ดร.ศุภวุฒิ แนะนำไทยมุ่งส่งออกอาหารให้จีนและยกระดับภาคบริการ เพื่อสร้างการเติบโตในระยะยาว ส่วนความท้าทายสำคัญคือแรงงานและพลังงาน พร้อมมองการเติบโตของ GDP ในระยะสั้นอาจต่ำกว่า 3% และดอกเบี้ยนโยบายสูงเกินที่ควรจะเป็น
จากงานสัมมนา KKP Year Ahead 2025: Opportunities Unbound บนเวที Thailand: How to Survive in a More Geopolitically Fragmented World Economy ดร.ศุภวุฒิ สายเชื้อ ประธานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ และที่ปรึกษากลุ่มธุรกิจการเงินเกียรตินาคินภัทร (KKP) กล่าวถึงทางรอดของประเทศไทยในยุคที่โลกแบ่งเป็น 2 ขั้วหลักระหว่างสหรัฐอเมริกากับจีน ขณะที่การเติบโตของเศรษฐกิจโลกก็ลดลงอย่างต่อเนื่อง
ดร.ศุภวุฒิ มองว่า ในบริบทของเศรษฐกิจโลกที่ผันผวน โดยจีนและสหรัฐฯ เผชิญหน้ากันอย่างรุนแรงและยุโรปอ่อนแอ ไทยมีทางเลือกใน 3 ด้านหลัก ได้แก่ การเกษตร อาหาร และบริการ
“ภาคบริการและอุตสาหกรรมอาหารจะเป็นตัวขับเคลื่อนการเติบโตในระยะยาว แต่ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับว่าไทยจะยกระดับได้อย่างไร และการกำหนดนโยบายที่ชัดเจน”
ดร.ศุภวุฒิ กล่าวต่อว่า จีนมีประชากรมากถึง 20% ของโลก แต่มีพื้นที่เพื่อการเกษตรน้อยกว่า 10% ของพื้นที่ของโลก และมีทรัพยากรน้ำเท่ากับ 6% ของโลก ดังนั้นจีนจึงจะต้องเป็นผู้นำเข้าผลิตภัณฑ์เกษตรรายใหญ่ของโลกไปอีกนาน และนี่คือโอกาสที่ไทยจะใช้ความได้เปรียบในด้านการเกษตรและอาหารในการขับเคลื่อนการขยายตัวของเศรษฐกิจ
นอกจากนี้ จีนยังนำเข้าสุทธิการบริการ มีความต้องการในด้านการท่องเที่ยวทั้งการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพและการท่องเที่ยวเชิงการแพทย์ ซึ่งในส่วนนี้ไม่น่าจะได้รับผลกระทบจากการเก็บภาษีของสหรัฐฯ
“เพราะไม่ว่าจีนหรือสหรัฐฯ ก็ไม่มีแนวคิดที่จะเก็บภาษีนักท่องเที่ยวที่มาเที่ยวเมืองไทย ส่วนภาคอุตสาหกรรมไม่ใช่ว่าจะหายไป แต่จะยังคงมีอุตสาหกรรมเฉพาะเจาะจง เช่น เซมิคอนดักเตอร์ในส่วนของ Assembly, Testing and Packaging แต่อาจไม่ใช่หัวจักรในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ (Economic Engine) ของไทยในบริบทโลกที่เปลี่ยนไป”
ส่วนความท้าทายที่สำคัญของไทยคือปัจจัยการผลิต 2 ส่วนหลัก คือ แรงงานและพลังงาน ซึ่งเป็นสิ่งที่เราจะขาดแคลน
“คุณภาพแรงงานต้องดีมหาศาล โดยเฉพาะเมื่อต้องแข่งกับ AI ขณะที่ก๊าซธรรมชาติที่จะหมดลงในอ่าวไทย เราอาจมีแค่ 3 ทางเลือก คือ เจรจากับกัมพูชาเพื่อขอขุดเจาะแหล่งใหม่ หรือพลังงานนิวเคลียร์ หรือพลังงานโซลาร์”
เศรษฐกิจไทยปีนี้อาจโตได้ไม่ถึง 3%
สำหรับแนวโน้มการเติบโตของเศรษฐกิจไทยในปีนี้ เมื่อถามว่า จะได้ถึงระดับ 3% หรือไม่ ดร.ศุภวุฒิ มองว่า “ค่อนข้างเหนื่อย” โดยเฉพาะในช่วงครึ่งปีหลังซึ่งมีความไม่แน่นอนสูงจากนโยบายของ โดนัลด์ ทรัมป์ ว่าที่ประธานาธิบดีสหรัฐฯ
ขณะที่อัตราดอกเบี้ยนโยบายของไทยก็ยังอยู่ในระดับสูงกว่าที่ควรจะเป็น โดยมองว่าอัตราดอกเบี้ยที่แท้จริงของไทยควรจะอยู่ระหว่าง 0-1% หากพิจารณาจากข้อมูลในอดีตตั้งแต่ปี 2007 จะเห็นว่าเป็นช่วงที่เงินเฟ้ออยู่ในกรอบที่ประมาณ 2% ขณะที่อัตราดอกเบี้ยอยู่ที่ราว 2% ส่วน GDP โตได้ประมาณ 3%
ดอกเบี้ยนโยบายที่เหมาะสมของไทยเวลานี้ควรจะอยู่ที่ตรงไหน ดร.ศุภวุฒิ กล่าวว่า “ขึ้นอยู่กับว่าแบงก์ชาติทำเป้าหมายเงินเฟ้อได้เท่าไร ถ้าเงินเฟ้อ 1% ดอกเบี้ยนโยบายควรอยู่ที่ 1-2% หรือถ้าเงินเฟ้อ 0.4% ดอกเบี้ยนโยบายควรอยู่ที่ 0.4-1.4% สมมติว่าเงินเฟ้อจะเข้ากรอบ 1% เพราะฉะนั้นดอกเบี้ยนโยบายสูงสุดควรจะไม่เกิน 2%”