×

ปี 2567 คนกรุงเทพฯ มีวันอากาศดี 43 วัน ต้องรับฝุ่นพิษ PM2.5 เท่ากับการสูบบุหรี่ 1,297.14 มวน

โดย THE STANDARD TEAM
22.01.2025
  • LOADING...

เมื่อปี 2567 กรุงเทพมหานครมีวันที่อากาศดี 43 วัน คิดเป็น 11.81% เฉพาะใน 1 ปี คนกรุงเทพฯ ต้องรับฝุ่นพิษ PM2.5 เทียบเท่าการสูบบุหรี่ 1,297.14 มวน 

 

แม้ในเดือนธันวาคม 2566 ในยุครัฐบาล เศรษฐา ทวีสิน กรมควบคุมมลพิษ กระทรวงทรัพยากรและสิ่งแวดล้อม ได้ออกมาตรการแก้ไขปัญหาฝุ่นพิษ PM2.5 ปี 2567 โดยมุ่งเน้นไปที่การลดพื้นที่เผาใน 17 จังหวัดภาคเหนือให้ลดลง 50% 

 

แต่จากข้อมูลพื้นที่เผาของ GISTDA ในปี 2567 กลับพบว่ามาตรการดังกล่าวไม่ได้บรรลุผลเลย

 

กรุงเทพฯ กับสถานการณ์ฝุ่น PM2.5 ในปี 2567

 

Rocket Media Lab อ้างอิงข้อมูลสถิติจากเว็บไซต์ World Air Quality Index พบว่า ในปี 2567 กรุงเทพฯ มีวันที่อากาศดีคืออยู่ในเกณฑ์สีเขียว 43 วัน คิดเป็น 11.81% เพิ่มสูงขึ้นกว่าปี 2566 ที่มีวันที่อากาศดีเพียง 31 วัน และในปี 2567 ส่วนใหญ่นั้นเป็นวันที่อากาศมีคุณภาพปานกลางคือเกณฑ์สีเหลือง 252 วัน หรือคิดเป็น 69.23% ของทั้งปี และหากเทียบกับปี 2566 ที่มีอากาศอยู่ในเกณฑ์สีเหลือง 241 วันแล้วก็นับว่าเพิ่มมากขึ้นจากปีก่อน 

 

ส่วนวันที่คุณภาพอากาศมีผลต่อสุขภาพต่อกลุ่มที่มีสัมผัสไวต่อมลพิษ หรือเกณฑ์สีส้ม นั้นมีเพียง 61 วัน หรือคิดเป็น 16.76% ของทั้งปี ลดลงจากปี 2566 ที่มีจำนวน 78 วัน และวันที่มีอากาศมีผลกระทบต่อสุขภาพ คืออยู่ในเกณฑ์สีแดง นั้นมี 8 วัน หรือคิดเป็น 2.20% ของทั้งปี และเมื่อเทียบกับปี 2566 ที่มีมากถึง 14 วัน กล่าวคือวันที่อากาศมีผลกระทบต่อสุขภาพ หรืออยู่ในเกณฑ์สีแดง นั้นลดลงจากเดิมถึง 6 วัน

 

โดยภาพรวมแล้วอากาศในปี 2567 มีวันที่อากาศดีเพิ่มขึ้น วันที่อากาศมีคุณภาพปานกลางก็เพิ่มขึ้น ส่วนวันที่คุณภาพอากาศมีผลต่อสุขภาพต่อกลุ่มที่มีสัมผัสไวต่อมลพิษ หรือเกณฑ์สีส้ม นั้นลดลง และวันที่อากาศมีผลกระทบต่อสุขภาพก็ยังลดลงอีกเช่นกัน

 

3 เดือนที่อากาศเลวร้ายที่สุดในปี 2567

 

ในปี 2566 เดือนที่มีอากาศเลวร้ายที่สุดคือเดือนมีนาคม แต่ในปี 2567 เดือนที่มีอากาศเลวร้ายที่สุดคือเดือนมกราคม โดยมีค่าเฉลี่ยอากาศทั้งเดือนอยู่ที่ 119.87 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร ซึ่งมากกว่าปี 2566 ที่มีค่าเฉลี่ย 113.45 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร โดยเดือนมกราคม 2567 ไม่มีวันที่อยู่ในเกณฑ์สีเขียวที่ถือว่าอากาศดีเลย สำหรับวันที่มีเกณฑ์สีเหลือง หรือคุณภาพอากาศปานกลาง พบว่ามี 8 วัน ส่วนเกณฑ์สีส้ม หรือคุณภาพอากาศที่มีผลต่อสุขภาพต่อกลุ่มที่มีสัมผัสไวต่อมลพิษ 19 วัน และสีแดง หรือมีผลต่อสุขภาพ 4 วัน

 

รองลงมาคือเดือนกุมภาพันธ์ ด้วยค่าเฉลี่ยอากาศ 99.52 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร โดยไม่มีวันที่อยู่ในเกณฑ์สีเขียวที่ถือว่าอากาศดีเลย ขณะที่มีวันที่อากาศอยู่ในเกณฑ์สีเหลือง คุณภาพอากาศปานกลาง 19 วัน และเกณฑ์สีส้ม คุณภาพอากาศที่มีผลต่อสุขภาพต่อกลุ่มที่มีสัมผัสไวต่อมลพิษ 6 วัน และเกณฑ์สีแดง หรือมีผลต่อสุขภาพ 4 วัน

 

ตามมาด้วยเดือนธันวาคม ด้วยค่าเฉลี่ยอากาศที่ 99.31 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร ซึ่งก็ไม่มีวันที่อยู่ในเกณฑ์สีเขียวที่ถือว่าอากาศดีเลยเช่นเดียวกัน ขณะที่มีวันที่อากาศอยู่ในเกณฑ์สีเหลือง คุณภาพอากาศปานกลาง 15 วัน และเกณฑ์สีส้ม คุณภาพอากาศที่มีผลต่อสุขภาพต่อกลุ่มที่มีสัมผัสไวต่อมลพิษ 14 วัน แต่ไม่พบวันที่มีเกณฑ์สีแดง หรือวันที่มีผลต่อสุขภาพ ทั้งนี้ เนื่องจากไม่ปรากฏข้อมูลวันที่ 30 และ 31 ธันวาคม จึงไม่ได้นำมาคำนวณด้วย และถึงแม้ข้อมูลจะขาดหายไปสองวัน แต่ค่าเฉลี่ยของเดือนธันวาคมก็ยังสูงจนติดอันดับ 3 ของปี 

 

หากสำรวจวันที่มีอากาศเลวร้ายที่สุดของปีพบว่าเป็นวันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2567 ซึ่งตรงกับวันวาเลนไทน์ โดยมีค่าฝุ่นเป็นค่ามาตรฐานเฉลี่ย 24 ชั่วโมง อยู่ที่ 165 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร

 

อย่างไรก็ตาม จะเห็นว่า 3 เดือนที่อากาศเลวร้ายที่สุดในปี 2567 เป็นเดือนในช่วงต้นปีเช่นเดิม ดังเช่นปี 2566 ที่พบว่าในเดือนเมษายน มีนาคม และกุมภาพันธ์, ปี 2565 ที่พบในเดือนธันวาคม มกราคม และเมษายน, ปี 2564 และ 2563 ที่พบในเดือนธันวาคม มกราคม และกุมภาพันธ์ 

 

เดือนสิงหาคมอากาศดีที่สุดในปี 2567

 

เดือนที่มีอากาศดีที่สุดในปี 2567 คือเดือนสิงหาคม ซึ่งเป็นเดือนที่มีค่าเฉลี่ยฝุ่น PM2.5 ซึ่งเป็นค่ามาตรฐานเฉลี่ย 24 ชั่วโมงทั้งเดือนต่ำที่สุดเมื่อเทียบกับเดือนอื่นคือ 53.13 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร โดยมีวันที่อยู่ในเกณฑ์สีเขียวที่ถือว่าอากาศดี 8 วัน มีวันที่อากาศอยู่ในเกณฑ์สีเหลือง คุณภาพอากาศปานกลาง 23 วัน ซึ่งถึงแม้จะมีวันที่มีอากาศสีเขียวเพียงแค่ 4 วัน แต่เนื่องจากค่าเฉลี่ยในวันที่ 23 สิงหาคม คือ 11 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร และวันที่ 22 สิงหาคม คือ 13 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร ซึ่งเป็นค่าเฉลี่ยอากาศที่ต่ำมาก ทำให้จำนวนค่าเฉลี่ยทั้งเดือนต่ำไปด้วย จึงได้แชมป์เดือนที่อากาศดีที่สุดของปีไปครอง

 

รองลงมาคือเดือนกรกฎาคม 2567 ซึ่งเป็นเดือนที่มีค่าเฉลี่ยฝุ่น PM2.5 ซึ่งเป็นค่ามาตรฐานเฉลี่ย 24 ชั่วโมง คือ 53.16 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร โดยมีวันที่อยู่ในเกณฑ์สีเขียวที่ถือว่าอากาศดี 11 วัน มีวันที่อากาศอยู่ในเกณฑ์สีเหลือง คุณภาพอากาศปานกลาง 20 วัน 

 

ตามมาด้วยเดือนมิถุนายน 2567 มีวันที่อยู่ในเกณฑ์สีเขียวที่ถือว่าอากาศดี 12 วัน มีวันที่อากาศอยู่ในเกณฑ์สีเหลือง คุณภาพอากาศปานกลาง 30 วัน ทั้งนี้ เดือนสิงหาคม กรกฎาคม และมิถุนายน ซึ่งเป็น 3 เดือนที่อากาศดีที่สุดนั้น ไม่พบวันที่มีอากาศอยู่ในเกณฑ์สีส้มและแดงเลย ในขณะที่วันที่อากาศดีที่สุดในปี 2567 คือวันที่ 23 สิงหาคม 2567 มีค่าเฉลี่ยฝุ่น PM2.5 ซึ่งเป็นค่ามาตรฐานเฉลี่ย 24 ชั่วโมง อยู่ที่ 11 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร ขณะที่วันที่อากาศดีที่สุดในปี 2566 คือวันที่ 16 กันยายน โดยมีค่าเฉลี่ยฝุ่น PM2.5 ซึ่งเป็นค่ามาตรฐานเฉลี่ย 24 ชั่วโมง อยู่ที่ 20 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร

 

อย่างไรก็ตาม ค่าฝุ่นในแต่ละวันตามสถิติจากเว็บไซต์ World Air Quality Index เป็นค่ามาตรฐานเฉลี่ย 24 ชั่วโมง จึงอาจเป็นไปได้ว่าในวันหนึ่งอาจจะมีบางเขตของกรุงเทพฯ ที่มีค่าฝุ่นสูงกว่าค่าเฉลี่ยและมีบางเขตที่มีค่าฝุ่นต่ำกว่าเฉลี่ย หรือแม้กระทั่งมีค่าฝุ่นอยู่ในปริมาณที่ใกล้เคียงกันในทุกๆ เขต

 

ถ้าค่าฝุ่น PM2.5 22 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร = บุหรี่ 1 มวน ปี 2567 คนกรุงเทพฯ สูบบุหรี่ไปกี่มวน?

 

จากงานของ Richard A. Muller นักวิจัยชาวอเมริกันจากสถาบันวิจัยสภาพอากาศ Berkeley Earth แห่ง University of California, Berkeley ซึ่งคำนวณเปรียบเทียบปริมาณฝุ่นละอองขนาดเล็กที่ทำให้เกิดมลพิษทางอากาศ หรือ PM2.5 กับปริมาณการสูบบุหรี่ พบว่า ค่าฝุ่น PM2.5 22 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร เทียบได้กับการสูบบุหรี่ 1 มวน ซึ่งหากนำค่าฝุ่นแบบค่ามาตรฐานเฉลี่ย 24 ชั่วโมงในแต่ละวันของปี 2567 มาคำนวณเปรียบเทียบตามเกณฑ์ของ Richard A. Muller จะพบว่า

 

ในปี 2567 คนกรุงเทพฯ สูดดมฝุ่นพิษ PM2.5 เทียบเท่าการสูบบุหรี่ทั้งหมด 1,297.14 มวน ลดลงจากปี 2566 ที่มีจำนวน 1,370.09 มวน ถึง 81.95 มวน หรือคิดเป็น 4.09 ซอง แต่ก็ยังมากกว่าปี 2565 ที่มีจำนวน 1,224.77 มวน และปี 2564 ที่มีจำนวน 1,261.05 มวน

 

สำหรับเดือนที่มีอากาศเลวร้ายที่สุดในปี 2567 อย่างเดือนมกราคม คนกรุงเทพฯ สูดดมฝุ่นพิษ PM2.5 เทียบเท่าการสูบบุหรี่จำนวน 168.91 มวน คิดเป็นเฉลี่ยวันละ 5.45 มวน ซึ่งมีจำนวนของมวนเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับเดือนที่มีอากาศเลวร้ายที่สุดในปี 2566 อย่างเดือนเมษายนที่มีจำนวน 157.45 มวน หรือเฉลี่ยวันละ 5.24 มวน 

 

หรือในเดือนที่อากาศดีที่สุดในปี 2567 อย่างเดือนสิงหาคม คนกรุงเทพฯ ก็ยังสูดดมฝุ่นพิษ PM2.5 เทียบเท่าการสูบบุหรี่จำนวน 74.86 มวน เฉลี่ยวันละ 2.41 มวน อย่างไรก็ตาม ก็ยังไม่ถือว่าลดลงเมื่อเทียบกับเดือนที่อากาศดีที่สุดในปี 2566 อย่างเดือนสิงหาคมที่มีจำนวน 70.14 มวน เฉลี่ยวันละ 2.33 มวน 

 

การแก้ไขปัญหาฝุ่น PM2.5 ในปี 2567 

 

ปัญหา PM2.5 นับเป็นปัญหาซ้ำซากที่เกิดขึ้นมาเป็นระยะเวลานาน โดยเฉพาะพื้นที่ 17 จังหวัดภาคเหนือ รวมทั้งกรุงเทพมหานครและปริมณฑล จะมีแนวโน้มสูงขึ้นในช่วงต้นปีและปลายปีทุกปี ส่งผลกระทบต่อปัญหาสุขภาพของประชาชนชาวไทย รัฐบาลเคยมีมติให้ ‘การแก้ไขปัญหามลภาวะด้านฝุ่นละอองเป็นวาระแห่งชาติในปี 2562 

 

โดยในแผนวาระฝุ่นแห่งชาตินั้นมีการกำหนดตัวชี้วัดไว้ 3 ข้อด้วยกัน คือ

 

  1. จำนวนวันที่ปริมาณฝุ่นละอองอยู่ในเกณฑ์มาตรฐานเพิ่มขึ้น 
  2. จำนวนจุดความร้อน (Hotspot) ภายในประเทศลดลง 
  3. จำนวนผู้ป่วยด้วยโรคระบบทางเดินหายใจ (ที่เกี่ยวข้องกับมลพิษทางอากาศ) ลดลง 

 

ในขณะที่ในปี 2566 เกิดเหตุการณ์ไฟไหม้ป่าที่ภาคเหนืออย่างรุนแรง ส่งผลให้ประเด็นเรื่อง PM2.5 กลับมาเป็นที่พูดถึงและถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนักอีกครั้ง ในเดือนธันวาคม 2566 ในยุครัฐบาล เศรษฐา ทวีสิน กรมควบคุมมลพิษ กระทรวงทรัพยากรและสิ่งแวดล้อม จึงได้ออกมาตรการแก้ไขปัญหาฝุ่นพิษ PM2.5 ปี 2567 โดยกำหนดเป้าหมายเพื่อลดฝุ่น PM2.5 ในปี 2567 ดังนี้ 

 

1. 17 จังหวัดในภาคเหนือต้องดำเนินการลดการเผาในพื้นที่ป่าอนุรักษ์ 10 แห่ง และป่าสงวนแห่งชาติทั้ง 10 แห่ง ลงให้ได้ 50% เมื่อเทียบกับปีก่อน

 

จากข้อมูลพื้นที่เผาไหม้ (Burn Scar) โดยสำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) หรือ GISTDA ระหว่างเดือนมกราคม-พฤษภาคม 2566 และเดือนมกราคม-พฤษภาคม 2567 พบว่า ในปี 2566 นั้น 17 จังหวัดในภาคเหนือมีพื้นที่เผาในป่าสงวนแห่งชาติ 3,731,468.34 ไร่ ส่วนปี 2567 เกิดการเผาในป่าสงวนแห่งชาติ 3,819,335.70 ไร่ หรือมีการเผาในพื้นที่ป่าสงวนเพิ่มขึ้น 87,867.363 ไร่ หรือคิดเป็นเพิ่มขึ้น 2.35% จึงถือว่าเป้าหมายในส่วนนี้ไม่ประสบความสำเร็จ

 

ในส่วนของป่าอนุรักษ์นั้นพบว่า ในปี 2566 พื้นที่ป่าอนุรักษ์ใน 17 จังหวัดภาคเหนือเกิดการเผา 3,952,486.113 ไร่ ส่วนปี 2567 เกิดการเผา 3,382,162.591 ไร่ หรือมีการเผาในป่าอนุรักษ์ใน 17 จังหวัดภาคเหนือลดลง 570,323.522 หรือคิดเป็นลดลง 14.43% แม้พื้นที่เผาไหม้ในป่าอนุรักษ์จะลดลง แต่เมื่อเทียบกับเป้าหมายของรัฐบาลที่ตั้งเป้าลดการเผาลง 50% นั้นก็ถือว่ายังไม่ประสบความสำเร็จเช่นเดียวกัน 

 

ดังนั้นเป้าหมายลดการเผาในพื้นที่ป่าอนุรักษ์ 10 แห่ง และป่าสงวนแห่งชาติทั้ง 10 แห่ง ลงให้ได้ 50% ในพื้นที่ 17 จังหวัดภาคเหนือจึงไม่บรรลุผล

 

2. การเผาในพื้นที่เกษตรกรรมใน 17 จังหวัดภาคเหนือต้องลดลง 50% 

 

เมื่อตรวจสอบการเผาในพื้นที่เกษตรกรรมใน 17 จังหวัดภาคเหนือของปี 2566 พบว่า มีพื้นที่การเผา 1,206,204.498 ไร่ ขณะที่ปี 2567 มีการเผา 1,609,633.09 ไร่ หรือมีการเผาในพื้นที่เกษตรกรรมเพิ่มขึ้น 403,428.59 ไร่ หรือคิดเป็นเพิ่มขึ้น 33.45% ซึ่งถือว่าไม่สามารถทำตามเป้าได้

 

ดังนั้นเป้าหมายลดการเผาในพื้นที่เกษตรกรรมใน 17 จังหวัดภาคเหนือลง 50% จึงถือว่าไม่บรรลุผล

 

3. การเผาในพื้นที่ป่าอนุรักษ์และป่าสงวนแห่งชาตินอกเหนือจากพื้นที่ 17 จังหวัดภาคเหนือต้องลดลง 20%

 

สำหรับพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาตินอกเหนือจากพื้นที่ 17 จังหวัดภาคเหนือ พบว่า ปี 2566 มีการเผา 240,720.83 ไร่ ขณะที่ปี 2567 มีการเผาสูงถึง 1,020,301.16 ไร่ หรือพื้นที่ป่าสงวนนอกเหนือจากพื้นที่ 17 จังหวัดภาคเหนือมีการเผาเพิ่มขึ้น 779,580.33 ไร่ หรือคิดเป็นเพิ่มขึ้น 323.85% 

 

ส่วนพื้นที่ป่าอนุรักษ์พบว่า ในปี 2566 มีพื้นที่เผาเกิดขึ้น 463,572.441 ไร่ และปี 2567 มีพื้นที่เผา 999,132.12 ไร่ หรือพื้นที่ป่าอนุรักษ์นอกเหนือจากพื้นที่ 17 จังหวัดภาคเหนือมีการเผาเพิ่มขึ้นถึง 535,559.679 ไร่ หรือคิดเป็นเพิ่มขึ้น 115.53% 

 

ดังนั้นเป้าหมายลดการเผาในพื้นที่ป่าอนุรักษ์และป่าสงวนแห่งชาตินอกเหนือจากพื้นที่ 17 จังหวัดภาคเหนือลง 20% จึงถือว่าไม่บรรลุผล

 

4. พื้นที่เกษตรกรรมนอกเหนือจาก 17 จังหวัดภาคเหนือต้องลดการเผาลง 10%

 

พื้นที่เกษตรกรรมนอกเหนือจาก 17 จังหวัดภาคเหนือพบว่า ในปี 2566 มีการเผา 495,733.499 ไร่ ส่วนปี 2567 มีการเผา 4,851,424.91 ไร่ หรือมีการเผาในพื้นที่เกษตรนอกเหนือจาก 17 จังหวัดภาคเหนือเพิ่มขึ้น 4,355,691.411 ไร่ หรือคิดเป็นเพิ่มขึ้น 878.64% 

 

ดังนั้นเป้าหมายลดการเผาในพื้นที่เกษตรนอกเหนือจาก 17 จังหวัดภาคเหนือลง 20% จึงถือว่าไม่บรรลุผล

 

5. ค่าเฉลี่ยของฝุ่นควัน PM2.5 ในภาคเหนือจะต้องลดลง 40% กรุงเทพมหานครและปริมณฑลลดลง 20% ภาคตะวันออกเฉียงเหนือต้องลดลง 10% และภาคกลางลดลง 10%

 

จากรายงานสถานการณ์มลพิษของประเทศไทยประจำปี 2566 โดยกรมควบคุมมลพิษ พบว่า คุณภาพอากาศในพื้นที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑลมีค่าเฉลี่ยฝุ่น PM2.5 อยู่ที่ 33 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร ในขณะที่ภาคเหนือมีค่าเฉลี่ย PM2.5 อยู่ที่ 62 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร ส่วนภาคตะวันออกเฉียงเหนือนั้นมีค่าเฉลี่ยฝุ่น PM2.5 อยู่ที่ 41 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร ส่วนของภาคกลางมีค่าเฉลี่ยฝุ่น PM2.5 อยู่ที่ 34 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร 

 

อย่างไรก็ตาม ข้อมูลค่าเฉลี่ยฝุ่น PM2.5 ในปี 2567 นั้นยังไม่ปรากฏว่ามีการทำรายงานออกมา จึงยังไม่สามารถประเมินผลความสำเร็จของเป้าหมายในส่วนนี้ได้ว่าบรรลุผลหรือไม่ 

 

6. จำนวนวันที่มีฝุ่นควันเกินค่ามาตรฐานกำหนด ในภาคเหนือต้องลดลง 30% กรุงเทพมหานครและปริมณฑลลดลง 5% ภาคตะวันออกเฉียงเหนือลดลง 5% และภาคกลาง 10%

 

จากรายงานสรุปสถานการณ์และผลการดำเนินงานด้านการแพทย์และสาธารณสุขกรณีฝุ่น PM2.5 ในปี 2566 กระทรวงสาธารณสุขพบว่า ในปี 2566 มีจำนวนวันที่มีฝุ่นควันเกินค่ามาตรฐานกำหนดในภาคเหนือ 93 วัน กรุงเทพมหานครและปริมณฑลอยู่ที่ 52 วัน ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 95 วัน และภาคกลาง 73 วัน 

 

อย่างไรก็ตาม จำนวนวันที่มีฝุ่นควันเกินค่ามาตรฐานกำหนดในปี 2567 นั้นยังไม่ปรากฏการทำรายงานออกมา จึงยังไม่สามารถประเมินผลความสำเร็จของเป้าหมายในส่วนนี้ได้ว่าบรรลุผลหรือไม่ 

 

ปี 2567 การลดฝุ่น PM2.5 ไม่ประสบความสำเร็จ แล้วปี 2568 เป็นอย่างไร 

 

สำหรับรัฐบาล แพทองธาร ชินวัตร กับการกำหนดแนวทางแก้ไขปัญหาเรื่อง PM2.5 ในปี 2568 พบว่า เมื่อวันที่ 10 มกราคม 2568 นายกรัฐมนตรีมีข้อสั่งการเร่งด่วนในที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) คือเรื่องมาตรการป้องกันและแก้ไขปัญหาฝุ่น PM2.5 โดยมีเป้าหมายต้องลดให้ได้มากกว่าปีที่ผ่านมา และมีข้อสั่งการให้แต่ละกระทรวงรับผิดชอบ โดยเฉพาะมาตรการเกี่ยวกับพืชผลทางการเกษตรที่มีการเผา 

 

มาตรการด้านการเกษตร

 

กำหนดให้กระทรวงอุตสาหกรรมเร่งกำหนดมาตรการ เพื่อให้ผู้ประกอบการงดการรับซื้ออ้อยไฟไหม้ รวมทั้งพืชเกษตรอื่นๆ ที่ผ่านการเผา บังคับใช้กฎหมายอย่างเข้มงวดกับผู้เผาป่า เผาตอซังข้าว ข้าวโพด อ้อย และพืชอื่นๆ รวมทั้งประกาศกำหนดเขตควบคุมมลพิษ กรมศุลกากรตรวจสอบการลักลอบการนำเข้าพืชที่ผ่านการเผาทุกชนิดตามแนวชายแดนต่างๆ อย่างเข้มงวด 

 

อย่างไรก็ตาม นโยบายการแก้ปัญหาเรื่องอ้อยไฟไหม้ จากข้อมูลการรับอ้อยเข้าหีบในปีหีบ 2567/68 เมื่อวันที่ 12 มกราคม 2568 พบว่า มีอ้อยไฟไหม้เข้าหีบไปแล้ว 5,592,524.900 ตัน แม้ว่ารัฐบาลจะออกมาตรการเพิ่มรายได้จากใบและยอดอ้อย การให้เงินสนับสนุนการรับซื้อใบและยอดอ้อย เพื่อเป็นวัตถุดิบด้านพลังงานป้อนโรงงานผลิตไฟฟ้าชีวมวล รวมไปถึงนโยบายเพื่อขอรับการสนับสนุนจากรัฐบาลเพิ่มเติม ทั้งในรูปแบบที่เป็นมาตรการสนับสนุนเครื่องจักรกลการเกษตร (In Kind) และในรูปแบบเงินช่วยเหลือ (In Cash) เพื่อสนับสนุนชาวไร่อ้อยที่เก็บเกี่ยวอ้อยสดและคุณภาพดีส่งโรงงาน ให้มีรายได้เพิ่มและเพียงพอต่อค่าใช้จ่ายในการลงทุนเพื่อเก็บเกี่ยวอ้อยสดก็ตาม

 

มาตรการด้านขนส่งและการก่อสร้าง

 

มีนโยบายให้กระทรวงคมนาคมและสำนักงานตำรวจแห่งชาติตรวจสอบและห้ามใช้ยานพาหนะที่ปล่อยควันดำเกินมาตรฐานอย่างจริงจัง โดยเฉพาะรถกระบะ รถโดยสาร และรถบรรทุกขนาดใหญ่ ที่ปล่อยควันดำ รวมทั้งรถขนส่งมวลชนของ ขสมก. และรถร่วมบริการเส้นทางต่างๆ ที่อยู่ในความดูแลของรัฐ ด้านการก่อสร้างยังคงมีนโยบายคล้ายเดิม กล่าวคือให้หน่วยงานรับผิดชอบควบคุมการก่อสร้างป้องกันการปล่อย PM2.5 จากไซต์งานก่อสร้าง รวมทั้งบังคับใช้กฎหมายอย่างเคร่งครัด

 

มาตรการด้านฝุ่นละอองและจุดความร้อน

 

รัฐบาลมีมติให้กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมร่วมกับกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม รวมทั้งกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม พัฒนาแพลตฟอร์มฐานข้อมูลกลางเกี่ยวกับจุดความร้อน (Hotspot) และระบบระบายอากาศ (Ventilation) โดยใช้ข้อมูลจากดาวเทียม หรือ Low-Cost Sensors เพื่อให้หน่วยงานต่างๆ นำไปใช้ในการแก้ปัญหาการฟุ้งกระจายของ PM2.5 

 

มาตรการด้านหมอกควันข้ามพรมแดน

 

รัฐบาลมีนโยบายให้กระทรวงการต่างประเทศหารือกับประเทศเพื่อนบ้าน เพื่อร่วมมือและให้ความช่วยเหลือในการลดปัญหาฝุ่นควันข้ามพรมแดนภายใต้ยุทธศาสตร์ฟ้าใส (CLEAR Sky Strategy) และยังมีแนวความคิดควบคุมการนำเข้าและไม่รับซื้อสินค้าเกษตรที่มาจากการเผา โดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ 

 

มาตรการการเฝ้าระวังและบูรณาการด้านข้อมูล

 

มีการกำหนดให้เฝ้าระวังสถานการณ์ฝุ่นละออง PM2.5 และการคาดการณ์ในอนาคต โดยอธิบดีกรมควบคุมมลพิษ การเฝ้าระวังและเตือนภัยฝุ่นละออง PM2.5 โดยกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ซึ่งใช้เทคโนโลยีในการตรวจจับจุดความร้อน โดยผู้อำนวยการสำนักงานเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ รวมไปถึงการปฏิบัติการและการควบคุมไฟป่า 14 กลุ่มป่า โดยอธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช อีกทั้งยังมีการสนับสนุนกำลังพล ยุทโธปกรณ์ และเครื่องมือในการป้องกันและแก้ไขปัญหาไฟป่า โดยแม่ทัพภาคที่ 3 อีกด้วย

 

นอกจากนี้ในส่วนของร่าง พ.ร.บ.อากาศสะอาด ยังอยู่ในระหว่างการพิจารณาของสภา ซึ่งคาดว่าจะเสร็จสิ้นและมีการประกาศใช้ในปี 2568

 

แล้ว กทม. มีมาตรการอะไรบ้างในปี 2568

 

สำหรับกรุงเทพมหานคร มีการนำเสนอ (ร่าง) แผนปฏิบัติการแก้ไขปัญหาฝุ่นละออง PM2.5 ในพื้นที่กรุงเทพมหานคร 2568 ภายใต้แผนปฏิบัติการขับเคลื่อนวาระแห่งชาติ ‘การแก้ไขปัญหามลพิษด้านฝุ่นละออง’ แบ่งออกเป็นมาตรการดำเนินการตลอดทั้งปี มาตรการดำเนินการเมื่อสถานการณ์ฝุ่นละออง PM2.5 มีค่าเกินเกณฑ์มาตรฐานที่กำหนดไว้ 37.5 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร และมาตรการระยะยาว โดยมีรายละเอียด ดังนี้

 

มาตรการดำเนินการตลอดทั้งปี

 

  1. พยากรณ์ แจ้งเตือนป้องกันฝุ่น: การแจ้งเตือนค่าฝุ่นละอองในพื้นที่สาธารณะ ทั้งป้ายประชาสัมพันธ์บริเวณสี่แยก ธงคุณภาพอากาศในโรงเรียนสังกัดกรุงเทพมหานคร 437 แห่ง โรงพยาบาลในสังกัดกรุงเทพมหานครจำนวน 11 แห่ง สวนสาธารณะของกรุงเทพมหานครจำนวน 39 แห่ง ชุมชนที่จดทะเบียนจำนวน 2,017 ชุมชน รวมไปถึงเว็บไซต์แอปพลิเคชัน AirBKK, Air4Thai เฟซบุ๊ก, แอปพลิเคชัน LINE, ป้ายจราจรอัจฉริยะของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ และ Traffy Fondue

 

  1. ขยายระบบการติดตามและแจ้งเตือนฝุ่นระดับแขวง 1,000 จุด (ปัจจุบัน 732 จุด): ขอความร่วมมือผู้ประกอบการและส่งเสริมสถานศึกษาติดตั้งเซ็นเซอร์ตรวจวัดฝุ่นละออง PM2.5 ประกอบด้วย สถานที่ก่อสร้างจำนวน 100 แห่ง สถานศึกษาให้ครอบคลุมโรงเรียนในสังกัดกรุงเทพมหานครจำนวน 437 โรงเรียน

 

  1. จัดทีม ‘นักสืบฝุ่น’ และศึกษาต้นตอฝุ่นละออง PM2.5

 

  1. ตรวจจับควันดำจากต้นตอ: การตรวจสอบสถานที่และการตรวจวัดควันดำรถบรรทุกอย่างน้อยแห่งละ 2 ครั้งต่อเดือน ทั้งสถานที่ก่อสร้างหรือไซต์ก่อสร้างขนาดใหญ่ที่อนุญาตก่อสร้างโดยสำนักการโยธา ได้แก่ โครงการก่อสร้างทาง, โครงการก่อสร้างอาคารราชการในสังกัดกรุงเทพมหานคร, โครงการก่อสร้างอาคาร, โครงการก่อสร้างที่อนุญาตโดยสำนักงานเขต, สถานประกอบการหรือโรงงานอุตสาหกรรม, สถานีขนส่ง, อู่รถเมล์, ท่าปล่อยรถสองแถว, บริษัทขนส่ง, บริษัทรถบรรทุก, ท่ารถตู้โดยสารสาธารณะ, รถโดยสารสาธารณะประจำทาง, รถโดยสารไม่ประจำทาง และรถบรรทุกใช้งานในแพลนต์ปูน หากมีค่าควันดำไม่เกินเกณฑ์มาตรฐาน จะมอบสติกเกอร์สำหรับใช้เข้า-ออกแพลนต์ปูนหรือสถานที่ก่อสร้างในพื้นที่กรุงเทพมหานคร

 

  1. สนับสนุนให้เกิด Ecosystem รถพลังงานไฟฟ้า: ส่งเสริมการดัดแปลงรถราชการในสังกัดกรุงเทพมหานคร ประเภทเครื่องยนต์ดีเซล เป็นรถยนต์ไฟฟ้า จัดทำหลักสูตรดัดแปลงรถจักรยานยนต์เป็นเครื่องยนต์ไฟฟ้า และหลักสูตรดัดแปลงรถยนต์เป็นเครื่องยนต์ไฟฟ้า ส่งเสริมการติดตั้งสถานีชาร์จรถไฟฟ้า จัดหารถเก็บขนมูลฝอยให้เป็นรถพลังงานไฟฟ้าแทนเครื่องยนต์ดีเซล

 

  1. ลดปริมาณการใช้รถยนต์ส่วนบุคคลในชั่วโมงเร่งด่วน (Low Emission Zone): ให้บริการ Shuttle bus จำนวน 4 เส้นทาง ได้แก่ สาย B2 ดินแดง – BTS สถานีสนามเป้า, สาย B3 ชุมชนเคหะร่มเกล้า – ARL สถานีลาดกระบัง, สายสามเสน-ฝั่งธนบุรี และบริการท่องเที่ยว 4 ตลาดน้ำ ขยายผลการดำเนินงานเขตควบคุมมลพิษต่ำ (Low Emission Zone) ไปอีก 5 เขต

 

  1. การตรวจสอบคุณภาพอากาศเชิงรุกในโรงงาน: ตรวจกำกับโรงงาน โดยเฉพาะอย่างยิ่งโรงงานที่มีการเผาไหม้เชื้อเพลิงและโรงงานที่มีฝุ่นละอองสูงในพื้นที่กรุงเทพมหานคร จำนวน 260 แห่ง อย่างน้อยแห่งละ 2 ครั้งต่อเดือน ทั้งกิจการผสมซีเมนต์จำนวน 124 แห่ง กิจการหลอมโลหะจำนวน 74 แห่ง กิจการที่มีการใช้หม้อไอน้ำจำนวน 101 แห่ง ให้คำแนะนำและกำกับดูแลเจ้าหน้าที่ฌาปนกิจศพในวัดและฌาปนสถานจำนวน 308 แห่ง ให้ปฏิบัติตามขั้นตอนที่ถูกต้องตามหลักวิชาการ

 

  1. การก่อสร้าง: กำกับดูแลผู้รับเหมาก่อสร้างในแต่ละโครงการที่อยู่ภายใต้สัญญา ให้ปฏิบัติตามมาตรการที่กำหนดไว้ในรายงาน EIA ดำเนินการตามกฎหมายกับผู้ขออนุญาตก่อสร้างที่ไม่ปฏิบัติตามเงื่อนไขท้ายใบอนุญาตก่อสร้างของโครงการก่อสร้างที่ขออนุญาตที่สำนักการโยธาและสำนักงานเขต

 

  1. การควบคุมการเผาในที่โล่ง: ส่งเสริมให้เกษตรกรใช้จุลินทรีย์ย่อยสลายตอซังและฟางข้าวแทนวิธีการเผา รณรงค์ให้เกษตรกรในพื้นที่ทำนาของกรุงเทพมหานครลดการเผาตอซังข้าวและวัสดุทางการเกษตร ติดตามผลการทำเกษตรปลอดการเผา 100% ในพื้นที่เขตลาดกระบัง เขตหนองจอก และเขตคลองสามวา ให้บริการรถอัดฟางแก่เกษตรกรจำนวน 3 คัน เพื่อลดการเผาตอซังข้าว 

 

มีช่องทางกลุ่ม LINE: Monitor Open Burning เพื่อเฝ้าระวังและติดตามพื้นที่เสี่ยงการเผา ติดตามและเฝ้าระวังจุดความร้อนจากการเผาในที่โล่งหรือพื้นที่การเกษตรในกรุงเทพมหานครและปริมณฑลบนเว็บไซต์ของ GISTDA และควบคุมแก้ไขปัญหาการเผา โดยประสานหน่วยงานรับผิดชอบหลักในพื้นที่เกิดเหตุเข้าระงับเหตุ 

 

  1. การป้องกันและดูแลสุขภาพประชาชน: จัดทำห้องปลอดฝุ่น ประกอบด้วย โรงเรียนในสังกัดกรุงเทพมหานครจำนวน 429 แห่ง (กลุ่มเปราะบาง นักเรียนระดับอนุบาล อายุ 2-6 ปี) ศูนย์พัฒนาเด็กเล็กในสังกัดกรุงเทพมหานครจำนวน 274 แห่ง โรงพยาบาลในสังกัดกรุงเทพมหานครจำนวน 11 แห่ง ห้องปลอดฝุ่นในชุมชน โดยมีต้นแบบ ณ ชุมชนคลองลัดภาชี เขตภาษีเจริญ ขยายผลห้องเรียนสู้ฝุ่นครอบคลุมโรงเรียนสังกัดกรุงเทพมหานครทั้ง 437 โรงเรียน

 

  1. การพัฒนาพื้นที่ปลอดฝุ่น (BKK Clean Air Area) ด้วยต้นไม้ สำหรับพื้นที่เปิดด้วยเครื่องฟอกอากาศสำหรับพื้นที่ปิด 

 

จัดให้มีกำแพงต้นไม้กรองฝุ่น เผยแพร่ประชาสัมพันธ์การทำเครื่องฟอกอากาศแบบ DIY โดยโรงเรียนฝึกอาชีพกรุงเทพมหานคร เพิ่มพื้นที่สีเขียวในกรุงเทพมหานครตามแนวรถไฟฟ้าหรือแผนการศึกษา เช่น ปลูกต้นไม้ล้านต้น สวน 15 นาที และถนนสวย ล้างและดูดฝุ่นถนน รวมถึงล้างต้นไม้-ใบไม้ทุกวัน เพื่อดักจับฝุ่นละอองและเพิ่มความชื้นในอากาศ ล้างทำความสะอาดจุดสัมผัส และขยายเวลาเปิด-ปิดสวนสาธารณะ

 

ในขณะที่มาตรการดำเนินการเมื่อสถานการณ์ฝุ่นละออง PM2.5 มีค่าเกินเกณฑ์มาตรฐานที่กำหนดไว้ 37.5 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร ก็จะคล้ายกันกับมาตรการทั้งปี แต่จะมีความเข้มข้นมากขึ้น เช่น สถานศึกษาสามารถสั่งปิดการเรียนการสอนได้ หรือมีหน่วยบริการสาธารณสุขและหน่วยแพทย์เคลื่อนที่ออกตรวจจำนวน 69 หน่วย เพื่อให้บริการตรวจรักษาโรคและให้คำแนะนำในการป้องกันสุขภาพจากฝุ่นละออง PM2.5 หรือหากเกิน 75 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตรขึ้นไปก็จะมีการพิจารณาขยายพื้นที่ในการจำกัดเวลารถบรรทุกขนาดใหญ่เข้าพื้นที่กรุงเทพมหานคร หรือขอความร่วมมือให้ Work from Home และถ้าเกิน 150 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตรขึ้นไปติดต่อกัน 5 วัน ก็จะประกาศเขตการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉินในกรณีฝุ่นละอองขนาดเล็ก (PM2.5)

 

ส่วนมาตรการระยะยาวนั้นก็คล้ายกันกับมาตรการทั้งปี แต่เป็นเพียงกรอบมาตรการกว้างๆ โดยมีส่วนที่แตกต่างคือการกำหนดและบังคับใช้มาตรฐานการระบายมลพิษจากรถยนต์ใหม่ตาม EURO 6

 

ดูข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่: https://rocketmedialab.co/database-bkk-pm25

 

หมายเหตุ:

  • อ้างอิงข้อมูลสถิติจากเว็บไซต์ World Air Quality Index ซึ่งค่าฝุ่นเป็นค่ามาตรฐานเฉลี่ย 24 ชั่วโมง: https://aqicn.org/city/chiang-mai
  • ค่าฝุ่นในแต่ละวันตามสถิติจากเว็บไซต์ World Air Quality Index เป็นค่ามาตรฐานเฉลี่ย 24 ชั่วโมง จึงอาจเป็นไปได้ว่าในวันหนึ่งอาจมีบางเขตของกรุงเทพฯ ที่มีค่าฝุ่นสูงกว่าค่าเฉลี่ย และมีบางเขตที่มีค่าฝุ่นต่ำกว่าเฉลี่ย หรือแม้กระทั่งมีค่าฝุ่นอยู่ในปริมาณที่ใกล้เคียงกันในทุกๆ เขต 
  • PM2.5 เทียบกับบุหรี่: http://berkeleyearth.org/air-pollution-and-cigarette-equivalence
  • อ้างอิงข้อมูลจุดความร้อนจากสำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) หรือ GISTDA 
  • อ้างอิงมาตรการแก้ไขปัญหาฝุ่นพิษ PM2.5 ปี 2567 และกลไกการบริหารจัดการ จากการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) วันที่ 19 ธันวาคม 2566: https://www.thaigov.go.th/news/contents/details/76368
  • ค่าปกติของฝน หมายถึงค่าเฉลี่ยคาบ 30 ปีระหว่างปี 2534-2563 ประมาณค่าฝนเชิงพื้นที่ด้วยวิธี Inverse Distance Weighting (IDW) โดยใช้ข้อมูลจากสถานีตรวจอากาศ กรมอุตุนิยมวิทยา
  • LOADING...

READ MORE






Latest Stories

Close Advertising