×

สรุปเหตุผล 2 ฝั่ง ทำไมนักวิเคราะห์เสียงแตกก่อนการประชุม กนง. นัด 26 ก.พ. นี้

25.02.2025
  • LOADING...

การประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) นัดวันที่ 26 กุมภาพันธ์นี้ นับเป็นอีกหนึ่งนัดที่ ‘คาดเดาผลได้ยาก’ เนื่องจากนักวิเคราะห์และนักเศรษฐศาสตร์เองก็มีมุมมองที่ต่างกัน

 

โดยในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา ธปท. กำลังได้รับแรงกดดันจากหลายฝ่าย ได้แก่ แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี และ พิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง รวมไปถึงกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ที่แนะนำให้ กนง. พิจารณาปรับลดอัตราดอกเบี้ยเพิ่มเติม

 

โดยนักเศรษฐศาสตร์และสำนักวิจัยที่แนะนำ หรือคาดว่า กนง. จะ ‘ลด’ ดอกเบี้ยครั้งนี้ ได้แก่ วิจัยกรุงศรี, UOB Group Research และสำนักวิจัย ธนาคาร ซีไอเอ็มบี ไทย เนื่องจากเหตุผลหลักๆ มาจากเศรษฐกิจไทยอาจต้องการแรงส่งจากนโยบายการเงินเพิ่มเติม ท่ามกลางเศรษฐกิจที่เติบโตต่ำ การบริโภคอ่อนแอ และการลงทุนภาคเอกชนยังอยู่ในภาวะซบเซา เป็นต้น

 

ขณะที่นักเศรษฐศาสตร์และสำนักวิจัยอีกฝั่ง ตัวอย่างเช่น SCB EIC, KResearch, TISCO ESU, Krungthai COMPASS และ Standard Chartered มองว่า กนง. น่าจะ ‘คง’ อัตราดอกเบี้ยไว้ เนื่องจากมองว่า กนง. ยังไม่ได้ส่งสัญญาณการปรับลดดอกเบี้ยใดๆ ประกอบกับต้องการรักษาขีดความสามารถในการดำเนินนโยบายการเงิน (Policy Space) หรือกระสุนเอาไว้ เพื่อรองรับความไม่แน่นอนที่มีมากขึ้นในปีนี้

 

กรุงศรีชี้ การผ่อนคลายนโยบายการเงินเพิ่มอาจจำเป็น มอง กนง. อาจหั่นดอกเบี้ยนัดนี้

 

วิจัยกรุงศรี ธนาคารกรุงศรีอยุธยา กล่าวว่า มาตรการทางการคลังอาจให้ประสิทธิผลเชิงบวกจำกัด ส่วนการผ่อนคลายนโยบายการเงินอาจช่วยประคองแรงส่งของการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ

 

พร้อมอธิบายว่า ตามรายงานของสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ระบุว่า ในช่วงครึ่งแรกของปี 2568 จาก 4 โครงการเศรษฐกิจที่สำคัญจะก่อให้เกิดเม็ดเงินเข้าสู่ระบบ 260,050 ล้านบาท ได้แก่

 

  • โครงการโอนเงิน 10,000 บาทให้กับผู้สูงอายุที่ผ่านเกณฑ์ วงเงินถึงปัจจุบัน 28,250 ล้านบาท
  • โครงการกระตุ้นการใช้จ่ายผ่านมาตรการลดหย่อนภาษี (Easy e-Receipt) คาดว่าจะมีเงินหมุนเวียนกว่า 70,000 ล้านบาท
  • โครงการพัฒนาหมู่บ้านและชุมชน (SML) จัดสรรจากงบประมาณปี 2568 จำนวน 11,900 ล้านบาท
  • โครงการแจกเงิน 10,000 บาทผ่านระบบดิจิทัล (มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเฟส 3) คาดว่าจะดำเนินการในช่วงไตรมาส 2 วงเงินราว 160,000 ล้านบาท

 

วิจัยกรุงศรีระบุอีกว่า แม้จะมีเม็ดเงินสูงกว่า 260,000 ล้านบาท (คิดเป็น 1.4% ของ GDP) เข้าสู่ระบบเศรษฐกิจในช่วงครึ่งแรกของปีก็ตาม แต่ประสิทธิผลของแต่ละโครงการอาจมีผลเชิงบวกจำกัด สะท้อนจากการดำเนินโครงการแจกเงินสด 10,000 บาทแก่กลุ่มเปราะบางวงเงินราว 1.4 แสนล้านบาท (0.8% ของ GDP) โดยเริ่มแจกตั้งแต่ปลายเดือนกันยายนปีที่ผ่านมา พบว่าการบริโภคภาคเอกชนในไตรมาสสุดท้ายของปีที่แล้วเติบโต +3.4%YoY ใกล้เคียงกับไตรมาสก่อนหน้า (+3.3%) และชะลอลงมากจาก +6.6% ใน 1Q67 และหากพิจารณาการเติบโตแบบ QoQ กลับขยายตัวเพียง +0.5% จาก +0.6% ใน 3Q67 และ +1.3% ใน 1Q67 อีกทั้งยังมีแนวโน้มชะลอลงต่อเนื่อง

 

“ดังนั้นการใช้มาตรการทางการคลังด้านเดียวอาจไม่เพียงพอ การผ่อนคลายนโยบายการเงินเพิ่มขึ้นจึงอาจมีความจำเป็น ท่ามกลางเศรษฐกิจที่เติบโตต่ำ การบริโภคอ่อนแอ การลงทุนภาคเอกชนยังอยู่ในภาวะซบเซา สินเชื่อของระบบธนาคารพาณิชย์หดตัวเป็นครั้งแรกในรอบ 15 ปี (-0.4%) จึงมีความเป็นไปได้ที่คณะกรรมการนโยบายการเงินจะพิจารณาทบทวนปรับลดดอกเบี้ยนโยบายลงสู่ระดับ 2% ในการประชุมวันที่ 26 กุมภาพันธ์นี้ ทั้งนี้ หากไม่มีการปรับลดรอบนี้ก็ยังมีโอกาสที่จะลดในรอบการประชุมครั้งถัดไปในเดือนเมษายน” วิจัยกรุงศรีระบุ

 

UOB คาด กนง. หั่นดอกเบี้ยรอบนี้เลย เตรียมรับความเสี่ยง

 

ขณะที่ UOB Group Research คาดการณ์ว่า กนง. จะปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลง 0.25% มาอยู่ที่ระดับ 2.00% ต่อปี ซึ่งเป็นการเคลื่อนไหวเชิงป้องกัน (Pre-emptive) พร้อมทั้งคาดการณ์ว่าอัตราดอกเบี้ยนโยบายจะคงอยู่ที่ระดับ 2.00% ไปจนถึงสิ้นปี 2568 ตามคาดการณ์กรณีฐานของ UOB (Base Case)

 

ซีไอเอ็มบี ไทย สนับสนุน กนง. ลดดอกเบี้ย ไม่ให้เศรษฐกิจทรุดตัวไปมากกว่านี้

 

ดร.อมรเทพ จาวะลา ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ ผู้บริหารสำนักวิจัย ธนาคาร ซีไอเอ็มบี ไทย กล่าวว่า สนับสนุน กนง. ปรับลดอัตราดอกเบี้ยในรอบวันที่ 26 กุมภาพันธ์ 2568 โดยชี้ว่าการปรับลดอัตราดอกเบี้ยน่าจะเป็นการพยุงเศรษฐกิจไม่ให้ทรุดตัวไปมากกว่านี้ หรือพยายามรักษาระดับการเติบโตทางเศรษฐกิจเทียบไตรมาสต่อไตรมาสให้ทรงตัว

 

พร้อมเตือนว่าเศรษฐกิจดูเต็มไปด้วยความไม่แน่นอนและมีความเสี่ยงขาลงมากขึ้น จึงมองว่ามีความเป็นไปได้สูงที่ กนง. จะตัดสินใจปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงอีก 0.25% สู่ระดับ 2% ในรอบการประชุมที่จะถึงนี้ โดยระบุถึงความเสี่ยงที่มากขึ้นดังนี้

 

  • เศรษฐกิจไทยขยายตัวต่ำกว่าคาด
  • เงินเฟ้อเสี่ยงไม่ถึงกรอบล่างที่ 1%
  • กำลังซื้อครัวเรือนรายได้น้อยและ SMEs อ่อนแอ ห่วงลามไปกระทบธุรกิจขนาดใหญ่
  • ป้องกันความเสี่ยงจากสงครามการค้า
  • พยุงค่าเงินบาทให้อ่อนค่าเทียบดอลลาร์สหรัฐ

 

เปิดแรงกดดันต่อ กนง. ให้ลดดอกเบี้ย

 

ย้อนไปเมื่อสัปดาห์ก่อน แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี โพสต์ผ่านแพลตฟอร์ม X โดยระบุว่า ขอให้ ธปท. พิจารณาลดดอกเบี้ยนโยบายลง เพื่อลดภาระให้ประชาชน และขอให้ธนาคารพาณิชย์ปล่อยสินเชื่อให้มากขึ้น เพื่อให้ภาคประชาชนและเอกชน โดยเฉพาะ SMEs นำเงินไปลงทุนได้

 

หลังจากนั้น พิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ก็ออกมาวอนให้ กนง. ปรับลดดอกเบี้ย โดยมองว่าปัจจุบันเงินเฟ้อไทยถือว่าต่ำอย่างต่อเนื่อง โดยนอกจากการลดดอกเบี้ยลงจะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจไทยได้แล้ว ยังช่วยเรื่องการส่งออกด้วย เนื่องจากการที่ค่าเงินอ่อนลงจะเป็นประโยชน์กับประเทศส่งออก

 

ขณะที่ IMF บอกเมื่อวันที่ 20 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมาว่า แนะนำให้ กนง. พิจารณาปรับลดอัตราดอกเบี้ยเพิ่มเติมอีก 1 ครั้ง เพื่อสนับสนุนเงินเฟ้อ และปรับปรุงความสามารถในการชำระหนี้ของผู้กู้ (Debt-Servicing Capacity) เนื่องจากมองว่ามีความเสี่ยงจำกัดที่การกู้ยืมจะเพิ่มขึ้นอีกครั้งท่ามกลางการให้สินเชื่อที่เข้มงวด

 

SCB EIC มอง กนง. คงดอกเบี้ยครั้งนี้ จับตาการสื่อสารหลังประชุมจบ

 

ดร.ฐิติมา ชูเชิด ผู้อำนวยการฝ่ายวิจัยเศรษฐกิจมหภาค SCB EIC เปิดเผยกับ THE STANDARD WEALTH ว่าคาดการณ์ กนง. จะคงอัตราดอกเบี้ยไว้ที่ 2.25% ในการประชุมนัดแรกของปี เนื่องจากการสื่อสารของ ธปท. ในงาน Monetary Policy Forum เมื่อเดือนมกราคม ค่อนข้างชัดเจนว่า กนง. มีมุมมองต่อเศรษฐกิจว่ายังฟื้นตัวใกล้เคียงกับระดับศักยภาพอยู่ และยังไม่ได้นำเอาผลกระทบของนโยบายประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ต่อเศรษฐกิจไทยเข้ามา

 

ดังนั้น SCB EIC จึงมองว่าจังหวะที่จะนำปัจจัยดังกล่าวมาพิจารณาคือ หลังจากนโยบาย Reciprocal Tariff มีความชัดเจนก่อน ซึ่งคาดว่าจะเกิดขึ้นในช่วงต้นเดือนเมษายน จึงทำให้มองว่าการปรับลดดอกเบี้ยครั้งแรกของปีนี้จะเกิดขึ้นภายในไตรมาสที่ 2 ของปีนี้

 

โดย SCB EIC มองว่ามีความเป็นไปได้ว่าในปีนี้ กนง. จะปรับลดดอกเบี้ยเพียง 1 ครั้ง อย่างไรก็ตาม ต้องจับตาดูผลการประชุมในวันที่ 26 กุมภาพันธ์นี้ว่า กนง. มองว่าเศรษฐกิจชะลอจากศักยภาพมากแค่ไหน ดอกเบี้ยต้องเข้ามาพยุงเศรษฐกิจหรือยัง เนื่องจากการสื่อสารล่าสุด กนง. มองว่าเศรษฐกิจยังไปได้อยู่

 

กสิกรคาด กนง. คงดอกเบี้ยนัดนี้ แต่ทั้งปีมีโอกาสปรับลด 1-2 ครั้ง

 

KResearch คาดการณ์ว่า กนง. จะคงดอกเบี้ยนโยบายต่อเนื่องในการประชุมวันที่ 26 กุมภาพันธ์นี้ มองทั้งปีมีโอกาสปรับลด 1-2 ครั้ง โดยให้น้ำหนักกับปัจจัยในประเทศเป็นหลัก

 

“ในการประชุม กนง. วันที่ 26 กุมภาพันธ์นี้ คาด กนง. มีแนวโน้มคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ระดับ 2.25% ต่อเนื่อง โดย กนง. มีแนวโน้มรอดูสถานการณ์เศรษฐกิจไทยภายใต้ความไม่แน่นอนที่มีอยู่สูง โดยเฉพาะอย่างยิ่งความเสี่ยงจากนโยบายปรับขึ้นภาษีนำเข้าของสหรัฐฯ ขณะที่โมเมนตัมเศรษฐกิจไทยในช่วงครึ่งปีแรกของปีนี้คาดว่าจะยังขยายตัวได้ใกล้เคียงกับระดับอัตราการขยายตัวในไตรมาส 4/67 ที่อยู่ที่ 3.2%YoY โดยมีปัจจัยสนับสนุนจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ การเร่งส่งออก และการเบิกจ่ายงบประมาณภาครัฐ”

 

KResearch มอง ในปี 2568 มีความเป็นไปได้ที่ กนง. จะปรับลดดอกเบี้ยนโยบาย 1-2 ครั้ง โดย กนง. คงให้น้ำหนักกับความเสี่ยงด้านเศรษฐกิจและเสถียรภาพทางการเงินภายในประเทศเป็นสำคัญ ทิศทางการผ่อนคลายนโยบายการเงินทั่วโลกที่ล่าช้าออกไปตามธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) คงไม่ใช่ปัจจัยหลักที่ กนง. นำมาพิจารณาจังหวะในการปรับลดดอกเบี้ยนโยบายของไทย

 

ทั้งนี้ เศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มเผชิญความเสี่ยงที่สูงขึ้นโดยเฉพาะในช่วงครึ่งปีหลังของปี 2568 จากทั้งปัจจัยภายในและภายนอก โดยการส่งออกของไทยในปี 2568 คาดว่าจะชะลอตัวลงจากผลกระทบของสงครามการค้ารอบใหม่ ขณะที่เศรษฐกิจภายในประเทศมีแนวโน้มเผชิญแรงกดดันจากภาคการผลิตที่ยังไม่ฟื้นตัว และการใช้จ่ายของครัวเรือนที่มีโมเมนตัมชะลอลงท่ามกลางความไม่แน่นอนทางเศรษฐกิจและหนี้ครัวเรือนที่อยู่ในระดับสูง ประกอบกับมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลที่คาดว่าจะช่วยกระตุ้นการใช้จ่ายของครัวเรือนได้จำกัดและในระยะสั้นเท่านั้น

 

Standard Chartered คาด ธปท. ตรึงดอกเบี้ยถึงกลางปี

 

ดร.ทิม ลีฬหะพันธุ์ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ ฝ่ายเศรษฐศาสตร์ ประจำประเทศไทยและเวียดนาม ธนาคารสแตนดาร์ดชาร์เตอร์ด (ไทย) คาดว่า กนง. และ ธปท. จะคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ร้อยละ 2.25% ในการประชุมกำหนดนโยบายการเงินในวันที่ 26 กุมภาพันธ์นี้ โดยได้แรงหนุนจากการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง แม้เงินเฟ้อจะยังอยู่ในระดับไม่สูงนัก ในขณะที่กำลังประเมินความเสี่ยงจากสงครามการค้าและภาวะการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจในประเทศ

 

“กนง. อาจปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายเพียงครั้งเดียวในปีนี้ ซึ่งอาจเป็นการประชุมในเดือนมิถุนายน หรือหลังจากนั้น Fed มีท่าทีไม่รีบลดดอกเบี้ย และ ธปท. ไม่ได้ส่งสัญญาณต้องการลดอัตราดอกเบี้ย ประกอบกับต้องการรักษาขีดความสามารถในการดำเนินนโยบายการเงิน (Policy Space) ล้วนเป็นปัจจัยที่จะชะลอการลดอัตราดอกเบี้ย” ดร.ทิม กล่าว

 

TISCO ESU คาด กนง. คงดอกเบี้ย 2.25% ท่ามกลางเศรษฐกิจที่มีความไม่แน่นอนสูง

 

เมธัส รัตนซ้อน นักเศรษฐศาสตร์ ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจและกลยุทธ์ทิสโก้ (TISCO ESU) คาดว่า กนง. จะมีมติคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ระดับ 2.25% ในการประชุมนัดแรกของปีในวันที่ 26 กุมภาพันธ์นี้ เพื่อรักษาขีดความสามารถในการดำเนินนโยบายการเงินในอนาคต (Policy Space) ท่ามกลางประสิทธิผลของนโยบายการเงินที่ลดลง โดยเฉพาะในสภาวะเศรษฐกิจที่มีความไม่แน่นอนสูง

 

“จากสัญญาณที่ กนง. ส่งออกมาในการประชุม Monetary Policy Forum เมื่อเดือนมกราคมที่ผ่านมา ทำให้ TISCO ESU มองว่า กนง. จะเลือกคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ก่อน พร้อมติดตามพัฒนาการของเศรษฐกิจและทิศทางนโยบายต่างๆ ของประเทศเศรษฐกิจหลัก โดยเฉพาะนโยบายการตั้งกำแพงภาษีสินค้านำเข้าของสหรัฐฯ (Tariff)” เมธัสกล่าว

 

ทั้งนี้ TISCO ESU ประเมินว่า กนง. มีโอกาสปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลง 0.25% หรือ 25 bps จำนวน 1 ครั้งในปีนี้ โดยจะปรับลดในช่วงกลางปีเป็นต้นไป จากเดิมที่คาดว่าจะเริ่มปรับลดตั้งแต่การประชุมนัดแรกของปี 2568

 

กรุงไทยคาด กนง. อาจเก็บกระสุน รับผลกระทบทรัมป์ที่อาจแรงขึ้นในปี 2569

 

ดร.ฉมาดนัย มากนวล ผู้อำนวยการฝ่าย ศูนย์วิจัย Krungthai COMPASS กล่าวกับ THE STANDARD WEALTH โดยคาดว่า กนง. น่าจะคงดอกเบี้ยนโยบายในการประชุมวันที่ 26 กุมภาพันธ์นี้ เนื่องจากรอจับดูผลกระทบนโยบายการค้าและผลจากโครงการคุณสู้เราช่วย

 

“ธปท. จะลดดอกเบี้ยก็ต่อเมื่อมองว่าเศรษฐกิจไทยมีความเสี่ยงมากเพียงพอ แม้ว่าตอนนี้เราเริ่มเห็นโมเมนตัมของเศรษฐกิจที่เริ่มแผ่วมากพอสมควร อย่างไรก็ตาม ธปท. น่าจะต้องรอดูความชัดเจนของผลกระทบนโยบายประธานาธิบดีทรัมป์อีกที” ดร.ฉมาดนัย กล่าว

 

นอกจากนี้ ท่ามกลางภาวะสินเชื่อในระบบธนาคารพาณิชย์ที่ตึงตัว ดร.ฉมาดนัย กล่าวว่า ธปท. อาจมองว่าโครงการคุณสู้เราช่วยอาจจะช่วยทำให้ภาวะสินเชื่อที่หดตัวผ่อนคลายลงไปได้บ้าง อย่างไรก็ตาม เนื่องจากมีการขยายระยะเวลาลงทะเบียนออกไป ธปท. จึงอาจต้องรอดูผลของโครงการคุณสู้เราช่วยจะมีประสิทธิภาพหรือไม่ด้วย

 

สำหรับในช่วงที่เหลือของปีนี้ ดร.ฉมาดนัย กล่าวว่า ในคาดการณ์พื้นฐานของ Krungthai COMPASS ประเมินว่า กนง. น่าจะลดดอกเบี้ยเพียง 1 ครั้ง เนื่องจาก กนง. อาจจะต้องเก็บกระสุนไว้รองรับผลกระทบจากสงครามการค้า ซึ่งกรุงไทยคาดว่า ผลกระทบดังกล่าวต่อเศรษฐกิจไทยจะรุนแรงขึ้นในปี 2569 อย่างไรก็ตาม หากเศรษฐกิจไทยปี 2568 ทรุดลงเร็วกว่าที่คาด อาจเห็น กนง. ลดดอกเบี้ย 2 ครั้งในปีนี้ได้

 

 

ภาพประกอบ: พรวลี จ้วงพุฒซา

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising