×

จับตาเลือกตั้งแคนาดา 2025: หาผู้นำรับมือทรัมป์ กับกระแสชาตินิยมเอียงซ้ายที่ถูกปลุกขึ้น

28.04.2025
  • LOADING...
canada-election-2025-trump-factor

แคนาดาเตรียมจัดการเลือกตั้งครั้งสำคัญในวันนี้ (28 เมษายน) ตามเวลาท้องถิ่น เพื่อสรรหานายกรัฐมนตรีคนใหม่ หลังจากที่ มาร์ก คาร์นีย์ นายกรัฐมนตรีคนปัจจุบันตัดสินใจยุบสภาเมื่อวันที่ 24 มีนาคมที่ผ่านมา โดยเขาต้องการอาณัติที่เข้มแข็งขึ้นเพื่อรับมือกับภัยคุกคามต่างๆ โดยเฉพาะจาก โดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา ที่หวังจะให้แคนาดากลายเป็นรัฐที่ 51 ของสหรัฐฯ 

 

การเลือกตั้งแคนาดาในครั้งนี้จึงมีความสำคัญอย่างมาก โดยมีประเด็นที่น่าจับตามองดังนี้

 

  1. หาผู้นำรับมือ โดนัลด์ ทรัมป์

 

นายกรัฐมนตรีคนใหม่ของแคนาดาจะต้องเป็น ‘ผู้นำทัพ’ ในการรับมือกับทรัมป์ ท่ามกลางการเผชิญหน้ากับสงครามการค้ากับสหรัฐฯ และท่าทีของทรัมป์ที่มักจะแสดงจุดยืนบ่อยครั้งว่า สหรัฐฯ ต้องการครอบครองแคนาดา 

 

คาร์นีย์ระบุว่า แคนาดากำลังเผชิญกับวิกฤตการณ์ครั้งสำคัญที่สุดในชีวิต เนื่องจากการดำเนินมาตรการทางการค้าที่ไม่เป็นธรรมของทรัมป์ และภัยคุกคามต่ออำนาจอธิปไตยของแคนาดา เขาต้องการทำลายเรา เพื่อให้อเมริกาสามารถครอบครองเราได้ เราจะไม่ยอมให้สิ่งนั้นเกิดขึ้น

 

โดยสหรัฐฯ ประกาศขึ้นภาษีนำเข้าสินค้าจากแคนาดา 25% โดยเฉพาะเหล็กและอะลูมิเนียมที่แคนาดาเป็นผู้ค้ารายใหญ่ รวมถึงรถยนต์และชิ้นส่วนรถยนต์ที่ไม่เป็นไปตามข้อตกลงการค้า USMCA ส่งผลกระทบอย่างมากต่อภาคเศรษฐกิจและการค้าของแคนาดา ก่อนที่แคนาดาจะตอบโต้ด้วยการขึ้นภาษีนำเข้าสินค้าจากสหรัฐฯ เช่นเดียวกัน คิดเป็นมูลค่ากว่า 4.2 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ

 

ปัจจัยที่เกี่ยวพันกับทรัมป์จึงกลายเป็นประเด็นสำคัญที่ผู้มีสิทธิเลือกตั้งชาวแคนาดาให้ความสนใจเป็นอย่างมากในการเลือกตั้งครั้งนี้

 

  1. วิกฤตที่พักอาศัย-ค่าครองชีพ ความกังวลที่ขยายตัวในแคนาดา

 

อีกหนึ่งในประเด็นสำคัญที่ประชาชนชาวแคนาดาแสดงความกังวลอย่างมากในขณะนี้คือ วิกฤตที่พักอาศัย-ค่าครองชีพ โดยแคนาดามีอัตราการเติบโตของประชากรสูงสุดในกลุ่มประเทศ G7 ขณะที่การก่อสร้างที่อยู่อาศัยไม่ทันต่อความต้องการ ส่งผลให้ค่าเช่าและราคาบ้านพุ่งสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ยังไม่นับรวมผลกระทบจากนโยบายภาษีของทรัมป์ ที่ทำให้สถานการณ์ทางเศรษฐกิจและสังคมของแคนาดารุนแรงและซับซ้อนยิ่งขึ้นไปอีก

 

ในเมืองใหญ่อย่างโตรอนโตและแวนคูเวอร์ ราคาบ้านเฉลี่ยเพิ่มขึ้นกว่า 70% ตั้งแต่ปี 2015 ทำให้การเป็นเจ้าของบ้านเป็นเรื่องยากสำหรับชนชั้นกลางและคนรุ่นใหม่ ขณะที่ค่าเช่าที่พักอาศัยในเมืองใหญ่เพิ่มขึ้นกว่า 20% ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา ส่งผลให้ผู้เช่าต้องใช้รายได้ส่วนใหญ่ในการจ่ายค่าเช่า หลายเมืองที่พักชั่วคราวไม่เพียงพอ ทำให้ต้องประกาศ ‘ภาวะฉุกเฉินด้านที่อยู่อาศัย’ (Housing Emergency) ส่วนระดับเงินเฟ้อที่มีแนวโน้มจะเริ่มชะลอตัวลง แต่ราคาสินค้าจำเป็นอย่างอาหาร และน้ำมันยังคงพุ่งสูงเกินค่าเฉลี่ย

 

แนวนโยบายด้านที่พักอาศัย-ค่าครองชีพ ของพรรคลิเบอรัล มุ่งเน้น ‘การอุดหนุน’ และ ‘ลงทุนโดยรัฐ’ เพื่อสร้างบ้านราคาย่อมเยาและลดค่าครองชีพโดยตรงผ่านนโยบายสวัสดิการและภาษี โดยตั้งเป้าสร้างบ้านใหม่ 3.9 ล้านหลัง ภายในปี 2031 ขณะที่แนวนโยบายของพรรคคอนเซอร์เวทีฟจะเชื่อใน ‘กลไกตลาดเสรี’ และ ‘การลดบทบาทรัฐ’ โดยเปิดทางให้เอกชนแก้ปัญหา และลดภาษีเพื่อให้ประชาชนมีรายได้สุทธิสูงขึ้นเอง พร้อมตั้งเป้าสร้างบ้านใหม่ 2.3 ล้านหลัง ภายใน 5 ปี

 

ทิศทางและแนวนโยบายในการแก้ไขปัญหาปากท้องเหล่านี้จึงมีส่วนสำคัญต่อการตัดสินใจของชาวแคนาดาอย่างมากในการเลือกผู้ที่จะเป็นกระบอกเสียงแทนพวกเขา

 

  1. ความฝันของพรรคคอนเซอร์เวทีฟ กับการแก้เกมของพรรคลิเบอรัล 

 

พรรคคอนเซอร์เวทีฟที่ได้รับคะแนนนิยมอย่างมากในช่วงปลายการบริหารประเทศของทรูโด ซึ่งผนึกกำลังกับกระแสต่อต้าน Woke ตั้งเป้าหมายว่า พวกเขาจะต้องกลับมาชนะการเลือกตั้งในครั้งนี้ให้ได้ หลังจากที่พ่ายแพ้การเลือกตั้งให้กับพรรคลิเบอรัล ซึ่งเป็นพรรคกลางซ้าย ติดต่อกันถึง 3 ครั้งล่าสุด โดยส่ง ปิแอร์ ปัวลิเยฟร์ ที่มีความเป็นอนุรักษนิยมสูงมากๆ มาเป็นผู้นำพรรคและเป็นแคนดิเดตนายกรัฐมนตรี  

 

ในช่วงหนึ่งปีที่ผ่านมาคะแนนนิยมของปัวลิเยฟร์เหนือกว่าทรูโดมาโดยตลอด บางช่วงเวลาคะแนนนิยมของปัวลิเยฟร์สูงกว่าทรูโดที่บริหารประเทศแคนาดามานานเกือบทศวรรษกว่า 20% ทำให้นักวิเคราะห์ในช่วงเวลานั้นมองว่า พรรคคอนเซอร์เวทีฟจะกลับชนะการเลือกตั้งอย่างถล่มทลายในปี 2025

 

ขณะที่ฟากฝั่งของพรรคลิเบอรัลก็มีการแก้เกม โดยการตัดสินใจเปลี่ยนหัวหน้าพรรคลิเบอรัล หลังจากทรูโดประกาศลาออกจากตำแหน่ง โดยเลือก มาร์ก คาร์นีย์ อดีตผู้ว่าการธนาคารกลางของสหราชอาณาจักรและแคนาดาวัย 60 ปี เข้ารับตำแหน่งหัวหน้าพรรคลิเบอรัล รวมถึงนั่งเก้าอี้นายกรัฐมนตรีแคนาดาต่อจาก จัสติน ทรูโด เมื่อวันที่ 14 มีนาคมที่ผ่านมา ท่ามกลางคะแนนนิยมที่ตกต่ำของพรรคลิเบอรัลและความขัดแย้งภายในคณะรัฐมนตรี 

 

การตัดสินใจเลือกคาร์นีย์ที่ดูมีภาพลักษณ์ของการเป็นเทคโนแครตที่มีความเชี่ยวชาญด้านเศรษฐกิจ ดูเหมือนจะตอบโจทย์สถานการณ์ปัจจุบัน นำเสนอจุดยืนและแนวทางที่ต่างออกไปจากทรูโดที่มักจะพูดถึงสิทธิขั้นพื้นฐานหรือสิทธิความหลากหลายในมิติต่างๆ ของสังคมแทบจะตลอดเวลา ทำให้คะแนนนิยมในตัวคาร์นีย์และพรรคลิเบอรัลปรับตัวสูงขึ้น และพลิกกลับมานำพรรคคอนเซอร์เวทีฟอยู่ในขณะนี้ราว 4-5% 

 

  1. ชาตินิยมเอียงซ้าย อัตลักษณ์สำคัญของแคนาดา

 

ทั้งคำขู่และการดำเนินมาตรการทางภาษีของทรัมป์ปลุกกระแสชาตินิยมในหมู่ประชาชนชาวแคนาดา (Canadian Nationalism) ซึ่งกระแสชาตินิยมนี้มีลักษณะเอียงซ้าย เนื่องจากหลายปัจจัยทางประวัติศาสตร์และสังคม เช่น แคนาดาเกิดจากการต่อต้านการครอบงำของสหรัฐฯ ที่มีวัฒนธรรม เน้น ‘ทุนนิยมเสรีนิยมขวาจัด’ (Right-Wing Capitalism) ขณะที่ความเป็นชาตินิยมของแคนาดา ถูกผูกกับอุดมการณ์แบบ ‘รัฐสวัสดิการ’ (Welfare State) ที่มีระบบสุขภาพถ้วนหน้า (Universal Healthcare) ยอมรับพหุวัฒนธรรม ภูมิใจในความหลากหลายทางชาติพันธุ์ รวมถึงประสานความแตกแยกภายใน เช่น กรณีของควิเบก ทั้งหมดนี้ล้วนมีส่วนทำให้ชาตินิยมแคนาดามีอุดมการณ์ ‘ก้าวหน้า’ และ ‘เอียงซ้าย’ กว่าชาตินิยมในประเทศตะวันตกอื่นๆ ซึ่งส่วนใหญ่มักจะเป็นกระแสเอียงขวา

 

กระแสชาตินิยมเอียงซ้ายนี้กลายเป็นอัตลักษณ์ประจำชาติที่ทำให้ชาวแคนาดารู้สึกว่า ตัวเองแตกต่างจากสหรัฐฯ ซึ่งจุดนี้อาจเพิ่มแต้มต่อ หรือเป็นผลบวกต่อคาร์นีย์ในการเลือกตั้งครั้งนี้ และอาจทำให้พรรคลิเบอรัลของแคนาดาคว้าชัยชนะในการเลือกตั้งเป็นครั้งที่ 4 ติดต่อกัน อย่างไรก็ตาม แม้คาร์นีย์จะมีประสบการณ์การทำงานในแบงก์ชาติของ 2 ประเทศยักษ์ใหญ่ และบริษัททุนข้ามชาติอย่าง Goldman Sachs มาก่อน แต่เขาถือว่ายังเป็น ‘มือใหม่’ ทางการเมือง เพราะเขาไม่เคยเป็น สส.หรือดำรงตำแหน่งทางการเมืองใดๆ ก่อนที่จะมารับไม้ต่อจากทรูโด ขณะที่คู่แข่งคนสำคัญอย่างปัวลิเยฟร์มีประสบการณ์ในแวดวงการเมืองแคนาดามานานกว่า 20 ปี

 

ใครจะเป็นนายกรัฐมนตรีคนใหม่ของแคนาดา ชาวแคนาดาเท่านั้นเป็นผู้ตัดสิน รู้ผลพร้อมกันเร็วๆ นี้

 


 

บทความที่เกี่ยวข้อง: 

 

ภาพ: Reuters / Shutterstock

 

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising