‘บิมสเทค’ (BIMSTEC) หรือความริเริ่มแห่งอ่าวเบงกอล สำหรับความร่วมมือหลากหลายสาขาทางวิชาการและเศรษฐกิจ ก่อตั้งขึ้นในปี 1997 จาก ‘ปฏิญญากรุงเทพ’ (Bangkok Declaration) ปัจจุบันมีสมาชิกทั้งหมด 7 ประเทศ ได้แก่ บังกลาเทศ, ภูฏาน, อินเดีย, เมียนมา, เนปาล, ศรีลังกา และไทย ครอบคลุมประชากรรวมราว 1.8 พันล้านคน (คิดเป็น 22% ของประชากรโลก) ขณะที่ GDP รวมของกลุ่มสมาชิก BIMSTEC (2022) อยู่ที่ราว 4.5 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ (คิดเป็น 4.5% ของ GDP โลก)
ไทยเคยเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมผู้นำ BIMSTEC ครั้งแรกเมื่อปี 2004 และในปีนี้ไทยในฐานะประธาน BIMSTEC เตรียมเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมผู้นำ BIMSTEC ครั้งที่ 6 ระหว่างวันที่ 2-4 เมษายน 2025 โดยมีประเด็นที่น่าจับตามองดังนี้
1. ไทยกับ ‘วิสัยทัศน์กรุงเทพฯ 2030’
ในการประชุมครั้งนี้ ไทยเตรียมเดินหน้าผลักดันและรับรอง ‘วิสัยทัศน์กรุงเทพฯ 2030’ (BIMSTEC Bangkok Vision 2030) ซึ่งมีวัตถุประสงค์เพื่อกำหนดทิศทางและเป้าหมายที่ชัดเจนของความร่วมมือภายใต้กรอบ BIMSTEC พร้อมส่งเสริม BIMSTEC ให้เป็นพื้นที่แห่งสันติภาพ เสถียรภาพ และความยั่งยืนทางเศรษฐกิจ รวมถึงยกระดับความร่วมมือในการปรับตัว เพื่อรับมือกับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เพื่อบรรลุเป้าหมายสำคัญภายใต้แนวคิด BIMSTEC ที่ ‘มั่งคั่ง ยั่งยืน-ฟื้นคืน และเปิดกว้าง’ (PRO BIMSTEC)
แนวคิด PRO BIMSTEC นี้ ประกอบด้วย
- BIMSTEC ที่มั่งคั่ง (Prosperous): มุ่งเน้นการฟื้นฟูทางเศรษฐกิจผ่านการยกระดับความเชื่อมโยงรอบด้าน ลดความยากจนผ่านการส่งเสริมการค้า และการรักษาสิ่งแวดล้อม
- BIMSTEC ที่ยั่งยืน ฟื้นคืน (Resilient): มุ่งเน้นการเสริมสร้างความมั่นคงในภูมิภาคผ่านการเสริมสร้างความมั่นคงทางอาหาร และความมั่นคงทางสาธารณสุข ซึ่งไทยมีความเชี่ยวชาญ ตลอดจนการขยายความร่วมมือทางทะเล
- BIMSTEC ที่เปิดกว้าง (Open): มุ่งเน้นการมีส่วนร่วมของภาคส่วนต่างๆ ผ่านการส่งเสริมการท่องเที่ยวที่ยั่งยืน และการสร้างเครือข่ายระหว่างประชาชน
เอกสารผลลัพธ์ต่างๆ ของการประชุมผู้นำ BIMSTEC ครั้งที่ 6 ที่ไทยจะเป็นประธานนี้จะสะท้อนถึงวิสัยทัศน์กรุงเทพฯ ซึ่งจะเป็นแนวทางขับเคลื่อน BIMSTEC รวมถึงกฎระเบียบ กลไก และทิศทางการดำเนินงานสำหรับ BIMSTEC ในระยะต่อไป ก่อนที่ไทยจะส่งมอบหน้าที่ประธาน BIMSTEC ให้แก่บังกลาเทศ
2. ความคืบหน้า ‘เขตการค้าเสรี BIMSTEC’
ประเทศไทยให้ความสำคัญกับการจัดทำความตกลงเขตการค้าเสรี BIMSTEC FTA มาโดยตลอด เนื่องจากมองว่า เขตการค้าเสรีนี้จะเป็น ‘โอกาส’ ครั้งสำคัญในการส่งเสริมการค้าในตลาดที่ใหญ่และมีศักยภาพ ซึ่งจะเป็นประโยชน์อย่างมากต่อเศรษฐกิจของประเทศไทย
ที่ผ่านมา BIMSTEC ได้มีการประชุมคณะกรรมการเจรจาการค้า (BIMSTEC Trade Negotiation Committee: TNC) มาแล้วทั้งสิ้น 21 ครั้ง ซึ่งขณะนี้สามารถหาข้อสรุปความตกลงภายใต้กรอบ BIMSTEC FTA ได้แล้วบางส่วน โดยเฉพาะความตกลงด้านการค้าสินค้า ด้านความร่วมมือด้านศุลกากร รวมถึงด้านกระบวนการและกลไกระงับข้อพิพาท ซึ่งเป็นโอกาสอันดีที่ไทยอาจจะใช้เวทีการประชุมในปีนี้ส่งสัญญาณในการเร่งขับเคลื่อนกระบวนการหารือต่างๆ เพื่อเปิดทางไปสู่การจัดตั้งเขตเสรีการค้าระหว่างประเทศสมาชิกในท้ายที่สุด
แม้บางประเทศสมาชิกอาจจะยังมีข้อกังวลเกี่ยวกับเรื่องการขาดดุลการค้าอยู่บ้าง ประกอบกับสถานการณ์โควิดที่ได้ทวีความซับซ้อนยิ่งขึ้นในช่วงที่ผ่านมา ส่งผลกระทบให้กระบวนการเจรจาต้องหยุดชะงักและล่าช้าออกไป แต่เมื่อพิจารณาในภาพรวมแล้ว ไทยยังคงเชื่อมั่นว่า การจัดตั้งเขตการค้าเสรีภายใต้ BIMSTEC FTA จะเป็นประโยชน์ร่วมกันอย่างมหาศาลแก่ทุกประเทศสมาชิก
3. ลงนามความร่วมมือ ‘ด้านการขนส่งทางทะเล’
อินทระ มณิ ปาณเฑย์ เลขาธิการคนปัจจุบันของ BIMSTEC เผยว่า หนึ่งในความคืบหน้าครั้งสำคัญที่จะเกิดขึ้นในการประชุมครั้งนี้คือ การลงนามข้อตกลงว่าด้วยความร่วมมือด้านการขนส่งทางทะเล (Agreement on Maritime Transport Cooperation) ซึ่งมีเป้าหมายเพื่อขยายการขนส่งทางทะเลในอ่าวเบงกอล โดยมุ่งเน้นการขนส่งสินค้าและการเดินทางของประชาชน เพื่อเพิ่มโอกาสทางการค้าและการเดินทางระหว่างประเทศสมาชิก
อีกทั้งข้อตกลงนี้ยังมุ่งเน้นที่จะปรับปรุงการเข้าถึงท่าเรือ การอำนวยความสะดวกด้านศุลกากรและตรวจคนเข้าเมือง เสริมสร้างโครงสร้างพื้นฐานของท่าเรือ โดยอินเดียเสนอให้มีการจัดตั้งศูนย์ความเป็นเลิศด้านการขนส่งทางทะเล เพื่อเป็นแหล่งวิจัยและพัฒนานโยบายภายในภูมิภาค
4. BIMSTEC กับพันธมิตรใหม่
การประชุมผู้นำ BIMSTEC ครั้งที่ 6 นี้ จะมีการลงนามในบันทึกความเข้าใจ (Memoranda of Understanding: MoU) ระหว่าง BIMSTEC กับพันธมิตรอย่าง ‘สมาคมแห่งภูมิภาคมหาสมุทรอินเดีย’ (IORA) และสำนักงานว่าด้วยยาเสพติดและอาชญากรรมแห่งสหประชาชาติ (UNODC) ซึ่งจะถือเป็น ‘จุดเริ่มต้น’ ของความร่วมมือด้านการพัฒนาในยุคใหม่ของ BIMSTEC และองค์กรเหล่านี้
เป้าหมายสำคัญของการร่วมมือกับ IORA คือ การเสริมสร้างความมั่นคงทางทะเล (Maritime Security) โดยแลกเปลี่ยนข้อมูลและแนวปฏิบัติที่ดีเกี่ยวกับการป้องกันภัยคุกคามในมหาสมุทรอินเดียและอ่าวเบงกอล, การส่งเสริมการค้าและการเชื่อมโยงทางทะเล (Maritime Trade & Connectivity) เช่น การพัฒนาท่าเรือ ระบบโลจิสติกส์ และข้อตกลงศุลกากรระหว่างประเทศสมาชิก รวมถึงการสนับสนุนเศรษฐกิจสีน้ำเงิน (Blue Economy) เช่น การพัฒนาประมง การอนุรักษ์ทรัพยากรทางทะเล และการใช้ทรัพยากรในมหาสมุทรอย่างยั่งยืน
ขณะที่เป้าหมายสำคัญของการร่วมมือกับ UNODC คือ การปราบปรามอาชญากรรมข้ามชาติ (Transnational Crime) เช่น การค้ามนุษย์ การฟอกเงิน และอาชญากรรมทางไซเบอร์ ซึ่งเป็นปัญหาใหญ่ในภูมิภาค BIMSTEC, การควบคุมและต่อต้านการลักลอบค้ายาเสพติด ซึ่งเป็นปัญหาที่รุนแรงในหลายประเทศสมาชิก โดยเฉพาะในพื้นที่สามเหลี่ยมทองคำที่ครอบคลุมไทย เมียนมา และสปป. ลาว รวมถึงการเสริมสร้างความมั่นคงในภูมิภาค โดยการแลกเปลี่ยนข้อมูลด้านข่าวกรอง และฝึกอบรมเจ้าหน้าที่เพื่อรับมือกับภัยคุกคามด้านความมั่นคงต่างๆ
สิ่งนี้สะท้อนให้เห็นถึงความพยายามของ BIMSTEC ในการขยายความร่วมมือกับองค์กรระดับภูมิภาคและนานาชาติที่กว้างขึ้น ซึ่งไม่ได้จำกัดอยู่แค่ในกลุ่มสมาชิก BIMSTEC เท่านั้น แต่ยังมองหาแนวทางสร้างความร่วมมือกับองค์กรอื่นที่มีเป้าหมายสอดคล้องกัน
5. การเข้าร่วมของผู้นำเมียนมา
นอกจาก นเรนทรา โมดี นายกรัฐมนตรีอินเดีย และบรรดาผู้นำอีก 5 ประเทศสมาชิกที่ตอบรับเข้าร่วมการประชุมผู้นำ BIMSTEC ครั้งนี้แล้ว นิกรเดช พลางกูร อธิบดีกรมสารนิเทศและโฆษกกระทรวงการต่างประเทศ ยืนยันในระหว่างการแถลงข่าววันนี้ (2 เมษายน) ว่า พลเอกอาวุโส มินอ่องหล่าย นายกรัฐมนตรีเมียนมา จะเดินทางมาร่วมประชุมระดับผู้นำในวันที่ 4 เมษายนนี้ด้วย
การมาเยือนของผู้นำเมียนมา ทำให้ไทยเผชิญแรงเสียดทานจากฝ่ายที่ไม่เห็นด้วย และเป็นความท้าทายด้านการทูตของไทย สืบเนื่องจากประเด็นที่นานาชาติโจมตีมินอ่องหล่ายเรื่องการละเมิดสิทธิมนุษยชนในสงครามกับกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ อย่างไรก็ตาม มีผู้เชี่ยวชาญบางส่วนมองว่านี่อาจเป็นโอกาสให้ไทยได้แสดงบทบาทนำในฐานะประธาน BIMSTEC เพื่อผลักดันการช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมในเมียนมาจากเหตุแผ่นดินไหวครั้งใหญ่ รวมถึงช่วยส่งเสริมสันติภาพภายในเมียนมา หลังเหตุการณ์รัฐประหารเมื่อช่วงต้นปี 2021 ซึ่งเกี่ยวพันกับเสถียรภาพภายในอาเซียนและบรรดาประเทศสมาชิกในความร่วมมือรอบอ่าวเบงกอล
ที่ผ่านมามินอ่องหล่ายมักเดินทางเยือนประเทศมหาอำนาจโดยเฉพาะจีนและรัสเซีย เพื่อกระชับความสัมพันธ์ระหว่างกัน ท่ามกลางการถูกคว่ำบาตรจากชาติตะวันตก หากมินอ่องหล่ายเข้าร่วมการประชุมครั้งนี้จะนับเป็นการเดินทางเยือนไทยครั้งแรกของผู้นำรัฐบาลทหารเมียนมา ภายหลังจากที่ก่อรัฐประหารเมื่อ 4 ปีก่อน
อย่างไรก็ตาม มีความเป็นไปได้ที่ผู้นำทหารเมียนมาอาจปรับเปลี่ยนแผนและเข้าร่วมการประชุมครั้งนี้ผ่านระบบวิดีโอคอนเฟอเรนซ์ หรืออาจส่งผู้แทนระดับสูงเข้าร่วม เนื่องจากต้องเฝ้าติดตามสถานการณ์ภายในประเทศหลังเกิดเหตุแผ่นดินไหวขนาด 7.7 เมื่อช่วงปลายเดือนมีนาคมที่ผ่านมา ซึ่งยอดผู้เสียชีวิตพุ่งสูงราว 3,000 คนแล้ว โดยมีความเป็นไปได้ว่า ที่ประชุม BIMSTEC ครั้งนี้จะออกแถลงการณ์ร่วมเกี่ยวกับเหตุแผ่นดินไหวในเมียนมาและไทยด้วย
ภาพ: Harvepino / Shutterstock
อ้างอิง:
- กองส่งเสริมเศรษฐสัมพันธ์และความร่วมมือ กรมเศรษฐกิจระหว่างประเทศ กระทรวงการต่างประเทศ
- https://www.bimstecthailand.com/
- https://bimstec.org/images/content_page_pdf/1743399433_Press%20Release_31032025.pdf
- https://www.cnbctv18.com/economy/bimstec-summit-narendra-modi-maritime-transport-agreement-vision-2030-19581416.htm
- https://www.reuters.com/world/asia-pacific/all-leaders-due-attend-bimstec-summit-myanmar-junta-chief-unclear-thailand-says-2025-04-01/