ยักษ์ใหญ่แห่งวงการรถยนต์ไฟฟ้า Tesla ส่อแวววิกฤตหนัก เมื่อยอดส่งมอบรถไตรมาสแรกดิ่งสู่จุดต่ำสุดในรอบ 2 ปี หุ้นทรุดตัวถึง 36% ในไตรมาสแรก นับเป็นการลดลงมากที่สุดตั้งแต่ไตรมาส 4 ปี 2022 และเป็นการร่วงลงมากเป็นอันดับ 3 ในประวัติศาสตร์ 15 ปีที่บริษัทเข้าตลาดหลักทรัพย์
โดย Market Cap หายไปถึง 4.6 แสนล้านดอลลาร์ ขณะที่ Elon Musk ซีอีโอคนดังกลับทุ่มเทเวลาให้กับการเมืองมากกว่าบริหารบริษัท นักวิเคราะห์ระบุว่า นี่คือ ‘ภาวะวิกฤต’ ที่ Tesla กำลังเผชิญ และส่วนใหญ่เป็นเพราะการกระทำของ Musk เอง
ข้อมูลล่าสุดเผยว่า บริษัทสัญชาติอเมริกันที่มีฐานการผลิตในรัฐเท็กซัสส่งมอบรถยนต์ในช่วง 3 เดือนแรกของปีนี้ได้เพียง 336,681 คัน ซึ่งต่ำกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ไว้ที่ 390,000 คัน และน้อยกว่าช่วงเดียวกันของปีที่แล้วที่ทำได้ 387,000 คัน
ทั้งนี้ ในระหว่างไตรมาสดังกล่าว Tesla ต้องปิดโรงงานบางส่วนตามแผนเพื่อปรับปรุงสายการผลิตสำหรับรถ Model Y รุ่นใหม่ที่ได้รับการออกแบบใหม่ตัวเลขนี้ทำให้ Tesla ต้องสูญเสียตำแหน่งผู้ผลิตรถยนต์ไฟฟ้าอันดับหนึ่งของโลกให้กับ BYD บริษัทยักษ์ใหญ่จากจีน ซึ่งรายงานยอดขายรถยนต์ไฟฟ้าในช่วงเวลาเดียวกันถึง 416,388 คัน
ขณะเดียวกัน สำนักข่าว Politico รายงานว่าประธานาธิบดี Donald Trump ได้บอกกับคนวงในว่า Musk จะออกจากรัฐบาลในเร็วๆ นี้ ซึ่งทำให้หุ้น Tesla ที่ร่วงลงถึง 6.3% ในช่วงเช้าของวันพุธ (2 เม.ย.) ในนิวยอร์ก พลิกกลับมาเพิ่มขึ้นกว่า 5% หลังจากรายงานข่าวดังกล่าว
Dan Ives นักวิเคราะห์จาก Wedbush แสดงความเห็นอย่างตรงไปตรงมาว่า “เราไม่สามารถมองตัวเลขเหล่านี้ในแง่ดีได้เลย มันเป็นหายนะในทุกมิติ ไตรมาสนี้คือตัวอย่างของความเสียหายที่ Musk กำลังก่อให้กับ Tesla ยิ่งเขาเข้าไปยุ่งเกี่ยวกับการเมืองผ่าน DOGE (Department of Government Efficiency) มากเท่าไร แบรนด์ก็ยิ่งเสียหายมากขึ้นเท่านั้น โดยไม่มีข้อโต้แย้งเลย”
ปัญหาของ Tesla ไม่ได้มีเพียงแค่ในอเมริกา แต่กระจายไปทั่วโลก ในยุโรป แบรนด์เสียหายจากการที่ Musk เข้าไปแทรกแซงการเมืองในภูมิภาคโดยสนับสนุนฝ่ายขวา โดยเฉพาะในเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา เขาได้สนับสนุนพรรค AfD ในเยอรมนี ซึ่งเป็นพรรคที่มีนโยบายต่อต้านผู้อพยพ ส่งผลให้ธุรกิจของ Tesla ในยุโรปประสบปัญหาหนัก
ข้อมูลจาก EU-EVs.com เผยว่า ส่วนแบ่งตลาดของ Tesla ใน 15 ประเทศในยุโรปลดลงจาก 17.9% ในไตรมาสแรกของปีที่แล้วเหลือเพียง 9.3% ในปีนี้ โดยในเยอรมนี ส่วนแบ่งตลาดรถยนต์ไฟฟ้าของ Tesla ดิ่งลงจาก 16% เหลือเพียง 4%
ส่วนในจีนซึ่งเป็นตลาดรถยนต์ไฟฟ้าที่ใหญ่ที่สุดในโลก ส่วนแบ่งตลาดของ Tesla ลดลงจาก 12% เหลือเพียง 7% ในช่วงสองเดือนแรกของปีเมื่อเทียบกับปีที่แล้ว และข้อมูลจากสมาคมรถยนต์โดยสารของจีนที่เปิดเผยเมื่อวันพุธที่ผ่านมาระบุว่า ยอดขายรถยนต์ไฟฟ้าของ Tesla ที่ผลิตในจีนอยู่ที่ 78,828 คันในเดือนมีนาคม ลดลง 11.5% เมื่อเทียบกับปีที่แล้ว เนื่องจากบริษัทเผชิญกับการแข่งขันที่เพิ่มขึ้นในภูมิภาคจากผู้ผลิตรถยนต์ไฟฟ้าอย่าง BYD
นอกจากนี้บริษัทยังประสบปัญหาด้านคุณภาพ โดยเมื่อเดือนที่แล้วต้องเรียกคืน Cybertruck ทั้งหมด 46,000 คันที่ขายในสหรัฐฯ เพื่อเปลี่ยนแผงด้านนอกที่อาจหลุดออกระหว่างขับขี่
ราคาหุ้น Tesla ก็ได้รับผลกระทบอย่างหนัก หลังจากที่พุ่งสูงขึ้นหลังชัยชนะของ Trump ทำให้มูลค่าตลาดของบริษัทสูงถึง 1.5 ล้านล้านดอลลาร์ ในเดือนธันวาคม แต่ตั้งแต่นั้นมาราคาได้ลดลงกว่า 40%
การที่ Musk ไม่ค่อยอยู่บริหาร Tesla เพราะหันไปให้ความสำคัญกับกิจกรรมทางการเมืองที่วอชิงตันได้รับเสียงวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนักจากนักลงทุนและนักวิเคราะห์ หลังจากที่เขาทุ่มเงิน 290 ล้านดอลลาร์ เพื่อช่วยให้ Trump กลับสู่ทำเนียบขาว Musk ได้นำทีม DOGE ซึ่งได้ตัดงบประมาณ ยกเลิกกฎระเบียบ และลดตำแหน่งงานของรัฐบาลกลางหลายหมื่นตำแหน่ง
ล่าสุดเขาอยู่ที่วิสคอนซินเพื่อพยายามมีอิทธิพลต่อผลการเลือกตั้งศาลฎีกาของรัฐ ซึ่งเขากล่าวว่าอาจ ‘กำหนดชะตากรรมของอารยธรรมตะวันตก’ แต่ผู้สมัครที่เขาสนับสนุนกลับพ่ายแพ้
ในช่วงไตรมาสแรก Tesla ยังเผชิญกับคลื่นการประท้วง การคว่ำบาตร และกิจกรรมอาชญากรรมบางอย่างที่มุ่งเป้าไปที่รถยนต์และสถานที่ของ Tesla เนื่องจากวาทกรรมทางการเมืองของ Musk และงานของเขาในฐานะส่วนหนึ่งของรัฐบาลชุดที่สองของประธานาธิบดี Donald Trump
“Musk จำเป็นต้องหยุดพายุการเมืองนี้ และหาสมดุลระหว่างการเป็น CEO ของ Tesla กับการทำงานที่ Doge” Ives กล่าว “แม้ว่า Tesla จะมีศักยภาพในระยะยาว แต่ตอนนี้บริษัทกำลังเผชิญวิกฤตเต็มรูปแบบ และส่วนใหญ่เป็นเพราะการกระทำของเขาเอง”
ในช่วงต้นไตรมาส มีรายงานจากหนังสือพิมพ์ Toronto Star ว่า Tesla อ้างว่าขายรถยนต์ไฟฟ้าได้ 8,653 คันในช่วงสุดสัปดาห์เดียวในเดือนมกราคมในแคนาดา ซึ่งทำให้บริษัทมีสิทธิ์ได้รับเงินอุดหนุนสำหรับรถยนต์ไฟฟ้าหลายสิบล้านดอลลาร์ในโครงการที่กำลังจะสิ้นสุดลง
อย่างไรก็ตาม รัฐมนตรีกระทรวงคมนาคมของแคนาดาได้ระงับการจ่ายเงินในภายหลังและกำลังตรวจสอบความถูกต้องของยอดขายดังกล่าว โดย Tesla ไม่ได้ตอบอีเมลจาก CNBC ที่ถามว่าตัวเลขในแคนาดาเหล่านี้รวมอยู่ในรายงานการส่งมอบของไตรมาส 1 หรือไม่
Tom Narayan นักวิเคราะห์จาก RBC Capital Markets กล่าวว่า เขาคาดว่าจะเห็นยอดขาย Tesla ในสหรัฐฯ เพิ่มขึ้น เพราะผู้บริโภคน่าจะรีบซื้อก่อนที่ Trump จะประกาศใช้มาตรการภาษีนำเข้ารถยนต์ ซึ่งตรงกันข้ามกับ General Motors ที่ประกาศยอดขายในสหรัฐฯ ไตรมาสแรกพุ่งสูงถึง 17% แต่กลับพบว่ายอดขายของ Tesla ในเดือนมีนาคมแทบไม่แตกต่างจากเดือนมกราคมและกุมภาพันธ์ สอดคล้องกับข้อมูลจาก Autodata ที่ประเมินว่ายอดส่งมอบรถยนต์ของ Tesla ในสหรัฐฯ ทรุดตัวลง 11% เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีที่แล้ว
ถึงแม้จะมีความท้าทายมากมาย แต่ Musk ยังคงเชื่อมั่นในอนาคตของรถรุ่นสำคัญของบริษัท โดยเขากล่าวในการประชุมพนักงานทั้งหมดของ Tesla เมื่อเร็วๆ นี้ว่า เขาคาดว่า Model Y จะเป็น “รถยนต์ที่ขายดีที่สุดบนโลกอีกครั้งในปีนี้” อย่างไรก็ตาม Tesla ต้องเผชิญกับการแข่งขันในตลาดรถยนต์ไฟฟ้าที่รุนแรงและความเสียหายต่อชื่อเสียงที่เกิดขึ้น
อ้างอิง: