ในเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา เจย์ วาย. ลี ประธานบริษัทซัมซุง อิเล็กทรอนิกส์ เดินทางมาพบ ฟาม มินห์ จิ๋ง กับนายกรัฐมนตรีเวียดนาม พร้อมแสดงท่าทีชัดเจนว่าจะสนับสนุนการลงทุนในเวียดนามต่อไป ถึงขั้นบอกว่าความสำเร็จของเวียดนามก็เหมือนกับความสำเร็จของซัมซุง
อีกทั้ง Samsung ยังให้คำมั่นว่าจะลงทุนระยะยาว ซึ่งในอนาคตจะทำให้เวียดนามกลายเป็นฐานการผลิตที่สำคัญที่สุดของบริษัท
หากย้อนกลับไปตั้งแต่ปี 1989 Samsung เริ่มลงทุนในเวียดนามครั้งแรก พร้อมทุ่มงบประมาณหลายพันล้านดอลลาร์ สร้างโรงงานผลิตทีวี เครื่องใช้ไฟฟ้าในบ้าน สมาร์ทโฟนและหน้าจออุปกรณ์ โดยการส่งออกของ Samsung ในปีที่ผ่านมา อยู่ที่ประมาณ 54,000 ล้านดอลลาร์หรือคิดเป็นประมาณ 15% ของการส่งออกทั้งหมดของเวียดนาม
ส่วนโทรศัพท์มือถือที่ Samsung ส่งออกจากเวียดนามไปขายทั่วโลกอยู่ที่ 220 ล้านเครื่องต่อปี และหนึ่งในตลาดสำคัญคือคือสหรัฐที่มีการส่งออกไปจำนวนมาก จนกลายเป็นผู้เล่นอันดับสองในตลาดสมาร์ทโฟนสหรัฐฯ
แต่การที่ Samsung ต้องพึ่งพาเวียดนามมากเกินไปอาจกลายเป็นข้อเสีย และถึงแม้สหรัฐฯ ชะลอการขึ้นภาษีไว้ที่ระดับ 10% เป็นเวลา 90 วัน แต่ก็ยังน่าเป็นห่วงและถ้าไม่สามารถหลีกเลี่ยงภาษีที่อาจจะมีผลบังคับใช้ในเดือนกรกฎาคมนี้ได้
ต้องรอดูว่ารัฐบาลเวียดนามจะสามารถเจรจากับรัฐบาลสหรัฐฯ เพื่อขอลดอัตราภาษีนำเข้าที่อาจสูงถึง 46% ได้หรือไม่ โดยปัจจุบันเวียดนามมีดุลการค้าเกินดุลกับสหรัฐฯ ประมาณ 120,000 ล้านดอลลาร์ ทำให้เวียดนามตกเป็นเป้าหมายของรัฐบาลสหรัฐฯ ที่กำลังมุ่งจัดการกับประเทศที่มีความไม่สมดุลทางการค้า
อีกทั้งรัฐบาลเวียดนามตั้งเป้าว่าจะขอสหรัฐฯ ลดภาษีนำเข้าให้เหลืออยู่ในช่วงประมาณ 22-28% หรืออาจต่ำกว่านั้น ซึ่งหากเจรจาไม่สำเร็จอาจส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจและธุรกิจในเวียดนามที่พึ่งพาการส่งออกเป็นหลัก และกำแพงภาษีดังกล่าวจะทำให้ซัมซุงและซัพพลายเออร์ในเวียดนามต้องประสบปัญหาหนักมากขึ้น
สวนทางกับคู่แข่งอย่าง Apple ที่มีฐานผลิตหลักๆ อยู่ในจีน เมื่อไม่นานมานี้สหรัฐฯ ยกเว้นเก็บภาษีศุลกากรสำหรับสมาร์ทโฟน คอมพิวเตอร์ และอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์อื่นๆ ที่นำเข้าส่วนใหญ่จากจีน ทำให้ไม่ต้องเสียภาษีศุลกากรตอบโต้ (Reciprocal Tarrif) ในอัตราสูงถึง 125% ซึ่งช่วยบรรเทาภาระทางภาษีให้กับบริษัทเทคโนโลยีรายใหญ่ของสหรัฐฯ
นักวิเคราะป์ประเมินว่าความเคลื่อนไหวทั้งหมดที่เกิดขึ้น อาจทำให้ Samsung และบริษัทอื่นๆ ต้องมองหาประเทศใหม่ๆ ที่มีโอกาสจะเข้าไปลงทุนขยายฐานการผลิต เช่น อินเดียหรือเกาหลีใต้ เพื่อลดความเสี่ยงจากภาษี แม้ว่าการเปลี่ยนแปลงดังกล่าวจะต้องใช้เวลานานและมีต้นทุนสูง แต่ก็เป็นทางเลือกที่บริษัทต้องพิจารณาอย่างจริงจัง
ภาพ: MeSamong / Shutterstock
อ้างอิง: