วันนี้ (12 กุมภาพันธ์) ที่พรรคภูมิใจไทย (ภท.) อนุทิน ชาญวีรกูล หัวหน้าพรรคภูมิใจไทย ได้ให้สัมภาษณ์กับผู้สื่อข่าวหลังจากมีการประชุมสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรพรรคภูมิใจไทย ถึงการประชุมร่วมรัฐสภาเพื่อพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย แก้ไขมาตรา 256 และเพิ่มหมวด 15/1 เพื่อเปิดทางให้มีการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ในวันที่ 13-14 กุมภาพันธ์นี้ ว่า พรรคภูมิใจไทย มีมติไม่ร่วมพิจารณาเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญ 2560 ในวันที่ 13-14 กุมภาพันธ์นี้ พิจารณาแล้วเห็นว่า การที่บรรจุวาระเข้ามายังมีความขัดแย้งกับคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญปี 2564 ซึ่งระบุว่า ต้องมีการถามประชามติจากพี่น้องประชาชนก่อน
เมื่อการพิจารณาวาระการแก้ไขรัฐธรรมนูญที่จะเกิดขึ้น ขั้นตอนการทำประชามติยังไม่ได้รับการปฏิบัติพรรคภูมิใจไทยเห็นว่ามีความสุ่มเสี่ยง พรรคไม่สามารถที่จะไปรับความเสี่ยงนั้นได้ เพราะเรามี สส. ซึ่งพี่น้องประชาชนได้เลือกให้เราเข้ามาทำงาน ถึง 71 คน เราก็ต้องทำงาน จะไปรับความเสี่ยงโดยที่มีคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญออกมาเกี่ยวกับเรื่องนี้อย่างชัดเจนแล้วไม่ได้
อนุทิน กล่าวอีกว่า เราต้องไปร่วมประชุม เนื่องจากการประชุมมีหลายวาระเราจะไปเซ็นชื่อว่า เรามาประชุม แต่จะไม่มีการร่วมการพิจารณาเรื่องดังกล่าว และคงจะเรียนต่อประธานรัฐสภาหรือผู้ที่ทำหน้าที่ให้รับทราบถึงแนวทางการปฏิบัติของพรรคภูมิใจไทยเมื่อเข้าสู่การพิจารณาวาระดังกล่าว
เมื่อผู้สื่อข่าวถามว่า ได้มีการคุยกับแกนนำพรรคร่วมรัฐบาลในเรื่องนี้แล้วหรือไม่ อนุทิน กล่าวว่า เราไม่ได้คุยกับพรรคแกนนำ เพราะเรื่องนี้เป็นการนำเสนอของพรรคการเมืองแต่ละพรรค ไม่ได้เป็นเรื่องที่ผ่านคณะรัฐมนตรี (ครม.) ไม่มีมติพรรคร่วม ไม่มีการหารือในพรรคร่วมรัฐบาล แต่เป็นเอกสิทธิ์ของแต่ละพรรคเกี่ยวกับการเสนอกฎหมายต่างๆ ซึ่งเป็นเรื่องของรัฐสภาล้วนๆ ไม่เกี่ยวข้องกับรัฐบาล
เมื่อถามว่า เป็นห่วงว่า พรรคภูมิใจไทยจะเป็นแพะรับบาปขวางการแก้ไขรัฐธรรมนูญหรือไม่ อนุทิน กล่าวว่า ไม่ เราไม่ได้ขวางรัฐธรรมนูญ แต่เราต้องการแก้รัฐธรรมนูญ โดยที่ถูกต้องตามบทบัญญัติ เราไม่ต้องการทำผิดกฎหมาย ยิ่งเป็นพรรคการเมืองเราทำผิดกฎหมายไม่ได้ ซึ่งพรรคการเมืองแต่ละพรรคก็มีทีมกฎหมาย มีที่ปรึกษากฎหมาย และมีบุคคลที่เราหารือข้อกฎหมายจำนวนมาก
ในส่วนของพรรคภูมิใจไทยทุกคนให้ความเห็นตรงกันว่า เสี่ยงไม่ได้ เพราะมีความขัดแย้งต่อคำพิพากษาศาลรัฐธรรมนูญอย่างชัดเจน ซึ่ง สส.ทุกคนเห็นด้วย เราได้ให้ สส.ทุกคนได้ออกความเห็น สส.บางท่านได้ออกความเห็นแม้กระทั่งไม่ควรไปเซ็นชื่อร่วมประชุมด้วยซ้ำ แต่ตนบอกว่า ไม่ได้เพราะต้องไปทำงาน เราต้องไปเซ็นชื่อต้องไปประชุม
ส่วนจะมี สส. สว. คิดแบบภูมิใจไทยหรือไม่ อนุทินกล่าวว่า ตนไม่ทราบ เพราะนี่คือแนวทางของพรรคภูมิใจไทยพรรคเดียว เราไม่ต้องการบอกให้ใครทำ เราไม่ได้สนใจว่า เราจะเป็นแพะหรือเป็นอะไร แต่เรามั่นใจว่าตรงนี้เราทำในสิ่งที่ถูกต้อง ยืนยันว่า ไม่ใช่ไม่แก้รัฐธรรมนูญ เรื่องนี้ต้องแก้ไข ตามขั้นตอนหรือตามแนวทางที่กฎหมายระบุกำหนดไว้
เมื่อผู้สื่อข่าวถามว่า 1 ใน 2 ร่างเป็นร่างของพรรคเพื่อไทย กลัวว่าจะมีปัญหากับพรรคเพื่อไทยหรือไม่ อนุทิน ย้ำว่า เรื่องนี้ต้องแยกระหว่างฝ่ายบริหารกับฝ่ายนิติบัญญัติ ซึ่งเรื่องนี้เป็นเรื่องฝ่ายนิติบัญญัติล้วนๆ เป็นเรื่องของแต่ละพรรคที่มีแนวทางของตัวเอง พรรคภูมิใจไทยเคยเสนอกฎหมายกัญชาเข้าไป เขาก็ไม่เห็นด้วย เราก็ไม่ได้โวยวายอะไร เราก็รับสภาพ
อนุทิน กล่าวด้วยว่า ตนได้แจ้งเรื่องนี้ไปยังนายกรัฐมนตรีแล้ว และแจ้งให้ชูศักดิ์ ศิรินิล รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี และภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม รับทราบแนวทางของพรรคภูมิใจไทยว่าแนวทางของเราเป็นแบบนี้ ซึ่งชูศักดิ์ บอกว่าให้ดูหน้างาน
เมื่อผู้สื่อข่าวถามว่า พรรคภูมิใจไทย จะเป็นหัวหอกในการไปยื่นให้ศาลวินิจฉัยหรือไม่ อนุทิน กล่าวว่า ไม่ เรื่องนี้เป็นเรื่องที่ สส.ทุกคนต้องรักษาอนาคตของตัวเองด้วย เพราะว่าเขาต้องทำงานในพื้นที่ ต้องทำงานการเมืองในฐานะสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร และขอย้ำว่าไม่เกี่ยวข้องใดๆ กับความเป็นพรรคร่วมรัฐบาล ตอนที่เสนอญัตตินี้เขาก็ไม่ได้มาถามเราว่าจะเห็นชอบด้วยหรือเห็นต่าง
ภูมิธรรมชี้ ไม่ร่วมแก้ รธน. เป็นสิทธิของภูมิใจไทย
ขณะที่ ภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม กล่าวถึงกรณีที่พรรคภูมิใจไทยระบุว่า จะเข้าร่วมประชุมสภาผู้แทนราษฎรแต่ไม่ร่วมโหวตแก้ไขรัฐธรรมนูญ โดยอ้างว่าสุ่มเสี่ยงต่อการผิดกฎหมายเนื่องจากยังไม่มีการทำประชามตินั้น ว่า ก็เป็นสิทธิของพรรคภูมิใจไทย เพราะว่าจะเรื่องเข้าประชุมรัฐธรรมนูญหรือไม่ ก็เป็นเอกสิทธิ์ของสส.แต่ละคนอยู่แล้ว เขาตัดสินใจอย่างไรก็รับผิดชอบอย่างนั้นไป สำหรับกฎหมายนี้สำหรับต้องถือว่ากฎหมายพรรคการเมืองไม่ใช่กฎหมายรัฐบาล และการแก้ปัญหาเชื่อว่าการให้พรรคการเมืองไปตัดสินใจน่าจะเป็นสิ่งที่ดีที่สุด
ทั้งนี้ตนได้ถามท่านหัวหน้าพรรคต่างๆ ทุกคนก็พร้อมประชุมร่วมและพิจารณาร่วมกันตามที่เราไว้เป็นแนวทางก็คือให้เรื่องนี้ไปสู่ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยให้ทุกคนสบายใจกับกฎหมายที่จะออกมา ตนคิดว่าเรื่องนี้ไม่มีอะไรที่น่ากังวลใจ การเปิดประชุมโดยมีญัตติเข้ามา แล้วก็ให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณา เราสามารถเสนอได้ ถ้าที่ประชุมเห็นด้วยก็ให้ศาลพิจารณาก็คงเป็นไปแบบนั้น เพราะเราตกลงกันแล้วว่าจะไปแบบนี้
“คิดว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องที่ชัดเจน เหมาะสม ถูกต้อง ตามกระบวนการที่จะให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณา ทุกคนจะได้สบายใจ ว่ามีคือการตัดสินใจแล้ว” ภูมิธรรม กล่าว
ทั้งนี้ได้คุยกับอนุทิน ชาญวีรกูล หัวหน้าพรรคภูมิใจไทย ต่อเนื่องมาโดยตลอดและทราบว่าเขาคิดอะไร และได้พูดไปแล้วว่าเราถือเป็นเอกสิทธิ์ของแต่ละพรรค ไม่ได้ถือเป็นอะไรต่อกัน แต่ละคนตัดสินใจอย่างไรก็เป็นเรื่องของพรรคนั้น
ภูมิธรรม กล่าวอีกว่า พรรครวมไทยสร้างชาติ พรรคชาติไทยพัฒนา ทุกคนเห็นด้วยตามแนวทางนี้ ส่วนพรรคประชาธิปัตย์กำลังพิจารณาอยู่ คิดว่าเรื่องแบบนี้คงไม่มีปัญหาอะไร แต่ขอคุยกับ สส.ก่อน