การประชุม World Economic Forum (WEF) ประจำปี 2025 ณ เมืองดาวอส ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ดำเนินต่อเนื่องมาอย่างเข้มข้น โดยเมื่อวันที่ 21 มกราคม ผู้นำระดับโลกมากมายขึ้นกล่าวสุนทรพจน์บนเวที โดยเรียกร้องให้ทุกภาคส่วนกระชับความร่วมมือในระดับโลก เพื่อรับมือกับความท้าทายในยุคแห่งปัญญาประดิษฐ์ (AI) และความไม่แน่นอนทางภูมิรัฐศาสตร์
ใครพูดอะไรในเวทีประชุมครั้งนี้บ้าง THE STANDARD สรุปมาให้ที่นี่
-
ศ.เคลาส์ ชวาป: ความเสี่ยงและโอกาสในยุค AI
ศ.เคลาส์ ชวาป ผู้ก่อตั้งและประธานบริหาร World Economic Forum กล่าวถึงการเปลี่ยนผ่านจากยุคอุตสาหกรรมสู่ยุค AI ที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว ซึ่งนำมาทั้งความเสี่ยงและโอกาสใหม่ๆ สำหรับมนุษยชาติ พร้อมเรียกร้องให้ทุกภาคส่วนร่วมมือกันด้วยจิตวิญญาณแห่งความคิดเชิงบวกและสร้างสรรค์เพื่อแก้ไขปัญหาร่วมกัน
“การเปลี่ยนผ่านจากยุคอุตสาหกรรมไปสู่ยุค AI กำลังเกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว อีกทั้งยังสร้างความเสี่ยงให้กับมนุษยชาติอย่างที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน ขณะเดียวกันก็มอบโอกาสมากมายในการก้าวข้ามความท้าทายในปัจจุบัน และจุดประกายให้เกิดยุคฟื้นฟูศิลปวิทยาการใหม่ ไม่ว่าจะเป็นในแง่ของความก้าวหน้าในองค์ความรู้ สุขภาพ วัฒนธรรม และสวัสดิการสังคม”
ศ.ชวาป ยังเรียกร้องให้ประชาคมโลกก้าวให้ทันโลกยุคใหม่ และเชื่อมั่นในศักยภาพที่จะร่วมกันเพื่อพัฒนาโลก โดยเน้นว่า “ด้วยความคิดเชิงบวกที่สร้างสรรค์ เราจะสามารถสร้างยุคแห่ง AI ให้เป็นยุคที่มนุษย์ทุกคนสามารถบรรลุศักยภาพสูงสุดของตนเองได้”
-
บอร์เก เบรนเด: โลกต้องจับมือกันก้าวข้ามปัญหาภูมิรัฐศาสตร์
บอร์เก เบรนเด ประธานและซีอีโอของ World Economic Forum โฟกัสไปที่ประเด็นความไม่แน่นอนทางภูมิรัฐศาสตร์และปัญหาเศรษฐกิจในปัจจุบัน โดยมองว่าปี 2025 จะเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญ ซึ่งนานาชาติต้องการความร่วมมือที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น
“ระเบียบระหว่างประเทศที่มีมายาวนานกว่าสามทศวรรษที่ผ่านมาได้เสื่อมถอยลง เราจำเป็นต้องหาวิธีการทำงานร่วมกันอย่างมีประสิทธิผลมากขึ้น นี่คือหนทางเดียวที่เราจะก้าวไปข้างหน้า”
-
คาริน เคลเลอร์-ซุทเทอร์: ค่านิยมประชาธิปไตยคือเสาหลักสู่ความก้าวหน้า
คาริน เคลเลอร์-ซุทเทอร์ ประธานาธิบดีแห่งสมาพันธรัฐสวิส เน้นย้ำว่าค่านิยมประชาธิปไตยและเสรีนิยมเป็นเสาหลักสำคัญที่หนุนให้เกิดความมั่นคงและความก้าวหน้า โดยตลาดที่เปิดกว้าง กฎเกณฑ์ที่ยุติธรรมและโปร่งใส ตลอดจนวินัยทางการเงินเป็นรากฐานของความมั่งคั่งที่ยั่งยืน
“มีเพียงรัฐที่มีสถาบันที่มั่นคงเท่านั้นที่จะสามารถสร้างสภาพแวดล้อมที่ดี ที่ซึ่งทุกคนสามารถใช้ศักยภาพของตนได้อย่างเต็มที่ และรัฐต้องปกป้องเสรีภาพนี้ด้วยกฎเกณฑ์ที่เข้มแข็ง”
-
อัวร์ซูลา ฟอน แดร์ ไลเอิน: ยุโรปพร้อมเปลี่ยนแปลง
อัวร์ซูลา ฟอน แดร์ ไลเอิน ประธานคณะกรรมาธิการยุโรป กล่าวถึงแผนการของยุโรปในการปรับตัวสู่ยุคของการแข่งขันทางภูมิรัฐศาสตร์ที่เข้มข้นขึ้น ผ่านการเพิ่มความสามารถในการแข่งขัน เสริมสร้างความร่วมมือในระดับโลก และยึดมั่นในพัฒนาการที่ยั่งยืน
“เพื่อให้การเติบโตของเราเป็นไปอย่างมั่นคงในช่วง 25 ปีข้างหน้า ยุโรปต้องปรับเปลี่ยนแนวทาง เราต้องคอยมองหาโอกาสใหม่ๆ ในทุกๆ ที่ เพราะนี่คือช่วงเวลาที่จะก้าวข้ามกรอบและข้อห้ามเดิมๆ และยุโรปก็พร้อมที่จะเปลี่ยนแปลง”
-
โอลาฟ ชอลซ์: ความร่วมมือคือกุญแจสู่การพัฒนาเศรษฐกิจ
โอลาฟ ชอลซ์ นายกรัฐมนตรีเยอรมนี เน้นย้ำว่าความร่วมมือของทุกฝ่ายเป็นเสมือน ‘เครื่องยนต์ที่ขับเคลื่อนสู่การพัฒนาเศรษฐกิจที่ประสบความสำเร็จ’ ท่ามกลางความท้าทายที่เกิดขึ้นในระดับโลก
นอกจากนี้เขายังเน้นย้ำถึงแผนการปฏิรูประเบียบการบริหารหนี้สาธารณะของเยอรมนี เพื่อเสริมสร้างการเติบโตภายในประเทศ และความสำคัญของยุโรปในการเสริมสร้างศักยภาพด้านการป้องกันประเทศและฐานอุตสาหกรรม ขณะเดียวกันชอลซ์ยอมรับว่ารัฐบาลชุดใหม่ของสหรัฐอเมริกาอาจสร้างความท้าทายและความไม่แน่นอนทางภูมิรัฐศาสตร์ แต่เขาก็มองเห็นโอกาสเชิงบวกเกี่ยวกับการพัฒนาเทคโนโลยีใหม่ๆ ในอนาคต
-
โวโลดิเมียร์ เซเลนสกี: ยุโรปต้องเสริมสร้างความเป็นผู้นำ
ประเด็นที่ตัดทิ้งไม่ได้คือสงครามยูเครนที่กินเวลาเกือบจะเข้าปีที่ 3 โดย โวโลดิเมียร์ เซเลนสกี ประธานาธิบดียูเครน เรียกร้องให้ยุโรปเสริมสร้างความเป็นเอกภาพและความเป็นผู้นำระดับโลก โดยย้ำถึงความสำคัญของพันธมิตร ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี และนโยบายความมั่นคง
“เราต้องการนโยบายด้านความมั่นคงและการป้องกันของยุโรปที่เป็นเอกภาพ และประเทศต่างๆ ในยุโรปทั้งหมดต้องเต็มใจที่จะใช้จ่ายด้านความมั่นคงให้มากที่สุดเท่าที่จำเป็นจริงๆ”
-
ติงเสวี่ยเซียง: ไม่มีใครเป็นผู้ชนะในสงครามการค้า
ท่ามกลางความตึงเครียดในด้านภูมิรัฐศาสตร์ ติงเสวี่ยเซียง รองนายกรัฐมนตรีจีน กล่าวเตือนเกี่ยวกับโลกที่แตกเป็นเศษเสี้ยว ไม่ว่าจะเป็นในแง่ของระบบเศรษฐกิจโลก หรือการกีดกันทางการค้าที่เพิ่มมากขึ้น โดยเน้นว่า “ไม่มีใครเป็นผู้ชนะในสงครามการค้า” และสนับสนุนกระบวนการโลกาภิวัตน์ที่เป็นประโยชน์ต่อทุกฝ่าย
นอกจากนี้รองนายกรัฐมนตรีจีนยังได้กล่าวถึงความท้าทายระดับโลกประเด็นอื่นๆ เช่น การเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ และความไม่เท่าเทียมกันทางเศรษฐกิจ พร้อมเรียกร้องให้ประเทศต่างๆ ดำเนินการสู่การเปลี่ยนผ่านสีเขียวและส่งเสริมการพัฒนาอย่างยั่งยืน พร้อมกันนี้ติงยังได้เน้นย้ำถึงความยืดหยุ่นทางเศรษฐกิจของจีน ตลอดจนความก้าวหน้าในพลังงานสีเขียว และการปฏิรูปที่ดำเนินอยู่ โดยเขายืนยันว่าการเติบโตของจีนมีส่วนสนับสนุนเสถียรภาพและความเจริญรุ่งเรืองของโลก
“ประตูแห่งการเปิดกว้างของจีนจะไม่ถูกปิดลง แต่เราจะยิ่งเปิดกว้างมากขึ้น และสภาพแวดล้อมทางธุรกิจของเราจะดีขึ้นเท่านั้น”
-
ฝ่าม มิงห์ จิ๋งห์: เวียดนามพร้อมเป็นฮับพัฒนาเทคโนโลยีขั้นสูงแห่งเอเชีย
ฝ่าม มิงห์ จิ๋งห์ นายกรัฐมนตรีเวียดนาม เน้นย้ำถึงความมุ่งมั่นของประเทศในการใช้ประโยชน์จาก AI โดยมุ่งเน้นการจัดตั้งศูนย์วิจัยและพัฒนา โดยเฉพาะในภาคเทคโนโลยีขั้นสูง เพื่อเสริมสร้างนวัตกรรมและตำแหน่งของเวียดนามในฐานะศูนย์กลางการพัฒนาเทคโนโลยีขั้นสูงในภูมิภาค
-
ไซริล รามาโฟซา: ความร่วมมือจะชนะทุกความท้าทายในโลก
ไซริล รามาโฟซา ประธานาธิบดีแอฟริกาใต้ กล่าวถึงเป้าหมายของแอฟริกาในการเป็นประธาน G20 ซึ่งจะเปิดฉากขึ้นที่โจฮันเนสเบิร์กในเดือนพฤศจิกายนนี้ โดยมุ่งเน้นที่ 3 ประเด็น คือความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน ความเสมอภาค และการพัฒนาที่ยั่งยืน
“ขณะที่เราเผชิญกับความท้าทายของศตวรรษที่ 21 ไม่ว่าจะเป็นการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศ โรคระบาด ความยากจน การก่อการร้าย การโยกย้ายถิ่นฐาน ไปจนถึง AI สิ่งที่เราต้องกลับมาใช้คือความสามารถที่ทรงพลังและยั่งยืนที่สุดของมนุษย์ นั่นคือความร่วมมือที่เกิดประโยชน์ร่วมกัน”
-
ไอแซก เฮอร์ซ็อก: โอกาสที่ดีก็มี…แต่ความเสี่ยงก็ยังคงอยู่
ท่ามกลางความท้าทายจากสถานการณ์ไม่มั่นคงในภูมิภาค ไอแซก เฮอร์ซ็อก ประธานาธิบดีอิสราเอล ขานรับข้อตกลงหยุดยิงครั้งล่าสุดและการปล่อยตัวประกัน 3 คน แต่เตือนให้ระวังการมองโลกในแง่ดีจนเกินไป “ผมต้องการแสดงความชัดเจนและความระมัดระวัง…มีโอกาสที่ดีอยู่ แต่ก็ยังมีความเสี่ยง เราต้องมั่นใจว่าสิ่งนี้จะไม่เกิดขึ้นอีก”
ภาพ: Yves Herman / Reuters
อ้างอิง: