สรุปไฮไลต์! ธนินท์ เจียรวนนท์ เจ้าสัวเครือ CP มั่นใจอนาคตเศรษฐกิจไทยสดใส ก่อนฝากโจทย์ถึงรัฐบาล ตั้งงบพัฒนาการท่องเที่ยว เกษตร และบุคลากร พร้อมโต้เสียงวิจารณ์ ยันไม่ได้ผูกขาด ชี้การทำธุรกิจตั้งแต่ต้นน้ำไปจนถึงปลายน้ำคือทางรอด
เมื่อวันที่ 3 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยจัดงาน ‘Chula Thailand Presidents Summit 2025’ เปิดวิสัยทัศน์ผู้นำองค์กรชั้นนำสู่อนาคตประเทศไทย โดยภายในงานมีนักธุรกิจรายใหญ่เข้าร่วมอย่างคับคั่ง
หนึ่งในนั้นมี ‘ธนินท์ เจียรวนนท์’ ประธานอาวุโส เครือเจริญโภคภัณฑ์ มาร่วมฉายภาพถึงธุรกิจในอนาคต โดยเริ่มต้นพูดถึงเรื่องที่เกี่ยวกับ AI, ไฟฟ้า, หุ่นยนต์, รถไฟฟ้า และไฟฟ้านิวเคลียร์ จะเป็นธุรกิจในอนาคต
ข่าวที่เกี่ยวข้อง:
และหากสังเกตจะเห็นว่าประเทศอินโดนีเซีย มาเลเซีย มีกฎหมายรองรับการสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ที่ทันสมัย ส่วนประเทศไทยยังขาดโรงไฟฟ้าที่สะอาดและราคาถูก สิ่งที่ควรเสริมเข้ามาคือไฟฟ้านิวเคลียร์
พร้อมประเมินทิศทางเศรษฐกิจไทยว่ายังมีอนาคตที่ดี แม้เราจะอยู่ในยุคที่โลกมีการเปลี่ยนแปลง ทั้งดินฟ้าอากาศปั่นป่วน รวมถึงเทคโนโลยีเข้ามาทดแทนอย่างรวดเร็ว ดังนั้นประเทศต้องสร้างนิสิต-นักศึกษาที่มีปัญญาเข้ามาตอบโจทย์ประโยชน์ 3 ด้าน คือ
- ประเทศต้องได้ประโยชน์
- ประชาชนต้องได้ประโยชน์
- ผู้ผลิตต้องได้ประโยชน์
ยกตัวอย่างเครือเจริญโภคภัณฑ์ เมื่อผลิตสินค้าไปขายให้ประชาชน ถ้าประชาชนนิยม สินค้าของเราก็จะกลับมาสู่เศรษฐกิจ ดังนั้นจึงมั่นใจว่าเศรษฐกิจของประเทศไทยยังสดใส
“เมื่อเรานึกถึงวิกฤต สิ่งที่ตามมาก็คือโอกาส และเมื่อได้โอกาสแล้วสิ่งที่ตามมาก็คือวิกฤต เรียกได้ว่าสลับกันไป ไม่ใช่ว่าทุกอย่างจะราบรื่นไปทั้งหมด”
เช่นเดียวกับการท่องเที่ยวแบบฟรีวีซ่าถือว่ารัฐบาลมาถูกทางแล้ว แต่ขอฝากว่าต้องตั้งงบประมาณมาช่วยสนับสนุนเพื่อหาเงินเข้าประเทศให้ได้เร็วที่สุด และตั้งเป้าหมายให้ชัดเจนว่าจะเจาะกลุ่มนักท่องเที่ยวประเทศไหนบ้าง ทุกอย่างต้องชัดเจน
รวมถึงเรื่องการศึกษาของไทยก็สำคัญ เราสามารถดึงดูดคนให้เข้ามาเรียนในประเทศได้ไม่แพ้เรื่องการท่องเที่ยว แต่สิ่งเหล่านี้รัฐบาลต้องทำให้ชัดเจนขึ้น
และอีกเรื่องที่ประเทศไทยได้เปรียบคือการเกษตร เมื่อโลกปั่นป่วน เช่น เวียดนาม ฟิลิปปินส์ ไต้หวัน และจีน เจอแผ่นดินไหว แต่ไทยไม่มีแผ่นดินไหว เราเจอแค่น้ำท่วมกับภัยแล้ง
ด้วยเหตุนี้ จึงอยากแนะนำว่ารัฐบาลควรจัดตั้งงบประมาณทำถนนเข้าไร่นา ปรับที่ดิน ทำเรื่องเขื่อนและชลประทาน ซึ่งจะช่วยให้เกิดการเพาะปลูกมหาศาลและมีผลผลิตเพิ่มขึ้นถึง 5 เท่า เชื่อว่ามหาวิทยาลัยหรือหน่วยงานราชการมีคนเก่งและเชี่ยวชาญในเรื่องน้ำ เพียงแค่ยังไม่เอาจริงเอาจังกับเรื่องนี้แค่นั้น
ประธานอาวุโส เครือเจริญโภคภัณฑ์ กล่าวต่อไปว่า ปัจจุบันภาคการเกษตรนั้นใช้เทคโนโลยีมากที่สุดแล้ว โดยเฉพาะเกษตรกรรมไทยยุคใหม่ก้าวเข้าสู่ยุค Smart Farming โดยใช้โดรนและเทคโนโลยีชีวภาพเข้ามาเพิ่มผลผลิตและลดต้นทุนไปพร้อมกัน
“เหมือนกับธุรกิจของเครือเจริญโภคภัณฑ์ที่ทำธุรกิจตั้งแต่ต้นน้ำ คนอาจมองว่าผูกขาด แต่ไม่ใช่ ต้องบอกว่าเราทำธุรกิจแนวดิ่งตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ ไปจนถึงปลายน้ำ เพื่อไม่ให้การขายสินค้าเกิดความเสียหาย ทั้งหมดเป็นสิ่งจำเป็น” ธนินท์ย้ำ
จริงๆ แล้วการเกษตรนั้นถือว่าเป็นน้ำมันบนดิน ใช้อย่างไรก็ไม่หมด เป็นทรัพย์สมบัติที่ล้ำค่าของประเทศไทย อย่างอื่นเราอาจต้องซื้อชิ้นส่วนต่างประเทศเข้ามาประกอบ แต่สินค้าเกษตรส่วนใหญ่อยู่ในประเทศ และกว่า 90% สร้างรายได้ให้กับประเทศไทย
และในอนาคตการลงทุนเครื่องจักรของเครือ CP จะมีพลังเพิ่มขึ้น 5 เท่าจากเดิม โดยตัวหุ่นยนต์และ AI จะทำให้การทำงานฉลาดขึ้น ทำน้อยแต่ได้มาก เรามองว่าแรงงานไทยในอนาคต 600 บาทต่อวันถึงแน่นอน ดังนั้นจึงต้องสร้างคนและพนักงานของบริษัทให้เก่งเท่าทันโลก
และอีกปัจจัยสำคัญต้องสร้างประชาชนให้มีรายได้ เริ่มจากการศึกษา ต้องมีความรู้ เรียนไปทำงานไป จบแล้วทำงานต่อได้ เพราะวันนี้ประชากรเราลดลงทุกปี ทำให้ประเทศมีคนไม่พอ ที่ผ่านมาประเทศไทยผลิตนิสิต-นักศึกษา 3 แสนกว่าคนต่อปี กว่าจะได้แรงงานถึง 5 ล้านคนต้องใช้เวลา 10 กว่าปี ถึงจะเพียงพอกับสัดส่วนการเสียภาษี ซึ่งเรื่องนี้ขึ้นอยู่ที่นโยบายรัฐบาลและประชาชนด้วย
ในส่วนของนักธุรกิจเอกชนก็มีหน้าที่เหมือนกัน ธุรกิจจะอยู่รอดได้ต้องคิดถึงประชาชน ถ้าคนไทยไม่รวยขึ้นจะเอาเงินที่ไหนมาซื้อสินค้า ต้องช่วยกันทำให้ประชาชนมีกำลังซื้อ แต่พื้นฐานจริงๆ ต้องมาจากมหาวิทยาลัยและรัฐบาลที่จะต้องออกกฎหมายเอื้อประโยชน์ให้กับประเทศในทุกด้าน
ทั้งนี้ เพื่อให้ธุรกิจสามารถแข่งขันบนเวทีโลกได้อย่างเต็มที่ และต้องดึงดูดบุคลากรที่มีความสามารถจากต่างประเทศเข้ามาเสริมศักยภาพแรงงานในประเทศ เหมือนกับที่สิงคโปร์ดึงดูดบุคลากรชั้นนำจากทั่วโลกเข้ามาพัฒนาประเทศ
ในช่วงสุดท้าย เจ้าสัวเครือ CP ยังให้โจทย์เพิ่มอีกว่าจะทำให้คนไทยร่ำรวยขึ้น เพราะถ้าคนไทยร่ำรวยประเทศไทยก็จะแข็งแรง โดยต้องพึ่งพามหาวิทยาลัยเป็นหลัก ควบคู่ไปกับรัฐบาลต้องออกนโยบายให้ประชาชนอยู่ดีกินดีเพื่อเสริมความแข็งแกร่งให้กับประเทศ