×

คุยกับหมอจเด็จ ผู้ดูแล ‘บัตรทอง’ ยอมรับ ‘ทัวร์ลง’ ทั้งปี มองเป็นข้อดี สะท้อนประชาชนตื่นตัว

20.01.2025
  • LOADING...

โครงการ 30 บาทรักษาทุกโรค หรือบัตรทอง ดูแลโดยสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) เริ่มต้นปี 2545 ยุครัฐบาลพรรคไทยรักไทย ท่ามกลางกระแสต่อต้านรุนแรงตั้งแต่แรก

 

ปัจจุบันผ่านมา 23 ปี ทำงานกับนายกรัฐมนตรี 9 คนโครงการนี้ยังอยู่ เป็นโครงการที่มาคู่กับข่าวร้อนแรงเป็นระยะ เนื่องจากโดยโครงสร้างแล้ว ‘บัตรทอง’ มีความใกล้ชิดกับการเมืองมากกว่าอีก 2 กองทุนใหญ่ คือ สวัสดิการรักษาพยาบาลข้าราชการที่ดูแลโดยกรมบัญชีกลาง กระทรวงการคลัง และกองทุนประกันสังคม ที่ดูแลโดยสำนักงานประกันสังคม กระทรวงแรงงาน มีปลัดกระทรวงเป็นประธานคณะกรรมการ หรือประธานบอร์ด

 

ขณะที่บัตรทองมีประธานคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ หรือประธานบอร์ด เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ไม่ว่ารัฐมนตรีว่าการสาธารณสุขจะมาจากรัฐบาลใด อุดมการณ์ทางการเมืองแบบไหน ก็ต้องเข้ามามีส่วนร่วมโดยตำแหน่ง

 

หากมองจากมุมของประชาชนผู้รับบริการด้านสาธารณสุข จึงเห็นความเคลื่อนไหวจากบัตรทองไม่หยุดหย่อน พร้อมเกิดข้อถกเถียงไม่หยุดนิ่ง สร้างการรับรู้แก่ประชาชนไม่ว่าจะเห็นด้วยหรือเห็นต่าง 

 

THE STANDARD สัมภาษณ์ นพ.จเด็จ ธรรมธัชอารี เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ผู้อยู่ในองค์กรแห่งนี้ตั้งแต่ยุคบุกเบิก โดย สปสช. มีเลขาธิการคนแรกคือ นพ.สงวน นิตยารัมภ์พงศ์ หนึ่งในบุคคลสำคัญผู้ผลักดันโครงการ 

 

 

ข้อกล่าวหา ‘คอมมิวนิสต์’ ก็เคยมีตั้งแต่ยุคเริ่มต้น 

 

นพ.จเด็จ: วันแรกที่มี สปสช. เมื่อปี 2545 ก็มีคุณหมอจำนวนหนึ่งสวมปลอกแขนดำแล้วประท้วงว่าระบบนี้เป็นระบบ ‘คอมมิวนิสต์’ เป็นโซเชียลลิสต์ เป็นสังคมนิยม ตอนนั้นผมก็ทำงานที่ สปสช. เป็นผู้อำนวยการสำนักบริหารทั่วไป ผมก็อยู่ในเหตุการณ์ ผมทำงานกับหมอสงวน เคยทำงานด้วยกันมาจากกระทรวงสาธารณสุข เราก็เห็นเหตุการณ์ต่างๆ 

 

ในอังกฤษก็เคยมี ในปีที่เขามีหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ตอนรัฐบาลพรรคเลเบอร์ขึ้นมาก็มีเหตุการณ์ที่หมอประท้วงเช่นกัน จนกระทั่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขสมัยนั้นต้องไปพบนายกสมาคมแพทย์ที่เกษียณไปแล้ว เป็นผู้อาวุโส ท่านออกมาสนับสนุน National Health Service (NHS) ตั้งแต่นั้นมาเรื่องจึงจบ

 

ส่วน สปสช. เป้าหมายภารกิจตามกฎหมายระบุว่า บุคคลทุกคนมีสิทธิ ‘ยกเว้นที่มีสิทธิอื่นแล้ว’

 

ดังนั้นจึงมีคนที่ไม่ได้มีสิทธิบัตรทอง ประกอบด้วย ข้าราชการ ผู้ประกันตนสิทธิประกันสังคม รัฐวิสาหกิจ อปท. และองค์การมหาชน ซึ่งมีกฎหมายกำกับ

 

ตอนทำร่างพระราชบัญญัติ (บัตรทอง) ก็อยากให้ทุกคนมีสิทธิและอยู่ในระบบเดียวกันทั้งหมด แต่เมื่อมีการต่อสู้ทางความคิดแล้วพบว่ายังไปถึงขั้นนั้นไม่ได้ กฎหมายจึงออกมากลางๆ ในลักษณะที่ว่าถ้าประชาชนไม่ได้อยู่ในสิทธิใดของรัฐ ก็ให้มาอยู่ในสิทธิบัตรทอง

 

ในสมัยนั้นก็มีฝ่ายที่มีแนวคิดที่ว่าบัตรทองเป็นสิทธิคนจน เพราะบัตรทองเปลี่ยนสภาพมาจากบัตรสงเคราะห์ประชาชนผู้มีรายได้น้อย (สปร.) เขาจึงตั้งคำถามว่าทำไมจะเอาบัตรทองมาครอบสิทธิอื่น

 

ปัจจุบันพบว่าผู้มีสิทธิบัตรทองมีทั้งเจ้าสัวคนที่รวยที่สุดในประเทศ ไปจนถึงคนที่จนที่สุดในประเทศ

 

คำว่าหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าไม่ได้หมายความว่ายากจน แต่เราดูตามความจำเป็น คนรวยบางคนเป็นผู้มีสิทธิบัตรทอง แต่เขาอาจจะไม่ใช้สิทธิ กรณีแบบนี้โรงพยาบาลที่มีชื่อเจ้าสัวก็ได้ค่าเหมาจ่ายรายหัวไป เฉลี่ยทุกข์เฉลี่ยสุข เฉลี่ยความเสี่ยงเข้ามา

 

ปัจจุบันคนรวยก็รักษาในไทย ถ้าเทียบสมัยก่อนบางคนอาจจะไปรักษาต่างประเทศ ปัจจุบันโลกเปลี่ยนไป ไม่เหมือนหลายสิบปีที่แล้ว หมอเราส่วนหนึ่งก็จบต่างประเทศ ชาวต่างชาติก็มารักษาในไทย 

 

 

บัตรทองเป็น 1 ใน 3 สิทธิหลัก ด้านสุขภาพของคนไทย

 

นพ.จเด็จ: หากเรียงตามไทม์ไลน์ สิทธิแรกเกิดขึ้นในปี 2523 คือสิทธิสวัสดิการรักษาพยาบาลข้าราชการ ปัจจุบันดูแลข้าราชการและครอบครัวประมาณ 5 ล้านคน โดยกรมบัญชีกลาง กระทรวงการคลัง

 

ต่อมาในปี 2533 มีสิทธิประกันสังคม ปัจจุบันดูแลผู้ประกันตน 14 ล้านคน โดยสำนักงานประกันสังคม กระทรวงแรงงาน

 

ส่วนบัตรทองเกิดขึ้นในปี 2545 ปัจจุบันดูแลประชาชน 47.6 ล้านคน โดย สปสช. ประกันสังคมมุ่งหมายมาในระบบการจ้างแรงงานที่สามารถนับจำนวนได้แน่นอน มีคนเสนอเช่นกันว่าส่วนรักษาพยาบาลให้รัฐเข้าไปดูแล ส่วนเงินที่เหลือให้นำไปทำอย่างอื่นในสิทธิประโยชน์ประกันสังคม

 

ส่วนบัตรทองที่มักถูกจับตาว่าใช้เงินงบประมาณเยอะ แต่จริงๆ หารต่อหัวยังใช้เงินน้อยกว่ากองทุนอื่น ยกตัวอย่างเช่น แสนห้าหมื่นล้านต่อปี ปี 2567 ดูแลคน 47 ล้านคน หารค่าเหมาจ่ายรายหัวมาได้ 3,000 กว่าบาท เหมือนจะเยอะ แต่ข้าราชการจำนวนคนไม่เยอะ มี 5 ล้านคนก็ใช้แสนล้าน หารต่อคนใช้เงินเกือบ 2 หมื่นบาท 

 

ประกันสังคม 14 ล้านคนใช้เงิน 6.7 หมื่นล้านบาท หารมาค่าเหมาจ่ายรายหัวเป็น 4,000 บาท เฉพาะค่ารักษาพยาบาล ซึ่งประกันสังคมไม่ได้มีค่ารักษาพยาบาลอย่างเดียว มีสิทธิประโยชน์อื่นและมีอีกสิ่งดีๆ คล้ายข้าราชการที่มีบำนาญ

 

เรา สปสช. ก็ทำงานกับประกันสังคมด้วย เรา ไม่ใช่เจ้าขององค์กร แต่เราต้องทำให้นโยบายไปได้ ทำให้เกิดประโยชน์แก่ผู้มีสิทธิ

 

 

ชื่อ 3 กองทุน มีนัยแตกต่างกันชัดเจน 

 

นพ.จเด็จ: สวัสดิการรักษาพยาบาลมีมาตั้งแต่ปี 2523 ปรัชญาคือเป็นสวัสดิการให้ข้าราชการ แตกต่างจากประกันสังคมที่ผู้ประกันตนต้องจ่ายเงินด้วยส่วนหนึ่ง Contribution ไม่ใช่ Co-payment

 

สิทธิประกันสังคมชื่อก็บอกแล้วว่าเป็นระบบประกัน คือจ่าย Contribution ต้องสมทบทุกเดือนเพื่อเป็นหลักประกัน

 

ส่วนบัตรทองใช้เงินภาษี ไม่ได้มีร่วมจ่ายเหมือนประกันสังคม ส่วนตัวเลขที่ผู้ป่วยถือเงินมาจ่าย 30 บาทนี้เรียกว่า Co-payment คือจ่ายจำนวนหนึ่ง ณ จุดบริการ เพื่อไม่ให้มาใช้บริการเกินความจำเป็น นี่คือวัตถุประสงค์ทำไมให้จ่าย 30 บาท เวลาไปรับบริการก็จะมีค่าธรรมเนียม 30 บาท 

 

ตอนนี้ระเบียบการจ่ายมีระบุไปถึงหากไม่ประสงค์จะจ่ายก็บอกได้ว่าไม่จ่ายก็ได้ คือใจดีมาก จะมีการดูแลตั้งแต่สร้างเสริมสุขภาพ ป้องกันโรค รักษาพยาบาล ดูแลจนกระทั่งเสียชีวิต หลักปรัชญาจึงไม่เหมือนกัน 

 

หลักประกันสุขภาพนี้เป็นของรัฐ อย่างไรก็ต้องดูแลประชาชน ไม่ว่าจะยากจนหรือร่ำรวย อยู่ในรัฐธรรมนูญ โดยเฉพาะ 2540 กำหนดให้ทุกคนมีสิทธิ

 

ประเทศนี้ตัดสินใจที่จะดูและประชาชนในรูปแบบนี้ไปแล้ว ถ้าเราจะไม่เอาแล้วก็ต้องไปว่ากันตั้งแต่แนวคิดระดับชาติว่าเราไม่ดูแลทุกคน แต่จะดูแลตามความสามารถเฉพาะคนที่จะสามารถจ่าย ซึ่งปรัชญาไม่เหมือนกัน ประเทศที่ไม่มีระบบหลักประกันถ้วนหน้า อาทิ สหรัฐอเมริกา เกือบร่ำรวยที่สุดในโลก แต่คน 30% ไม่มีหลักประกันอะไร ไปซื้อประกันเอง ป่วยก็ล้มละลายไป เป็นแนวคิดทุนนิยมเต็มที่

 

 

เทียบงบประมาณเหมาจ่ายรายหัว 1 คนในทั้ง 3 สิทธิ

 

นพ.จเด็จ: ค่าใช้จ่ายต่อผู้มีสิทธิมีความแตกต่างกันตามแต่ละระบบที่รัฐสนับสนุน 

 

  • สิทธิบัตรทองอยู่ที่ประมาณ 3,800 บาทต่อประชากรผู้มีสิทธิ 1 คน สปสช. จ่ายให้โรงพยาบาลปฐมภูมิ ยังไม่รวมงบประมาณสำหรับกองทุนที่รักษาผู้ป่วยในโรคร้ายแรงมีค่าใช้จ่ายสูง
  • ประกันสังคมงบประมาณเหมาจ่ายรายหัว 4,000 บาทต่อประชาชนผู้มีสิทธิ 1 คน 
  • ข้าราชการจะได้งบประมาณเหมาจ่ายรายหัวสูงคือ 15,000-16,000 บาทต่อคน สมมติข้าราชการมี 2 ล้านกว่าคน เมื่อรวมญาติก็คือลูกและพ่อแม่ของข้าราชการท่านนั้นรวมแล้วประมาณ 5 ล้านคน ใช้เงินประมาณปีละ 1 แสนล้านบาท

 

นอกจาก 3 กองทุนนี้ ยังมีรัฐวิสาหกิจร้อยกว่าแห่ง แต่ละแห่งมีระบบของตนเองแล้วแต่จะให้สิทธิอะไรกับพนักงาน รวมถึงองค์การมหาชนและ อปท. ซึ่งท้องถิ่นมีประชากรผู้มีสิทธิประมาณ 8 แสนคน

 

บางคนอาจจะมีคำถามว่า ในเมื่อรัฐต้องดูแลคนทุกคน ทำไมจึงดูแลไม่เหมือนกัน ซึ่งก็มีคำอธิบายว่าปรัชญาแต่ละระบบไม่เหมือนกัน เช่น ข้าราชการเงินเดือนน้อยถ้าเทียบกับเอกชนจึงมีสวัสดิการให้ลูกและพ่อแม่เขาด้วย

 

ส่วนข้อโต้แย้งที่ว่าเอกชนบางคนก็เงินเดือนน้อย แต่ก็อยู่ในส่วนการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ จึงควรได้รับสวัสดิการไม่น้อยกว่าระบบอื่น ก็เป็นข้อโต้แย้งที่ต้องรับฟัง เพราะประกันสังคมเหมือนเขาต้องร่วมจ่าย 2 ครั้ง ครั้งแรกเสียภาษีเหมือนทุกคน กับอีกครั้งจ่ายรายเดือนสมทบให้ประกันสังคม ซึ่งประกันสังคมมีสิทธิประโยชน์ 7 อย่าง หนึ่งในนั้นคือการรักษาพยาบาล ซึ่งรัฐก็เข้ามาร่วม

 

 

บัตรทองแตกต่างจากประกันสังคม ในมุมประชาชนรู้สึกว่าสิทธิบัตรทองจะแซงหน้าประกันสังคมไปแล้ว

 

นพ.จเด็จ: วิธีการรับบริการของบัตรทองและประกันสังคมแตกต่างกัน แม้ประกันสังคมจะยังไม่มีโครงการให้ไปรักษาได้ทุกที่ แต่ประกันสังคมให้ผู้ประกันตนไปลงทะเบียนกับโรงพยาบาลเอกชนที่ไม่ต่ำกว่า 100 เตียงได้ ถือว่าเป็นโรงพยาบาลขนาดใหญ่ ประกันสังคมก็จ่ายเงินค่าเหมาจ่ายรายหัวให้โรงพยาบาลเช่นกัน เป็นระบบการจ่ายเงินของแต่ละระบบ

 

ถ้าผู้ประกันตนจะไปรักษาที่โรงพยาบาลอื่น แล้วให้ประกันสังคมไปตามจ่าย ก็อาจจะเป็นข้อเสนอให้ประกันสังคมดูว่าจะปรับระบบอย่างไรให้ประชาชนสะดวกเพิ่มขึ้น

 

ส่วน สปสช. สมัยก่อนก็เช่นเดียวกัน ให้ไปโรงพยาบาลปฐมภูมิก่อน สมัยแรกให้ลงทะเบียนใกล้บ้านตามทะเบียนบ้าน ต่อมาก็ขยายออกไป เพราะมีคนกลุ่มที่เขาอยากจะรักษากับแพทย์ในโรงพยาบาลไกลบ้าน เราก็ต้องมาดูว่าเราจะยอมให้เขาไปไหม เหตุใดจึงยอมและไม่ยอม

 

ตอนเราทำเรื่องให้ไปที่ไหนก็ได้ เราก็ดูข้อมูลว่าพี่น้องประชาชนในบางพื้นที่ทำไมไม่ชอบรักษาใกล้บ้าน เราดูภาพใหญ่พบว่าคนไม่รักษาใกล้บ้านมีเพียงประมาณร้อยละ 20 ส่วนอีก 80% เขารักษาใกล้บ้าน โดยเฉพาะต่างจังหวัดยังรักษาใกล้บ้าน เพราะยังไม่สะดวกกับการเดินทางไกล 

 

ส่วนกลุ่ม 20% อยากไปที่อื่นดูบ้างคือเปลี่ยนคุณหมอ หรือบางคนก็ย้ายไปรักษาตามหมอของตัวเอง เราจึงมีทฤษฎีจากตัวเลขว่า ถ้าให้ไปรักษาที่ไหนก็ได้แล้วทุกคนจะไปไหม ก็พบว่าไม่ใช่ทุกคนจะไป เพราะมีเพียง 20% ซึ่งถือว่าไม่มาก และไม่ใช่ทุกคนจะพร้อมจ่ายค่าเดินทางเอง

 

ดังนั้นวิธีการออกแบบไม่เหมือนกัน เมื่อมีสิ่งใหม่ๆ เพิ่มเข้ามา บางระบบอาจจะยังติดกติกาเดิม เราต้องดูว่าสิ่งใหม่ๆ ที่เกิดขึ้นสมควรจะต้องปรับให้เหมือนกันหรือไม่ หรือต้องแก้ของเดิมไหม ไม่ว่าจะระบบไหนที่จะให้ความสะดวกแก่ประชาชนเพิ่มขึ้น ผู้ที่ดูแลระบบต้องพิจารณา 

 

โดยเฉพาะอย่างยิ่งปัจจุบันมีเรื่องเทคโนโลยีมาช่วย จากสมัยก่อนต้องใช้กระดาษ ใช้ใบส่งตัว แต่ปัจจุบันถ้าเรายอมรับว่าเทคโนโลยีมีความมั่นคงในระดับหนึ่ง จริงๆ ไม่จำเป็นต้องใช้กระดาษก็ได้ เพียงแต่เราจะยอมรับความเปลี่ยนแปลงนี้ไหม แล้วเราจะเอาเทคโนโลยีมาช่วยใช้ประโยชน์ได้หรือไม่

 

 

สปสช. เคยรับภารกิจเยียวยาคนไทยทุกคนที่ได้รับผลกระทบจากวัคซีนโควิด-19 ไม่ว่าจะอยู่ภายใต้กองทุนไหน ไม่จำกัดสิทธิเฉพาะบัตรทอง การทำหน้าที่นี้อยู่บนหลักการอะไร

 

นพ.จเด็จ: หลักการนี้เรียกว่าถ้วนหน้า เพราะตอนโควิด-19 ไวรัสแพร่ไปยังประชาชนทุกสิทธิ สมัย พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายกรัฐมนตรี กรณีวัคซีนโควิด-19 ให้ใช้งบกลางของรัฐบาล รัฐบาลมีงบประมาณก้อนหนึ่งให้กระทรวงสาธารณสุขเป็นคนซื้อวัคซีน

 

ส่วน สปสช. ได้รับงบอีกก้อน ดูแลเรื่องการเยียวยาผลกระทบจากวัคซีน เช่น เมื่อฉีดไปแล้วได้รับผลกระทบ เนื่องจากวัคซีนโควิด-19 เกิดขึ้นรวดเร็วมาก หลังจากโควิด-19 ประมาณปีกว่าๆ แล้วไม่มีใครการันตีได้ว่าปลอดภัยที่สุด เพราะยังอยู่ในระหว่างการศึกษาทดลอง เราจึงต้องสื่อสารว่าวัคซีนอยู่ในภาวะฉุกเฉินจริงๆ ถ้าไม่ใช้ก็จะมีคนเสียชีวิตเยอะ โดยเฉพาะกลุ่มเสี่ยง ขณะเดียวกันการนำมาใช้ก็มีข้อกังวลว่ายังไม่เสร็จสมบูรณ์ มีความเสี่ยงสร้างผลกระทบต่อร่างกายมนุษย์แน่นอน

 

ดังนั้นรัฐต้องดูแล 2 ปีนั้นใช้เงิน 2 แสนกว่าล้านบาท เพื่อมาใช้จ่ายโควิด-19 ด้วยเงินงบกลางที่รัฐบาลขณะนั้นกู้มา ไม่ใช่เงินในกองทุน เพียงแต่ สปสช. บริหารให้ เพราะระบบของเรามีการเชื่อมข้อมูลแล้วส่วนหนึ่ง และอีก 2 กองทุนคือประกันสังคมและสวัสดิการรักษาพยาบาลข้าราชการก็ไม่ได้ขัดข้อง เพราะไม่ใช่เงินในกองทุนเขาอยู่แล้ว 

 

 

สปสช. ทำงานกับทุกรัฐบาล

 

นพ.จเด็จ: เราต้องมีความเป็นมืออาชีพ ไม่ว่ารัฐบาลไหนเราต้องทำงานได้ บางครั้งถูกมองว่าผูกกับพรรคการเมือง แต่เราต้องทำงานอย่างมืออาชีพ

 

ช่วงโควิด-19 รัฐบาล พล.อ. ประยุทธ์ ก็ให้ สปสช. ดูแลผู้ได้รับผลกระทบจากวัคซีน ถ้าท่านไม่ชอบ สปสช. ท่านก็คงให้หน่วยงานอื่นดูแลไปแล้ว

 

เราจะสังเกตได้ว่าโครงการใดที่ประชาชนได้ประโยชน์ โครงการนั้นจะอยู่ได้ในทุกรัฐบาล แม้จะมีข่าวที่เป็นข่าวร้ายบ้าง แต่ถ้าคนจำนวนมากได้ประโยชน์ โครงการนั้นจะยังอยู่ ขณะที่โครงการใดมีแต่คนเสียประโยชน์ ก็จะมีชะตากรรมอีกแบบหนึ่ง

 

 

ประธานบอร์ด สปสช. คือ รมว.สาธารณสุข ส่วนประกันสังคมมีประธานบอร์ดคือปลัดกระทรวงแรงงาน

 

นพ.จเด็จ: สปสช. เป็นองค์การมหาชนภายใต้พระราชบัญญัติ เรามีบอร์ดหรือคณะกรรมการที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขเป็นประธาน แม้จะไม่ใช่องค์กรภายใต้กระทรวงสาธารณสุข แต่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเป็นประธานบอร์ด เราต้องทำงานกับรัฐมนตรี เราต้องทำงานกับกระทรวงสาธารณสุข มีเรื่องต้องหารือและหาข้อสรุปตลอดเวลา เพราะ สปสช. ถือเงิน เมื่อออกกติกามา บางครั้งทางโรงพยาบาลท่านก็ยอมรับกติกาเรา แต่บางครั้งท่านเป็นข้าราชการท่านก็ไม่ยอม อย่างไรก็ตาม ก็ต้องทำงานร่วมกัน

 

ส่วนสำนักงานประกันสังคมอยู่ภายใต้กระทรวงแรงงาน มีประธานบอร์ดคือปลัดกระทรวงแรงงาน ไม่ใช่รัฐมนตรีว่าการกระทรวง ทางประกันสังคมจึงดูมีความเป็นข้าราชการมากกว่า

 

สถานะ สปสช. ไม่ใช่ข้าราชการ เป็นองค์การมหาชนภายใต้พระราชบัญญัติ

 

นพ.จเด็จ: เป็นองค์การมหาชนตาม พ.ร.บ. ของตนเอง โดยองค์การมหาชนมี 3 ระดับ ระดับแรกคือภายใต้รัฐธรรมนูญ ระดับต่อมาคือภายใต้ พ.ร.บ. และระดับสุดท้าย ภายใต้ พ.ร.บ.องค์การมหาชน

 

กฎหมายให้กำหนดสิทธิประโยชน์ด้านการรักษาพยาบาลให้พนักงานตนเองโดยไม่อยู่ในประกันสังคม บัตรทอง และสวัสดิการรักษาพยาบาลข้าราชการ

 

ยกตัวอย่างเช่น กกต. เป็นองค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญ ส่วน สปสช. เป็นองค์การมหาชนภายใต้พระราชบัญญัติ ไม่ใช่ข้าราชการ เป็นพนักงานองค์การรัฐ ถูกออกแบบตั้งแต่แรกไม่ให้ใช้สิทธิบัตรทอง ซึ่งก็เป็นจุดอ่อนที่ถูกวิจารณ์ว่าทำไมไม่ใช้สิทธิบัตรทอง เป็นปัญหาเช่นกันว่าทำอย่างไรให้องค์การมหาชนและองค์กรอิสระไม่แตกต่างกันมาก

 

ทั้งนี้ อดีตข้าราชการกระทรวงสาธารณสุขที่มาอยู่ สปสช. รุ่นแรกๆ ก็มีข้าราชการบำนาญยังใช้สิทธิข้าราชการ ส่วนพนักงานรุ่นหลังๆ ใช้สิทธิองค์การมหาชน แต่ไม่มีใช้สิทธิประกันสังคม เพราะไม่ใช่บริษัท เป็นระบบคล้ายๆ รัฐวิสาหกิจที่ร้อยกว่าแห่งก็มีสวัสดิการร้อยกว่าแบบ โดยพยายามอิงกับระบบรักษาพยาบาลข้าราชการ 

 

ที่จริงเมื่อเราทำระบบนี้ก็ควรใช้ระบบนี้ ตามหลักการถ้าเราทำเองใช้เองก็จะรู้สึกถึงความเป็นเจ้าของมากขึ้น แต่กติกาไม่ได้กำหนดให้ใช้ 

 

 

ก่อนที่จะมี สปสช.

 

นพ.จเด็จ: ก่อนที่จะมี สปสช. รัฐจัดสรรงบประมาณตามขนาดโรงพยาบาล ถ้าขนาดใหญ่ได้เงินเยอะ ถ้าขนาดเล็กได้เงินน้อย ไม่ได้นับรายหัวประชากร

 

เพราะฉะนั้นในอดีตภาคตะวันออกเฉียงเหนือได้เงินน้อยที่สุด เพราะกันดาร โรงพยาบาลขนาดเล็ก ไม่มีหมอไปอยู่ ก็ได้เงินน้อยลงไปเรื่อยๆ จ่ายเงินงบประมาณตามขนาดโรงพยาบาล

 

เมื่อมี สปสช. ปี 2545 มีการจ่ายรายหัว จังหวัดไหนมีประชากรเยอะก็ควรได้เงินไปดูแลเยอะเพื่อพัฒนาระบบ ดังนั้นจะเห็นว่าช่วงปีแรกๆ ที่มี สปสช. มีความเปลี่ยนแปลงในภาคตะวันออกเฉียงเหนือเยอะมาก เพราะมีประชากรจำนวนมาก เงินจึงเทไปที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือเยอะ

 

โรงพยาบาลภาคกลางก็บ่นว่าเคยได้เงินเยอะๆ แล้วพอมี สปสช. เขาได้เงินลดลง เพราะภาคกลางมีประชากรน้อยกว่าหากเทียบกับภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 

 

ทีนี้คนอีสานที่เป็นคนหนุ่มสาวจำนวนหนึ่งก็ย้ายมากรุงเทพฯ ถ้าหลักการเดิมเขาต้องกลับไปรักษาที่บ้านต่างจังหวัด ซึ่งรัฐจ่ายเงินเหมาจ่ายรายหัวไปแล้ว ตอนคิดแรกๆ คิดตามทะเบียนบ้าน

 

เมื่อมีข้อมูลว่าประชากรไทยเวลาเขาย้ายไปไหนเขาไม่ย้ายทะเบียนบ้าน มีปัญหาตรงนี้ ปัจจุบันประชาชนก็ไม่ค่อยย้ายทะเบียนบ้านเพราะเขารู้สึกยุ่งยาก 

 

เราจะเห็นชัดตอนเลือกตั้ง การเดินทางแน่น เพราะต้องกลับบ้านไปเลือกตั้งต่างจังหวัด

 

เมื่อเราทำบัตรทองไปสัก 4-5 ปีก็เริ่มเห็นปัญหาเรื่องนี้ จึงเปิดโอกาสให้เลือกลงทะเบียนโรงพยาบาลปฐมภูมิโดยไม่ต้องย้ายทะเบียนบ้าน ตอนนี้ใน กทม. มีประชาชนใช้สิทธิบัตรทอง 3.5 ล้านคน มีประชากรที่ทะเบียนบ้านอยู่ต่างจังหวัดประมาณ 1 ล้านกว่าคน

 

การลงทะเบียนแบบนี้มีประโยชน์ตรงที่โรงพยาบาลได้เงินเหมาจ่ายรายหัวตามภาระงานมีจำนวนเท่าไร ก็ได้เงินเหมาจ่ายรายหัวตามจำนวนจริง 

 

เมื่อไม่ใช้เกณฑ์ทะเบียนบ้าน ก็ขอให้มีหลักฐานว่าที่อยู่อาศัยอยู่ตรงไหนก็ให้อยู่ตรงนั้นจริงๆ เช่น ที่เรียน ที่ทำงาน หรือใบเสร็จจ่ายค่าน้ำ-ค่าไฟ 

 

โดยหลักกว้างๆ อยากให้คนไปรับบริการใกล้ที่ตัวเองอยู่ แม้ไม่ใกล้ทะเบียนบ้าน แต่ควรจะใกล้บ้านที่อยู่จริง 

 

 

บัตรประชาชนใบเดียวรักษาทุกที่ 

 

นพ.จเด็จ: ระบบบัตรทองยังต้องลงทะเบียนที่โรงพยาบาลปฐมภูมิก่อน อาจจะใกล้บ้าน ใกล้ที่ทำงาน ใกล้ที่เรียน แต่เมื่อมีเหตุจำเป็นไม่สามารถไปรับบริการที่โรงพยาบาลที่เราจ่ายเงินค่าเหมาจ่ายรายหัวไปแล้วได้ เราก็จัดระบบไปตามจ่ายให้กรณีได้รับการส่งตัวไปโรงพยาบาลอื่น

 

มีทั้งโรงพยาบาลปฐมภูมิตามจ่ายจากเงินที่เป็นเงินเหมาจ่ายรายหัวไม่เกิน 1,600 บาทจาก 3,800 บาท และระบบที่ สปสช. ป้องกันความเสี่ยงให้ เพราะเขาอาจจะเจ็บป่วยมาก ไม่เช่นนั้นโรงพยาบาลที่รับเหมาจ่ายรายหัวไปอาจมีเงินไม่พอ เช่น อุบัติเหตุและฉุกเฉิน เพราะคนประสบเหตุได้ทุกที่ หากให้ต้นทางตามจ่ายอาจจะบอกว่ากว่าจะประสานกันได้ว่าใครจะจ่าย คนไข้ก็ไม่ได้รับบริการแล้ว 

 

ทุกประเทศทั่วโลกจึงมีระบบกลางช่วยตามจ่าย เป็นเงินจากทุกคน ป้องกันความเสี่ยง ซึ่งในไทยไม่ได้มีเพียงเหตุฉุกเฉินเท่านั้น แต่เอาความสะดวกของประชาชนใส่เข้าไปด้วย ถ้าจะให้ไปได้ทุกที่เขาจะไปไหม พบว่าก็ไม่ใช่ทุกคนที่พร้อมเดินทางออกไปไกล เป็นความท้าทายที่ต้องใช้ข้อมูลมาช่วย

 

สมัยก่อนให้ไปเพียงปฐมภูมิ ใกล้บ้าน เราก็โดนดราม่าอีกแบบว่าทำไมระบบตึงขนาดนั้น ต้องกลับไปบ้าน

 

ต่อมาจึงมีความคิดใหม่ว่าการเคลียร์เงินเป็นเรื่องหลังบ้าน ทำไมต้องเอาเรื่องเงินเหมาจ่ายรายหัวมาเป็นตัวตั้ง แล้วปล่อยให้ประชาชนผู้มีสิทธิไม่สามารถใช้อะไรได้เลย

 

เพราะฉะนั้นทุกระบบตอนนี้ก็ต้องคิดตรงนี้หมด รวมถึงประกันสังคม สวัสดิการรักษาพยาบาลข้าราชการ ก็ต้องคิด เพื่อให้ประชาชนได้รับการบริการที่จำเป็น สะดวก รวดเร็ว และง่ายขึ้น 

 

 

ไม่กังวลปัญหาทัวร์ลง

 

นพ.จเด็จ: การให้บริการของสิทธิบัตรทองก็มีเรื่องดีเบตในสังคม ไม่ได้มีแต่คำชมเชย เกิดคำถามว่าทำไมเอาใจสิทธิบัตรทอง แม้มีเรื่องที่เกิดประเด็นปัญหากัน แต่ก็มีประชาชนพอใจที่ได้รับบริการ

 

วันนี้มีดีเบตถือเป็นเรื่องดี สังคมให้ความสนใจ ดีกว่าทำอะไรเงียบๆ ไม่มีประเด็นปัญหาอะไร ถ้าดูราบรื่นไปหมดต้องพึงระวัง อะไรที่สงบเกินไป ข้างใต้จะมีคลื่น

 

สปสช. เจอประเด็นเดือดทุกวันอยู่แล้ว สังคมจะได้เรียนรู้ ทั่วโลกก็เป็นประเด็น ไม่ใช่ข้อเสีย เมื่อเราอาสามาทำตรงนี้ก็ต้องแก้ปัญหาตรงนี้ บางเรื่องก็เป็นปัญหาจริง เราต้องปรับมายด์เซ็ต แม้เป็นห่วงระบบแต่ก็เป็นโอกาส เช่น ในช่วงโควิด-19 ผมเป็นรองเลขาธิการ สปสช. ก่อนเป็นเลขาธิการ สปสช. ในปี 2564 ผมคิดว่าก็เป็นโอกาสครั้งหนึ่งที่คงจะไม่มีแล้วในชีวิตที่จะเข้ามามีส่วนร่วม

 

ทัวร์ลงแต่ละครั้งผมคิดว่ามองในแง่บวกก็ดีนะครับ เช่น เมื่อมีข้อถกเถียงกันก็ทำให้พี่น้องประชาชนบางคนเพิ่งทราบว่าตัวเองมีสิทธิบัตรทอง สามารถนำบัตรประชาชนไปยื่นขอรับยาได้ เพราะคนที่มีข้อจำกัดเรื่องค่าใช้จ่ายการเดินทางและการเข้ารับบริการในโรงพยาบาลมีภาพนั้นจริง เงินร้อยกว่าบาทสำหรับเขานั้นต่อวันมีค่ามากกว่าคนที่สามารถซื้อกาแฟเพียงหนึ่งแก้วด้วยเงินร้อยกว่าบาท

 

ค่าความเหลื่อมล้ำในสังคม เงินจำนวนเดียวกันค่าก็ไม่เท่ากัน ถ้าเราไม่มีการบริการสาธารณสุขที่เข้าถึงประชาชนคนยากคนจนซึ่งมีเยอะด้วย เขาอาจไม่พ้นจากความยากลำบากในสังคมปัจจุบัน เราต้องคำนึงถึงคนที่ไม่มีโอกาสด้วย

 

ถ้าเราอยากให้สังคมเติบโตก็ต้องยอมถกเถียงกัน ไม่อยากให้มองในแง่ร้ายเวลาทัวร์ลง เพราะสังคมก็ได้เรียนรู้เยอะกับระบบแบบนี้

 

 

ทัวร์ลงหลากหลาย สัญญาณดี ทุกคนมีส่วนร่วม

 

นพ.จเด็จ: ทัวร์ลงทุก 2 สัปดาห์ เราก็ต้องดูอุณหภูมิ แต่ละฝ่ายคิดอย่างไร ผมมองในแง่บวกว่าเป็นเรื่องสังคมมีวิวัฒนาการ ยิ่งมีคนมาดีเบตเยอะ โดยเฉพาะคนชั้นกลาง เป็นสัญญาณที่ดีมาก เดิมโครงการนี้ถูกมองเป็นของคนยากจน แต่ตอนนี้ไม่ใช่แล้ว เริ่มมีคนชั้นกลางออกปากออกเสียง มาบอกว่าเขาก็มีสิทธิ

 

ผมคิดว่าวันนี้เราอย่าไปกังวลเรื่องนี้มาก การถกเถียงต้องยังอยู่ เราต้องทำให้คนเข้าใจว่าระบบใหญ่ยังไปได้ เพียงแต่ว่าอาจจะมีปัญหาในจุดต่างๆ บ้าง ค่อยๆ แก้ไป เป็นโอกาสที่จะปรับปรุงจุดอ่อน ต้องขอบคุณเพจต่างๆ ในโซเชียลมีเดียที่แชร์ข้อมูล รวมถึงจ่าพิชิตที่เป็นหมอด้วย รู้จักกัน เขาก็ได้รับข้อมูลต่างๆ

 

แต่สุดท้ายแต่ละเรื่องก็มีหลายด้าน เราเป็นหน่วยงานรัฐต้องระวังคำพูด ถ้าเราฟันธงเร็วไปก็ต้องระวัง เพราะแต่ละฝ่ายก็มีรายละเอียดของเขา

 

ต่อให้กรณีไหนที่เราเชื่อว่าไม่ถูกต้องก็ต้องมีกระบวนการตรวจสอบ รวมถึงกรณีเบิกยา Anywhere กับฉุกเฉิน ซึ่งคนละสิทธิ ทั้งหมดสะท้อนปัญหา ถ้ามองเป็นโอกาสเราก็หาวิธีปรับปรุงในฐานะหน่วยงานรัฐ ก็เป็นบทเรียน

 

 

มะเร็งรักษาทุกที่จริงเหรอ

 

นพ.จเด็จ: กติกาตอนนี้ผู้มีสิทธิบัตรทองเลือกได้ เพียงแต่ว่าคิวการผ่าตัดแต่ละโรงพยาบาลอาจจะไม่ได้ง่าย เราต้องยอมรับว่าประเทศเรามีปัญหาพื้นฐานคือจำนวนหมอต่อประชากรไม่เพียงพอ

 

การรักษามะเร็งคือผ่าตัด ฉายรังสี ให้ยาคีโม ซึ่งการผ่าตัดต้องการหมอศัลยกรรมเป็นผู้ผ่าตัด ต้องรอคิว จึงเป็นเรื่องไม่ง่าย เราจึงต้องจัดระบบให้รู้ว่าตรงไหนคิวว่าง การใช้เทคโนโลยีนั้นจะมาช่วยได้ ยกตัวอย่างเช่น มีคนไข้มะเร็งจังหวัดชัยนาท หากในจังหวัดคิวเต็มก็ต้องปรึกษากรุงเทพฯ หรือจังหวัดระยอง จังหวัดอื่นๆ มีโรงพยาบาลไหนที่พอมีคิว ซึ่งคนไข้พร้อมจะไปรักษา 

 

มะเร็งรักษาที่ไหนก็ได้ เพราะเรารู้ว่าโรคแบบนี้ถ้าได้รับการวินิจฉัย คนไข้ต้องได้รับการดูแลที่เร็วที่สุด บางคนอาจจะบอกว่าเอาใจชาวบ้านเวอร์ไป เราต้องยืนยันว่าไม่ได้มากไป เพราะโรคแบบนี้ปล่อยนานไม่ได้ ถ้าหากคนไข้เสียชีวิตแล้วญาติติดใจว่าเป็นเพราะได้รับการผ่าตัดช้าไปไหม ถ้ามีคำถามนี้ เราไม่สามารถเอาชีวิตกลับมาได้ ไม่สามารถบอกว่าช้าหรือเร็ว

 

ปี 2565 เราประกาศว่าผู้ป่วยในไปที่ไหนก็ได้ เมื่อพูดถึงผู้ป่วยในก็รวมถึงมะเร็งด้วย จึงไม่ได้เขียนเฉพาะมะเร็ง เราให้บริการตามความจำเป็นเร่งด่วนก่อน

 

ตอนนี้แต่ละจังหวัดมีโรงพยาบาลระดับใหญ่ๆ บางจังหวัดก็มีโรงเรียนแพทย์ เช่น เชียงใหม่และขอนแก่น มีผู้ป่วยมะเร็งไปรักษาจำนวนมาก ไม่เฉพาะในกรุงเทพฯ 

 

 

ขั้นตอนการรับบริการมะเร็งผ่าตัดได้ทุกที่

 

นพ.จเด็จ: ถ้าโรงพยาบาลที่ผู้ป่วยเลือกนั้นมีคิวว่าง ผู้ป่วยเลือกได้ 

 

สปสช. มีกองทุนสำหรับผู้ป่วยใน เพราะถ้าต้องผ่าตัดก็เป็นผู้ป่วยใน ไม่ใช่ผู้ป่วยนอก เช่น สมมติผู้ป่วยมะเร็งจากจังหวัดสิงห์บุรี เลือกผ่าตัดที่โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย แล้วโรงพยาบาลจุฬาฯ มีคิวผ่าตัดได้ จากนั้นโรงพยาบาลจุฬาฯ เบิก สปสช. ไม่ต้องเรียกเก็บจากสิงห์บุรี

 

ส่วน สปสช. ก็จะตัดเงินกองเขตโรงพยาบาลปฐมภูมิว่าอยู่เขตไหน เช่น ถ้ามาจากจังหวัดสิงห์บุรี เขต 4 เราตัดจากกองนั้นมาให้จุฬาฯ โดยจุฬาฯ ไม่ต้องไปเรียกเก็บเงินเองเป็นเคสแบบนี้ เพราะไม่อย่างนั้นจุฬาฯ ก็ต้องไปเรียกจากทั่วประเทศ

 

แล้วโรงพยาบาลปฐมภูมิก็ไม่ต้องส่งเงินให้จุฬาฯ เพราะกรณีการตามไปจ่ายค่าหัว เป็นเฉพาะกรณีผู้ป่วยนอก แต่สำหรับผู้ป่วยใน สปสช. มีเงินอีกก้อนหนึ่ง ไม่เหมือนประกันสังคมที่ไม่ได้แยกผู้ป่วยนอกหรือผู้ป่วยใน เป็นคนละระบบกัน มีความแตกต่างกัน 

 

ระบบไม่เหมือนกัน ขณะเดียวกันถ้าเราไม่กรองผู้ป่วยนอก-ผู้ป่วยในก็จะเกิดความวุ่นวาย เพราะโรงพยาบาลเล็กจะล้มละลาย ส่งไม่ไหว ไม่เหมือนโรงพยาบาลร้อยเตียงแบบประกันสังคมที่เขารับความเสี่ยงไว้ได้กรณีผู้ป่วยใน 

 

เนื่องจากโรงพยาบาลขนาดเล็กรักษาปฐมภูมิได้ แต่อาจจะไม่เชี่ยวชาญการรักษาผู้ป่วยใน คือรักษาผู้ป่วยในได้จำนวนไม่เยอะ ดังนั้น สปสช. จึงตั้งเป็นกองระดับเขตบ้างหรือหากฉุกเฉินก็ระดับประเทศ 

 

ในอดีตโรคมะเร็งเป็นระดับพื้นที่ แต่ตอนนี้รู้ว่ามะเร็งค่าใช้จ่ายสูง จึงจัดเป็นระดับประเทศ เพื่อช่วยแบ่งเบาการตัดสินใจว่าไม่ต้องเครียดว่าจะส่งตัวดีไหม หรือไม่ส่งตัวคนไข้ด้วยเหตุว่าโรงพยาบาลไม่อยากตามไปจ่ายเงินจากการส่งตัวคนไข้ ระบบไม่ควรเป็นแบบนั้น

 

คนไข้ไปที่ไหนก็ได้ ‘ที่พร้อม’ เพราะคำว่าพร้อมคือโรงพยาบาลที่คนไข้เลือกเขาต้องมีคิวให้คนไข้ด้วย ถ้าคิวเขาเยอะเราก็ต้องเห็นใจ จึงเป็นที่มาว่าเป็นไปได้ไหมให้ สปสช. ประสานก่อน โดยโทรศัพท์มาที่ 1330 ให้เราประสานก่อน คนไข้จะได้ไม่ต้องเดินทางให้เสียเที่ยว

 

โรงพยาบาลเอกชนก็มา

 

นพ.จเด็จ: ภาคตะวันออก ถ้าจังหวัดชลบุรีเต็มก็อาจไปจังหวัดระยอง โรงพยาบาลกรุงเทพระยองก็ให้ผมไปเปิดศูนย์มะเร็ง เขาเก็บเงินจาก สปสช. ได้ ล่าสุดเปิดที่จังหวัดภูเก็ต เอกชนอย่างโรงพยาบาลกรุงเทพก็เข้ามาช่วย เขาก็หมายมั่นปั้นมือ อย่างเช่น เครื่องฉายรังสี ในโลกนี้มีไม่กี่ยี่ห้อ เพราะเวลาเขาเปิดเครื่องก็จะมีเวลา 21.00-00.00 น. เครื่องเขาว่าง เขาก็เอาคนไข้ผู้มีสิทธิบัตรทองไปฉายได้ ขณะที่โรงพยาบาลรัฐอาจจะเปิดใช้เวลาไม่เหมือนกัน ดังนั้นเอกชนก็เริ่มมาเปิดตลาดนี้ มาดีลกับ สปสช. โดยเขาจะได้ค่าใช้จ่ายตามที่เรากำหนด อาทิ กรณีมะเร็งที่โรงพยาบาลปฐมภูมิรักษาไม่ได้

 

สำหรับการจ่ายเงินมีกติกาและหลักเกณฑ์ประกาศในราชกิจจานุเบกษา

 

 

โรงพยาบาลในไทยที่สามารถรักษามะเร็งมีจำนวนร้อยกว่าแห่ง

 

นพ.จเด็จ: โรงพยาบาลที่จะรักษามะเร็งในไทยมีประมาณ 150 แห่ง ซึ่ง 150 แห่งนี้เท่านั้นที่จะเบิกเงินจากกองทุนมะเร็งนี้ได้ ไม่ใช่มีโรงพยาบาลเบิกได้เป็นหมื่นแห่ง ถ้าไม่มีหมอผ่าตัด ไม่มียาคีโม ไม่มีรังสี ก็รักษาไม่ได้ การผ่าตัดก็ต้องเป็นหมอผ่าตัด ไม่ใช่ให้ใครไปผ่าตัดก็ได้ เพราะต้องเป็นผู้เชี่ยวชาญ ต้องเรียนจบด้านนี้

 

ไม่ใช่ทุกที่จะมีศักยภาพเท่ากันหมด เครื่องมือบางอย่าง เช่น เครื่องฉายรังสีที่เรียกว่าโปรตอนรักษามะเร็ง เครื่องนี้ราคา 3 พันล้านบาท ก็มีที่เดียวที่โรงพยาบาลจุฬาฯ ทาง สปสช. ก็จัดระบบให้เด็กเดินทางมาโรงพยาบาลจุฬาฯ ให้ได้ เพราะส่วนใหญ่คนไข้เป็นเด็ก

 

บอร์ด สปสช. จึงมีมติว่าต้องพาเด็กมารักษาจากทั่วประเทศให้ได้ด้วย เพราะถ้ามีเครื่องแต่ไม่ได้ใช้รักษาคนไข้ ก็จะมีปัญหา

 

เพียงแต่ปัญหามะเร็งรักษาทุกที่ ที่ผ่านมาเงิน 6 พันล้านก้อนนี้เบิกค่ารักษามะเร็งจริงๆ จำนวนหนึ่ง แต่มีปัญหาการเบิกอาการที่ไม่ใช่มะเร็งก็อีกจำนวนหนึ่ง ขณะที่มะเร็งรักษาทุกที่ ไม่ใช่โรคอื่นรักษาทุกที่ เพราะโรคอื่นต้องใช้เงินก้อนสำหรับ Anywhere

 

โรงพยาบาลที่ไม่เข้าใจก็คิดว่าจะไม่จ่ายมะเร็ง Anywhere แล้วหรือ จึงถามหาใบส่งตัว 

 

โรคมะเร็งเราไม่ได้ให้ปฐมภูมิไปตามจ่าย เพราะต้องเห็นใจโรงพยาบาลที่รักษา หากต้องไปตามเรียกเก็บรายหัวจากโรงพยาบาลย่อยๆ จะมีงานธุรการยุ่งยาก เช่น ถ้าผมเป็นโรงพยาบาลจุฬาฯ ต้องไปดีลกับโรงพยาบาลที่ส่งตัวผู้ป่วยจากทั่วประเทศ ก็ไม่ควรเป็นเช่นนั้น ดังนั้น สปสช. จึงเป็นเจ้าภาพให้ เพราะฉะนั้นจึงมีกองทุนนี้ขึ้นมา

 

ถ้าโรงพยาบาลขนาดใหญ่ต้องมาทำระบบหลังบ้าน ระบบอิเล็กทรอนิกส์ ก็เบิก สปสช. แล้ว สปสช. จะไปตัดเงินส่วนไหน เป็นเรื่องหลังบ้าน เป็นการเพิ่มประสิทธิภาพ จากในอดีตมีการไปตามเก็บกันเองจึงวุ่นวายมาก เขาก็จะถามว่าจะมี สปสช. ไว้ทำไมถ้าไม่ทำให้ระบบราบรื่นขึ้น 

 

ถ้าจะมีข้อถกเถียงอะไรกันภายใน ก็ไม่ควรจะให้ไปกระทบประชาชน 

 

 

การเชื่อมต่อข้อมูลไม่จำเป็นต้องใช้ใบส่งตัว

 

นพ.จเด็จ: ในอดีตเคยมีกรณีโรงพยาบาลต้นทางไม่ยอมส่ง ปรากฏว่าเมื่อคนไข้ไปเองแล้วไปตรวจเจอมะเร็ง เมื่อย้อนไปถามโรงพยาบาลต้นทางเขาก็ไม่รับรองการส่งตัวคนไข้ เคยมีกรณีแบบนี้ สุดท้ายเราจึงต้องจัดระบบให้ สปสช. จ่ายเอง

 

มะเร็งไปที่ไหนก็ได้ เรารวมเงินก้อนหนึ่งมาเป็นเงินสำหรับจ่ายมะเร็ง 20 อวัยวะ ใช้เงิน 6 พันล้านบาทต่อปี ส่วนโรคไต ไตวายเรื้อรังระยะสุดท้าย 1.6 หมื่นล้าน และเอดส์ HIV อีก 3 พันล้านบาท

 

ในอดีตใบส่งตัวมีสำหรับเวลาไปเริ่มรักษาใกล้บ้าน ต่อมาป่วยหนักหมอก็จะให้ใบส่งตัวเพื่อระบุว่าได้ให้การรักษาอะไรมาแล้วบ้าง คุณหมอที่จะรับการส่งตัวจะได้ทราบ

 

ถ้าการเรียกใบส่งตัวมีเหตุมาจากกังวลว่า สปสช. จะไม่จ่ายเงิน เราเคยออกประกาศแล้วว่าเราจะจ่ายให้โรงพยาบาลที่รับการส่งตัว ดังนั้นไม่ใช่เรื่องข้อกังวลเรื่องการเบิกจ่ายอย่างเดียว แต่เราก็ต้องเข้าใจโรงเรียนแพทย์ เนื่องจากท่านมีข้อจำกัดทรัพยากร แล้วถ้าไม่มีการกรองคนไข้ให้ดีๆ ปล่อยให้คุณหมอผู้เชี่ยวชาญระดับสูงมากมารักษาโรคที่ไม่จำเป็นต้องใช้ผู้เชี่ยวชาญระดับนั้น ก็เสียเวลา เสียโอกาส ที่คุณหมอจะต้องไปรักษากรณีผู้ป่วยหนักมีความจำเป็น

 

ดังนั้นต้องมีกลไกการกรองคนไข้ได้ดีที่สุดคือ ให้หมอที่โรงพยาบาลปฐมภูมิช่วยกรองมาก่อนว่าหนักพอหรือไม่ ไม่ใช่เรื่องข้อกังวลเรื่อง สปสช. จะจ่ายหรือไม่ เพราะไม่อย่างนั้นผู้ป่วยที่อาการหนัก อาทิ มะเร็ง อาจจะได้รับการรักษาช้า หากไม่จัดลำดับความเร่งด่วน กรณีความเจ็บป่วยที่รักษาใกล้บ้านได้ก็รักษาใกล้บ้าน เพื่อที่จะให้โรงเรียนแพทย์ได้รักษาคนไข้อาการหนักก่อน ประเด็นอยู่เพียงแค่ว่าต้องบังคับกันไหม ถ้าบังคับระบบอาจจะดูตึง แต่ถ้าปล่อยมากไประบบก็หลวม จึงต้องหาจุดสมดุลให้พอดี เรื่องนี้เป็นโจทย์

 

 

ข้อมูลสุขภาพกับความลับ ไม่สามารถให้เปิดหน้าจอโรงพยาบาลไหนก็ได้

 

นพ.จเด็จ: ข้อมูลสุขภาพเป็นความลับ เป็นเรื่องความเป็นส่วนตัวสูง ต่างประเทศก็ยังทำระบบเชื่อมข้อมูลเพียงบางส่วน เพราะเหตุผลเรื่องความลับ อาทิ สิงคโปร์ก็มีคนอยากรู้ข้อมูลลีเซียนลุง เพราะเชื่อว่าป่วยแน่ แฮกเกอร์ทั่วโลกอยากแฮ็กสิงคโปร์

 

ดังนั้นที่ถามว่าทำไมไม่เปิดข้อมูลเหมือนแอปพลิเคชันอื่นๆ เหตุผลเพราะมีข้อมูลผู้ป่วยที่เป็นสิทธิส่วนบุคคล ถ้าหากมีคนแคปหน้าจอไปเผยแพร่บนโซเชียลมีเดีย เราต้องเข้าใจความรู้สึกของผู้ป่วย ญาติผู้ป่วย และโรงเรียนแพทย์ที่รักษาผู้ป่วยด้วยว่าท่านต้องระวัง ถ้าข้อมูลที่ควรจะอยู่ในโรงเรียนแพทย์หลุดออกไป ก็จะถูกตำหนิว่าปล่อยให้หลุดออกไปได้อย่างไร 

 

 

ข้อมูลค่าใช้จ่าย เปิดได้ทุกหน้าจอ

 

นพ.จเด็จ: เฉพาะค่าใช้จ่ายเชื่อมข้อมูลได้ทุกหน้าจออยู่แล้ว เพราะข้อมูลผู้ป่วยแต่ละคนในแต่ละโรงพยาบาลเราใช้ไม่ถึง 100% อย่างมากก็ 20% เพื่อเป็นข้อมูลการเบิกจ่าย เช่น การใช้แล็บหรือตรวจ CT Scan ต่อครั้ง สปสช. จ่าย 4,500 บาท แต่ สปสช. อาจไม่ต้องตามไปดูผลตรวจว่าผลออกมาอย่างไร ที่ต้องรู้แน่นอนคือคนไข้ได้รับการตรวจ CT Scan หรือ MRI แน่ๆ และได้รับการเบิกจ่าย เราไม่ได้มีเงื่อนไขว่าต้องสแกนใบส่งตัวลงในระบบด้วยจึงจะจ่าย เราไม่ได้มีเงื่อนไขนี้

 

ในขณะที่โรงพยาบาลที่ตรวจเขาจะต้องบันทึกว่าผลการตรวจเป็นอย่างไร ตรงนี้เป็นข้อมูลบริการ โรงพยาบาลต้องเก็บไว้เอง ไม่ได้อยู่ในส่วนที่ต้องเชื่อมข้อมูลกับ สปสช. หรือโรงพยาบาลอื่นที่ไม่เกี่ยวข้อง

 

ซึ่งข้อมูลเบิกจ่ายเพียงพออยู่แล้ว ไม่มีปัญหา แต่อย่างที่เรียนว่าบางทีเราพูดเรื่องใบส่งตัว มันไม่ใช่เรื่องเงินไปตามจ่าย เราพูดยืนยันว่าจ่ายแน่ แต่ถ้าโรงเรียนแพทย์ไม่มีใครช่วยคัดกรองผู้ป่วย อาทิ ช่วยคัดกรองโดยโรงพยาบาลปฐมภูมิ อาจจะเกิดความโกลาหลต่อระบบหน้างาน หากผู้ป่วยทั้งหมดมาพร้อมกันโดยโรงพยาบาลรับไม่ไหว จึงจำเป็นต้องมีมาตรการคัดกรองด้วย 

 

เหตุผลที่ต้องกำหนด 1,600 บาทจากค่าเหมาจ่ายรายหัวจากโรงพยาบาลปฐมภูมิให้โรงพยาบาลที่ผู้ป่วยนอกถูกส่งตัวไป

 

นพ.จเด็จ: บางรายการกำหนดว่าถ้าส่งตัวข้ามจังหวัดส่วนใหญ่ผู้ป่วยอาการหนัก เรากำหนดกติกา โรงพยาบาลปฐมภูมิรับผิดชอบ 1,600 บาทแรกจากค่าเหมาจ่ายรายหัว

 

ส่วนค่าใช้จ่ายที่เหลือ สปสช. รับผิดชอบทั้งหมด เพราะในจังหวัดเดียวกันถ้ารักษาไม่ได้ การส่งข้ามจังหวัด เช่น มาถึง กทม. ถ้าโรงพยาบาลมาตามจ่ายกันเยอะๆ อาจจะไม่ไหว กรณีผู้ป่วยนอก ถ้าเกิน 1,600 บาทแรก สปสช. ก็จะรับผิดชอบ ราคานี้กำหนดมานานเป็นสิบปีแล้ว 

 

ดังนั้นในเขตจังหวัดเดียวกันเอง เมื่อต้องการคงงบประมาณเอาไว้ เขาก็ต้องพยายามพัฒนาศักยภาพในจังหวัดตัวเองขึ้นมา เช่น พัฒนาบริการให้ดีขึ้น เพื่อดูแลคนในจังหวัดตัวเอง ไม่เช่นนั้นก็อาจจะมีวิธีคิดว่าโรงพยาบาลต่างๆ ส่งผู้ป่วยออกไปให้หมด ไม่ต้องรักษา เพราะได้ค่าเหมาจ่ายรายหัวไปแล้ว มันก็มีคนคิดแบบนี้นะ (หัวเราะ) การออกแบบตั้งแต่ในอดีตก็มีเหตุผล เพราะเขาอยากให้แต่ละจังหวัดมีการพัฒนาบริการของตัวเองขึ้น 

 

ประเทศไทยเป็นไม่กี่ประเทศที่ระบบการบริการกระจายไปในทุกจังหวัด ค่อนข้างดีพอสมควร คือโรงพยาบาลจังหวัดทุกจังหวัดสามารถรักษาได้มากกว่า 80% ของโรคในจังหวัดตัวเอง ยิ่งแต่ละภูมิภาคเรามีโรงเรียนแพทย์ประจำภูมิภาค ก็เสริมความเข้มแข็งในตัวเอง บางครั้งมีการผ่าตัดใหม่ๆ เกิดขึ้นในต่างจังหวัดก็มี 

 

ดังนั้นมีการกระจายความเจริญไปทุกภูมิภาค ไม่ใช่ทุกคนวิ่งเข้าสู่กรุงเทพฯ มาจากกลไกที่เรามี

 

 

รับมืออย่างไร หลังโควิด-19 ผู้ป่วยโรคที่ค่าใช้จ่ายสูงมีมากขึ้น ขณะที่งบประมาณมีจำกัด

 

นพ.จเด็จ: เงินไม่ได้เยอะ แต่มีค่ารักษาที่แพงเข้ามา ฉะนั้นต้องมีการบริหารจัดการ อาทิ กรณียาราคาแพงต้องเจรจาต่อรองบริษัทยา หรือกำหนดราคากับบริษัทยา หรือใช้เทคโนโลยีที่เหมาะสม กรณีผู้ป่วยระยะสุดท้ายให้กลับไปดูแลที่บ้าน เพราะไม่สามารถให้ทุกคนเข้ามาอยู่ในไอซียู รอวันเสียชีวิตคาเข็ม คาสาย ไม่ใช่การทอดทิ้ง เพราะจัดระบบดูแลที่บ้าน ต้องรับมือกระแสถาโถมแน่ บางกรณีการยืดอายุไปอาจไม่ได้มีประโยชน์มากกว่ายอมรับความจริง ซึ่งเป็นเรื่องอ่อนไหว แต่เราคงไม่สามารถซื้อทุกอย่างที่แพงที่สุดเข้ามาประเทศไทยเพื่อรักษาทุกอย่างได้ 

 

เราจะใช้เงินอย่างชาญฉลาดอย่างไร เรื่องยา เรื่องเทคโนโลยีก็เช่นกัน เราไม่ให้คนไข้ก็ไม่ได้ เราไม่ติดตามก็ไม่ได้ แต่เราจะใช้ในจังหวะไหน การเลือกบริการอะไรต้องมียุทธวิธีหรือยุทธศาสตร์ที่ราคาไม่แพงและใช้ประโยชน์ได้เต็มที่ 

 

เราจึงมีระบบการประเมินความคุ้มค่าทางเศรษฐศาสตร์ของบางโรค บางเทคโนโลยี บางครั้งมีแรงโฆษณา แต่ในความเป็นจริงมันไม่ใช่ขนาดนั้น เราต้องยอมรับว่าเราไม่ได้ร่ำรวย แต่เราก็อยากได้ยาดี จึงต้องบริหารจัดการอย่างเหมาะสม

 

จะเห็นได้ว่าโรคที่สามารถรับบริการใกล้บ้าน ไม่ต้องเดินทางมาถึงโรงเรียนแพทย์ ก็เป็นโอกาสนำเงินมาบริหารจัดการไปใช้กับยาหรือเทคโนโลยีราคาแพง ซึ่งเป็นแก่นแท้ของการรักษา แม้จะมีปีละแสนกว่าล้านบาท ถึงจะไม่เยอะ แต่ถ้าจัดการดีก็สามารถใช้เงินจำกัดให้มีประสิทธิภาพสูงสุด

 

หลังโควิด-19 ผู้ป่วยมีจำนวนเพิ่มขึ้นเล็กน้อยจากแอดมิต 6.2 ล้านคนเป็น 6.7 ล้านคน เพิ่มขึ้น 5 แสนคน แต่ความรุนแรงของโรคมีเพิ่มขึ้นมาก 20% หลังโควิด-19 อาจจะอั้นจากการไม่แอดมิตช่วงโควิด-19

 

บางคนบอกว่าเราเป็นสังคมผู้สูงวัย การเกิดลดลง ประชากรน้อย แต่มีคนป่วยหนัก ก็เป็นโจทย์ผู้บริหารประเทศ

 

หมอบางคนคุยกับคนไข้ดีๆ โรคก็หายไปครึ่งหนึ่งแล้ว หมอบางคนพูดจาไม่เรียบร้อย คนไข้ก็ไม่สบายใจ ศาสตร์นี้ไม่เหมือนศาสตร์อื่น

 

 

ความคุ้มค่าในการจ่ายค่ารักษาผู้ป่วยระยะสุดท้ายในมุมของรัฐ

 

นพ.จเด็จ: ถ้ามองในแง่เศรษฐศาสตร์ ไม่คุ้มค่าที่จะยืดอายุคน แม้กระทั่งไตวายระยะสุดท้าย มีงานวิจัยออกมาว่าไม่คุ้ม โดยเฉพาะผู้ป่วยอายุเกิน 60 ปีแล้ว ถ้าคิดเรื่องความคุ้มค่า คำตอบคือปล่อยเสียชีวิตเถอะ 

 

แต่ในประเทศไทยเราก็มีงานวิจัยอีกด้านหนึ่งที่มีความแปลกประหลาด มีความเฉพาะ ก็คือถ้าเรารู้ว่าพ่อแม่อายุเกิน 60 ปี ป่วยไตวายระยะสุดท้าย แล้วเราทราบว่าใช้วิธีล้างไตจะยืดอายุได้อีกปี คนเป็นลูกก็จะยอมขายทรัพย์สินที่มีมาจ่ายรักษาพ่อแม่ 

 

คนไทยจึงไม่เหมือนฝรั่งหรือบางประเทศที่เขาไม่มีความผูกพันในครอบครัว แต่ท้ายที่สุดคนไทยกลุ่มนี้จะล้มละลาย เพราะค่าล้างไตแพง 

 

รัฐก็รับไม่ได้ที่จะปล่อยให้มีคนจนรุ่นใหม่ล้มละลายจากการรักษาพ่อแม่ตัวเองเกิดขึ้น ก็ต้องดีเบตกันว่าจะปล่อยให้ตายหรือไม่ 

 

ในท้ายที่สุดรัฐไทยสมัยรัฐบาล พล.อ. สุรยุทธ์ จุลานนท์ ตัดสินใจให้สิทธิกับผู้ป่วย จากเดิมมีข้อถกเถียงว่าจะอนุมัติหรือไม่ แต่ท่านมองว่าเป็นเรื่องการเจ็บป่วยของประชาชน อาจนำไปสู่การล้มละลายถ้ารัฐไม่ช่วย ส่วนจะผิดหรือถูกอาจจะเถียงกันต่อได้ เช่นเดียวกับคนไข้ HIV สมัยก่อนก็ตายในอายุน้อย ปัญหาตอนนั้นคือยาแอนตี้ไวรัสราคาแพง ก็มีการประท้วงเป็นข่าวใหญ่โต สุดท้ายเราก็ต้องมียาแอนตี้ไวรัส 

 

เราควรดูแลผู้ป่วยระยะสุดท้ายอย่างไร ตอนนี้นโยบายรัฐบาลก็พยายามดูเรื่องการดูแลผู้ป่วยระยะสุดท้าย เพราะเมื่อถึงจุดหนึ่งเราต้องตัดสินใจกับชีวิตคนด้วยวิธีคิดแบบตะวันออกไหม ในญี่ปุ่นก็มีแนวคิดว่าให้คนไข้ไปใช้เวลาระยะสุดท้ายที่บ้าน

 

ส่วนสังคมไทย การอยู่กับครอบครัวจะดีกว่ายื้อในไอซียูหรือไม่ เรื่องนี้ละเอียดอ่อน ถ้าคนไม่เข้าใจแล้วมองไม่ดีอาจคิดว่ารัฐอยากประหยัดเงิน จึงปล่อยให้คนไข้กลับไปตายที่บ้าน แต่ถ้าเรามองอีกด้าน แม้เป็นเรื่องยาก แต่เป็นสิ่งที่ทุกคนต้องเจอ อาจต้องเลือกว่ารักษาในระดับใดแล้วจบ

 

เป็นคำถามที่หลายประเทศก็หาคำตอบเรื่องการดูแลผู้ป่วยระยะสุดท้าย ล่าสุดอังกฤษก็ออกกฎหมายช่วยคนไข้ให้เสียชีวิตอย่างสงบ ‘Euthanasia’ ตัวคนไข้ประสงค์จะเสียชีวิตแล้วให้หมอช่วยให้ยาเพื่อให้เขาจากไปอย่างสงบ 

 

ส่วนในไทยยังไม่มีกฎหมายนี้ บางทีสังคมต้องเรียนรู้ แล้วบางครั้งคนไข้ระยะสุดท้ายก็เขียนบทความถึงการจากไป โดยมี Willing ที่จะเสียชีวิตตามกฎหมาย แจ้งความประสงค์ไม่ให้ยื้อ ไม่ให้ปั๊มหัวใจ ก็เริ่มมี และมีกรณีที่ญาติไม่ยอม หมอก็ต้องยื้อ ก็เป็นเรื่องที่ต้องเรียนรู้กันต่อไป 

 

แต่ไม่ใช่เรื่องว่ารัฐอยากประหยัดงบประมาณ แม้เราจะรู้ว่างบประมาณดูแลผู้ป่วยระยะสุดท้ายของชีวิตใช้งบสูงมากหากเอาเทคโนโลยีเข้ามายืดอายุ 

 

ขณะที่อีกวิธีหนึ่งคือ จัดระบบให้ค่าใช้จ่ายไม่สูงและเสียชีวิตอย่างมีศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ รัฐสามารถจัดระบบให้ไปดูแลชุมชนที่บ้าน การเสียชีวิตที่บ้านก็ไม่ได้เสียหายอะไร

 

นโยบายรัฐบาลก็มีจัดให้วัดเป็นชีวาภิบาล ใช้วัดเป็นสถานที่ เริ่มต้นจากดูแลพระสงฆ์อาพาธด้วยวิธีการที่เหมาะสมตามพระธรรมวินัย จึงเกิดธรรมนูญนี้ แล้วใช้วัดเป็นที่รักษาดูแลแทนที่จะอยู่โรงพยาบาล ซึ่งทำได้ดีระดับหนึ่ง และหลายที่ก็ให้บริการประชาชนด้วยสถานชีวาภิบาล 

 

นพ.สงวน นิตยารัมภ์พงศ์ หนึ่งในบุคคลสำคัญผู้ผลักดันโครงการหลักประกันสุขภาพ

 

นพ.จเด็จ: หมอสงวนเรียนจบแพทย์แล้วได้ไปทำงานในพื้นที่ต่างจังหวัด เป็นข้อดีของระบบการศึกษาไทยที่ให้หมอไปอยู่ต่างจังหวัด 

 

บางครั้งจะเห็นคนบางคนไม่มีเงิน แต่โรงพยาบาลต้องเก็บเงินเขา เพราะไม่มีระบบอื่นรองรับ จึงเกิดปัญหาที่เรียกว่าล้มละลายจากการเจ็บป่วย จนกระทั่งประชาชนไม่อยากเข้ามารักษา เพราะเขาไม่รู้ว่าเขาต้องเสียเงินเท่าไร 

 

จึงมีแนวคิดจากคนอีกกลุ่มหนึ่งที่เป็นนักคิด เช่น นพ.สงวน นิตยารัมภ์พงศ์, นพ.พรหมินทร์ เลิศสุริย์เดช, นพ.สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี และแพทย์อีกหลายๆ ท่าน โดยหลักๆ มาจากพี่หงวน (นพ.สงวน) เพราะเคยอยู่ต่างจังหวัดและเคยไปเรียนต่างประเทศ ได้ทำงานกับชาวต่างชาติ ได้รู้บทเรียนนานาชาติ ทำให้เกิดแนวคิดนี้ขึ้นมา 

 

 

หมอจเด็จทำงานกับหมอหงวนก่อนตั้ง สปสช.

 

นพ.จเด็จ: ผมเข้าเรียนแพทย์ จุฬาฯ ปี 2527 เรียนจบแล้วไปเป็นแพทย์ประจำโรงพยาบาลในอุบลราชธานี ต่อมาเป็นผู้อำนวยการโรงพยาบาลไทรน้อย จังหวัดนนทบุรี และเป็นผู้อำนวยการโรงพยาบาลบางกรวย จังหวัดนนทบุรี ซึ่งอยู่ใกล้กระทรวงสาธารณสุข มาเจอพี่หงวน ผมก็มาช่วยงานด้านตัวเลข ทำเรื่องคำนวณ ตอนนั้นพี่หงวนเป็นรองปลัดกระทรวงสาธารณสุข 

 

ผมรู้จักพี่หงวนเมื่อปี 2543 ผมมีหน้าที่ดูข้อมูล พี่หงวนอยากดูว่าแต่ละโรงพยาบาลจะเจ๊งหรือไม่หากเหมาจ่ายรายหัว จึงให้ผมดูตัวเลขเรื่องนี้ตั้งแต่นั้น 

 

มี นพ.วิโรจน์ ตั้งเจริญเสถียร เป็นคนคำนวณตัวเลข เราเอาตัวเลขจากคุณหมอวิโรจน์มาไล่ดูแต่ละโรงพยาบาล

 

ตอนพี่หงวนทำงานเป็นแพทย์อยู่ต่างจังหวัดก็อยู่ชมรมแพทย์ชนบท หลังจากนั้นได้ไปเรียนต่างประเทศ กลับมาพัฒนาด้านต่างๆ จนมาสนใจเรื่องหลักประกันสุขภาพ 

 

ในประเทศอื่นก็มีคนคิดเรื่องหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ไม่เฉพาะในไทย และมักจะมีแนวคิดในช่วงวิกฤต เราจะเห็นทุกขเวทนาของคนที่ไม่มีค่ารักษา ถ้าคนร่ำรวยหลักประกันนี้จะไม่ค่อยเกิด

 

พี่หงวนเป็นเลขาธิการ สปสช. คนแรก ท่านถามผมว่าจะมาทำงานด้วยกันไหม ผมก็ตัดสินใจมาอยู่ สปสช. ตั้งแต่เริ่มต้นเมื่อปี 2545 ต่อมาพี่หงวนส่งผมไปเรียนอังกฤษในปี 2549 เรียน 3 ปีครึ่งก็กลับมาทำงาน สปสช. ต่อมาเป็นเลขาธิการ สปสช. ในปี 2564 

 

ปัจจุบันที่สำนักงาน สปสช. ก็ยังเก็บโต๊ะทำงานพี่หงวนไว้ มีรูปถ่ายพี่หงวนกับ อ.ป๋วย อึ๊งภากรณ์ มีภาพพี่หงวนกับ นพ.เสม พริ้งพวงแก้ว ประกอบจากภาพคนมากมายที่อยู่ในแวดวงที่ทำเรื่องนี้ขึ้นมา 

 

ก่อนเสียชีวิตพี่หงวนป่วยเป็นมะเร็งปอด เขียนหนังสือ เปลี่ยนมะเร็งเป็นพลัง

 

เท่าที่ผมเคยเห็นเอกสารร่าง พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพ มีมาตั้งนานแล้ว เป็น 10 หรือ 20 ปีก่อนที่จะมีหลักประกันสุขภาพด้วยซ้ำ แสดงว่ามีคนเริ่มคิดมานานแล้วว่าเรื่องแบบนี้ต้องมี พ.ร.บ. ออกมา แต่ว่ายังไม่เกิดมรรคผล ก็รอจังหวะเวลาที่เรียกว่าเมื่อหน้าต่างของโอกาสเปิด ก็ใช้หน้าต่างโอกาส โดยเฉพาะอย่างยิ่งช่วงการเลือกตั้ง

 

เป็นแนวคิดที่ต้องเสนอนโยบายช่วงการเลือกตั้ง มีมาเด่นๆ คือช่วงปี 2544 (หลังวิกฤตเศรษฐกิจ 2540) เพราะพี่หงวนก็จะบอกเราว่าให้รอหน้าต่างของโอกาส (Window of Opportunity) เพราะฉะนั้นการเลือกตั้งเป็นหน้าต่างของโอกาส เพราะทุกพรรคโดยหลักก็ต้องการ Popular Vote เราควรจะเสนอนโยบายในช่วงนั้น เพราะฉะนั้นก่อนจะเสนอนโยบายในช่วงนั้น เราก็ต้องเตรียมข้อมูลไว้ 

 

ซึ่งต่อมา อ.ประเวศ วะสี ก็เขียน ‘สามเหลี่ยมเขยื้อนภูเขา’ ที่บอกว่าถ้าจะทำงานใหญ่อย่ารอวันเลือกตั้งอย่างเดียว รอวันหน้าต่างเปิดก็ต้องเตรียมความพร้อม มีงานวิจัย มีการมีส่วนร่วมของภาคประชาชน และต้องมีนักการเมือง ดังนั้นงานใหญ่ๆ จะปฏิเสธการเมืองไม่ได้ เรื่องนี้ก็เป็นเรื่องการเมือง แต่ภายใต้เรื่องการเมืองก็ต้องมีข้อมูล อาทิ รัฐบาลมีนโยบายรักษาทุกที่ นี่คือ Political View

 

ขณะที่เรา สปสช. ไม่ได้มีหน้าที่บอกว่าผมเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วย ผมไม่ใช่นักการเมือง ผมมีหน้าที่ทำอย่างไร อย่างถูกต้องตามหลักการ ทำให้นโยบายเป็นไปได้จริง

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising