วันนี้ (7 กุมภาพันธ์) มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ประกาศตนเป็น ‘AI University’ บูรณาการ AI เข้ากับทุกมิติของมหาวิทยาลัย ทั้งการเรียนการสอน การวิจัย และการบริการวิชาการ โดยร่วมกับบริษัท อะเมซอน เว็บ เซอร์วิสเซส (ประเทศไทย) จำกัด (AWS) พัฒนา ‘Matthew’ ปัญญาประดิษฐ์ด้านการศึกษา ก้าวสำคัญของวงการการศึกษาไทย ยกระดับการเรียนรู้ให้แก่ผู้เรียนในยุคที่เทคโนโลยีเป็นเครื่องมือสำคัญ
แพลตฟอร์มนี้มุ่งเน้นการให้บริการแก่อาจารย์และนักศึกษา เพื่อส่งเสริมการใช้เทคโนโลยี AI ในการพัฒนาการจัดการเรียนรู้ การสร้าง Intelligent Chatbot สำหรับนักศึกษา รวมถึงการสอนนักศึกษาถึงวิธีการการใช้งานเทคโนโลยี AI อย่างมีประสิทธิภาพภายใต้กรอบจริยธรรม ที่พัฒนาโดยกลุ่ม AI Special Interest Group ภายในมหาวิทยาลัยเชียงใหม่
นำร่องระบบตั้งแต่เดือนกันยายน 2567 โดยมีอาจารย์กว่า 100 คน และนักศึกษามากกว่า 4,000 คน เข้าร่วมทดลองใช้งานแพลตฟอร์ม เพื่อประเมินประสิทธิภาพและให้ข้อมูลกับทีมงานในการปรับปรุงการใช้งาน
จากผลตอบรับที่ดี มหาวิทยาลัยวางแผนเปิดตัว ‘Matthew’ ให้กับอาจารย์ทุกคนในเดือนกุมภาพันธ์ 2568 และขยายผลไปยังนักศึกษาทุกคนในภาคการศึกษาที่ 1 ปีการศึกษา 2568 เพื่อให้นักศึกษาและอาจารย์ทุกคนสามารถเข้าถึงและใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยี AI ได้อย่างเต็มที่
แพลตฟอร์ม ‘Matthew’ ใช้งานโมเดลภาษาขนาดใหญ่ที่ชื่อว่า GPT-4o ที่มีฟีเจอร์เพื่อการเรียนรู้แห่งอนาคต มีการใช้งานเนื้อหาแบบต้นฉบับคล้าย ChatGPT อาทิ สร้าง Chatbot เฉพาะเรื่อง เช่น การสอน กระบวนวิชา ใส่หนังสือหรือบทเรียนลงไป และจำกัดให้บอตตอบเฉพาะเรื่องนั้น ทำให้นักศึกษาใช้งานอยู่ภายใต้ขอบเขตที่เหมาะสม โดยอาจารย์สามารถกำหนดรายชื่อนักศึกษาที่เข้าใช้งานได้ พร้อม Manage และปรับแต่งการใช้งานของ Chatbot ที่สร้างได้ตามความต้องการ
นอกจากนี้ ยังสามารถวิเคราะห์รูปภาพ และสร้างภาพจาก DALL-E 3 ค้นหาข้อมูลวิชาการผ่าน Semantic Scholar รวมถึงติดตามและวิเคราะห์พฤติกรรมการใช้งานของนักศึกษาได้ ซึ่งข้อมูลทั้งหมดอยู่ภายใต้การดูแลของมหาวิทยาลัยเชียงใหม่