×

ยักษ์น้ำมันฟ้องปิดปาก Greenpeace เสี่ยงล้ม การต่อสู้เพื่อสิ่งแวดล้อมกำลังพ่ายแพ้?

24.02.2025
  • LOADING...
Greenpeace

วันนี้ (24 กุมภาพันธ์) ศาลพิพากษาในรัฐนอร์ทดาโกตา จะเริ่มต้นการพิจารณาคดีที่บริษัท Energy Transfer ผู้พัฒนาท่อส่งน้ำมันและก๊าซธรรมชาติรายใหญ่ในรัฐเท็กซัส ของสหรัฐฯ ยื่นฟ้อง Greenpeace USA และ Greenpeace International เป็นเงิน 300 ล้านดอลลาร์ จากกรณีการเข้าไปมีส่วนร่วมในการประท้วงต่อต้านโครงการก่อสร้างท่อส่งน้ำมัน Dakota Access Pipeline (Dapl) ในรัฐนอร์ทดาโกตา ระหว่างปี 2016 และ 2017 

 

การประท้วงนำโดยชนเผ่าซูแห่งสแตนดิงร็อก (Standing Rock Sioux) ซึ่งเป็นชนพื้นเมืองอินเดียนแดงที่ควบคุมเขตสงวนสแตนดิงร็อก โดยร่วมกับชนเผ่าซูอื่นๆ ในการรณรงค์ประท้วง และได้รับการสนับสนุนจากกลุ่มชนพื้นเมืองอีกจำนวนมาก

 

ขณะที่ Greenpeace เป็นหนึ่งใน NGO หลายสิบกลุ่มที่สนับสนุนการต่อต้านท่อส่งน้ำมันดังกล่าว แต่สาเหตุที่ตกเป็นเป้าฟ้องร้อง เนื่องจาก Energy Transfer ระบุข้อกล่าวหาในเอกสารที่ยื่นต่อศาลว่า กลุ่มผู้ประท้วงหลายพันคนถูก ‘ยุยง’ ให้มาชุมนุมประท้วงด้วย ‘แคมเปญข้อมูลเท็จ’ ของ Greenpeace 

 

การต่อสู้คดีนี้ถือเป็นตัวอย่างของการใช้กฎหมายฟ้องปิดปาก (SLAPP) ซึ่งลากยาวมานานหลายปี โดยคำตัดสินที่ออกมา หาก Greenpeace เป็นฝ่ายพ่ายแพ้ จะกระทบต่อการทำงานด้านสิ่งแวดล้อมของ Greenpeace ทั่วโลก กรณีร้ายแรงคือ Greenpeace USA อาจถึงขั้นต้องยุบหรือยกเลิกการปฏิบัติงานในสหรัฐฯ ที่มีมายาวนานกว่า 50 ปี

 

ธารา บัวคำศรี ผู้อำนวยการ กรีนพีซ ประเทศไทย (Greenpeace Thailand) ให้สัมภาษณ์ THE STANDARD ชี้ความสำคัญของคดีนี้ ในเชิงสัญลักษณ์ เทียบได้กับการต่อสู้ระหว่างนักเคลื่อนไหวเพื่อสิ่งแวดล้อม กับผู้ประกอบธุรกิจในอุตสาหกรรมเชื้อเพลิงฟอสซิล และการต่อสู้เพื่อเสรีภาพในการแสดงออก ตลอดจนการต่อสู้ของกลุ่มชนพื้นเมืองที่ต้องการปกป้อง ‘บ้าน’ ของตนเองจาก ‘ภัยคุกคาม’ ที่มาจากภาคอุตสาหกรรม 

 

ที่มาที่ไปของคดี

 

สำหรับท่อส่งน้ำมัน Dakota Access ที่เป็นชนวนการฟ้องร้อง เป็นโครงการขนาดใหญ่มูลค่ากว่า 3,800 ล้านดอลลาร์ ของบริษัท Energy Transfer Partners LP (ชื่อเดิมของ Energy Transfer ในขณะนั้น) ที่เริ่มประกาศตั้งแต่ปี 2014 ก่อนจะลงมือก่อสร้างในเดือนมิถุนายน 2016 โดยมีการวางท่อส่งน้ำมันระยะทางกว่า 1,886 กิโลเมตร ซึ่งสามารถขนส่งน้ำมันดิบจากแหล่งน้ำมันในรัฐนอร์ทดาโกตา ไปยังคลังน้ำมันในเมืองปาโตกา รัฐอิลลินอยส์ ซึ่งในระหว่างเส้นทางจะต้องมีการวางท่อส่งน้ำมันพาดผ่านใต้ทะเลสาบ อันเป็นแหล่งน้ำดื่มหลักของชนเผ่าซูแห่งสแตนดิงร็อก

 

ในปี 2016 ก่อนที่การก่อสร้างจะแล้วเสร็จ ทางชนเผ่าเริ่มแสดงความกังวลเกี่ยวกับความเสี่ยงที่ท่อส่งน้ำมันอาจก่อผลกระทบกับแหล่งน้ำของพวกเขา และเริ่มโต้แย้งว่าโครงการวางท่อส่งน้ำมันดังกล่าว ละเมิดเงื่อนไขสนธิสัญญาระหว่างชนเผ่าซูกับรัฐบาลสหรัฐฯ 

 

ขณะที่สมาชิกของชนเผ่าทำการตั้งแคมป์ประท้วงใกล้กับจุดวางท่อข้ามทะเลสาบ ตั้งแต่ช่วงเดือนเมษายน 2016 ต่อเนื่องจนถึงเดือนกันยายน 2017 โดยกิจกรรมการชุมนุม มีทั้งการสวดมนต์ และการให้กลุ่มเยาวชนจากชนเผ่าวิ่งผลัดระยะทาง 804 กิโลเมตรเพื่อส่งจดหมายต่อต้านไปยังรัฐบาลสหรัฐฯ นอกจากนี้ทางชนเผ่ายังได้ยื่นฟ้องเพื่อขัดขวางการอนุมัติโครงการวางท่อส่งน้ำมันดังกล่าวด้วย

 

การประท้วงของชนเผ่าซูแห่งสแตนดิงร็อก กลายเป็นการเคลื่อนไหวที่เป็นที่รู้จักไปทั่วโลกในเวลาไม่นาน ตัวแทนจากชุมชนพื้นเมืองอื่นๆ ตลอดจนนักเคลื่อนไหว และองค์กรภาคประชาสังคมหลายหมื่นคนได้เดินทางไปยังสแตนดิงร็อก และมีผู้คนจากทั่วโลกเข้าร่วมแคมเปญออนไลน์เพื่อเรียกร้องให้ยับยั้งโครงการวางท่อส่งน้ำมัน

 

การประท้วงส่วนใหญ่นั้นไม่มีความรุนแรง แต่ก็มีช่วงที่เกิดเหตุการณ์ตึงเครียดขึ้น โดยมีรายงานกลุ่มบุคคลบุกเข้าไปทำลายหรือสร้างความเสียหายให้กับอุปกรณ์ก่อสร้างและโครงสร้างพื้นฐานของท่อส่งน้ำมันบางส่วน

 

ขณะที่ตำรวจและเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยที่ Energy Transfer จ้างมา ตอบสนองการประท้วงด้วยการจับกุมผู้ชุมนุมจำนวนมาก มีการสลายการประท้วง ด้วยการใช้สุนัข สเปรย์พริกไทย หรือแม้แต่ใช้เครื่องฉีดน้ำใส่ผู้ชุมนุมในสภาพอากาศที่หนาวเย็นจัด ซึ่งส่งผลให้ถูกวิจารณ์ว่าเป็นการใช้กำลังเกินกว่าเหตุ

 

อย่างไรก็ตาม ในท้ายที่สุด โครงการก็สามารถเดินหน้าต่อไปได้ และเปิดใช้งานท่อส่งน้ำมันในเดือนสิงหาคม 2017 ซึ่งไม่นานหลังจากนั้น ทาง Energy Transfer ได้ยื่นฟ้อง Greenpeace USA และ Greenpeace International ต่อศาลรัฐบาลกลาง โดยอ้างว่า Greenpeace เป็นผู้อยู่เบื้องหลังการประท้วง และเรียกค่าเสียหาย 300 ล้านดอลลาร์

 

ข้อโต้แย้งหลักของ Energy Transfer ในการฟ้องร้อง คือ Greenpeace ไม่ใช่ชนเผ่าพื้นเมือง หรือไม่ใช่ชนพื้นเมืองผู้พิทักษ์สายน้ำ แต่เป็นองค์กรที่อยู่เบื้องหลังการประท้วง และชี้ว่าชนเผ่าซูแห่งสแตนดิงร็อกที่ออกมาชุมนุมนั้น เป็นกลุ่มคนยากไร้ที่ถูก ‘แสวงหาผลประโยชน์’ จากกลุ่มบุคคลภายนอก 

 

คดีนี้สร้างความประหลาดใจให้กับหลายคนที่ติดตามสถานการณ์ เนื่องจาก Greenpeace เป็นหนึ่งในหลายร้อยองค์กรที่สนับสนุนการประท้วง อีกทั้งไม่ได้มีบทบาทที่โดดเด่นหรือเป็นผู้นำการประท้วง 

 

ในเดือนกุมภาพันธ์ 2019 ศาลรัฐบาลกลางสหรัฐฯ มีคำพิพากษายกฟ้อง แต่ทาง Energy Transfer ยื่นฟ้องคดีใหม่ต่อศาลในรัฐนอร์ทดาโกตาทันที โดยระบุในคำฟ้องว่า กลุ่มคนที่ออกมาประท้วงนับพันคนไม่ได้ออกมาประท้วงเพราะเห็นด้วยกับจุดยืนในการรณรงค์ แต่ถูก ‘ปลุกปั่น’ ผ่านการเผยแพร่ข้อมูลที่ไม่ถูกต้อง

 

ขณะที่ Greenpeace ชี้แจงว่า หลังจากมีการจัดตั้งแคมป์ประท้วง ทาง Greenpeace ได้รับคำร้องขอจากชุมชนของชนเผ่าพื้นเมือง เพื่อช่วยในการฝึกอบรมนักกิจกรรมของกลุ่มชนเผ่าพื้นเมืองเกี่ยวกับการรณรงค์อย่างสันติวิธี ซึ่งทาง Greenpeace USA ตอบรับคำขอด้วยการติดต่อกลุ่มที่ทำงานด้านการรณรงค์สิทธิชนเผ่าพื้นเมือง (Indigenous Peoples Power Project: IP3) เพื่อเข้าไปเสริมทักษะและให้ความรู้ในการรณรงค์อย่างสันติ และเพื่อเสริมสร้างศักยภาพให้ชนเผ่าพื้นเมืองรู้จักสิทธิมนุษยชน เพื่อการส่งเสริมความรู้ในการสื่อสารเรียกร้องความเป็นธรรม โดยที่ Greenpeace ไม่ได้ชี้นำให้เกิดการประท้วงในเขตสงวนสแตนดิงร็อกโดยตรง

 

หวั่นสายสัมพันธ์ทรัมป์กระทบคดี

 

หนึ่งในสิ่งที่ Greenpeace มีความกังวลต่อผลการตัดสินคดี คืออิทธิพลของ Energy Transfer และสายสัมพันธ์ที่มีต่อ โดนัลด์ ทรัมป์ ตั้งแต่ดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีสมัยแรก

 

โดยเอกสารเปิดเผยข้อมูลการเงินของทรัมป์ แสดงให้เห็นว่าเขาเคยถือในหุ้นบริษัท Energy Transfer Partners และบริษัท Phillips 66 ที่มีหุ้น 25% ในโครงการท่อส่งน้ำมัน Dakota Access 

 

นอกจากนี้ซีอีโอของบริษัทคือ เคลซี วอร์เรน (Kelcy Warren) ยังเป็นหนึ่งในผู้สนับสนุนที่บริจาคเงินกว่า 1 แสนดอลลาร์ในแคมเปญหาเสียงเลือกตั้งของทรัมป์ 

 

ขณะที่ทรัมป์ มีจุดยืนชัดเจนมาตลอดในการคัดค้านข้อจำกัดต่างๆ ในการพัฒนาอุตสาหกรรมเชื้อเพลิงฟอสซิล 

 

โดยในช่วงต้นของการเข้าดำรงตำแหน่งในสมัยแรก เขาเป็นผู้ลงนามอนุมัติการก่อสร้างท่อส่งน้ำมัน Dakota Access ก่อนที่การก่อสร้างจะแล้วเสร็จและเปิดใช้งานในเดือนมิถุนายน 2017

 

ฟ้องปิดปาก มุ่งเป้า Greenpeace

 

สำหรับการต่อสู้คดีที่ผ่านมาดำเนินไปอย่างล่าช้า ก่อนจะมีการพิจารณาคดีในวันนี้ หลังจากผ่านมา 6 ปี 

 

คดีนี้กลายเป็นตัวอย่างที่เห็นได้ชัด ของการฟ้องร้องเชิงกลยุทธ์ต่อต้านการมีส่วนร่วมของสาธารณะ (Strategic Lawsuit Against Public Participation: SLAPP) หรือที่เรียกว่าการฟ้องปิดปาก ซึ่งเป็นกรณีที่บริษัทหรือบุคคลที่มีอำนาจ ใช้ประโยชน์จากต้นทุนที่สูง ตลอดจนขั้นตอนการดำเนินคดีที่มีความล่าช้า และก่อให้เกิดความเครียดทางจิตใจ เพื่อปิดปากผู้ที่ออกมาวิพากษ์วิจารณ์หรือต่อต้าน

 

เคิร์ก เฮอร์เบิร์ตสัน ทนายความในนิวยอร์กและผู้อำนวยการฝ่ายสนับสนุนและรณรงค์ของ EarthRights International ประจำสหรัฐฯ มองว่าคดีที่เกิดขึ้น เป็นอีกตัวอย่างของ “การนำระบบกฎหมายมาใช้เป็นอาวุธโดยคนร่ำรวยและมีอำนาจ เพื่อปิดปากผู้วิพากษ์วิจารณ์ ด้วยการลากพวกเขาเข้าสู่กระบวนการพิจารณาคดีที่ยาวนาน ตึงเครียด และมีค่าใช้จ่ายสูง ซึ่งการชนะคดีแทบจะไม่มีความสำคัญเลย”

 

เขามองว่า การประท้วงที่เกิดขึ้นไม่ใช่กิจกรรมของ Greenpeace USA ซึ่งไม่ได้มีการควบคุมว่าผู้คนที่มาร่วมชุมนุมจะทำอะไร และไม่มีอะไรในเอกสารที่ยื่นต่อศาล ที่แสดงให้เห็นว่า Energy Transfer ได้รับความเสียหายจริงๆ เนื่องมาจากการกระทำของกรีนพีซ

 

“คดีนี้ให้ความรู้สึกเหมือนการล่าถ้วยรางวัลและความพยายามปิดกั้นเสรีภาพในการพูด มากกว่าความพยายามโดยสุจริตใจในการหาทางแก้ไขความเสียหาย”

 

ทั้งนี้ กลุ่มบุคคลมากกว่า 330,000 คนและองค์กรมากกว่า 430 แห่ง รวมถึง Amnesty International สหพันธ์ครูอเมริกัน (American Federation of Teachers) และเครือข่ายสิ่งแวดล้อมชนพื้นเมือง (Indigenous Environmental Network) ได้ลงนามในจดหมายเปิดผนึกเพื่อประณามคดีนี้ ว่าไม่มีมูลความจริง และเป็นความพยายามที่จะเขียนประวัติศาสตร์ใหม่ โดยอ้างว่า Greenpeace เป็นผู้อยู่เบื้องหลังการเคลื่อนไหวที่นำโดยชนพื้นเมือง

 

ขณะที่ธารา บัวคำศรี ผู้อำนวยการ กรีนพีซ ประเทศไทย (Greenpeace Thailand) ให้ความเห็นต่อการฟ้องคดีดังกล่าวว่า สิ่งที่เกิดขึ้นเป็นการต่อสู้ระหว่างอุตสาหกรรมฟอสซิลที่มีอิทธิพล กับภาคประชาชนที่พยายามต่อสู้เพื่อเรียกร้องสิ่งแวดล้อมที่ดี

 

“ที่ Energy Transfer พยายามจ้องเล่นงาน Greenpeace แทนที่จะไปฟ้องร้องกลุ่มอินเดียนแดงเผ่าซูแห่งสแตนดิงร็อก หรือกลุ่ม NGO อื่นๆ จะทำให้เห็นว่า หากคดีนี้ Energy Transfer ชนะ ก็จะเท่ากับเป็นความพ่ายแพ้ของกระบวนการเคลื่อนไหวด้านสิ่งแวดล้อมในสหรัฐฯ และเป็นความพ่ายแพ้ของเสรีภาพในการแสดงออก อีกทั้งยังเป็นความพ่ายแพ้ของผู้ที่จะลุกขึ้นมาปกป้องบ้านของตัวเองจากภัยคุกคามที่มาจากภาคอุตสาหกรรม ที่มีอิทธิพลทั้งในทางเศรษฐกิจและการเมือง” ธารากล่าว

 

Greenpeace ทั่วโลกกระทบ แต่ไม่หยุดสู้

 

ธารา เผยว่าสิ่งที่จะตามมา หาก Greenpeace พ่ายแพ้ในคดีนี้ คืองบประมาณของเครือข่าย Greenpeace ทั่วโลกที่จะลดลงอย่างมาก โดยเงินสำรองที่เก็บเอาไว้ดำเนินงาน อาจจะต้องหมดลงและทำให้การปฏิบัติงานด้านสิ่งแวดล้อมของ Greenpeace ต้องลดขนาดลง แม้จะไม่ถึงกับล้มละลาย 

 

อย่างไรก็ตาม เขามองว่าแม้ Energy Transfer จะชนะ ก็ไม่ได้หมายความว่า Greenpeace จะไม่สามารถดำเนินงานต่อไปได้ โดยเขายืนยันว่า Greenpeace จำเป็นต้องยืนหยัดต่อสู้กับการฟ้องปิดปาก

 

ขณะที่ Greenpeace เองก็ต่อสู้กลับด้วยการใช้ประโยชน์จากกฎหมายใหม่ของสหภาพยุโรป คือกฎหมายต่อต้านการฟ้องปิดปาก (Anti-SLAPP Directive) โดย Greenpeace International ได้ยื่นฟ้องต่อศาลในเนเธอร์แลนด์เพื่อเรียกร้องค่าเสียหายและค่าใช้จ่ายทั้งหมดที่เกิดขึ้นจากการฟ้องร้องต่อเนื่องกันของ Energy Transfer 

 

“เราพยายามที่จะใช้กลไกที่มีอยู่ เพื่อที่จะยืนหยัดให้เรามีเสรีภาพในการแสดงออก ทั้งในเรื่องของความคิดเห็น และสิทธิในการเรียกร้องที่ไม่ได้ก่อความเดือดร้อนหรือผลกระทบให้ใคร ซึ่งเป็นสิทธิที่กำหนดไว้ในปฏิญญาสากลว่าด้วยเรื่องสิทธิมนุษยชนขององค์การสหประชาชาติ” ธารากล่าว

 

อย่างไรก็ตาม ทางด้าน Energy Transfer เผยแพร่แถลงการณ์ในเว็บไซต์ของบริษัทเมื่อเดือนกรกฎาคม 2024 ระบุว่า การยื่นฟ้องของ Greenpeace International ต่อศาลในเนเธอร์แลนด์นั้นไม่มีมูลความจริง เนื่องจากเหตุผลหลัก 2 ประการ คือ

 

  1. คดีฟ้องร้องที่เกิดขึ้นในสหรัฐฯ ไม่ใช่คดี SLAPP แต่เป็นความพยายามที่สมเหตุสมผลในการให้ Greenpeace รับผิดชอบต่อการหมิ่นประมาท การก่อกวน และการทำลายทรัพย์สินของ Energy Transfer 

 

  1. กฎหมายที่มีอยู่ของเนเธอร์แลนด์หรือยุโรป ไม่สามารถส่งผลให้ Energy Transfer ซึ่งเป็นบริษัทในสหรัฐฯ ต้องรับผิดในรูปแบบใดๆ ทั้งสิ้น

 

ภาพ: Greenpeace

อ้างอิง:

 

 
  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising