กรณ์ จาติกวณิช อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง โพสต์เฟซบุ๊กส่วนตัว ตั้งคำถามในประเด็นที่นายกรัฐมนตรีใช้ตั๋ว (Promissory Note: PN) ซื้อหุ้นจากครอบครัวว่าเป็นความผิดทางกฎหมายหรือไม่ โดยเห็นว่าเรื่องนี้กรมสรรพากร และคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) จะเป็นผู้ตอบได้ เพราะแม้แต่ผู้อภิปรายในประเด็นนี้คือ วิโรจน์ ลักขณาอดิศร สส. พรรคประชาชน ยังใช้คำว่า ‘ช่องว่างทางกฎหมาย’ ซึ่งทำให้เห็นว่าผู้อภิปรายก็ไม่ได้ฟันธงว่าเป็นความผิดแบบขาว/แบบดำ
ประเด็นที่ทำให้มีข้อกังขาคือ ทำไมตั๋ว PN ไม่มีการระบุว่าต้องชำระหนี้เมื่อใด แถมไม่มีภาระดอกเบี้ยด้วย เหมือนกับเป็นหนี้เทียม
หากถามว่าผิดปกติหรือไม่คงต้องตอบว่าในทางธุรกิจผิดปกติแน่นอน แต่ก็อาจจะอธิบายได้ว่าเป็นธุรกรรมภายในครอบครัว ลูกสาวขอติดเงินไว้ก่อน ก็ไม่ผิดปกติที่จะบอกเขาว่า “ไม่เป็นไร มีเมื่อไรค่อยเอามาใช้” ส่วนการไม่คิดดอกเบี้ยกับลูกก็เข้าใจได้ (ส่วนกรณีนี้สมเหตุสมผลหรือไม่เป็นอีกเรื่องหนึ่ง)
ส่วนนายกฯ ได้ชี้แจงว่า “เดี๋ยวปีหน้า ก็จะเคลียร์หนี้แล้ว” ซึ่งแน่นอน เมื่อเคลียร์ก็ต้องมีภาระภาษีเกิดขึ้นกับผู้ขายทันที และได้ชี้แจงว่าหนี้ส่วนนี้ก็ได้มีการรายงาน ป.ป.ช. มาตลอด ถือว่าครบถ้วนตามที่ควรจะต้องชี้แจงในการอธิบายตน (ขาดเพียงว่าทำไมตอนรับโอนถึงมีความไม่พร้อมที่จะชำระ?)
ภาพ: กรณ์ จาติกวณิช อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง
“ต่อคำถามว่าที่จะเคลียร์เป็นเพียงเพราะถูกอภิปรายหรือไม่ เราไม่สามารถตอบได้ แต่ถ้าเคลียร์หนี้จริง ฝ่ายค้านจะพิสูจน์เจตนาตามที่กล่าวหาไว้อย่างไร? ผมมองไม่เห็นตรงนี้ หากจะลงเอยด้วยการเคลียร์หนี้แบบนั้น แม้ว่าเดิมอาจไม่ได้คิดจะมีการชำระหนี้แต่อย่างใด อย่างน้อยการอภิปรายก็มีส่วนทำให้รัฐได้เงินภาษีเพิ่มขึ้นหลายร้อยล้านบาท และเปิดประเด็นให้ประชาชนประเมินเองว่าเชื่อใคร” กรณ์ระบุ
‘ธีระชัย’ ตั้ง 5 ข้อสังเกต ตั๋วสัญญาจะไม่ใช้เงิน?
ด้าน ธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ในฐานะประธานคณะกรรมการด้านวิชาการ พรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) โพสต์เฟซบุ๊กส่วนตัว โดยมีข้อสังเกตดังนี้
1. หลักกฎหมายถือ Substance Over Form
หมายความว่ายึดเอาผลทางเศรษฐกิจเป็นหลัก มากกว่ารูปแบบกฎหมาย
ดังนั้น ถึงแม้กรณีนี้จะใช้รูปแบบตั๋วสัญญาใช้เงิน แต่ถ้าเอาสามัญสำนึกของวิญญูชนมาจับ กรณีถ้าหากมีเจตนาเป็นตั๋วสัญญาที่ไม่คิดจะใช้เงินก็ต้องถือเป็นนิติกรรมอำพราง
ต้องเริ่มต้นก่อนว่าทรัพย์สินเดิมอาจจะซุกไว้ในที่มืดหรือไม่? เมื่อจะเอาออกมาที่สว่าง ถ้าการโยกย้ายเกิดมีภาระภาษีก็ควรจะต้องเสียเต็มกติกา
กรณีถ้าหากจะหนีภาษี วิธีง่ายสุดก็คือเปลี่ยนจากการให้ที่ต้องเสียภาษี ไปเป็นการขายที่ไม่ต้องเสียภาษี
โดยกรณีนี้อาจจะทำเอกสารลวง ไม่ต้องกำหนดวันชำระเงิน ไม่ต้องกำหนดดอกเบี้ย คือเป็นตั๋วสัญญาจะไม่ใช้เงินนั่นเอง
2. ถ้าผู้รับยังไม่มีเงินจะจ่ายค่าหุ้นก็ต้องรอไว้จนกว่าจะมีเงิน
กฎหมายกำหนดว่าการรับและการให้ผู้รับต้องเสียภาษี ดังนั้นกรณีถ้าหากในข้อเท็จจริงเป็นการยกให้ ก็ต้องไม่ลวงว่าเป็นการขาย
ถ้าสมมติอยากให้ผู้รับหุ้นต้องจ่ายเงินค่าหุ้นจริงก็จะต้องรอไว้ก่อน จนกว่าผู้รับจะมีรายได้มากพอที่จะจ่ายค่าหุ้น ไม่ใช่ไปทำนิติกรรมอำพราง
นอกจากนี้ ผู้ให้หุ้นส่วนใหญ่ก็ไม่ใช่พ่อแม่ แต่เป็นพี่สาว 2,388 ล้านบาท, พี่ชาย 335 ล้านบาท, ลุง 1,315 ล้านบาท, ป้าสะใภ้ 258 ล้านบาท มารดาเป็นผู้ให้หุ้นเพียง 136 ล้านบาท
อาจจะไม่มีเหตุผลที่วิญญูชนจะเชื่อว่า พี่สาว, พี่ชาย, ลุง, ป้าสะใภ้ จะต้องรีบร้อนขายหุ้นทั้งที่ผู้รับยังไม่พร้อมจะจ่ายเงิน
ภาพ: ธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง
3. อาจมีภาระภาษีก่อนหน้า
พี่สาว, พี่ชาย, ลุง, ป้าสะใภ้ ที่อ้างว่าไม่ได้ให้หุ้น แต่อ้างว่าเป็นการขายหุ้น ผู้ขายอาจจะต้องพิสูจน์ว่าราคาขายสมเหตุสมผลหรือไม่ และกรมสรรพากรอาจจะตีมูลค่าแท้จริงสูงกว่าราคาพาร์ก็ได้
อีกทั้งกรมสรรพากรอาจสมควรมีการตรวจสอบว่าพี่สาว, พี่ชาย, ลุง, ป้าสะใภ้ ได้หุ้นมาอย่างไร
ถือเป็นรายได้ที่บุคคลเหล่านี้จะต้องเสียภาษีหรือไม่
รวมทั้ง ป.ป.ช. อาจสมควรมีการตรวจสอบว่า หุ้นในครอบครองของบุคคลเหล่านี้ได้มาโดยชอบหรือเป็นขบวนการซุกหุ้นของบุคคลในครอบครัวที่ต้องยึดหรืออายัดคืนหรือไม่ด้วย
4. ความผิดสำเร็จแล้ว
อ้างอิงจากคุณกรณ์ที่กล่าวว่า นายกฯ ได้ชี้แจงว่า “เดี๋ยวปีหน้าก็จะเคลียร์หนี้แล้ว” และได้ชี้แจงว่าหนี้ส่วนนี้ก็ได้มีการรายงาน ป.ป.ช. มาตลอด
ผมตั้งข้อสังเกตว่า กรณีถ้าหากมีเจตนากระทำนิติกรรมอำพราง ความผิดได้สำเร็จไปแล้ว การเคลียร์หนี้จะไม่ได้ทำให้ลบล้างความผิดที่เกิดขึ้นไปแล้ว
ทั้งนี้ นายกรัฐมนตรียื่นรายงาน ป.ป.ช. เป็นครั้งแรก จึงไม่สามารถอ้างว่าได้มีการรายงาน ป.ป.ช. มาตลอด และการรายงาน ป.ป.ช. ก็ไม่เกี่ยวกับการปฏิบัติถูกต้องตามกฎสรรพากร
5. ภาระภาษีไม่ใช่เกิดขึ้นเมื่อจ่ายเงินจริง
เมื่อบุคคลหนึ่งได้รับหุ้น เป็นการให้ ภาระภาษีเกิดขึ้น ณ วันที่ได้รับหุ้น ไม่ใช่วันที่มีการจ่ายเงิน สิ่งที่นายกรัฐมนตรีอ้างว่าภาระภาษีเกิดขึ้น เมื่อมีการชำระเงินจึงไม่ถูกต้อง ทั้งนี้ ขอแสดงเป็นข้อมูลวิชาการโดยไม่กล่าวหาใดๆ
อ้างอิง: