‘กูเกิล’ บริษัทเสิร์ชเอนจินชื่อดังถูกระวางโทษปรับเป็นจำนวนเงิน 2.42 พันล้านยูโร หรือประมาณ 9.2 หมื่นล้านบาท หลังจากสหภาพยุโรป (EU) ได้ฟ้องร้องข้อหาละเมิดกฎหมายต่อต้านการผูกขาดจากบริการการค้นหาสินค้า
การเรียกค่าปรับในครั้งนี้เกิดขึ้นหลังอียูเข้าตรวจสอบบริการค้นหาสินค้าและเปรียบเทียบราคาของ ‘Google’s Shopping’ มาเป็นระยะเวลากว่า 7 ปี ก่อนที่จะสรุปว่ากูเกิลได้กระทำผิดกฎหมายโทษฐานการถือครองบริการขายสินค้าออนไลน์ (ควบคู่กับการเป็นเสิร์จเอนจิน) ซึ่งเป็นการกระทำที่ละเมิดต่อกฎหมายป้องกันการผูกขาดสินค้าของสหภาพยุโรป (Anti-Trust Law)
โดยแบ่งการกระทำความผิดหลักๆ ออกเป็น 2 ข้อดังนี้
1. กูเกิลเอื้อประโยชน์ให้บริการค้นหาข้อมูลช้อปป้ิงออนไลน์สินค้าของตัวเองโดดเด่นเหนือบริการค้นหาข้อมูลช้อปปิ้งเจ้าอื่นๆ
เมื่อผู้บริโภคต้องการค้นหาข้อมูลสินค้าบนเสิร์ชเอนจินของกูเกิล ระบบจะแสดงผลข้อมูลจากบริการ ‘Google’s Comparison Shopping’ ขึ้นมาแทบจะเป็นอันดับต้นๆ เสมอ
2. กูเกิลปรับลดอันดับการแสดงผลข้อมูลการค้นหาบริการช้อปปิ้งออนไลน์ของคู่แข่ง
โดยปกติแล้ว การแสดงผลการค้นหาผู้ให้บริการเปรียบเทียบราคาสินค้าและช้อปปิ้งออนไลน์เจ้าอื่นๆ ในเสิร์ชเอนจินกูเกิลจะปรากฏตามอัลกอริทึมการใช้งาน อย่างไรก็ตามมีหลักฐานที่บ่งชี้ว่ากูเกิลได้ปรับระบบอัลกอริทึมให้แสดงผลบริการช้อปปิ้งออนไลน์ของพวกเขาขึ้นมาเป็นอันดับแรกๆ เสมอ ขณะที่ผู้ให้บริการช้อปปิ้งคู่แข่งที่แม้จะได้รับความนิยมสูงแต่กลับถูกปรับลดการแสดงผลให้ไปอยู่ที่หน้าเสิร์ชเอนจินในลำดับที่ 4 เป็นต้นไป
ทั้งนี้หน่วยงานที่มีอำนาจหน้าที่กำกับในยุโรปได้ให้ระยะเวลากูเกิลเป็นเวลา 90 วัน เพื่อหยุดทุกๆ การกระทำที่ผิดกฎหมาย หรือถ้าหากพ้น 90 วันแล้วยังไม่มีการปรับอัลกอริทึม พวกเขาจะต้องถูกปรับเป็นจำนวนเงินมากกว่าร้อยละ 5 ของผลประกอบการต่อวันของบริษัทแม่ Alphabet
อ้างอิง: