×

ณัฐพงษ์หวังเห็นการเจรจาภาษีสหรัฐฯ สำเร็จ แต่ควรสื่อสารให้ชัดเจนและตรงไปตรงมา

โดย THE STANDARD TEAM
23.04.2025
  • LOADING...
ณัฐพงษ์ เรืองปัญญาวุฒิ

วันนี้ (23 เมษายน) ที่อาคารรัฐสภา ณัฐพงษ์ เรืองปัญญาวุฒิ สส. แบบบัญชีรายชื่อ หัวหน้าพรรคประชาชน ในฐานะผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร กล่าวถึงการเจรจาต่อรองกำแพงภาษีกับสหรัฐอเมริกาว่า การเจรจากับสหรัฐอเมริกาตอนนี้น่าจะยังมีการสื่อสารไม่ตรงกัน สรุปแล้วเป็นทางสหรัฐฯ เป็นฝ่ายเลื่อนหรือฝั่งไทยเป็นคนเลื่อน เราจึงอยากได้การสื่อสารที่ตรงไปตรงมา

 

ณัฐพงษ์กล่าวว่า ในฐานะคนไทยคนหนึ่ง อยากจะให้ผลออกมาดีที่สุด แต่จะสำเร็จหรือไม่อยู่ที่ตัวรัฐบาลเองหรือคณะที่ไปเจรจา จุดสำคัญที่สุดคือการพูดให้เห็นภาพตรงกัน ไม่อยากให้เกิดความเข้าใจผิดหรือการสื่อสารที่ไม่ตรงกัน ถ้าจุดเริ่มต้นไม่ตรงกัน เช่น ฝั่งไทยบอกว่าสหรัฐฯ ขอเลื่อน ขณะที่อีกฝั่งหนึ่งอาจจะมองว่าไทยไม่ได้นัดไป จริงหรือไม่ จึงมองว่าการเจรจามีข้อสะดุดหรือไม่ราบรื่น 

 

“การที่สหรัฐฯ ได้แบนวีซ่าผู้นำไทยในระดับแกนนำรัฐบาล เป็นสิ่งหนึ่งที่สะท้อนให้เห็นว่า การตัดสินใจของรัฐบาลกระทบต่อเรื่องนี้ และเราก็แสดงความเป็นห่วงมาตลอดอยู่แล้ว” ณัฐพงษ์กล่าว

 

ณัฐพงษ์ย้ำว่า รัฐบาลควรแสดงความชัดเจนเรื่องนี้ให้มากขึ้นว่าตกลงแล้วการเจรจาหรือไม่ รวมถึงวันเจรจาเรามีความพร้อมมากแค่ไหนอย่างไร ส่วนที่ฝ่ายค้านกังวลตอนนี้ก็มีหลายส่วน เช่น อำนาจการต่อรองของไทย ไม่ว่าจะเป็นสินค้าต่างๆ ที่ต้องเตรียมกรอบในการเจรจาระหว่างไทยกับสหรัฐฯ รวมไปถึงกรอบการร่วมมือกับประเทศร่วมค้าอื่น และการรับมือของอุตสาหกรรมที่ได้รับผลกระทบ เช่น การนำเข้าข้าวโพด รวมไปถึงการเยียวยาอุตสาหกรรมหรือห่วงโซ่อุปทานต่างๆ ที่จะย้ายฐานการผลิต และการลงทุนในอุตสาหกรรมใหม่ๆ ที่จะเสริมสร้างจุดแข็งของประเทศไทยในอนาคต คิดว่าสิ่งเหล่านี้ต้องมีความชัดเจนมากกว่านี้ 

 

ณัฐพงษ์ยังมองด้วยว่า ในการเจรจาน่าจะมีหลายระดับ พหุภาคีแต่ละประเทศกับสหรัฐฯ ก็มีส่วนสำคัญ แต่การเจรจาในระดับภูมิภาคหรือหลายประเทศรวมกันเพื่อสร้างอำนาจการต่อรองก็มีความสำคัญไม่แพ้กัน จะเห็นได้ชัดจากกรณีของจีน เกาหลีใต้ ญี่ปุ่น ที่เราเริ่มพูดคุยกัน ดังนั้นในกรอบของอาเซียนเราควรมีการพิจารณากันในเรื่องนี้ ไทยเองก็มีจุดแข็งในด้านภูมิศาสตร์ที่เป็นศูนย์กลางของอาเซียนด้วย จึงไม่ควรทิ้งบทบาทในส่วนนี้

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising