หากย้อนไทม์ไลน์การแก้ไขปัญหาสามจังหวัดชายแดนใต้ตั้งแต่ต้นปี 2568 เริ่มตั้งแต่การประชุมคณะกรรมการบริหารสถานการณ์ฉุกเฉิน (กบฉ.) ที่ภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมสั่งให้ทบทวนยุทธศาสตร์ไฟใต้
ทำไมสถานการณ์ผ่านมาเกือบ 20 ปี ยังไม่มีทิศทางที่ดีขึ้น และขณะนี้ก็ยังไม่มีการตั้งหัวหน้าคณะพูดคุยสันติสุข พร้อมประกาศว่า ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี เตรียมลงพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ในฐานะที่ปรึกษาประธานอาเซียนของ อันวาร์ อิบราฮิม นายกรัฐมนตรีมาเลเซีย เพื่อคืนสันติสุขให้กับคนในพื้นที่
ขณะเดียวกันสำนักข่าวอิศรารายงานว่า ตั้งแต่ทักษิณเดินทางกลับประเทศไทยเมื่อวันที่ 22 สิงหาคม 2566 และพ้นโทษมา มีข่าวความพยายามที่จะพูดคุยแก้ไขปัญหาความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยเฉพาะการพบกับอันวาร์หลายครั้ง เนื่องจากมาเลเซียมีฐานะเป็นผู้อำนวยความสะดวกกระบวนการพูดคุยสันติสุขและสันติภาพของรัฐบาลไทย กับกลุ่มผู้เห็นต่างจากรัฐ
ทักษิณ ชินวัตร หารือ อันวาร์ อิบราฮิม นายกรัฐมนตรีมาเลเซีย
19 ปี ความรุนแรงในความทรงจำ
นับจากปี 2547 จวบจนวันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2568 ภาพเหตุการณ์ระเบิดรถกระบะภายในท่าอากาศยานนราธิวาส ก่อนการลงพื้นที่ของทักษิณและคณะ แม้จะไม่พบว่ามีผู้บาดเจ็บหรือเสียชีวิต
แต่เหตุการณ์ดังกล่าวกลับสะท้อนให้เห็นว่า 19 ปีที่ผ่านมา ความรุนแรงในสามจังหวัดชายแดนใต้ไม่ได้หายไปไหน และยิ่งตอกย้ำความทรงจำเหตุการณ์หลังการปล้นปืน ซึ่งมีเจ้าหน้าที่ตำรวจเสียชีวิต ที่ในวันนั้นทักษิณได้ลั่นวาจา ซึ่งหลายฝ่ายมองว่าเป็นจุดเริ่มต้นชนวนแห่งความรุนแรง ว่า “ไม่มีการแบ่งแยกดินแดน ไม่มีผู้ก่อการร้ายอุดมการณ์ มีแต่โจรกระจอก”
หลังจากปี 2544 กลุ่มผู้ก่อความไม่สงบได้เริ่มต้นใช้ยุทธวิธีที่เรียกว่า ‘ปืนของรัฐ คือ ปืนของเรา’ ทำให้เกิดเหตุการณ์ปล้นปืนของทางราชการหลายครั้ง ต่อมาปี 2545 ทักษิณมีคำสั่งยุบศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.)
ขณะเดียวกันมีความเคลื่อนไหวในลักษณะต้องการแบ่งแยกดินแดนบริเวณปัตตานีเริ่มบานปลายและปะทุขึ้นตั้งแต่ช่วงต้นปี 2547 เผาโรงเรียน ปล้นปืนจากค่ายทหาร นำมาซึ่งการประกาศกฎอัยการศึกในหลายพื้นที่
จนในที่สุดเกิดเหตุการณ์สูญเสียที่หลายคนจดจำได้เป็นอย่างดี ปะทะกันที่มัสยิดกรือเซะ จังหวัดปัตตานี รวมถึงพื้นที่อื่นๆ เมื่อวันที่ 28 เมษายน 2547 และต่อมาเหตุการณ์สลายการชุมนุมตากใบ จังหวัดนราธิวาส เมื่อวันที่ 25 ตุลาคม 2547 มีผู้ประท้วงถูกจับ ภาพการขนย้ายผู้ประท้วงอย่างแออัดทำให้มีผู้เสียชีวิตจำนวนมาก สร้างความโหดร้ายให้กับคนในพื้นที่ ขณะที่ประเด็นปัญหาข้อวิจารณ์ที่เจ้าหน้าที่รัฐใช้กำลังเกินเหตุยังไม่ได้รับการแก้ไข
และเมื่อคดีตากใบหมดอายุความ โดยที่ไม่สามารถนำเจ้าหน้าที่ หรือบุคคลที่เกี่ยวข้องมาขึ้นศาลได้เลย เมื่อผู้ต้องหาทั้งหมด จงใจหลบหนี ซึ่งหนึ่งในผู้ต้องหาเป็นสส. พรรคเพื่อไทย
เกิดเป็นคำถามขึ้นมาว่า เจ้าของวลีโจรกระจอก และทักษิณผู้มีบารมีในพรรคเพื่อไทย ทำไมถึงไม่สามารถทำให้ผู้ต้องหา มาขึ้นศาลตามคำร้องขอของญาติผู้เสียชีวิตได้
ทักษิณ ชินวัตร และคณะ ลงพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้
คำขอโทษที่รอมานาน
“การทำงานมีความผิดพลาดได้บ้าง ถ้าผมมีอะไรผิดพลาดที่ไม่เป็นที่พอใจก็ขออภัยด้วยครับ เพื่อเราจะได้หันกลับมาช่วยกันแก้ปัญหาด้วยกัน ไม่อยากให้มีความเกรงใจเล็กๆ น้อยๆ แต่พี่น้องมุสลิมถูกสอนมาว่า รักสันติสุข รู้จักให้อภัย เพราะฉะนั้นเมื่อเราขออภัยในสิ่งที่ผมอาจจะทำเป็นที่ไม่ถูกใจหรือผิดพลาดบ้าง ต้องขออภัยด้วยครับ”
นี่คือคำขออภัยต่อพี่น้องสามจังหวัดชายแดนภาคใต้จากอดีตนายกรัฐมนตรีทักษิณ เพื่อที่จะได้รับการให้อภัยและกลับมาเป็นส่วนหนึ่งในการช่วยพัฒนาสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ให้เป็นเมืองที่น่าอยู่ น่าลงทุน และน่าท่องเที่ยว
การเดินทางมาครั้งนี้มาใน 3 บทบาทคือ ที่ปรึกษาประธานอาเซียน อดีตนายกรัฐมนตรี และผู้สนับสนุนรัฐบาลเพื่อไทยที่มีลูกสาวเป็นนายกรัฐมนตรี พร้อมย้ำว่ามีความห่วงใยประชาชนในพื้นที่ 100% ตอนนี้สันติภาพชายแดนใต้มองเห็นแสงสว่างที่ปลายอุโมงค์ เชื่อว่าภายในปีนี้สัญญาณจะดีขึ้น ปีหน้าจะเห็นความชัดเจนจากการพูดคุยและน่าจะจบ
รวมถึงการร่วมมือร่วมใจจากผู้นำประเทศเพื่อนบ้านทั้งหลาย ทั้งจากมาเลเซียและ ยูซุฟ กัลลา อดีตรองประธานาธิบดีอินโดนีเซีย ที่อยากเห็นประเทศไทยและอาเซียนสงบสุข มีการลงทุน การท่องเที่ยวกันมากขึ้น ฉะนั้นทุกคนร่วมมือกัน
ทักษิณย้ำด้วยว่า วันนี้จะมาสานต่อสิ่งที่ทำไว้ในสมัยที่เป็นนายกรัฐมนตรี เพราะเชื่อว่าการแก้ไขปัญหาจะจบได้ถ้าหันหน้ามาพูดคุยกัน การพูดคุยสันติสุขที่เริ่มขึ้นในสมัยรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เชื่อว่าทุกอย่างจะชัดเจนขึ้นในรัฐบาลนี้
ขณะที่ญาติผู้สูญเสียรายหนึ่งเปิดเผยกับไทยพีบีเอสว่า พร้อมที่จะให้อภัย พร้อมที่จะเริ่มต้นใหม่ให้สังคมอยู่เย็นเป็นสุข กว่า 20 ปีที่รอคอยคำขอโทษของครอบครัวผู้สูญเสียที่จากเหตุการณ์ปะทะที่มัสยิดกรือเซะ ดีใจที่ได้ยินคำขอโทษที่จริงใจของทักษิณ
อังคณา นีละไพจิตร สมาชิกวุฒิสภา ภรรยา สมชาย นีละไพจิตร อดีตทนายความ สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ที่ถูกอุ้มหาย โพสต์ข้อความระบุว่า “ขออภัยตากใบ แล้วจะคืนศพคนที่ถูกอุ้มฆ่าให้ญาติไหม จะคืนความเป็นธรรมโดยนำคนผิดมาลงโทษไหม หรือแค่ขอโทษตอนหมดอายุความ #การบังคับสูญหายไม่มีอายุความ สิ่งที่เหยื่อต้องการคือ #ความจริงและความยุติธรรม”
นอกจากนี้ยังโพสต์อีกว่า “ทักษิณไปใต้อย่างเป็นทางการ เหยื่อการละเมิดสิทธิมนุษยชน #กรือเซะ #ตากใบ #อุ้มหาย ก็รอ #คำขอโทษอย่างเป็นทางการ และคำมั่นในการ #ยุติการลอยนวลพ้นผิด เช่นกัน รัฐบาลเพื่อไทยต้องกล้ารับผิดในสิ่งที่เคยกระทำ”
ทั้งนี้เป็นที่น่าสังเกตว่า ทักษิณใช้คำว่าขออภัย ไม่ใช่การขอโทษ โดยกล่าวซ้ำๆ ถึง 3 ครั้งในการเยือนสถานที่ซึ่งแตกต่างกัน 3 จุดในวันเดียวกัน ทั้งที่นราธิวาส ปัตตานี และยะลา
รอมฎอน ปันจอร์ สส. บัญชีรายชื่อ พรรคประชาชน ระบุว่า การกล่าวคำขออภัยเช่นนี้ไม่ใช่ครั้งแรก เพราะทักษิณเคยกล่าวถ้อยคำในลักษณะเช่นนี้มาแล้วในรายการสนทนาออนไลน์เมื่อวันครบรอบ 18 ปี เหตุการณ์ตากใบในปี 2565
ความจริงใจในการขอโทษมี 2 องค์ประกอบหลักคือ คำพูดและการกระทำ โดยเฉพาะการกระทำของรัฐบาลยังสะท้อนความไม่จริงใจในช่วงที่อายุความของคดีตากใบสิ้นสุดลงในเดือนตุลาคมที่ผ่านมา เนื่องจากจำเลยคนสำคัญมีสถานะเป็น สส. ของพรรคเพื่อไทย
“การที่คุณทักษิณพูดว่าเหตุการณ์ตากใบเป็นความผิดพลาดในการทำงาน เป็นการลดทอนความสำคัญของรากเหง้าปัญหา แล้วยังเรียกร้องฝ่ายเดียวให้ประชาชนให้อภัย โดยไม่ได้พูดสิ่งที่สำคัญที่สุดเลยว่ารัฐบาลจะทำอย่างไรให้เกิดสันติภาพในพื้นที่ สิ่งนี้ยังคงคลุมเครือ ซึ่งอาจจะสะท้อนความไม่จริงใจ หรือไม่มีเจตจำนงทางการเมืองของรัฐบาลพรรคเพื่อไทยในการสร้างสันติภาพในพื้นที่ชายแดนใต้จริงๆ” รอมฎอนกล่าว
นโยบาย 66/2523
คำสั่งที่ 66/23 ปัดฝุ่นหรือตอบโจทย์?
ภูมิธรรมเคยเกริ่นว่าจะปัดฝุ่นคำสั่งนายกรัฐมนตรีที่ 66/23 ซึ่งเป็นนโยบายเมื่อ 45 ปีที่แล้วในสมัยของรัฐบาล พล.อ. เปรม ติณสูลานนท์ ที่ใช้ในการแก้ไขปัญหาคอมมิวนิสต์ โดยเชิญชวนนักศึกษาที่เข้าป่าวางอาวุธกลับบ้าน โดยจะล้างความผิดทั้งหมด และส่งเสริมอาชีพ ให้กลับมาเป็นผู้ร่วมพัฒนาชาติ ซึ่งหนึ่งผู้ที่ได้รับประโยชน์จากกฎหมายนี้ คือภูมิธรรมและหลายคนของพรรคเพื่อไทย
แม้ทักษิณจะระบุว่า เรื่องนี้ต้องกลับไปดูว่าจะทำอย่างไรให้คนที่ผิดไปแล้วสำนึกผิดให้ได้กลับมาประเทศ และพูดคุยกัน ซึ่งยังมีอีกหลายขั้นตอนที่จะต้องพูดคุยกับหลายฝ่าย
แต่คำสั่งนี้เคยถูกนำมาใช้ผ่านมาตรา 21 ของ พ.ร.บ.การรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร พ.ศ. 2551 หรือที่เรียกว่า พ.ร.บ.ความมั่นคง ในการแก้ไขความขัดแย้งและรุนแรงในจังหวัดชายแดนภาคใต้ พาคนที่เคยต่อสู้กับรัฐกลับบ้าน ซึ่งมีเงื่อนไข เช่น
- ให้ผู้ที่กลับใจเข้ารับการอบรม 6 เดือน เพื่อปรับทัศนคติ
- ต้องถอด ‘ซูเปาะ’ หรือคำสาบานต่อพระเจ้าตามความเชื่อของอิสลาม
หลังจากนั้นจะไม่ถูกดำเนินคดีที่กระทำไว้แม้จะเป็นคดีอาญาก็ตาม ช่องทางนี้เริ่มใช้ตั้งแต่ปี 2553 ถึงปัจจุบัน มีผู้เข้าร่วมแค่ 7-8 คนเท่านั้น เพราะกลุ่มผู้เห็นต่างไม่เชื่อว่ารัฐมีความจริงใจและจะได้รับการยกเว้นโทษจริง
ขณะที่การถอดซูเปาะต้องทำกับผู้นำศาสนาซึ่งไม่มีผู้นำศาสนากล้ามาทำหน้าที่นี้ให้ เพราะกลัวตกเป็นเป้าของผู้ก่อความรุนแรง การอบรมที่นานเกินไป และไม่ได้รับการการันตีว่าได้รับการดูแลเรื่องอาชีพความปลอดภัยจากรัฐไทย รวมถึงพื้นที่ประกาศ พ.ร.บ.ความมั่นคง ไม่ได้ครอบคลุม ปัจจุบันมีแค่ 17 อำเภอ จากทั้งหมด 33 อำเภอในจังหวัดชายแดนใต้ แนวคิดนี้จึงกลายเป็นสิ่งที่เหมือนจะเป็นคำตอบที่ยังไม่ตรงกับโจทย์
เมื่อรวมกับแนวความคิดของผู้ก่อเหตุซึ่งไม่ได้คิดว่าตนเองเป็นคนไทย เหมือนกับนักศึกษาที่หนีเข้าป่าแล้ว การฟื้นคำสั่งที่ 66/23 อาจจะไม่ใช่คำตอบ
วันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานรัฐสภา แกนนำกลุ่มวาดะห์ ให้การต้อนรับ ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี
4 จุดลงพื้นที่แสดงสัญญะ
การลงพื้นที่สามจังหวัดชายแดนใต้ของทักษิณในครั้งนี้ถูกกำหนดโดย พ.ต.อ. ทวี สอดส่อง หัวหน้าพรรคประชาชาติ และ วันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานรัฐสภา แกนนำกลุ่มวาดะห์ที่มีสายสัมพันธ์เหนียวแน่นกับทักษิณ ทั้งยังเป็นพรรคร่วมรัฐบาล ซึ่งแต่ละสถานที่เป็นการแสดงเชิงสัญลักษณ์
- วัดประชุมชลธารา จังหวัดนราธิวาส กราบนมัสการพระธรรมวัชรจริยาจารย์ เจ้าอาวาสวัดประชุมชลธารา ในฐานะที่ปรึกษาเจ้าคณะภาค 18 ผู้ที่ได้รับความเคารพจากประชาชนทุกศาสนาในพื้นที่ทั้งไทย พุทธ มุสลิม สามารถพูดภาษามลายูได้ เป็นพระนักพัฒนา
- โรงเรียนสัมพันธ์วิทยา อำเภอเจาะไอร้อง จังหวัดนราธิวาส เป็นโรงเรียนที่ มะแซ อูเซ็ง อดีตผู้ต้องหาในข้อหากบฏแบ่งแยกดินแดนและอั้งยี่ซ่องโจร ที่เชื่อว่าเป็นผู้สั่งการในเหตุปล้นปืนที่ค่ายปิเหล็ง จุดเริ่มต้นของความรุนแรงในจังหวัดชายแดนภาคใต้ในปี 2547 ของรัฐบาลทักษิณ และเป็นเจ้าของทฤษฎีบันได 7 ขั้นในการแบ่งแยกดินแดน
- โรงเรียนสายบุรีอิสลามวิทยา จังหวัดปัตตานี พบปะกับพบเพื่อนเก่า ดาโต๊ะ นิเดร์ วาบา ประธานโรงเรียนสอนศาสนาอิสลามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งเป็นเพื่อนและคนสนิทของทักษิณตั้งแต่ก่อนลงรับสมัครเลือกตั้งเมื่อกว่า 20 ปีก่อน
- TK Park จังหวัดยะลา สถานที่ซึ่งครั้งหนึ่งทักษิณเคยเป็นผู้ขับเคลื่อนและผลักดันโครงการอุทยานการเรียนรู้เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี เพื่อต่อยอดและพัฒนากลุ่มเยาวชนในพื้นที่ให้เป็นสตาร์ทอัพรุ่นใหม่ที่เป็น DNA ของคนในพื้นที่
ดร.ชญานิษฐ์ พูลยรัตน์ อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
ไฟใต้จบเมื่อไร ไม่สำคัญเท่าจบอย่างไร
แม้ภาพการต้อนรับทักษิณลงพื้นที่สามจังหวัดชายแดนใต้จะดูอบอุ่น แต่การลงพื้นที่พูดคุยยังไม่ลงลึกถึงการแก้ไขปัญหาที่สะสมมานาน
ดร.ชญานิษฐ์ พูลยรัตน์ อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) เปิดเผยว่า สังคมไทยประสบกับปัญหานี้มากว่า 20 ปี สูญเสียงบประมาณไปกว่า 5 แสนล้านบาท นับตั้งแต่ปี 2547 จนถึงปัจจุบัน เราควรจะนำข้อมูลมาดูกันอย่างจริงจัง เปรียบเทียบพื้นที่บังคับใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน กับพื้นที่อื่นว่าช่วยทำให้ความรุนแรงลดลงได้หรือไม่ รวมไปถึงตัวเลขการละเมิดสิทธิมนุษยชน
การขออภัยต่อประชาชนในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนและกำหนดไทม์ไลน์ที่จะยุติสถานการณ์ความขัดแย้งในพื้นที่ภาคใต้ให้จบภายในปี 2569 ของทักษิณ ถือเป็นเรื่องดี แต่คำถามที่สำคัญคือหลังจากที่กล่าวขออภัยแล้ว รัฐบาลและทักษิณในฐานะที่ปรึกษาประธานอาเซียน จะดำเนินการแก้ไขปัญหาอย่างไรต่อไป
ทั้งการจัดสรรทรัพยากร การจัดการกับกฎหมายพิเศษที่ยังบังคับใช้อยู่ในพื้นที่ เรื่องคดีความทางการเมืองต่างๆ ไปจนถึงมิติการพัฒนา ซึ่งเหล่านี้ล้วนแต่เป็นเรื่องใหญ่ทั้งสิ้น
ทั้งนี้ ส่วนตัวเสนอว่ารัฐบาลควรจะเร่งดำเนินการแต่งตั้ง ‘คณะพูดคุยสันติสุขจังหวัดชายแดนใต้’ ขึ้นมาอีกครั้ง ภายหลังจากคณะพูดคุยสันติสุขฯ ชุดเก่าสิ้นสุดลงไปพร้อมกับการเปลี่ยนแปลงรัฐบาล
ดร.ชญานิษฐ์ ยังชี้ให้เห็นด้วยว่า เสถียรภาพทางการเมืองในหลายปีที่ผ่านมาเป็นส่วนหนึ่งที่ปัญหาจังหวัดชายแดนใต้คาราคาซัง การพูดคุยกันก็ต้องสะดุดลงในทุกครั้งที่มีการรัฐประหารหรือเปลี่ยนรัฐบาล
“คงไม่มีใครไม่อยากให้ปัญหาชายแดนใต้จบโดยเร็ว เพียงแต่การจบเร็วอาจจะสำคัญน้อยกว่าจบอย่างไร ส่วนตัวในฐานะที่เป็นผู้สอนวิชาความรุนแรงและการไม่ใช้ความรุนแรงทางการเมืองมองว่า ปัญหาควรจะต้องจบด้วยวิธีการทางการเมือง ด้วยการไม่ใช้ความรุนแรง และเป็นทางออกที่ยั่งยืน ความน่ากังวลก็คือถ้าเราไปตั้งเป้าและจำกัดตัวเองไว้ด้วยเงื่อนเวลาว่าจะจบปีหน้า คำถามคือจะจบอย่างไร เพราะเราคงไม่อยากให้มันจบด้วยการปราบปราม เพราะเราก็รู้ว่าการปราบปรามอาจทำให้เงียบสงบได้ แต่ไม่ได้ทำให้ปัญหาจบลง”
ดร.ชญานิษฐ์ ปิดท้ายด้วยว่า สิ่งที่สำคัญและละเลยไม่ได้คือพื้นที่ของการสร้างความไว้เนื้อเชื่อใจต่อกันและกัน นอกจากนี้ควรจะให้ความสำคัญกับภาคประชาสังคมในพื้นที่ชายแดนใต้ รวมถึงประชาชนทั่วไป ซึ่งอาจจะอยู่วงนอกของโต๊ะเจรจา