วานนี้ (23 กุมภาพันธ์) เรืองไกร ลีกิจวัฒนะ เปิดเผยว่า ได้ส่งหนังสือทางไปรษณีย์ เพื่อขอให้สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เร่งตรวจสอบบัญชีทรัพย์สินอื่นของ แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ว่ามีการแจ้งรายการรองเท้าไว้โดยถูกต้องครบถ้วนตามความในพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561 ตามมาตรา 105 วรรคหนึ่ง ประกอบมาตรา 114 วรรคหนึ่ง หรือไม่
และขอให้ ป.ป.ช. ร้องต่อศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองพิจารณาพิพากษาว่า จะเพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้งตลอดไปของ นายกฯ หรือไม่ ดังต่อไปนี้
ข้อ 1. นายกฯ ยื่นบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สิน กรณีเข้ารับตำแหน่งเมื่อวันที่ 6 กันยายน 2567 โดย ป.ป.ช. รับไว้เลขที่ 307 เมื่อวันที่ 6 ธันวาคม 2567 ดังความควรแจ้งแล้วนั้น
ข้อ 2. จากการตรวจสอบข้อมูลบัญชีทรัพย์สินอื่นของนายกฯ ในเว็บไซต์ ป.ป.ช. พบรายละเอียดประกอบรายการทรัพย์สินอื่นในส่วนของนายกฯ รวม 9 รายการ มูลค่า 415,639,500 บาท (โดยแสดงเป็นยอดรวมและไม่มีการแจ้งวัน เดือน ปี ที่ได้มา) ดังต่อไปนี้
ลำดับที่ 1 ทองคำแท่ง รวม 75 บาท มูลค่า 3,000,000 บาท
ลำดับที่ 2 นาฬิกา รวม 75 เรือน มูลค่า 162,000,000 บาท
ลำดับที่ 4 ของสะสม (ตุ๊กตา BE@RBRICK) รวม 9 ตัว มูลค่า 1,900,000 บาท
ลำดับที่ 5 กระเป๋า รวม 217 ใบ มูลค่า 76,650,000 บาท
ลำดับที่ 6 แหวน รวม 108 วง มูลค่า 31,773,900 บาท
ลำดับที่ 7 เครื่องประดับกำไลข้อมือ รวม 69 เส้น มูลค่า 28,559,700 บาท
ลำดับที่ 8 เครื่องประดับกำไลสร้อยคอ รวม 67 เส้น มูลค่า 35,675,400 บาท
ลำดับที่ 9 ต่างหู รวม 205 คู่ มูลค่า 49,330,500 บาท
ลำดับที่ 11 เครื่องแต่งกาย รวม 167 ชุด มูลค่า 26,750,000 บาท
ข้อ 3. นายกฯ ยังได้แจ้งรายละเอียดประกอบรายการทรัพย์สินอื่นในส่วนของคู่สมรส รวม 2 รายการ มูลค่า 69,300,000 บาท (โดยแสดงเป็นยอดรวมและไม่มีการแจ้งวัน เดือน ปี ที่ได้มา) ดังต่อไปนี้
ลำดับที่ 3 นาฬิกา รวม 39 เรือน มูลค่า 69,000,000 บาท
ลำดับที่ 12 แหวน รวม 2 วง มูลค่า 300,000 บาท
ข้อ 4. ข้อสังเกต รายละเอียดประกอบรายการทรัพย์สินอื่นไม่มีการแจ้งรายการลำดับที่ 10 ไว้แต่อย่างใด กรณีจะเข้าข่ายปกปิดหรือไม่
ข้อ 5. อีกทั้งไม่ปรากฏว่ามีการแจ้งรายการรองเท้าไว้ (ทั้งที่ปรากฏเป็นข่าวทั่วไปเกี่ยวกับรองเท้ามาแล้วหลายคู่) กรณีนี้จึงมีเหตุอันควรขอให้ ป.ป.ช. ตรวจสอบว่า การไม่แจ้งรายการรองเท้าและมูลค่า รวมทั้งวัน เดือน ปี ที่ได้มานั้น จะเข้าข่ายฝ่าฝืนมาตรา 105 และ 114 หรือไม่
ข้อ 6. จากการสุ่มตรวจรายการรองเท้าของนายกฯ ใน Google พบตัวอย่างข่าวที่มีภาพรองเท้าซึ่งมีราคาสูงจำนวน 4 คู่ ซึ่งรองเท้าดังกล่าวควรนำไปแจ้งรวมไว้ในรายการทรัพย์สินอื่นด้วย หากไม่แจ้ง ป.ป.ช. ก็ควรร้องต่อศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง เพื่อวินิจฉัยว่า นายกฯ ควรถูกเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งตลอดไปตามแนวคำพิพากษา คดีหมายเลขแดงที่ อม.40/2567 หรือไม่
ข้อ 7. ตามคำพิพากษาของศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง คดีหมายเลขแดงที่ อม.40/2567 วันที่ 18 ธันวาคม 2567 ที่แนบมาด้วย เป็นกรณีที่ ป.ป.ช. เป็นผู้ร้องต่อศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองว่า ผู้ถูกร้อง (รองนายก อบจ. รายหนึ่ง ขอสงวนนาม) ไม่แจ้งรายการทรัพย์สินและหนี้สินหลายรายการ รวมทั้งแหวน 1 วง โดยศาลมีคำพิพากษาส่วนหนึ่งในหน้า 4 ว่า “…ให้เพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้งของผู้ถูกกล่าวหาตลอดไป…”
ข้อ 8. ดังนั้น ป.ป.ช. ควรถือเอากรณีรองนายก อบจ. ในคดีหมายเลขแดงที่ อม.40/2567 มาเป็นบรรทัดฐานอย่างเดียวกัน เพื่อนำไปตรวจสอบว่านายกฯ มีรองเท้าทั้งหมดกี่คู่ แต่ละคู่ราคาเท่าไร ได้มาวันที่เท่าไร มีใบเสร็จค่าซื้อรองเท้าหรือไม่ และแจ้งรองเท้าทุกคู่ที่มีราคาแพงไว้ในรายการทรัพย์สินอื่นหรือไม่
ข้อ 9. หากตรวจสอบแล้วพบว่านายกฯ มีรองเท้าหลายคู่ มีราคารวมมูลค่าสูง แจ้งวันที่ได้มา และมีหลักฐานการได้มาถูกต้อง แต่กลับไม่ได้แจ้งรายการรองเท้าต่างๆ ไว้ในรายละเอียดประกอบรายการทรัพย์สินอื่นด้วย ป.ป.ช. จะส่งให้ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองพิจารณาพิพากษาเพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้งตลอดไปของนายกฯ หรือไม่