วันนี้ (27 มีนาคม) รศ. ดร.อรรถสิทธิ์ พานแก้ว อาจารย์ประจำสาขาวิชาการเมืองการปกครอง คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เปิดเผยว่า แม้ แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี จะสามารถตอบโต้หรือชี้แจงประเด็นที่ถูกตั้งคำถามจากฝ่ายค้านในการอภิปรายไม่ไว้วางใจ เมื่อวันที่ 24-25 มีนาคมที่ผ่านมาได้ ไม่ว่าจะเป็นกรณีสนามกอล์ฟอัลไพน์ กรณีการใช้ช่องว่างทางกฎหมายเพื่อหลบเลี่ยงภาษีจากตั๋วสัญญาการใช้เงิน (P/N) จำนวนเงิน 4,400 ล้านบาท รวมถึงกรณีอื่นๆ ซึ่งอาจทำให้แพทองธารรอดพ้นจากการถูกเอาผิดทางกฎหมายได้
“ทว่าในมิติของศีลธรรมจรรยา และความผิดต่อหลักจริยธรรมร้ายแรงในฐานะผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองนั้นยังไม่จบ นายกรัฐมนตรียังต้องต่อสู้และพิสูจน์ในเรื่องนี้ต่อไป แม้ว่าจะได้รับคะแนนเสียงไว้วางใจถึง 319 เสียงก็ตาม”
ส่วนตัวมองว่านอกจากฝ่ายค้านแล้ว มีความเป็นไปได้ที่ภาคประชาสังคมที่ขับเคลื่อนเรื่องการต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชัน รวมทั้งประเด็นทางสิ่งแวดล้อม ฯลฯ ที่ฟังการอภิปรายแล้วรู้สึกว่ายังไม่ได้รับคำตอบหรือคำอธิบายที่กระจ่างเพียงพอจะเข้ามาร่วมผลักดันเรื่องนี้อีกแรงหนึ่ง
“แน่นอนว่าเรื่องจริยธรรมเป็นเรื่องใหญ่สำหรับนักการเมือง โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับผู้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ซึ่งจะต้องถูกตรวจสอบอย่างเข้มงวดกว่าประชาชน ตรงนี้จึงเป็นสิ่งที่นายกฯ จะต้องต่อสู้และต้องพิสูจน์ความบริสุทธิ์ต่อไปหลังจบศึกอภิปรายไม่ไว้วางใจ” รศ. ดร.อรรถสิทธิ์ กล่าว
รศ. ดร.อรรถสิทธิ์กล่าวว่า แม้ว่าผลการลงมติไว้วางใจ 319 เสียง จะแสดงให้เห็นถึงความเป็นปึกแผ่นของพรรคร่วมรัฐบาล แต่หากถามต่อว่าคะแนนดังกล่าวสะท้อนว่ารัฐบาลมีเสถียรภาพและจะสามารถอยู่ครบเทอมได้หรือไม่นั้น คงยังตอบไม่ได้ คะแนนนี้สะท้อนเพียงว่าปัจจุบันรัฐบาลยังไม่มีรอยร้าว แต่การอยู่ครบวาระหรือไม่นั้นดูเฉพาะท่าทีของพรรคร่วมไม่ได้ เพราะยังมีอีกหลายปัจจัยร่วม โดยสิ่งที่สำคัญที่สุดคือเสียงสะท้อนจากประชาชน
“ในมุมของประชาชนที่รับฟังการอภิปรายไม่ไว้วางใจหรือการสอบย่อย เชื่อว่าจะมีทั้งคงที่โหวตให้รัฐบาลสอบผ่านและสอบไม่ผ่าน ที่น่าสนใจคือถึงแม้ว่านายกรัฐมนตรีจะมีคำอธิบายต่อข้อกล่าวหาต่างๆ ได้ เช่น ประเด็นเศรษฐกิจไม่ดี นายกรัฐมนตรีก็ยอมรับว่า ใช่ ตอนนี้ยังไม่ดี แต่กำลังจะดีขึ้น ซึ่งจากคำพูดนี้ประชาชนก็จะจับตาต่อไปว่ามันจะดีขึ้นอย่างที่นายกฯ พูดจริงหรือไม่ เพราะถ้ารัฐบาลไม่สามารถทำได้อย่างที่พูดก็มีความเป็นไปได้ที่อาจจะอยู่ไม่ครบเทอม ประชาชนเองประเมินรัฐบาลอยู่ตลอดเวลา และนั่นทำให้รัฐบาลก็ต้องประเมินตนเองเช่นกัน” รศ. ดร.อรรถสิทธิ์ กล่าว
นักวิชาการธรรมศาสตร์ กล่าวต่อไปว่า ในส่วนของการทำหน้าที่ของฝ่ายค้าน ส่วนตัวมองว่าประเด็นที่หยิบยกขึ้นมาอภิปรายส่วนใหญ่เป็นเรื่องที่อยู่ในการรับรู้และความสนใจของประชาชนอยู่ก่อนแล้ว จึงทำให้เป็นเรื่องที่ขาดความน่าสนใจและไม่ได้มีอะไรใหม่ ยกเว้นเพียงเรื่องขบวนการ IO ที่สามารถสร้างความเซอร์ไพรส์แก่ผู้รับฟังได้ นั่นจึงทำให้ทางรัฐบาลเตรียมข้อมูลในการชี้แจงหรือตอบคำถามได้ ซึ่งผลพวงจากประเด็นที่ส่วนมากไม่ได้ใหม่นั้น ทำให้ประชาชนมุ่งสนใจที่วาทะและการตอบโต้กันไปมามากกว่าเนื้อหา เห็นได้จากการตัดต่อภาพหรือการทำมีมในสื่อสังคมออนไลน์ ตรงนี้ทำให้ความซีเรียสของเนื้อหาและความเข้มข้นของข้อมูลที่ควรจะเป็นสาระสำคัญอันดับต้นๆ ถูกฝังกลบและลดทอนลง
“ในส่วนของการวิพากษ์วิจารณ์วิธีการตอบคำถามของนายกรัฐมนตรี ซึ่งถูกตั้งคำถามว่าสะท้อนถึงวุฒิภาวะหรือไม่ ส่วนตัวคิดว่าก็คงเป็นอย่างที่นายกรัฐมนตรี บอกว่าตัวเองเป็น ‘นายกฯ เจน Y’ จึงมีสไตล์การตอบคำถามที่มีความเป็นตัวเองสูง ซึ่งอาจผิดไปจากขนบของนักการเมืองในอดีตที่เวลาตอบคำถามจะค่อนข้างระมัดระวัง แต่ถึงอย่างไรสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้คือการประเมินจากผู้ฟังซึ่งก็คือประชาชน และนายกรัฐมนตรีย่อมจะได้รับผลจากการตอบเช่นนั้น” รศ. ดร.อรรถสิทธิ์ กล่าว