UOB จับมือ สกพอ. หนุนลงทุนอุตสาหกรรมเป้าหมายพื้นที่ EEC ชี้ไทยและเพื่อนบ้านอาเซียนเนื้อหอม ทรัมป์ 2.0 ไม่กระทบ FDI ด้านเลขา EEC ลุยกระตุ้นลงทุนต่อเนื่อง ชี้เป้าเทรนด์ Health and Wellness, Data Center, PCB และเซมิคอนดักเตอร์ มาแรง พร้อมเผยเตรียมแผนสำรองโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน หากล่าช้าและจำเป็นต้องเลื่อนแผนก่อสร้างเดือนเมษายน
ริชาร์ด มาโลนีย์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารยูโอบี (UOB) กล่าวว่า ยูโอบีร่วมมือกับสำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) หรือ EEC เพื่อสนับสนุนการลงทุนในเขตพัฒนาเศรษฐกิจของไทย ผ่านเครือข่ายธนาคารยูโอบีที่ครอบคลุมทั่วทั้งภูมิภาคอาเซียน แสดงถึงความมุ่งมั่นในการเติบโตทางเศรษฐกิจ และผลักดันการเติบโตทางเศรษฐกิจ
โดยนับตั้งแต่ปี 2563 ธนาคารให้คำปรึกษาและสนับสนุนลูกค้าในประเทศไทยไปแล้ว 450 บริษัท มูลค่า 4.5 หมื่นล้านบาท สร้างการจ้างงานกว่า 31,000 ตำแหน่ง และหากคิดเป็นเม็ดเงินลงทุนในภูมิภาคอาเซียนอยู่ที่ 5 หมื่นล้านสิงคโปร์ หรือจำนวน 5,000 บริษัท
แซม ชอง กรรมการผู้จัดการ Head of Foreign Direct Investment Advisory Unit ธนาคารยูโอบี เปิดเผยว่า ยูโอบีพร้อมเจาะกลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมาย ซึ่งอุตสาหกรรมที่เห็นการลงทุนไทยเวลานี้ส่วนใหญ่เป็นอุตสาหกรรมยานยนต์ รถยนต์ไฟฟ้า (EV) จึงจะโฟกัสกลุ่มนี้มากขึ้น เนื่องจากไทยเองก็อยู่ในช่วงการเปลี่ยนผ่านจากรถยนต์สันดาปสู่ EV ถือเป็นอุตสาหกรรมแห่งอนาคต รวมถึงอุตสาหกรรมชีวภาพและดิจิทัล
แซม ชอง กรรมการผู้จัดการ Head of Foreign Direct Investment Advisory Unit ธนาคารยูโอบี
ทั้งนี้ ในปี 2570 ยูโอบีคาดว่าจะมีเม็ดเงินลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (Foreign Direct Investment: FDI) ลงทุนในภูมิภาคอาเซียนราว 3.12 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ
ข่าวที่เกี่ยวข้อง:
- ไปกันต่อ! EEC ลุยแก้สัญญารถไฟไฮสปีดเชื่อม 3 สนามบิน ตั้งเขตเศรษฐกิจใหม่
‘ฉะเชิงเทรา บลูเทค ซิตี้’ ดึงลงทุน 1.5 แสนล้านบาท จ้างงาน 2 หมื่นคน - เฟ้นหาโอกาสลงทุนกองทุนทั่วโลกจากบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนชั้นนำระดับโลก
ผ่านงาน UOB Offshore Investment - ลุ้นไฮสปีดเชื่อม 3 สนามบิน ไปต่อหรือพอแค่นี้
- BOI เคลียร์ปม ‘รถไฟไฮสปีด’ เชื่อม 3 สนามบิน
เมื่อถามว่า โดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐฯ ที่มีนโยบายขึ้นภาษี จะมีผลต่อการลงทุนแค่ไหน แซมระบุว่า มีผลกระทบบ้าง แต่ไม่รู้ว่าจะแค่ไหน ซึ่งต้องบอกว่าเราประสานกับลูกค้า ซัพพลายเชน และพันธมิตร อยู่แล้ว เชื่อว่าจะสามารถรับมือและเตรียมแผนที่ดี ในขณะเดียวกันความร่วมมือครั้งนี้จะช่วยกระตุ้นเม็ดเงินลงทุน FDI ในไทยและภูมิภาคมากขึ้น
ส่วนขณะนี้เห็นโมเมนตัมกลุ่มลูกค้าสนใจลงทุนประเทศไหนในอาเซียนมากที่สุดนั้น มองว่าสิงคโปร์ โดยสิงคโปร์เป็นศูนย์กลางการเงิน และเป็นประเทศที่มักจะเห็นการเข้าไปตั้งบริษัทและมาลงทุนในประเทศที่สามนั่นคือไทยและเพื่อนบ้านอาเซียน
“ยูโอบีจะเป็นมากกว่าธนาคาร หรือ Beyond Banking จะให้การสนับสนุนแบบครบวงจรแก่นักลงทุนทั้งในประเทศ ภูมิภาค และระดับนานาชาติ เพื่อให้ไทยเป็นศูนย์กลางนวัตกรรมและผู้นำภูมิภาค” แซมย้ำ
ด้าน จุฬา สุขมานพ เลขาธิการคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) หรือ EEC กล่าวว่า “การร่วมมือกับธนาคารยูโอบีสะท้อนให้เห็นถึงการทำงานร่วมกันระหว่างภาครัฐและเอกชน สามารถสร้างเครือข่ายที่ครอบคลุมทั่วทั้งภูมิภาคอาเซียน จะมีบทบาทสำคัญในการเชื่อมโยงเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออกกับนักลงทุนที่มีศักยภาพ
โดยเฉพาะเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) จังหวัดชลบุรี ระยอง และฉะเชิงเทรา วันนี้มีการพัฒนาให้เป็นศูนย์กลางการลงทุนที่สำคัญในภูมิภาคในหลายๆ ด้าน ด้วยทำเลที่ตั้งเชิงกลยุทธ์และโครงสร้างพื้นฐานระดับโลก
“ผมมองว่าตอนนี้ประเทศไทยอยู่ในจุดที่น้ำขึ้นให้รีบสูบ ไม่ใช่แค่รีบตักแล้ว”
เนื่องจากปีที่ผ่านมาจะเห็นการลงทุนที่มาแรง อย่างเช่น การแพทย์และสุขภาพ (Health and Wellness) ภาคบริการ BCG, เทคโนโลยีและดิจิทัล ปีนี้จนถึงปีหน้าจะยิ่งเห็นการลงทุนดิจิทัล, Data Center, PCB และเซมิคอนดักเตอร์ อิเล็กทรอนิกส์ขั้นสูงมาลงทุนไทยมากขึ้น และเราจะเน้นเจาะไปที่อุตสาหกรรมเป้าหมายเหล่านี้ พร้อมส่งเสริมการลงทุนอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า (EV) อย่างต่อเนื่อง
เมื่อถามถึงความคืบหน้าของโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน ยอมรับว่าล่าช้ามาหลายปี และล่าสุดตั้งเป้าจะเริ่มก่อสร้างได้ในเดือนเมษายน 2568 นั้น
“หากไม่สามารถก่อสร้างได้ จำเป็นต้องพิจารณาสัญญาการร่วมทุนว่ายังสามารถดำเนินการต่อได้หรือไม่ อย่างไร หากไม่ได้จะต้องเตรียมแผนรองรับอย่างไรต่อไป”
ส่วนนโยบายของ โดนัลด์ ทรัมป์ ที่จะขึ้นภาษีสินค้านำเข้าจากเม็กซิโก แคนาดา และจีน มองว่าเวลานี้ยังไม่ส่งผลกระทบโดยตรงต่อการลงทุนพื้นที่ EEC แต่อาจส่งผลบ้างในกลุ่มธุรกิจส่งออก อย่างไรก็ตาม ต้องติดตามและศึกษาแนวทางที่สหรัฐฯ จะดำเนินการกับประเทศที่ได้ดุลการค้า เพื่อเตรียมการตั้งรับให้ดี
THE STANDARD WEALTH สำรวจข้อมูลจากกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ สรุปตัวเลขการลงทุนในพื้นที่ EEC ปี 2567 มีทั้งสิ้นจำนวน 301 ราย คิดเป็น 32% เพิ่มขึ้นจากปี 2566 จำนวน 167 ราย (124%) มูลค่า 56,490 ล้านบาท โดยเป็นนักลงทุนจาก
- ญี่ปุ่น ลงทุน 20,593 ล้านบาท
- จีน 72 ราย ลงทุน 12,107 ล้านบาท
- ฮ่องกง ลงทุน 5,698 ล้านบาท
- ประเทศอื่นๆ 106 ราย ลงทุน 18,092 ล้านบาท
ธุรกิจที่ลงทุนในพื้นที่ EEC ส่วนใหญ่เป็นธุรกิจบริการทางวิศวกรรม, อุตสาหกรรมยานยนต์, ธุรกิจจัดหาและจัดซื้อวัตถุดิบส่วนประกอบและชิ้นส่วนสำหรับอุตสาหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ รวมทั้งอุตสาหกรรมยานยนต์ เพื่อค้าส่งในประเทศ, ธุรกิจบริการระบบซอฟต์แวร์ฐาน (Software Platform), ธุรกิจบริการรับจ้างผลิตสินค้า เช่น ชิ้นส่วนยานพาหนะ ชิ้นส่วนโลหะ และชิ้นส่วนพลาสติก