×

วิโรจน์ลุยต่อยื่นกรมสรรพากร ขอวินิจฉัยพฤติการณ์นายกฯ เลี่ยงภาษีหรือไม่

โดย THE STANDARD TEAM
28.03.2025
  • LOADING...
วิโรจน์ ลักขณาอดิศร ยื่นเรื่องต่อกรมสรรพากรให้ตรวจสอบกรณีนายกฯ ใช้ตั๋ว PN ซื้อหุ้น

วันนี้ (28 มีนาคม) วิโรจน์ ลักขณาอดิศร สส. แบบบัญชีรายชื่อ พรรคประชาชน เดินหน้ายุทธการโรยเกลือหลังอภิปรายไม่ไว้วางใจ เข้ายื่นร้องกรมสรรพากรให้ตรวจสอบ แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี กรณีการใช้ตั๋วสัญญาใช้เงิน หรือตั๋ว P/N ในการซื้อหุ้น เข้าข่ายทำนิติกรรมอำพราง หลบเลี่ยงหรือหลีกเลี่ยงภาษีที่ผิดกฎหมาย เพื่อจะได้ไม่ต้องจ่ายภาษีการรับให้ 

 

วิโรจน์ชี้ว่า การกระทำในลักษณะแบบนี้เข้าข่ายนิติกรรมอำพราง เจตนาที่แท้จริงคือการรับให้หุ้นจากบุคคลในครอบครัว แต่กลับใช้เครื่องมือทางการเงินเพื่อทำนิติกรรมอำพรางเปลี่ยนเจตนาการรับให้เป็นการหลีกเลี่ยงภาษี 5% ใช่หรือไม่ 

 

“แพทองธารไม่ใช่บุคคลธรรมดา แต่เป็นผู้นำประเทศ เป็นหัวหน้ารัฐบาล เป็นฝ่ายบริหาร เป็นประธานคณะกรรมการนโยบายการเงินการคลังของรัฐ ซึ่งมีส่วนได้ส่วนเสียต่อสาธารณะ แม้ ปิ่นสาย สุรัสวดี อธิบดีกรมสรรพากร จะออกมาชี้แจงว่าสามารถทำได้ แต่เป็นการชี้แจงในลักษณะที่เชื่อว่าเป็นการทำธุรกรรมซื้อขายจริงๆ แต่ไม่ได้ตั้งข้อสงสัยว่าเป็นนิติกรรมอำพราง”

 

วิโรจน์ระบุว่า การให้ความเห็นของอธิบดีกรมสรรพากร ท่านเองอาจจะปักใจเชื่อโดยส่วนตัวว่าเป็นการซื้อขายกันจริงๆ โดยไม่ได้ฉุกคิด แต่ขอชวนให้ท่านฉุกคิดว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องสำคัญ หากนายกรัฐมนตรีทำได้ประชาชนคนอื่นอาจจะทำบ้าง อะไรก็ตามเป็นช่องว่างทางกฎหมายมีหลักคิดอยู่ 2 เรื่อง ได้แก่

 

  1. คนที่ทำหากรู้สึกว่าเราทำถูกกฎหมาย ก็พร้อมเปิดเผยและแสดงตัวต่อสาธารณะ แต่การมีพฤติกรรมหลบๆ ซ่อนๆ เพราะตนเองมีความระแวงว่าอาจจะผิดหรือไม่ผิดกฎหมาย ก็สู้ได้เพราะสามารถตีความตามตัวบทกฎหมายและลายลักษณ์อักษร ให้ทนายโต้มีแนวโน้มว่าจะชนะ แต่ที่ไม่กล้าแสดงตัวเพราะหวาดระแวง

 

  1. อะไรก็ตามที่เป็นผลประโยชน์ต่อสาธารณะยิ่งทำได้ยิ่งดี กรณีนายกรัฐมนตรีหากทำได้ถูกต้อง แล้วทุกคนทั้งประเทศที่มีความมั่งมีทำบ้าง สาธารณะและรัฐจะได้ประโยชน์ สุดท้ายจะเป็นผลกระทบอย่างร้ายแรงต่อการจัดเก็บรายได้

 

วิโรจน์กล่าวว่า การใช้ตั๋ว P/N เป็นเครื่องมือทางการเงินไม่ได้ผิดอะไร การให้เครดิตระยะสั้นสามารถทำได้ตามกฎหมาย แต่ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยคือ ตกลงแล้วกรณีนี้เจตนาที่แท้จริงเป็นการซื้อขายจริงหรือไม่ หรือเป็นการซื้อขายทิพย์ ซื้อขายเป็นรูปแบบ เพื่อหลีกเลี่ยงภาษีการรับให้หรือไม่ โดยประเด็นที่ต้องวินิจฉัยคือ พฤติกรรมของนายกรัฐมนตรี

 

ดังนั้นเรื่องนี้ดูแค่ปลายทางไม่ได้ ต้องดูถึงพฤติการณ์ อาจจะต้องย้อนดูถึงการยักย้ายถ่ายเทหุ้นของนายกรัฐมนตรีกับคนอื่นๆ ด้วย จะได้ดูว่าพฤติการณ์ในลักษณะนี้น่าจะเป็นการซื้อขายกันจริงๆ หรือที่ผ่านมามีการยักย้ายถ่ายเทหุ้นกันบ่อยครั้ง

 

“นายกรัฐมนตรีอยู่ในวิสัยที่รู้ว่านี่คือช่องว่างทางกฎหมาย คนที่เป็นนายกรัฐมนตรีพบช่องว่างทางกฎหมาย ในฐานะที่ถืออำนาจรัฐสามารถมีข้อสั่งการต่อระบบราชการได้ ควรเปิดช่องว่างหามาตรการแก้ไข หรือจะหาประโยชน์จากช่องว่างนั้นเสียเอง หากคณะกรรมการวินิจฉัยภาษีอากรมีคำวินิจฉัยออกมาในแนวทางว่าสามารถทำได้รับรองว่าถูกต้องดื้อๆ ในปีภาษีถัดไปจะพบกับความเสียหายแน่นอน ภาษีการรับให้จะลดลงอย่างมีนัยสำคัญ”

 

ทั้งนี้ เมื่อมีคำวินิจฉัยเป็นลายลักษณ์อักษรทั้งอธิบดีกรมสรรพากร และคณะกรรมการวินิจฉัยภาษีอากร จะต้องมีความรับผิดทางกฎหมาย เพราะสุดท้ายภาษีรับให้จัดเก็บไม่ได้เลย

 

ส่วนกรณีที่ ปิ่นสาย อธิบดีกรมสรรพากร เป็นลูกชายของ ปลอดประสพ สุรัสวดี อดีตรองนายกรัฐมนตรี ที่มีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับ ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี นั้น วิโรจน์มองว่า ความใกล้ชิดไม่ใช่ปัญหา เชื่อว่าอธิบดีกรมสรรพากรและบิดารู้จักคนเยอะ และการจะบอกว่าการรู้จักคนเยอะแล้วต้องเอื้อประโยชน์ก็เป็นการกล่าวหาเกินไป จะให้ท่านไม่รู้จักใครก็เป็นไปไม่ได้ คงต้องให้เวลาท่าน การกระทำและการตัดสินใจใช้อำนาจของท่านจะเป็นเครื่องพิสูจน์ และบอกกับประชาชนว่า ประชาชนจะไว้ใจในฐานะอธิบดีกรมสรรพากรได้หรือไม่

 

วิโรจน์ ลักขณาอดิศร ยื่นเรื่องต่อกรมสรรพากรให้ตรวจสอบกรณีนายกฯ ใช้ตั๋ว PN ซื้อหุ้น

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising