ทั้งหมดที่เป็นข้าราชการกระทรวงสาธารณสุข บางคนอาจจะเป็นหมอที่มาทำงานพาร์ตไทม์ ซึ่งนับว่าทำงานอยู่ในโรงพยาบาลด้วยเช่นกัน

 

เกิดไม่ทันยุคที่แพทย์มีฐานันดรระดับชนชั้นนำยิ่งกว่าปัจจุบัน

 

เรื่องแพทย์ในฐานะแรงงาน ถ้าเราย้อนกลับไปดูสมัยก่อน แพทย์จะมีฐานันดรที่แตกต่างจากคนทั่วไป คือแพทย์จะอยู่เหนือกว่าคนทั่วไป แพทย์หลายท่านก็คงจะภูมิใจ แต่ผมเกิดไม่ทันสมัยนั้น ที่เขาจะได้รับการเคารพโดยไม่ถูกตั้งคำถาม ได้รับสิทธิพิเศษต่างๆ และตรวจสอบยาก พูดอะไรคนก็เชื่อ

 

พอมาถึงยุคปัจจุบัน ผมคิดว่าคำว่าแรงงานก็ใช้กับหมออย่างผมด้วย เพราะใช้แรงกายและแรงความคิด โดยเฉพาะหมอศัลยกรรมยืนผ่าตัดกันหลายชั่วโมง ผมเป็นหมอรังสีรักษาและมะเร็งวิทยา การใช้แรงกายแรงความคิดก็ล้วนเป็นแรงงานเหมือนกัน 

 

ผมมองว่าถ้าเรายกบุคลากรทางการแพทย์ขึ้นไปอยู่เหนือประชาชน จะทำให้เราออกห่างกันมากเกินไป ทำให้เราไม่เข้าใจประชาชนในเกาหลี บุคลากรทางการแพทย์มีการประท้วงเพื่อเรียกร้องสิทธิเรื่องชั่วโมงการทำงานไม่เกินกี่ชั่วโมง แต่ในไทยเรายกตัวเองอยู่เหนือแรงงาน จึงพยายามจะไม่ใช้วิธีการประท้วงและมีปัญหาเรื้อรังถึงปัจจุบัน เรื่องฐานันดร โรงเรียนแพทย์ก็ถือว่าตัวเองเป็นอีลีตเป็นชนชั้นนำอยู่แล้ว ดูสูงส่ง แต่ก็เป็นดาบสองคม มีเสียงดังแต่ถ้าเอาไปทำอะไรแปลกๆ เช่น ไล่รัฐบาลโดยตัวเองไม่ต้องแสดงความรับผิดชอบต่อสังคมเพราะถือว่าตัวเองเหนือกว่า ไม่ต้องตอบอะไร อันนี้จะกลายเป็นบาป

 

บุคลากรทางการแพทย์บางกลุ่มเคยไปประท้วงขับไล่อดีตนายกฯ ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ก่อนเหตุการณ์รัฐประหาร 2557

 

เหตุการณ์ปี 2557 เป็นช่วงที่ผมเป็นนิสิตแพทย์รามา ปี 2 ผมจำได้มีอาจารย์หมอจากหลายแห่งไม่ใช่แห่งเดียวที่ไปไฮด์พาร์กหลายเวที เวที กปปส., เวทีปฏิรูปก่อนเลือกตั้ง แม้การมีส่วนร่วมทางการเมืองจะเป็นเรื่องดี แต่บางเรื่องก็ต้องดูว่าเรียกร้องอะไร ไม่ใช่เรียกร้องทางการเมืองเพื่อคงความเป็นอีลีตความเป็นชนชั้นนำของตัวเอง แล้วบางเรื่องที่วิกฤตควรเรียกร้องยิ่งกว่าตอนนั้นก็ไม่ได้ออกมาเรียกร้องกัน เช่น โควิด หรือ ฝุ่น PM2.5 ทั้งที่หลายๆ เรื่องเกี่ยวข้องกับสุขภาพประชาชน 

 

ผมและเพื่อนทีมประกันสังคมก้าวหน้า เราได้มาดูข้อมูลแล้วพบว่า หลังรัฐประหาร 2557 ระบบสุขภาพหลายอย่างไม่ได้ถูกพัฒนารากฐานมาเป็นเวลามากกว่า 10 ปี ผมเรียนจบมาแล้วก็ยังเหมือนเดิม โรงเรียนแพทย์ไม่เคยถอดบทเรียนว่ามีบทบาทในการทำให้เกิดรัฐประหารรอบนั้นอย่างไร และควรจะวางตัวอย่างไรต่อ 

 

อาจารย์โรงเรียนแพทย์บางท่านทำงานวิจัยหรูหรา แต่ไม่ได้ความรู้ที่ตอบโจทย์กับคนไข้ในประเทศไทย งานวิจัยตอบไหมว่ายาหรือการรักษาแบบไหนมีผลต่อคุณภาพชีวิตคนไทยเท่าไร เหตุก็เพราะงานวิจัยเหล่านั้นต้องการได้เผยแพร่ในวารสารระดับนานาชาติ หรือได้รับเชิญไปพรีเซนต์ในเวทีระดับนานาชาติ เป็นเครดิต เขาจึงไปวิจัยอะไรเพื่อเข้าสู่ระดับอินเตอร์เนชันแนล แต่อาจจะไม่มีผลอะไรต่อคนไทย 

 

ถ้ามหาวิทยาลัยโรงเรียนแพทย์ออกห่างจากประชาชน เราจะได้ความรู้ที่เกิดกับผู้วิจัยและเวทีนานาชาติ แต่ไม่มีผลอะไรต่อการรักษาประชาชนชาวไทย แม้ว่าความรู้ที่มีผลต่อการรักษาคนไทยจะเป็นสิ่งที่คนไทยอยากได้ มหาวิทยาลัยจำนวนมากจึงถูกมองเป็นหอคอยงาช้าง 

 

มหาวิทยาลัยโรงเรียนแพทย์ นอกจากมีหน้าที่ให้บริการคือตรวจรักษาคนไข้แล้ว ยังมีหน้าที่เพิ่มความรู้ แม้มหาวิทยาลัยต้องหาเงินเองส่วนหนึ่ง แต่มหาวิทยาลัยก็ได้งบประมาณจากกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ซึ่งเป็นภาษีจากประชาชนด้วย จึงมีหน้าที่สร้างความรู้ที่เกี่ยวข้องกับชีวิตคนไทย และทำให้หมอทั่วประเทศนำไปใช้รักษาประชาชนคนไทยได้มากขึ้น ไม่ใช่มุ่งเน้นวิจัยยากๆ หรูๆ เพื่อได้เครดิตไปเวทีนานาชาติ

 

 

หนึ่งในทีมประกันสังคมก้าวหน้า

 

ทีมประกันสังคมก้าวหน้าเป็นการรวมตัวของคนที่มีความเชื่อในอุดมการณ์เดียวกัน เข้ามาผลักดันในสิ่งที่อยากให้เกิดขึ้น หลายคนในกลุ่มประกันสังคมก้าวหน้าอยู่ในบอร์ดประกันสังคม (ฝ่ายลูกจ้าง) แต่หลายคนก็ช่วยกันเรื่องข้อมูล

 

คนในทีมประกันสังคมก้าวหน้าที่อยู่ในบอร์ดใหญ่ประกันสังคม เช่น อาจารย์ษัษฐรัมย์ ธรรมบุษดี อาจารย์ประจำวิทยาลัยสหวิทยาการ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ โดยเป็น 1 ใน 6 ของทีมประกันสังคมก้าวหน้าที่อยู่ในบอร์ดฝ่ายลูกจ้าง ส่วนบอร์ดฝ่ายลูกจ้างมีทั้งหมด 7 คน ผ่านการเลือกตั้งเป็นครั้งแรกในปี 2566 มาจากการโหวตของผู้มีสิทธิ

 

หนึ่งในสมาชิกสมาพันธ์แพทย์ผู้ปฏิบัติงาน (สพง.) – สหภาพแพทย์ผู้ปฏิบัติงาน

 

แรกเริ่มใช้คำว่าสมาพันธ์ เป็นจุดเริ่มต้นเพราะยังมีความกังวลกันว่าใช้คำว่าสหภาพได้ไหม ในโรงพยาบาลของรัฐจะตั้งสหภาพได้หรือไม่ การใช้คำว่าสหภาพอาจทำให้โดนลงโทษทางวินัยได้ ซึ่งตรงนี้เป็นความเข้าใจผิด เพราะรัฐธรรมนูญรับรองว่าทุกคนสามารถรวมกลุ่มกันได้ เพียงแต่การรวมกลุ่มอาจจะยังไม่ได้รับการคุ้มครองทางกฎหมายขณะนี้

 

ฉะนั้นการใช้คำว่าสหภาพก็ไม่ผิด แต่ก็ยังไม่ได้รับการคุ้มครองเพิ่มเติมในฐานะลูกจ้างรัฐ เนื่องจากพระราชกฤษฎีกาที่ยอมรับให้ตั้งสหภาพในหน่วยงานภาครัฐยังไม่ได้มีการประกาศใช้

 

อีกประเด็นเคยมีความกังวลว่า การใช้คำว่าสหภาพจะมีความรุนแรงในวิชาชีพเราไหม 

 

การรวมตัวกันเพื่อเรียกร้องความเป็นธรรมในสภาวะการทำงาน เริ่มมาจากช่วงโควิด เราเห็นเพื่อนหลายคนไม่ได้หลับไม่ได้นอน แล้วก็เห็นผู้บริหารองค์กรอะไรต่างๆ ไปรับรางวัลโน่นนั่นนี่ จึงเกิดความคับแค้นในใจ อยากเรียกร้องสิทธิที่ควรจะได้ 

 

เราใช้คำว่าสหภาพ แต่ยังไม่มีผลตามกฎหมาย ถ้ามีผลอาจจะได้รับความคุ้มครองหลายอย่าง ไม่เฉพาะแพทย์แต่รวมถึงบุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุขทุกคน ทุกวิชาชีพ ทุกอาชีพ เรามีแพทย์ พยาบาล เภสัชกร ทันตแพทย์ นักเทคนิคการแพทย์ นักรังสีการแพทย์ นักกายภาพบำบัด เจ้าหน้าที่สาธารณสุข และเราก็มีคนขับรถ มีผู้ช่วยพยาบาล เราควรรวมตัวเรียกร้องเพื่อให้ได้รับการปฏิบัติที่เป็นธรรมในโรงพยาบาลเอง บางโรงพยาบาลก็มีผู้ช่วยพยาบาลที่เป็นลูกจ้างรายวันได้ค่าแรงได้ 320 บาท ต่ำกว่าค่าแรงขั้นต่ำ ถ้าหมอยกตัวเองเหนือกว่าพวกเขาเหล่านั้น เราจะไม่สามารถช่วยเหลือพวกเขาให้ไปด้วยกันได้ ทั้งที่เขาก็ทำงานหนักเช่นเดียวกับหมอ เขาต้องไปช่วยพลิกตัวคนไข้ ซึ่งหมอก็จะไม่ได้ทำหน้าที่นี้

 

‘สหภาพ’ คือบุคลากรการแพทย์เรารวมตัวกันเพื่อสิทธิที่ควรจะได้ในระบบแรงงาน ขณะเดียวกันเรื่อง ‘ประกันสังคม’ ก็เป็นเรื่องการดูแลแรงงานทุกคน ดังนั้น ‘สหภาพแพทย์ผู้ปฏิบัติงาน’ กับ ‘ประกันสังคมก้าวหน้า’ เป็นคนละกลุ่ม เป็นอีกภารกิจ

 

 

อาจารย์พอใจไหม ไม่ได้เป็นข้าราชการแต่เป็นผู้ประกันตน มาตรา 33 

 

อยากจะพอใจ ถ้าผู้ประกันตนได้รับการดูแลในระบบที่พัฒนากว่านี้ การเป็นผู้ประกันตนก็ทำให้เรารู้สึกเป็นหนึ่งเดียวกับผู้ประกันตนหลายๆ คน และสิ่งที่ผมกับทีมประกันสังคมก้าวหน้าพยายามผลักดัน ผมก็ได้ประโยชน์และผู้ประกันตนคนอื่นๆ ก็ได้ประโยชน์ด้วย 

 

ถ้าผมเป็นข้าราชการ อาจจะรู้สึกว่าตัวเองไม่ได้เกี่ยวอะไรกับประกันสังคม ความอินกับสิทธิประกันสังคมไม่มีใครอินเท่ากับผู้ประกันตนด้วยกัน 

 

อีกแง่หนึ่ง ถ้าเราทำตัวเป็นอาจารย์หมอสูงส่ง เป็น ‘เทวดาฟ้าดิน’ แล้วไปเจอคนไข้ผู้มีรายได้น้อยไม่สามารถทำตามที่หมอสั่งได้ จะบอกให้เขากินอาหารดีๆ อย่ากินหวานอย่ากินไขมัน ต้องมานั่งนับคาร์โบไฮเดรตทั้งที่ในประเทศนี้อาหารดีๆ ล้วนมีราคาแพง ประชาชนกินอาหารสุขภาพได้ยาก ถ้าเรามองตัวเองว่าเป็นประชาชนที่ทำงานหนักเหมือนกัน เราพยายามเข้าใจเขา สุดท้ายการจัดการปัญหาสุขภาพในประเทศจะสมเหตุสมผลมากกว่านี้

 

ทางเลือกในชีวิตของหมอและราคาที่ต้องจ่าย

 

สมมติเป็นหมอในโรงพยาบาลรัฐ รายได้ 7 หมื่นบาทต่อเดือน แต่มีโรงพยาบาลเอกชนให้เดือนละ 2 แสนบาท แล้วหมอจะอยู่โรงพยาบาลรัฐเพื่อรับใช้พี่น้องประชาชนทำไม 

 

ถ้าคิดว่าอยู่โรงพยาบาลรัฐเพื่อเอาสิทธิข้าราชการเพื่อจะได้สวัสดิการดูแลพ่อแม่ ก็มีปรากฏการณ์ที่หมอรุ่นใหม่ๆ เขารู้สึกว่าอยู่โรงพยาบาลเอกชนคุ้มกว่า อยู่แป๊บเดียวก็เก็บเงินมาซื้อประกันเอกชนให้พ่อแม่ได้แล้ว

 

หมอที่เป็นข้าราชการรุ่นใหม่ๆ

 

หมอรุ่นใหม่ๆ ที่ยังเลือกเป็นข้าราชการ อาจจะไม่ได้สนเรื่องเกียรติ เรื่องฐานันดร แต่เขาสนเรื่องความมั่นคง สิทธิดูแลพ่อแม่และมีบำนาญ ซึ่งก็คงจะช่วยให้สบายใจขึ้นว่าเกษียณไปก็มีความมั่นคง 

 

เป็นโจทย์ใหญ่ที่ประเทศเราจะออกแบบระบบอย่างไรให้มีคนในภาครัฐรับใช้ประชาชนได้โดยที่ไม่หลุดไปเอกชนกันหมด

 

ถ้าเอกชนมีอิทธิพลมากขึ้นเรื่อยๆ แล้วบุคลากรทางการแพทย์ไหลไปหมด สุดท้ายประชาชนผู้ป่วยที่มารักษาตามระบบของรัฐ ก็จะรอคิวโรงพยาบาลรัฐโดยใช้เวลานานเป็นปี แพทย์ในระบบโรงเรียนแพทย์ ไม่มีข้อจำกัดว่าไม่ให้ไปทำงานโรงพยาบาลเอกชน ขอแค่ไม่กระทบงานในเวลา ซึ่งประกอบด้วย งานตรวจคนไข้ งานสอน งานวิจัย ถ้ารับผิดชอบ 3 อย่างนี้ได้แล้ว จะไปทำอะไรก็เรื่องของแต่ละคน 

อาจารย์ในโรงเรียนแพทย์ก็เป็นพนักงานเอกชนด้วยเพราะมหาวิทยาลัยสังกัด อว. ออกนอกระบบราชการแล้ว

 

 

อาจารย์แพทย์สามารถไปทำงานโรงพยาบาลเอกชนได้

 

เหตุผลหลักที่ไม่ห้ามอาจารย์แพทย์ไปทำงานโรงพยาบาลเอกชนได้ เพราะถ้าห้าม เขาก็จะมีอีกทางเลือกคือ ลาออกจากโรงเรียนแพทย์ไปเลย เพราะพ้นจากการใช้ทุนไปแล้วด้วย ขณะที่คนที่จะเป็นอาจารย์แพทย์ต้องมีความเป็นเลิศด้านวิชาการและมีความสามารถมากพอที่จะสอนคนรุ่นต่อไป ต้องสอน ต้องทำวิจัย ถ้าห้ามไปทำเอกชนและให้เขามีรายได้เฉพาะจากโรงเรียนแพทย์เท่านั้น อาจารย์แพทย์ก็แค่ลาออก แล้วไปทำเอกชนเต็มตัว เป็นการชักเย่อแรงงานบุคคล เราจะทำอย่างไรให้บุคลากรอยากอยู่ในระบบได้มากพอที่จะทำให้คนไข้ไม่ต้องรอคิวนานเป็นปี เพราะจำนวนแพทย์มีจำกัด

 

ออกจากระบบราชการ แต่บริหารแบบราชการ

 

เมื่อโรงเรียนแพทย์ออกจากความเป็นราชการ ก็มีความจำเป็นที่ต้องหาทุนให้ตัวเอง และอาจารย์ซึ่งไม่ได้บำเหน็จบำนาญข้าราชการแล้วก็ต้องหาลู่ทางให้ชีวิตมากขึ้น

ในแง่หนึ่งมีความเชื่อกันว่าจะทำให้การบริหารของมหาวิทยาลัยและโรงพยาบาลดีขึ้นกว่าระบบราชการ 

 

แต่ในทางปฏิบัติก็กลับปรากฏว่าโรงเรียนแพทย์หลายแห่งยังบริหารแบบระบบราชการอยู่ดี แม้จะออกจากระบบมาแล้ว 

 

หลักการออกจากระบบราชการ คือเพื่อให้การบริหารดีขึ้น แต่เมื่อออกมาแล้วบริหารเหมือนข้าราชการ จะออกมาเพื่ออะไร เช่นเดียวกับการมีความพยายามจะเอาบุคลากรทางการแพทย์ออกจากสำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน (ก.พ.) คำถามคือ เอาออกมาแล้วจะเปลี่ยนแปลงอย่างไร ถ้าออกมาแล้วยังบริหารเหมือนเดิม ปัญหาก็เหมือนเดิม เช่น บางแห่งเบิกเงินขอทุนวิจัยจากมหาวิทยาลัย กว่าจะได้เงินก็เกือบครึ่งปี แล้วอาจารย์โรงเรียนแพทย์ก็ไม่ใช่ข้าราชการ ไม่ได้สวัสดิการข้าราชการ กลายเป็นผู้ประกันตน ซึ่งทำให้อาจารย์แพทย์ไปหาลู่ทางเพื่อหารายได้มากขึ้น 

 

มีเงินอย่างเดียวตั้งโรงพยาบาลเอกชนได้ไหม ภาครัฐมีเงื่อนไขอะไรกับโรงพยาบาลเอกชน

 

ถ้ามีเงินลงทุนและผ่าน ‘พระราชบัญญัติสถานพยาบาล’ ก็ตั้งได้ แต่กระทรวงสาธารณสุขก็ไม่ได้ไปยุ่งอะไรกับโรงพยาบาลเอกชน มี พ.ร.บ.สถานพยาบาล มีผู้ดูแลคุณภาพโรงพยาบาลแต่ก็ไม่ได้เป็นกฎหมาย มีแต่ป้ายแปะว่าผ่านการดูแลคุณภาพ แต่ถ้าไม่มีป้ายแปะว่าผ่านการดูแลคุณภาพโรงพยาบาลแล้วก็ไม่ได้มีผลอะไร ประชาชนจะมั่นใจในมาตรฐานการรักษาโรงพยาบาลเอกชนได้อย่างไร ในมุมของผมคือ ไม่ทราบ เพราะขึ้นอยู่กับความเชื่อของผู้ป่วยและครอบครัวว่าเขาจะเลือกโรงพยาบาลไหน แล้วแต่ศรัทธา 

 

แต่ถ้าเป็นโรงพยาบาลเอกชนระดับท็อปเขาก็สร้างแบรนด์มานาน จนได้รับการจัดอันดับระดับโลก ก็ว่ากันไป เราอาจจะมั่นใจจากการจัดอันดับนั้น 

 

ส่วนเกณฑ์โรงพยาบาลภาครัฐ จะมาในรูปแบบของ KPI โรงพยาบาลต้องส่งข้อมูลว่าทำอะไรถึงไหนแล้ว ให้กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) หรือสำนักงานสาธารณสุขจังหวัด (สสจ.) ได้ดู โดยมีเกณฑ์อยู่ แต่อย่างไรก็ตาม จะไม่มีการลงโทษโรงพยาบาลเพราะถ้าลงโทษก็จะทำให้ยิ่งแย่ไปกันใหญ่ เช่น ถ้าเขามีปัญหาบุคลากรไม่พอ ทำงานไม่ดี ถ้าถูกลงโทษ ก็จะยิ่งแย่ลงไปอีก ซึ่งการแก้ปัญหาก็เป็นเรื่องยากเช่นกัน แต่ต้องช่วยกันให้สามารถพัฒนาขึ้นให้ได้ 

 

Regulator ผู้ดูแลโรงพยาบาลรัฐและเอกชน 

 

ผมมองว่ากระทรวงสาธารณสุขควรเป็น Regulator ดูแลมาตรฐาน ทั้งโรงพยาบาลรัฐและโรงพยาบาลเอกชน แต่ปรากฏว่ากระทรวงสาธารณสุขไม่ยุ่งกับโรงพยาบาลเอกชนเลย แม้มีการตรวจคุณภาพบ้างถ้าเขาจะทำสัญญากับบัตรทองต้องได้คุณภาพระดับไหน แต่ถ้าโรงพยาบาลไม่ใช่คู่สัญญาบัตรทอง กระทรวงสาธารณสุขก็จะไม่ยุ่ง

 

ระบบสุขภาพไทยขาด Regulator 

 

เรายังไม่มีผู้เป็น Regulator ที่ชัดเจน คือไม่มีใครเป็นเจ้าภาพนโยบายด้านสุขภาพทั้งหมดของทุกกองทุน ไม่ว่าจะเป็นกองทุนสวัสดิการรักษาพยาบาลข้าราชการ (กรมบัญชีกลาง กระทรวงการคลัง) กองทุนประกันสังคม (สำนักงานประกันสังคม กระทรวงแรงงาน) กองทุนบัตรทอง สปสช.(สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ)

บางคนก็พูดถึงการรวมกองทุนซึ่งก็เป็นอีกทางเลือกหนึ่ง แต่ถ้ามีทางอื่นที่แก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำ ก็ไม่จำเป็นต้องรวมกองทุนก็ได้

 

กระทรวงสาธารณสุขตอนนี้ทำหน้าที่คุมโรงพยาบาลรัฐ แต่ยังไม่ใช่ Regulator ทั้งที่เป็นกระทรวง ควรจะดูแลทุกสิทธิ ไม่ใช่ดูแต่บัตรทองของ สปสช. หรือ ข้าราชการ แต่ไม่ได้ดูแลประกันสังคม  

 

ประกันสังคมกับโรงพยาบาลเอกชน

 

โรงพยาบาลเอกชนก็มีข้อดีเรื่องการใช้เวลาในการรอคิวไม่นานเท่ากับโรงพยาบาลรัฐ การให้บริการรักษาผู้มีสิทธิประกันสังคมในโรงพยาบาลเอกชนจึงสามารถตอบโจทย์เรื่องเวลา แต่ผลการรักษา ระหว่างโรงพยาบาลรัฐกับเอกชน ยังไม่มีการนำมาเปรียบเทียบกันอย่างชัดเจนว่า เมื่อประชาชนเข้ารับการรักษาแล้ว มีชีวิตรอดมาก-น้อยกว่ากันหรือไม่ ถ้าโรคที่รักษาไม่ยาก เช่น เป็นหวัด เจ็บคอ ไปโรงพยาบาลเอกชนกับโรงพยาบาลรัฐ เป็นผู้ป่วยนอก อาจจะรักษาไม่ต่างกัน และเอกชนอาจจะมีจุดแข็งด้านการให้บริการความสะดวกสบาย แต่ถ้าเป็นโรครักษายาก อย่างเช่น มะเร็งต้องรักษาด้วยหมอถึง 3-4 คนร่วมกัน โรงพยาบาลรัฐจะมีเครือข่ายการส่งต่อมากกว่าโรงพยาบาลเอกชน เพราะโรงพยาบาลรัฐในแต่ละเขตสุขภาพ ต้องมีแผนการรองรับว่าสามารถส่งต่อไปที่ไหน ต้องมีการตกลงกันในแต่ละเขตสุขภาพ ขณะที่เอกชนบางแห่งอาจจะไม่มีความแน่นอนว่าจะส่งต่อไปที่ไหน แต่ถ้าโรงพยาบาลเอกชนแห่งไหนเขาบริหารจัดการดีก็จะไม่มีปัญหาเรื่องการส่งตัวคนไข้

 

ไม่มีข้อมูลโรงพยาบาลเอกชน

 

เราไม่มีข้อมูลอะไรเกี่ยวกับโรงพยาบาลเอกชนเลย ขณะที่โรงพยาบาลของรัฐและโรงเรียนแพทย์ที่อยู่ในระบบ ทาง สปสช. มีการเก็บข้อมูลสุขภาพ ข้อมูลการเบิกจ่ายซึ่งนักวิชาการสามารถขอข้อมูลมาทำวิจัยได้ แต่นักวิชาการ ไม่สามารถจะทราบผลการรักษาอย่างถูกต้องจากโรงพยาบาลเอกชนเป็นจำนวนเท่าไหร่ กี่เปอร์เซ็นต์ 

สมมติผมต้องการข้อมูลจากโรงพยาบาลเอกชนเพื่อจะมาเทียบโรงพยาบาลรัฐ ทางเอกชนเขาก็ไม่ให้ เราก็ไม่สามารถวิจัยได้ ขณะเดียวกันโรงพยาบาลเอกชนที่เขารักษาดีตามมาตรฐานที่ควรจะเป็น ก็มีหลายที่ แต่เราก็ไม่มีข้อมูล 

 

สมมติเราในฐานะประกันสังคม มีประเด็นที่อยากทราบว่า ประกันสังคมต้องจ่ายเงินเหมาจ่ายรายหัวให้เอกชน การจ่ายแพงไม่ว่ากัน แต่เราอยากรู้ว่า จ่ายแพงแล้วรักษาดีหรือเปล่า คนไข้มีชีวิตรอดจากโครงการทั้งหลายของประกันสังคมมากแค่ไหน เราในฐานะประกันสังคมผู้จ่ายเงิน เราก็อยากรู้จ่ายเงินแล้วคุ้มไหม เช่นเดียวกับทันตกรรม 900 บาทต่อปี สมมติประกันสังคมเพิ่มให้ 1,500 บาทต่อปี แล้วโรงพยาบาลหรือคลินิกได้ให้บริการประชาชนผู้มีสิทธิ เพิ่มขึ้นตามจำนวนเงินที่ประกันสังคมจ่ายเพิ่มให้หรือไม่

 

 

โรงพยาบาลเอกชน ช่วยรองรับผู้ป่วย แบ่งเบาจากโรงพยาบาลรัฐ

 

ก็เป็นเรื่องจริงที่โรงพยาบาลเอกชนได้ช่วยแบ่งเบาภาระของโรงพยาบาลรัฐด้วย บางพื้นที่ไม่มีโรงพยาบาลรัฐ ก็มีแต่โรงพยาบาลเอกชน คนก็ต้องไปรับบริการ จึงปฏิเสธไม่ได้ว่าเอกชนช่วยแบ่งเบา 

 

แต่ก็นำมาสู่ความซับซ้อนของระบบสุขภาพไทย คือ โรงพยาบาลเอกชนก็ดึงดูดบุคลากรทางการแพทย์จากโรงพยาบาลรัฐด้วยค่าตอบแทน แล้วโรงพยาบาลเอกชนก็เป็นธุรกิจต้องทำกำไร จึงมีการพูดกันว่า ภาครัฐผลิตบุคลากรทางการแพทย์อย่างไรก็รั่วไปเอกชนหมด ซึ่งเป็นโจทย์ใหญ่ของประเทศ ที่จะทำอย่างไรให้ระบบสุขภาพของไทยอยู่ได้โดยไม่ต้องปล่อยให้ประชาชนไปหาประกันชีวิตประกันสุขภาพนอกเหนือจากระบบที่ประชาชนต้องจ่ายภาษีอยู่แล้ว คือ จ่ายภาษีก็แล้ว จ่ายสมทบประกันสังคมก็แล้ว ประชาชนยังต้องไปซื้อประกันอีกหรือ แล้วบริษัทเอกชนก็ซื้อประกันกลุ่มให้พนักงานอีก ต้องจ่ายกี่รอบเพื่อสุขภาพ ทั้งที่จริงควรจะรอบเดียวก็พอ

 

ผมคิดว่าการที่คนจะซื้อประกันเพิ่มเพื่อสร้างความอุ่นใจให้ตัวเอง ก็ไม่ผิด เพราะเป็นทางเลือกของเขา แต่ผมก็อยากให้มีการพัฒนาสิ่งที่จะช่วยรองรับทุกคนด้วย จะได้ดีขึ้นไปด้วยกัน จะวางแผนนโยบายอย่างไรให้ระบบสุขภาพโดยรัฐมีความแข็งแกร่งขึ้นเรื่อยๆ โดยเอกชนช่วยแบ่งเบาภาระเท่าที่จำเป็น และไม่ดึงบุคลากรจากรัฐมากเกินไป ถ้าภาคเอกชนดึงบุคลากรทางการแพทย์รวมถึงทรัพยากรอื่นๆ ไป จะทำให้สวัสดิการภาครัฐไม่โต 

 

 

สิทธิด้านสุขภาพของคนไทย แบ่งออกเป็น 3 กองทุนหลัก เป็นสิ่งที่อาจารย์เห็นด้วยหรือไม่ 

 

ผมคิดว่าสิทธิพื้นฐานที่จำเป็น เป็นสิ่งที่ทุกคนต้องได้ไม่น้อยไปกว่ากัน อาจจะทำได้หลายโมเดล เช่น หากเรามองว่าสิทธิที่ผู้ถือบัตรทองได้นั้นควรเป็นพื้นฐานของคนทุกสิทธิ ก็น่าจะมาตกลงกันได้เช่นกัน

 

ผมมองว่าสิ่งที่เป็นปัญหาในใจของประชาชนมาตลอดคือ ความเหลื่อมล้ำระหว่างสิทธิ ถ้าสมมติเราไม่มีความเหลื่อมล้ำระหว่างสิทธิของแต่ละกองทุน ก็คงไม่มีใครมีปัญหา เช่น ในญี่ปุ่นมีหลายกองทุนแต่ไม่แตกต่างกันมาก คนจึงไม่ได้รู้สึกว่าสิทธิของตัวเองแย่กว่าสิทธิอื่น

 

ประเด็นสำคัญจึงเป็นเรื่องการมีสิทธินั้นตอบสนองความต้องการด้านสุขภาพของเขาได้ดีพอหรือเปล่า เช่น ผู้ประกันตนบางคนรู้สึกว่าจ่ายสมทบกองทุนไป แต่ได้รับบริการแย่กว่าบัตรทองซึ่งเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานของคนจำนวนมากที่มีสิทธิบัตรทอง

 

ส่วนในไทยที่มีสิทธิหลักแบ่งเป็น 3 สิทธิ ข้าราชการ ประกันสังคม บัตรทอง แต่ละสิทธิมีข้อดีข้อเสียแตกต่างกัน ต้นกำเนิดแตกต่างกัน จึงมีทิศทางพัฒนาไปคนละแบบ ซึ่งเป็นโจทย์ใหญ่ของประเทศ ที่จะไม่ให้แต่ละสิทธิเหลื่อมล้ำกัน

 

 

โมเดลขนมชั้น

 

โมเดลขนมชั้น คือ มีบัญชีสิทธิประโยชน์ด้านสุขภาพแห่งชาติ ประชาชนในทุกสิทธิทุกกองทุนต้องได้เหมือนกันเป็นพื้นฐาน ตอนนี้เรามีบัญชียาหลักแห่งชาติ คือกำหนดว่ายาพื้นฐานควรเป็นอะไรที่ทุกกองทุนต้องมี แต่ขนมชั้นโมเดลต้องการชุดสิทธิประโยชน์พื้นฐาน ซึ่งรวมอย่างอื่นด้วยนอกเหนือจากยา เช่น การส่งเสริมสุขภาพ screening โรค long term care และอื่นๆ 

 

ต่อมาชั้นที่ 2 คือ สิ่งที่เพิ่มขึ้นมาจากสิทธิพื้นฐาน ซึ่งบางกองทุนอาจจะให้เพิ่มขึ้น เช่น ผู้ประกันตนส่งเงินสมทบก็ควรจะได้สิทธิบางอย่างเพิ่มขึ้นจากสิทธิที่ทุกคนต้องได้อยู่แล้ว ในชั้นที่ 2 นี้ แต่ละกองทุนอาจจะให้ผู้มีสิทธิแตกต่างจากกองทุนอื่น ตามความต้องการของผู้มีสิทธิแต่ละกองทุน เช่น ประกันสังคมเป็นกองทุนของคนวัยทำงาน อาจต้องการด้านสุขภาพแตกต่างจากผู้สูงอายุที่ถือสิทธิบัตรทองหรือผู้สูงอายุที่ไม่ได้ทำงานแล้ว ประกันสังคมก็ควรเพิ่มให้ผู้ประกันตนเพื่อให้เหมาะสมกับคนวัยทำงาน แต่สิ่งที่เพิ่มนั้นไม่ใช่เรื่องมาตรฐานการรักษาที่ส่งผลกับความเป็นความตาย เพราะมาตรฐานนี้ต้องได้มาตรฐานเท่ากันสำหรับประชาชนทุกสิทธิ 

 

ชั้นที่ 3 คือชั้นที่คนไข้เลือกจ่ายเงินเพิ่มเอง นอกจากต้องได้มาตรฐานการรักษาที่ส่งผลกับความเป็นความตายเช่นเดียวกับคนทุกสิทธิแล้ว สิ่งที่ได้เพิ่มอาจจะเป็นเรื่องความสะดวกสบายที่เพิ่มขึ้นจากการให้บริการ

 

โมเดลขนมชั้นยังไม่สามารถเกิดขึ้นได้

 

สาเหตุหลักๆ เรายังไม่มีคำว่าบัญชีสิทธิประโยชน์ด้านสุขภาพแห่งชาติ เรายังไม่มีการตกลงกันชัดเจนว่าควรมีอะไรบ้าง แม้เรามีบัตรทอง แต่สิ่งที่เป็นอยู่คือผู้มีสิทธิอื่นๆ ก็จะไม่ได้ใช้สิทธิบัตรทอง

 

ทราบว่าเคยมีการตั้งคณะศึกษา แต่ก็ยังไม่มีความคืบหน้าว่าบัญชีที่ว่านี้ควรเป็นอย่างไร จึงเป็นที่มามีผู้เสนอให้ใช้บัตรทองเป็นพื้นฐาน แต่ก็เป็นเพียงทางเลือกหนึ่งเพราะสุดท้ายต้องหาบัญชีที่เหมาะสมที่สุดที่เป็นสิทธิพื้นฐานของทุกคน

 

มีอีกโมเดลที่มีการพูดถึงคือ ประกันสังคมดูแลสิทธิประโยชน์ด้านต่างๆ เหมือนเดิม ยกเว้นสิทธิด้านสุขภาพ ซึ่งควรจะให้สปสช. (บัตรทอง) เป็นผู้ดูแล แล้วผู้ประกันตนรับสิทธิประโยชน์ด้านอื่นๆ จากประกันสังคมเหมือนเดิม แต่สปสช. จะยอมแบกรับค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้นหรือไม่ อย่างไรก็ตาม ผมเชื่อว่าเป็นสิ่งที่เป็นไปได้เพื่อให้ประชาชนไม่รู้สึกเหลื่อมล้ำกัน

 

 

ในฐานะแพทย์มองบอร์ดแพทย์ประกันสังคมอย่างไร

 

ที่ผ่านมาบอร์ดแพทย์ของประกันสังคมมีความลึกลับ บอร์ดประกันสังคมก็ลึกลับเช่นกัน แต่บอร์ดประกันสังคมชุดล่าสุดเป็นครั้งแรกที่มีการเลือกตั้งบอร์ดฝ่ายลูกจ้างเข้าไป 

 

สำหรับบอร์ดแพทย์ที่ผ่านมา ถ้าเทียบกับ สปสช. ซึ่งดูแลบัตรทอง จะพบว่าขั้นตอนการพิจารณาของประกันสังคมยังมีปัญหาว่าคนไข้จะได้หรือไม่ได้สิทธิในการรักษาต่างๆ จากเหตุผลอะไร

 

ขณะที่บัตรทองมีขั้นตอนชัดเจนก่อนบรรจุสิทธิของผู้ป่วยเข้าไป เขาจะมีการเปิดรับความเห็นจากผู้เกี่ยวข้องว่า โรคนี้มีประเด็นอะไร การรักษาแบบไหนที่คนอยากได้ ซึ่งจะมีข้อมูลว่า โรคนี้มีผู้ป่วยจำนวนเท่าไหร่ มีความรุนแรงเท่าไหร่ เพื่อจัดลำดับความสำคัญว่าโรคไหนควรได้รับความสนใจก่อน 

 

จากนั้นจึงจะมีการประชุมเรื่องความคุ้มค่าในการบริหารจัดการการใช้เงิน กับการต่อรองราคายา เพื่อนำไปสู่การพิจารณาให้เข้าไปอยู่ในบัญชียาหลักแห่งชาติและเป็นสิทธิของผู้ป่วย 

 

สปสช. มีเงื่อนไขชัดเจนว่า คนที่จะมาทำงานนี้ต้องไม่มีผลประโยชน์ทับซ้อน ต้องไม่มีส่วนได้ส่วนเสียกับยาที่เขาเสนอ แล้วเราสามารถดูผลวิจัยค่อนข้างง่ายในเว็บไซต์ สปสช. มีหลักการชัดเจนว่าต้องเป็นอย่างไรให้เกิดความเป็นธรรมและโปร่งใสที่สุด

 

ในขณะที่ประกันสังคม ทุกอย่างค่อนข้างเป็นเรื่องปิดลับภายใน เราไม่เคยอ่านรายงานการประชุมบอร์ดแพทย์ประกันสังคม เราไม่รู้ขั้นตอนว่าเขาคิดอย่างไร ทำไมสิทธิบางอย่างจึงเข้ามาเหนือกว่าสิทธิอื่น เช่น การฉีดพลาสมาคุณภาพสูงที่ข้อเข่าให้คนไข้ที่เข่าเสื่อม เป็นยาใหม่ ยังไม่มีหลักฐานชัดเจนว่าคุ้มค่า โดยที่ราชวิทยาลัยกระดูกยังบอกว่า หลักฐานเกี่ยวกับยายังไม่เพียงพอที่จะแนะนำให้ใช้ แต่ประกันสังคมกลับบรรจุเข้ามาให้ผู้ประกันตนซึ่งเป็นผู้ป่วยใช้ แปลว่า ประกันสังคมจ่ายเงินซื้อยาตัวนี้ ขณะที่บัตรทองไม่ซื้อยาตัวนี้

 

ส่วนตัวมีคำถามว่าทำไมยาตัวนั้นจึงเข้ามาอยู่ในสิทธิก่อนยาอีกตัวที่รักษามะเร็งซึ่งมีหลักฐานชัดเจนเกิน 5-10 ปีว่าทำให้คนไข้ได้ชีวิตที่ยืนยาวขึ้น เมื่อไม่มีขั้นตอนที่ต้องตอบคำถามนี้ ทางประกันสังคมจึงไม่ต้องตอบคำถามใคร 

 

นอกจากนั้น บอร์ดแพทย์ประกันสังคมมีผู้มีส่วนเกี่ยวข้องจากโรงพยาบาลเอกชนเข้ามาด้วย จริงอยู่เขามีความเกี่ยวข้อง ขณะเดียวกันก็อาจจะมีผลประโยชน์ทับซ้อนด้วยหรือไม่ก็ได้ ต้องพิจารณาเป็นกรณีไป แต่ประเด็นสำคัญคือ อำนาจของโรงพยาบาล เมื่อเทียบกับผู้ประกันตนแล้ว อำนาจเท่าเทียมกันหรือไม่ เรามีตัวแทนจากผู้ประกันตนเข้าไปในบอร์ดแพทย์มากพอที่จะนำเสนอสิ่งที่ผู้ประกันตนต้องการและจำเป็น มากกว่าสิ่งที่จะทำผลประโยชน์ให้โรงพยาบาลหรือไม่

 

อยากให้มีความเป็นธรรมกับผู้ประกันตน ไม่รู้สึกน้อยเนื้อต่ำใจว่าได้รับสิทธิอะไรน้อยกว่าบัตรทอง การจะไปถึงตรงนั้น ไม่ว่าจะวิธีรวมกองทุน หรือมีบัญชีสิทธิประโยชน์ด้านสุขภาพแห่งชาติ เพื่อให้มีขนมชั้นโมเดลก็ได้ เพิ่มความโปร่งใสเผยแพร่แนวทางพิจารณาสิทธิการรักษา ให้ผู้ประกันตนมีส่วนร่วม และตรวจสอบได้มากกว่านี้ ไม่ใช่คุยในวงลับอย่างเดียว 

 

ในฐานะผู้ประกันตนก็อยากทราบว่าบอร์ดแพทย์ใช้เกณฑ์อะไรในการจัดลำดับความสำคัญในการลงทุน ไม่มีช่องทางให้เสนอว่าผู้ประกันตนอยากได้อะไรจากบอร์ดแพทย์ของประกันสังคม 

 

ผมเชื่อว่าทุกคนมีสิ่งที่ตัวเองอยากได้อยู่แล้ว บางทีอาจจะไม่ได้สิ่งที่เราต้องการ แต่ถ้าขั้นตอนเป็นธรรมโปร่งใส ผมเชื่อว่าเรายอมรับได้ แต่ถ้าเราต้องได้สิ่งที่ได้รับการอนุมัติโดยไม่ทราบที่มาทางความคิดว่ามีที่มาอย่างไร ก็จะเกิดความไม่พอใจ และเกิดความสงสัยตลอดเวลา

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising