×

‘สงครามภาษี’ สหรัฐฯ-แคนาดา เปิดฉาก ไทยจะเผชิญชะตากรรมเดียวกันหรือไม่?

03.02.2025
  • LOADING...
TaxWar-USCanada

โดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา ลงนามคำสั่งพิเศษฝ่ายบริหาร (Executive Order) ขึ้นอัตราภาษีศุลกากรใหม่สำหรับสินค้านำเข้าจากประเทศเพื่อนบ้านอย่างแคนาดาและเม็กซิโก 25% และสินค้านำเข้าจากจีนอีก 10% โดยจะมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 4 กุมภาพันธ์นี้

 

หลายฝ่ายแสดงความกังวลว่า การกระทำดังกล่าวของทรัมป์จะเป็นการจุดชนวนสงครามการค้าครั้งใหม่ หลังจากที่ทรัมป์เพิ่งกลับมารับตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐฯ สมัยที่ 2 ได้ไม่ถึง 2 สัปดาห์ 

 

จากฐานข้อมูลสถิติการค้าสินค้าของสหประชาชาติ (UN Comtrade) คาดการณ์ว่า มาตรการขึ้นภาษีนี้จะส่งผลกระทบต่อทั้งแคนาดาและเม็กซิโกเป็นอย่างมาก เนื่องจากทั้งสองประเทศมีสัดส่วนการส่งสินค้าออกไปยังสหรัฐฯ มากกว่า 70% ของ GDP

 

ตัวเลขสถิติจาก UN Comtrade บ่งชี้ว่า แคนาดามีสัดส่วนการส่งสินค้าออกไปยังสหรัฐฯ ต่อปีสูงราว 78% ของมูลค่าการส่งออกทั้งหมด 5.67 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ ขณะที่สหรัฐฯ มีสัดส่วนการนำเข้าสินค้าจากแคนาดาต่อปีคิดเป็นเพียง 14% ของตัวเลขนำเข้าทั้งหมดที่มีมูลค่าสูงถึง 3.17 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งความไม่สมดุลนี้อาจเพิ่มความได้เปรียบให้กับสหรัฐฯ บนโต๊ะเจรจา

 

📍 มาตรการตอบโต้

 

ทั้ง 3 ประเทศซึ่งล้วนแล้วแต่เป็นประเทศคู่ค้าสำคัญที่เกินดุลการค้ากับสหรัฐฯ ต่างแสดงจุดยืนจะตอบโต้กลับด้วยแนวทางเดียวกัน โดยเฉพาะที่แคนาดา จัสติน ทรูโด นายกรัฐมนตรี ประกาศขึ้นภาษีสินค้าสหรัฐฯ 25% คาดว่าจะกระทบตัวเลขมูลค่าการนำเข้าสินค้าจากสหรัฐฯ 1.55 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ ตั้งแต่สินค้าจำพวกผักผลไม้ ผลิตภัณฑ์จากนม เครื่องนุ่งห่ม เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เฟอร์นิเจอร์ ตลอดจนอุปกรณ์กีฬาและของใช้ภายในบ้าน 

 

ทรูโดให้คำมั่นว่าเขาจะไม่ถอยกลับในการยืนหยัดเพื่อชาวแคนาดา พร้อมทั้งประกาศเตือนถึงผลลัพธ์ที่พลเมืองของทั้ง 2 ประเทศจะได้รับผลกระทบจากสงครามภาษีในครั้งนี้ โดยภาษีสินค้านำเข้าสหรัฐฯ มูลค่า 3 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐจะมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 4 กุมภาพันธ์นี้เช่นเดียวกัน ขณะที่สินค้าสหรัฐฯ อื่นๆ ที่มีมูลค่า 1.25 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ จะปรับขึ้นภายใน 21 วัน เพื่อให้บริษัทต่างๆ ของแคนาดามีเวลาปรับตัว

 

ทรูโดยังเตรียมพิจารณามาตรการตอบโต้ที่ไม่ใช่ภาษี ซึ่งอาจเกี่ยวข้องกับด้านพลังงาน อุตสาหกรรมเหมือง และความร่วมมือด้านอื่นๆ พร้อมเน้นย้ำว่ามาตรการโต้กลับเหล่านี้จะยังคงอยู่จนกว่าสหรัฐฯ จะยุติมาตรการขึ้นภาษีสินค้าแคนาดา และเรียกร้องให้ชาวแคนาดาสนับสนุนสินค้าที่ผลิตภายในประเทศ เพื่อช่วยรัฐบาลรับมือกับสงครามภาษีในครั้งนี้

 

หลายฝ่ายคาดการณ์ว่า การขึ้นภาษีโต้กลับแบบตาต่อตา ฟันต่อฟันนี้ จะเป็นหนึ่งในแนวทางที่ประเทศต่างๆ ใช้ตอบโต้มาตรการขึ้นภาษีของทรัมป์ โดยฟากฝั่งของเม็กซิโกก็เตรียมดำเนินมาตรการโต้กลับเช่นเดียวกัน

 

นอกจากนี้รัฐบาลแคนาดายังเตรียมยื่นคำร้องต่อองค์การการค้าโลก (WTO) ว่า มาตรการขึ้นภาษีดังกล่าวของสหรัฐฯ เป็นการละเมิดข้อผูกพันทางการค้าที่ทำขึ้นระหว่าง WTO และสหรัฐฯ-เม็กซิโก-แคนาดา ซึ่งทรัมป์เป็นคนลงนามด้วยตัวเองเมื่อปี 2018 

 

ขณะที่ทรัมป์ก็ยังคงเดินหน้ายื่นข้อเสนอให้แคนาดามาเข้าร่วมเป็นรัฐที่ 51 ของสหรัฐฯ เพื่อที่แคนาดาจะได้รับมาตรการคุ้มกันทางทหาร เสียภาษีในอัตราที่ต่ำ และไม่เสียภาษีศุลกากรเลย ทั้งยังเป็นการแก้ไขปัญหาเกินดุลการค้ากับสหรัฐฯ ในสายตาของทรัมป์อีกด้วย

 

📍 ผลกระทบจากสงครามภาษี

 

มาตรการขึ้นภาษีของทรัมป์สั่นคลอนตลาดในช่วงต้นสัปดาห์นี้ ส่งผลให้ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐพุ่งสูงขึ้น 1.4% ขณะที่ดอลลาร์แคนาดาแตะระดับต่ำสุดนับตั้งแต่ปี 2003 ส่วนค่าเงินของเม็กซิโกก็ร่วงลงเกือบ 3% ด้านตลาดหุ้นเอเชียรวมถึงสัญญาซื้อ-ขายล่วงหน้าของหุ้นสหรัฐฯ ก็ร่วงลงอย่างรวดเร็วเช่นกัน

 

ทรัมป์ยอมรับว่าการดำเนินมาตรการขึ้นภาษีศุลกากรกับประเทศคู่ค้ารายใหญ่บางประเทศ อาจส่งผลกระทบต่อพลเมืองอเมริกัน แต่ทรัมป์ก็ยังยืนยันว่าแนวทางนี้จะมีส่วนทำให้อเมริกากลับมายิ่งใหญ่อีกครั้ง และทุกอย่างจะคุ้มค่ากับราคาที่ต้องจ่าย 

 

ขณะที่ ชิวปู้ฮุย ศาสตราจารย์ด้านธุรกิจและการเงินประจำมหาวิทยาลัยซิดนีย์ ให้สัมภาษณ์กับสำนักข่าว Associated Press ว่า มาตรการขึ้นภาษีของทรัมป์กำลังจะเพิ่มความไม่แน่นอนทางเศรษฐกิจให้กับโลกใบนี้ โดยสหรัฐฯ ขู่ว่าจะขึ้นภาษีศุลกากรในอัตราที่สูงขึ้นอีกหากประเทศเหล่านั้นดำเนินมาตรการตอบโต้สหรัฐฯ 

 

ชิวปู้ฮุยยังเน้นย้ำด้วยว่า โลกอาจกำลังเผชิญกับสงครามการค้าและปัญหาความขัดแย้งอีกหลายระลอก โดยจะนำไปสู่ความผันผวนทางเศรษฐกิจ ซึ่งจริงๆ แล้วเกี่ยวพันกับนโยบายกีดกันทางการค้าและเศรษฐกิจ 

 

ส่วน ลอว์เรนซ์ ซัมเมอร์ส อดีตรัฐมนตรีกระทรวงการคลังสหรัฐฯ ในสมัยรัฐบาลประธานาธิบดี บิล คลินตัน แสดงความเห็นผ่านช่องทางโซเชียลมีเดียอย่าง X (Twitter) ว่า มาตรการต่างๆ ที่สหรัฐฯ มีต่อแคนาดาและเม็กซิโกในปัจจุบันเป็นสิ่งที่ยากจะเข้าใจและเป็นอันตรายอย่างมาก มาตรการเหล่านี้จะทำให้ราคารถยนต์ น้ำมัน และสินค้าต่างๆ ที่ผู้คนจับจ่ายใช้สอยมีราคาสูงขึ้น และจะทำให้ประเทศพันธมิตรเหล่านี้โต้กลับด้วยวิธีการต่างๆ ที่จะทำให้เกิดผลกระทบเชิงลบต่อเศรษฐกิจของสหรัฐฯ 

 

📍 ไทยกับโอกาสที่จะตกเป็นเป้าของทรัมป์

 

ด้าน อ.ดร.ปองขวัญ สวัสดิภักดิ์ อาจารย์ประจำสาขาระหว่างประเทศ คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ แสดงความเห็นกับ THE STANDARD ว่า สงครามการค้าจะเกิดขึ้นก็ต่อเมื่อมีการใช้มาตรการทางด้านภาษีตอบโต้กันไปมา หากสิ่งนี้เกิดขึ้น ไม่เพียงจะทำให้ GDP ของโลกหดตัว แต่ยังอาจส่งผลต่อสายการผลิตต่างๆ ที่ใช้วัตถุดิบหรือส่วนประกอบจากประเทศต่างๆ โดยประเทศที่น่าจะได้รับผลกระทบมากที่สุดคือประเทศขนาดเล็กที่พึ่งพิงการส่งออกและการนำเข้า ขณะนี้ยังไม่แน่นอนว่าทรัมป์จะใช้วิธีการตั้งกำแพงภาษีกับสินค้าจากประเทศที่สามที่ผลิตให้กับบริษัทของจีนหรือไม่ ถ้าเป็นเช่นนั้นประเทศที่แต่ก่อนเคยได้รับประโยชน์จากการย้ายฐานการผลิตของจีนก็จะมีปัญหาเช่นเดียวกัน

 

ส่วนประเด็นที่ว่าไทยจะเผชิญชะตากรรมเดียวกับแคนาดา เม็กซิโก และจีน หรือไม่นั้น อ.ดร.ปองขวัญ ระบุว่า เป็นคำถามที่ตอบยาก เนื่องจากเป็นการคาดการณ์ที่มีความไม่แน่นอนสูง ถ้าพูดว่าไทยเข้าข่ายหรือไม่ ก็ถือว่าเข้าข่ายจาก Criteria ที่ทรัมป์เคยประกาศไว้ก่อนหน้าคือ ประเทศที่ได้ดุลการค้าและมีมาตรการกีดกันสินค้าจากสหรัฐฯ แต่ในระยะอันใกล้ หากดูจากประเทศที่ทรัมป์มีการกล่าวถึงในช่วงหลังเข้ารับตำแหน่ง ไทยอาจจะยังไม่เข้าข่ายนั้น 

 

แต่ถ้าหากดูในตัวคำสั่งฝ่ายบริหารจะเห็นได้ว่าเป้าหมายในการขึ้นภาษีกับแคนาดา เม็กซิโก และจีน ในครั้งนี้ไม่ได้เป็นเรื่องการค้าโดยตรง แต่เป็นการใช้มาตรการด้านภาษีเป็นเครื่องมือในการกดดันและต่อรองในเรื่องที่เกี่ยวข้องกับการเข้าเมืองผิดกฎหมาย และการไหลทะลักของยาเสพติดเฟนทานิลผ่านทางชายแดนแคนาดาและเม็กซิโก ดังนั้นมาตรการด้านภาษีครั้งนี้จะเป็นเครื่องมือมากกว่าจะเป็นเป้าหมายโดยตรง แต่ในระยะต่อๆ ไปที่ทรัมป์เริ่มมองการขาดดุลอย่างจริงจัง ไทยก็อาจจะอยู่ในข่ายนี้ด้วย แต่เหมือนกับว่าถ้าเป็นเรื่องการค้า ทรัมป์อาจจะจับตาไปที่สหภาพยุโรป (EU) เป็นรายต่อไปเสียมากกว่า 

 

ส่วนคำถามที่ว่า ไทยจะสามารถใช้มาตรการตอบโต้แบบแคนาดาได้หรือไม่หากถูกตั้งกำแพงภาษีด้วย ต้องบอกว่าเป็นมาตรการที่ใช้ได้ แต่จะส่งผลต่อเศรษฐกิจภายในประเทศอย่างไรเป็นอีกเรื่องหนึ่ง เพราะว่าประเทศขนาดเล็กมักได้รับผลกระทบจากสงครามมากกว่าประเทศขนาดใหญ่ ที่สำคัญคือหากมีการใช้มาตรการทางภาษีกันไปกันมา ผู้ที่จะได้รับผลกระทบมากที่สุดก็คือผู้บริโภคภายในประเทศ 

 

นอกจากนี้สิ่งที่เราอาจต้องพิจารณาร่วมด้วย ได้แก่ สินค้าที่ปกติเราส่งเข้าไปในตลาดสหรัฐฯ สามารถเปลี่ยนเส้นทางส่งออกได้หรือไม่ สินค้าที่เรานำเข้ามาจากสหรัฐฯ เป็นสินค้าบริโภคเป็นหลักหรือเป็นส่วนประกอบที่จะนำไปสู่การผลิตอื่นๆ ต่อไป เพราะถ้าเป็นแบบหลัง ก็เท่ากับการผลิตภายในประเทศก็จะหยุดชะงักไปด้วยเช่นกัน

 

แฟ้มภาพ: Reuters, Shutterstock

 

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE






Latest Stories

Close Advertising