ลองนึกถึงภาพหลังจบงานคอนเสิร์ตและพื้นที่กองไปด้วยขยะดูสิ แม้เราเองก็ไม่แน่ใจว่า 2 สิ่งนี้กลายเป็นของคู่กันไปตั้งแต่เมื่อไร แต่เราเชื่อว่านี่คือหนึ่งในเหตุผลที่สามารถทำให้คนยุคใหม่ซึ่งชื่นชอบการออกไปใช้ชีวิตเลือกที่จะไม่ไปจอยเทศกาลนั้นๆ ได้ หากเทศกาลที่ว่าไม่มีสิ่งที่ทำให้พวกเขารู้สึกได้ช่วยสิ่งแวดล้อม
แต่นั่นอาจไม่ใช่เหตุผลเดียวที่ทำให้หลายเทศกาลทั่วโลกหันมาใส่ใจคำว่า ‘ความยั่งยืน’ (Sustainability) เพราะท้ายที่สุดแล้วใจความสำคัญของการจัดคอนเสิร์ตหรือเทศกาลคือการสร้างความสนุก เช่นนั้นแล้วจะเป็นเพราะเหตุผลอะไรได้อีก มาลองดูกัน
ภาพ: Coachella 2025
#เทศกาลที่ไปโชว์เทสต์ที่เป็น
ในยุคนี้การเข้าร่วมเทศกาลสักงานหนึ่งก็เป็นเหมือนการโชว์ตัวตน คุณจะกลายเป็นคนรักสุขภาพเมื่อตื่นมาเข้าร่วมคลับวิ่ง หรืออาจกลายเป็นนักชิมถ้าหากโพสต์รูปร้านอาหารบ่อยๆ การเข้าร่วมเทศกาลหรือคอนเสิร์ตก็เป็นเช่นนั้น โดยเฉพาะเทศกาลส่วนใหญ่ในสมัยนี้ที่มักใส่มุมไลฟ์สไตล์ลงไปด้วย ตัวตนของทุกคนจึงถูกตัดสินตามเทสต์ของเทศกาลนั้นๆ เช่นกัน
และสำหรับคนรุ่นใหม่ที่เป็นกลุ่มเป้าหมายหลักของเทศกาลต่างๆ ซึ่งเป็นเจเนอเรชันที่ค่อนข้างให้ความสำคัญกับ ‘สิ่งแวดล้อม’ คนยุคนี้จึงอยากสนับสนุนงานที่ทำให้พวกเขาได้สนุกแบบรู้สึกดีไปด้วยมากกว่า เพราะคงไม่มีใครอยากโพสต์รูปว่ามีส่วนร่วมในงานที่เต็มไปด้วยขยะหรอก จริงไหม?
ภาพ: Coachella 2025
ยกตัวอย่างเช่น เทศกาลดนตรีระดับโลกอย่าง Coachella ที่เพิ่งจบไป นอกจากการแสดงของศิลปินดังที่หลายคนจับตาดูทุกท่วงท่าบนเวที อีกสิ่งหนึ่งที่เทศกาลนี้ค่อนข้างขึ้นชื่อก็คือการให้ความสำคัญกับความยั่งยืนมาตั้งแต่ปี 2004 และมีการเพิ่มการปฏิบัติต่างๆ เข้ามาเรื่อยๆ อาทิ การชวนให้ผู้เข้าร่วมงานพกขวดน้ำมาเอง มีการแยกขยะในงานอย่างจริงจัง หรือมีบริการ Carpool เพื่อลดมลพิษ
อาจฟังดูเป็นเรื่องง่ายๆ แต่สำหรับอีเวนต์ที่มีคนเข้าร่วมกว่า 120,000 คน เราว่าพวกเขาสร้างผลกระทบได้ค่อนข้างใหญ่เลยทีเดียว แบบนี้ใครไปเที่ยวก็รู้สึกสนุกและแฮปปี้ กลายเป็นคนเทสต์ดีที่รักษ์สิ่งแวดล้อม
ภาพ: Wonderfruit 2024
#สนุกแล้วก็ต้องสร้างแรงบันดาลใจด้วย
อย่างที่บอกว่าสิ่งที่ทุกคอนเสิร์ตหรือเทศกาลต้องมีก็คือความสนุก แต่ถ้าผู้จัดงานสามารถทำให้ผู้มาเข้าร่วมได้อะไรกลับไปมากกว่านั้น – โดยเฉพาะการใส่ใจความยั่งยืน – นั่นอาจเป็นการสร้างผลกระทบเชิงบวก (Positive Impact) ที่เจ๋งสุดๆ เลย
เพราะการจัดเทศกาลที่เกิดขึ้นเพียงไม่กี่วันและจบไป ถ้าหากเทศกาลไม่พยายามสร้างอะไรคืนกลับสู่สังคมบ้าง สุดท้ายผู้คนก็อาจไม่จดจำหรือไม่รู้สึกผูกพันกับงาน แต่ในทางกลับกัน ถ้าหากพวกเขาได้ทำกิจกรรมอะไรสักอย่างที่ช่วยสิ่งแวดล้อมและเกิดแรงบันดาลใจจากตรงนั้น เท่ากับเทศกาลอาจกลายเป็น Influencer ที่องค์กรต่างๆ อยากร่วมงานด้วยทุกปีๆ ก็ได้!
และนั่นถือเป็นการสร้างโอกาสให้แบรนด์เติบโต เพราะปัจจุบันมีองค์กรเกี่ยวกับ Sustainability หรือ Eco-Product เกิดขึ้นมากมาย และพวกเขาก็มองหาพื้นที่ในการปล่อยของอยู่เช่นกัน ฉะนั้น หากเทศกาลไหนลงมือทำจนผู้เข้าร่วมงานยังอินตาม เทศกาลนั้นอาจกลายเป็นแบรนด์ที่ใครๆ ก็อยากสร้าง Partnership หรือคอลแลบด้วย
แล้วนั่นอาจทำให้เทศกาลสนุกมากขึ้นไปอีก แบบนี้ใครจะไม่อยากมา?
ภาพ: Glastonbury Festivals
#ความยั่งยืนแลกความยั่งยืน
เหมือนกับวลีที่ว่าชีวิตแลกชีวิต เนื่องจากคอนเสิร์ตใหญ่ๆ หรือเทศกาลเหล่านี้เป็นอีเวนต์ที่สร้างขยะจำนวนมากภายในระยะเวลาเพียงไม่กี่วัน ยกตัวอย่างเช่น Glastonbury Festival เทศกาลดนตรีที่ใหญ่ที่สุดในประเทศอังกฤษซึ่งกำลังจะจัดขึ้นในเดือนมิถุนายนนี้ ตามสถิติแล้วมีผู้เข้าร่วมงานสูงถึง 200,000 คน และสร้างขยะประมาณ 2,000 ตัน (≈1,814,000 กิโลกรัม) ตลอดเทศกาล
ลองนึกดูถ้าหากเทศกาลนี้ไม่มีการจัดการขยะหรือไม่ใส่ใจความยั่งยืน ขยะที่ถูกทิ้งหลังจบคอนเสิร์ตจะน่ากลัวขนาดไหน เพราะสุดท้ายขยะที่ย่อยสลายไม่ได้จะถูกฝังกลบหรือเผา ซึ่งนั่นสร้างมลพิษต่อโลกใบนี้อย่างมหาศาลเลย ทว่าโชคดีที่เทศกาล Glastonbury สามารถรีไซเคิลขยะหลังจบงานได้มากถึง 50% ในปี 2024 ซึ่งนั่นมากกว่าการรีไซเคิลขยะทั้งประเทศอังกฤษรวมกันอีก
เอาเป็นว่าถ้าหากเทศกาลใหญ่หรือไซส์ใดก็ตามยังไม่หันมาสนใจความยั่งยืน สุดท้ายพวกเขาก็จะสูญเสียไวบ์ดีๆ อากาศดีๆ หรือแม้กระทั่งผู้คนที่มองหาความสนุกจากเทศกาลเหล่านี้ไป
ภาพ: Glastonbury Festivals
#ความสำนึกรับผิดชอบต่อสังคม
สุดท้ายก็คงไม่ใช่เหตุผลอะไรที่ซับซ้อน นอกจากเทศกาลเหล่านี้ควรมีความรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อมบ้าง เพราะอย่างที่บอกไปด้านบนว่าเทศกาลดนตรี คอนเสิร์ต หรืออีเวนต์ใดก็ตามที่มีคนมารวมตัวกันจำนวนมาก แน่นอนว่าต้องเกิดการสร้างขยะจำนวนมหาศาล และคงไม่น่ารักเท่าไหร่ถ้าหากพวกเขาจะมาสร้างความสนุกแล้วจากไปดื้อๆ
เนื่องจากขยะส่วนใหญ่จากเทศกาลเหล่านี้มักเป็นขยะพลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวทิ้ง หรือแม้จะเป็นกระป๋อง ขวด กระดาษชำระต่างๆ ที่ย่อยสลายได้ แต่ทุกคนลองจินตนาการถึงพื้นที่โล่งกว้างที่มีขยะทุกชนิดกระจายเต็มไปหมดดู เราว่าไม่ใช่เรื่องง่ายต่อคนเก็บกวาดเท่าไหร่ถ้าหากจะค่อยๆ เก็บขยะแยกตามหมวดหมู่
เราจึงคิดว่าเป็นเรื่องน่าสนับสนุนที่หลายเทศกาลมีกฎระเบียบเรื่องขยะอย่างจริงจัง อาทิ การแบนพลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวทิ้งอย่างในเทศกาล Wonderfruit ของประเทศไทย การใช้พลังงานหมุนเวียน 100% ในเทศกาล Shambala ประเทศอังกฤษ ซึ่งเท่ากับพวกเขาปล่อยก๊าซเรือนกระจกแทบเป็นศูนย์ หรือเทศกาลดนตรี Øyafestivalen ในประเทศนอร์เวย์ซึ่งได้รับการยกย่องว่าเป็นหนึ่งในงานที่รักษ์สิ่งแวดล้อมมากที่สุดในโลก เพราะพวกเขาไม่ใช้พลาสติก ใช้พลังงานหมุนเวียนเท่านั้น แถมยังรีไซเคิลขยะในงานได้มากถึง 75%
ภาพ: Meisal Media / Øyafestivalen
ภาพ: Meisal Media / Øyafestivalen
แม้ว่าหลายเทศกาลระดับโลกจะไม่ได้เพิ่งเริ่มใส่ใจความยั่งยืนเมื่อเร็วๆ นี้ เพราะหลายอีเวนต์เริ่มทำมานานกว่า 10 ปีแล้ว แต่เราว่าพวกเขาคือต้นแบบที่น่าเอาเป็นแรงบันดาลใจสำหรับใครที่ชอบไปเที่ยวเทศกาลแล้วเริ่มอยากแยกขยะ พกขวดน้ำ หรือลดการใช้พลาสติกดูบ้าง
เพราะสิ่งเหล่านี้ทำได้ไม่ยากเลย ถ้าผู้จัดเทศกาลก็ใส่ใจเช่นเดียวกัน 🙂
ภาพ: Coachella, Wonderfruit, Glastonbury Festivals, Meisal Media / Øyafestivalen
อ้างอิง:
- https://promotioncentre.co.uk/blog/festivals-leading-the-sustainability-charge-in-2024/
- https://luxiders.com/best-music-festivals-bringing-sustainability-into-focus/
- https://impact.economist.com/sustainability/social-sustainability/festivals-sector-moves-to-make-events-greener
- https://drinkpathwater.com/blogs/news/how-all-festivals-can-go-greener?srsltid=AfmBOoo4i6zdqgGIdeHavU2uvXbYHU0rCLS3N6kUwg3C5bALIZA9fFW9