เราค่อนข้างชื่นชอบคำกล่าวของ กาเบรียล ชาเนล หรือที่หลายคนรู้จักกันในชื่อโคโค ชาแนล (Coco Chanel) ตำนานดีไซเนอร์ผู้ล่วงลับ ในฐานะผู้ก่อตั้งแบรนด์ CHANEL อยู่ไม่น้อย
ครั้งหนึ่งในงานเปิดตัวเสื้อผ้าคอลเล็กชันใหม่โดย CHANEL ในปี 1969 กาเบรียล ชาแนล กล่าวไว้ว่า “แฟชั่นไม่ใช่แค่สิ่งที่ปรากฏอยู่บนเสื้อผ้าอาภรณ์เท่านั้น หากแต่แฟชั่นยังแฝงตัวอยู่บนแผ่นฟ้า ซ่อนกายตามหัวมุมท้องถนน ทั้งยังเกี่ยวข้องกับแง่ง่ามความคิดและวิถีชีวิตของพวกเรา ตลอดจนสิ่งต่างๆ ที่เป็นพลวัตอยู่รอบตัว”
และในทางใดทางหนึ่ง THE STANDARD POP เองก็เชื่อว่าหากยึดตามเจตนาและแรงปรารถนาที่มุ่งมั่นของ โคโค ชาแนล แล้วละก็ แฟชั่นก็คืองานศิลปะแขนงหนึ่งที่ไม่สามารถตัดจากกันขาด อยู่อย่างโดดเดี่ยว หรือแยกออกจากกันได้โดยสิ้นเชิง ไม่ว่าจะพิจารณาจากมุมมองใดก็ตาม
นั่นจึงเป็นเหตุผลสำคัญที่ทำให้ CHANEL เป็นแบรนด์แฟชั่นลำดับต้นๆ ในอุตสาหกรรมเลือกเดินหน้าผลักดันการสนับสนุนวงการศิลปะทุกแขนงอย่างมุ่งมั่น จริงจัง และต่อเนื่อง มาเป็นระยะเวลายาวนาน
เมื่อแฟชั่นและศิลปะสำหรับ CHANEL คือความสัมพันธ์ที่ต่างเติมเต็มและตอบแทนซึ่งกันและกัน
แม้แต่ตัว กาเบรียล ชาแนล ในฐานะผู้ก่อตั้งแบรนด์ เธอก็หลงใหลในโลกของแฟชั่น งานออกแบบ และงานศิลปะ ชนิดถอนตัวไม่ขึ้นเช่นกัน
Misia Sert, Jean Cocteau, Serge de Diaghilev, Igor Stravinsky, Pierre Reverdy, Alain Resnais, Salvador Dalí, Pablo Picasso, Colette และ Marie Laurencin เป็นเพียง ‘เพื่อนศิลปิน’ ส่วนหนึ่งจากอีกมากมายหลากหลายที่ชาแนลสนิทชิดเชื้อและสนับสนุนผลงานของกันและกัน การขับเคลื่อนแนวคิดศิลปะของอีกฝ่ายในระหว่างที่เธอยังมีลมหายใจและโลดแล่นในวงการแฟชั่นมาโดยตลอด
เธอถือเป็นหนึ่งในผู้ริเริ่มจัดตั้งชุมชนของเหล่าศิลปินขึ้นมา ณ บ้านพักของเธออย่างไม่เป็นทางการ เพื่อเป็นพื้นที่หรือศูนย์กลางที่ให้เพื่อนพ้องศิลปินของเธอได้มาแลกเปลี่ยนไอเดียหรือพบปะซึ่งกันและกัน
ตลอดจนการที่เธอมักให้การสนับสนุนเหล่าศิลปินเลือดใหม่ในการสร้างสรรค์ผลงานศิลปะโดยไม่ประสงค์จะออกนามอยู่เสมอ เพื่อแผ้วถางทางให้เพื่อนพ้องพี่น้องศิลปินเหล่านั้นได้ก้าวขึ้นมาสร้างผลงานปรากฏสู่สายตาชาวโลก และเป็นที่รู้จักเมื่อพวกเขาเหล่านั้นเดินหน้าทำในสิ่งที่ตนเองเชื่ออย่างมั่นคง จนก้าวข้ามขีดจำกัดตัวเอง
สู่ CHANEL Culture Fund บทพิสูจน์ความแน่วแน่และแรงผลักดันต่อแวดวงศิลปะและวัฒนธรรม
หลังสนับสนุนวงการศิลปะและเหล่าศิลปินมาหลายยุคหลายสมัย ในที่สุดในช่วงปี 2021 หรือเมื่อ 4 ปีที่แล้ว CHANEL ก็ได้จัดตั้งกองทุนสนับสนุนด้านวัฒนธรรมในสเกลระดับโลกอย่างเป็นทางการภายใต้ชื่อ ‘CHANEL Culture Fund’
โดย CHANEL Culture Fund จะมุ่งเน้นไปที่การให้การสนับสนุนแก่ผู้บุกเบิก เหล่านวัตกรที่มีความคิดริเริ่มในการสร้างวัฒนธรรมอันดี เพื่อพัฒนาแนวคิดใหม่ๆ และการเป็นบุคคลตัวอย่างด้านวัฒนธรรมและสังคมให้ดีมากยิ่งขึ้น และเพื่อสนับสนุนความเท่าเทียมของบรรดาศิลปินผู้มีบทบาทในการเปลี่ยนแปลงสังคมทั่วโลก เปิดโอกาสในการทำงานร่วมกัน ในช่วงเวลาที่ศิลปะเป็นแหล่งที่มาสำคัญในการสร้างแรงบันดาลใจ เปลี่ยนทัศนคติและมุมมองของผู้คนต่อโลก
นอกเหนือจากนี้ CHANEL Culture Fund ยังให้การสนับสนุนภายใต้การทำงานร่วมกันกับสถาบันทางศิลปะอีกมากกว่า 5 แห่งทั่วโลก ประกอบด้วย พิพิธภัณฑ์ศิลปะร่วมสมัยชิคาโก (Museum of Contemporary Art Chicago) สหรัฐอเมริกา, หอศิลป์ภาพเหมือนแห่งชาติ (National Portrait Gallery) ลอนดอน, ศูนย์ศิลปะและวัฒนธรรมแห่งชาติจอร์จปงปิดู (Centre Georges Pompidou) ปารีส, โรงไฟฟ้าศิลปะ (The Power Station of Art) เซี่ยงไฮ้ และพิพิธภัณฑ์ศิลปะลีอุมซัมซุง (Leeum Samsung Museum of Art) กรุงโซล เพื่อร่วมสร้างสรรค์ความร่วมมือในรูปแบบโปรแกรมสนับสนุนกระบวนการคิดและการผลิตงานศิลปะอีกด้วย
ยังไม่นับรวม ‘รางวัล CHANEL Next Prize’ ที่ CHANEL จะมอบทุนมูลค่า 1 แสนยูโร หรือราว 3.6 ล้านบาท ให้กับศิลปิน 10 คนจากในหลากหลายแขนง ไม่ว่าจะเป็น ดนตรี การเต้น การแสดง ภาพยนตร์ ทัศนศิลป์ และการออกแบบดิจิทัล เพื่อเพิ่มขีดจำกัดด้านทรัพยากรทุนทรัพย์ให้พวกเขาหรือเธอทุกคนจากทุกประเทศทั่วโลก สามารถสร้างสรรค์ผลงานศิลปะใหม่ๆ ออกมาอย่างไม่ลดละและไร้ซึ่งแรงเสียดทาน
‘ประเทศไทย’ อีกหนึ่งผืนผ้าใบ Canvas ที่ CHANEL พร้อมเปิดโอกาสผลักดันศิลปิน
ความมุ่งมั่นในการสนับสนุนอุตสาหกรรมศิลปะโดย CHANEL นี้ยังสะท้อนมาถึงประเทศไทยด้วยเช่นกัน ซึ่งที่ผ่านมา CHANEL ก็มีโอกาสจัดงานสนับสนุนด้าน Art & Culture ไปหลายต่อหลายครั้ง
แต่ที่ชัดที่สุดและเริ่มเป็นรูปธรรมที่จับต้องได้อย่างชัดเจนนั้นเริ่มต้นขึ้นในช่วงปี 2022 ที่พวกเขาจัดงานดินเนอร์ต้อนรับการฉายภาพยนตร์เรื่อง Memoria ของ เจ้ย-อภิชาติพงศ์ วีระเศรษฐกุล ขึ้นที่ยังโรงแรมอมันปุริ จังหวัดภูเก็ต โดยในงานดังกล่าวยังได้ ทิลดา สวินตัน (Tilda Swinton) ศิลปินและนักแสดงมากฝีมือ เดินทางมาร่วมงานในฐานะนักแสดงนำของเรื่องและแบรนด์แอมบาสเดอร์ของ CHANEL อีกด้วย
ตลอดจน Friends of the House CHANEL และเพื่อนพ้องในอุตสาหกรรมภาพยนตร์จากไทยอีกมากมาย ที่ก็เดินทางมาร่วมงานดินเนอร์นี้ด้วยเช่นกัน
ซึ่งหากถอยย้อนกลับไปในช่วงราวเดือนกรกฎาคม ปี 2021 เจ้ย อภิชาติพงศ์ และ Memoria เพิ่งจะคว้ารางวัล Jury Prize จากเวที Cannes Film Festival 2021 มาได้หมาดๆ โดยถือเป็น Jury Prize ลำดับที่ 2 ของเจ้าตัวอีกด้วย หลังจากที่ก่อนหน้านี้เขาเคยคว้ารางวัลดังกล่าวมาครองได้จากผลงานภาพยนตร์ สัตว์ประหลาด! (Tropical Malady) เมื่อปี 2004
ต่อมาในปี 2022 แบรนด์ CHANEL ก็เดินหน้าผลักดันอุตสาหกรรมศิลปะอีกครั้งผ่านการจัดงานดินเนอร์ที่กรุงเทพฯ เพื่อสนับสนุนผลงานศิลปะร่วมสมัยผ่านซีรีส์นิทรรศการงานศิลป์ ‘Ghost 2565: อยู่ยังไงให้ไม่ตาย’ ผลงานสุดยูนีกของ กรกฤต อรุณานนท์ชัย อีกหนึ่งศิลปินไทยที่มีผลงานโดดเด่นและถูกจับตาจากเวทีระดับโลก โดยเป็นช่วงไทม์ไลน์เดียวกันกับการจัดงาน Bangkok Art Biennale ครั้งที่ 3 ขึ้นที่ประเทศไทย
ในงานดังกล่าวยังได้ พัคซูจู ศิลปินและนางแบบระดับโลกจากเกาหลีใต้ ในฐานะแบรนด์แอมบาสเดอร์ เดินทางมาร่วมงาน พร้อมออกแบบโชว์ดนตรี Musical Performance สุดพิเศษร่วมกันกับกรกฤต เพื่อแสดงเฉพาะในงานนี้โดยเฉพาะ
เรื่อยมาจนถึงปี 2024 หรือเมื่อปีที่แล้ว CHANEL ก็ยังได้สนับสนุนโปรเจกต์ CINEMA FOR ALL ส่วนหนึ่งของงาน Thailand Biennale ที่จัดขึ้นที่จังหวัดเชียงราย โดยพาร์ต CINEMA FOR ALL ถือเป็นความตั้งใจของ CHANEL ในการเปิดพื้นที่ให้อุตสาหกรรมภาพยนตร์ คนรักฟิล์ม และศิลปะร่วมสมัย ได้มีพื้นที่ในการแบ่งปันเรื่องราว แลกเปลี่ยนความคิดเห็น และจัดแสดงผลงาน
โดยมี เจ้ย อภิชาติพงศ์ เป็นหนึ่งในศิลปินที่นำผลงานนิทรรศการ ‘A Conversation with the Sun (VR)’ ของเขามาจัดแสดงด้วย ก่อนที่นิทรรศการดังกล่าวจะถูกนำไปจัดแสดงทั่วโลก (งานในครั้งนี้ยังได้ ทิลดา สวินตัน เดินทางมาร่วมงานด้วยเช่นกัน)
และล่าสุดในปี 2025 CHANEL ยังเตรียมนำโปรเจกต์นิทรรศการ A Conversation with the Sun (VR) ของ เจ้ย อภิชาติพงศ์ มาให้คนกรุงเทพฯ ได้ร่วมรับชมและสัมผัสประสบการณ์กัน ณ One Bangkok Forum ตั้งแต่วันที่ 24 มกราคม – 2 กุมภาพันธ์ที่จะถึงนี้
ความพิเศษของการจัดแสดงผลงาน A Conversation with the Sun (VR) คือการที่ CHANEL ยังเตรียมจัด Masterclass รอบพิเศษโดย ทิลดา สวินตัน ร่วมกับ เจ้ย อภิชาตพงศ์ เพื่อให้ผู้ที่หลงใหลในศิลปะ และโดยเฉพาะงานสร้างสรรค์ของทั้ง เจ้ย อภิชาตพงศ์ และ ทิลดา สวินตัน ได้เข้าร่วมเพื่อเก็บเกี่ยวประสบการณ์ คำแนะนำ ความรู้ และแรงบันดาลใจ ในการรังสรรค์งานศิลปะกลับออกไปเติมเต็มพลังส่วนตนในการสร้างสรรค์ผลงานของตนเอง
อย่าลืมติดตามความเคลื่อนไหวของการจัดงานนิทรรศการ A Conversation with the Sun (VR) ที่จะมีขึ้นเร็วๆ นี้ผ่านทุกช่องทางของ THE STANDARD POP