×

ทำไมปีนี้ไทยถึงหนาวนาน เกิดอะไรขึ้นกับสภาพอากาศ

โดย THE STANDARD TEAM
08.01.2025
  • LOADING...
สภาพอากาศ

ตั้งแต่วันที่ 22 ธันวาคม 2567 จนถึงปัจจุบัน คนกรุงเทพฯ ล้วนสัมผัสได้ถึงอากาศเย็น อุณหภูมิต่ำกว่า 20 องศาเซลเซียส เป็นความหนาวเย็นที่คนกรุงไม่ค่อยได้สัมผัสมานาน 

 

สิ่งที่เกิดขึ้นมาจาก 3 ปัจจัย คือ ‘ปรากฏการณ์เปลี่ยนผ่านของลานีญา’ เสริมด้วย ‘กระแสลมวนขั้วโลก’ (Polar Vortex) และ ‘มวลอากาศเย็นจากประเทศจีน’ 

 

ปกติปรากฏการณ์เอลนีโญและลานีญาจะส่งผลกระทบต่อสภาพอากาศทั่วโลก 

 

‘เอลนีโญ’ จะทำให้ภูมิภาคทางเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และออสเตรเลียแห้งแล้ง แต่กลับมาฝนตกหนักที่ทวีปอเมริกาใต้ ขณะที่ ‘ลานีญา’ คือปรากฏการณ์ที่ตรงข้ามกัน ซึ่งโลกกำลังอยู่ในช่วงท้ายของลานีญาและกำลังเปลี่ยนผ่านไปยังเอลนีโญ 

 

ส่วน ‘กระแสลมวนขั้วโลก’ เป็นปรากฏการณ์ที่อากาศเย็นขนาดใหญ่ซึ่งหมุนวนอยู่บริเวณขั้วโลกเหนือโดยปกติจะถูกกำลังอากาศอุ่นกั้นเอาไว้ แต่มวลอากาศเย็นดังกล่าวแผ่ขยายลงมาสร้างความหนาวเย็นให้กับเขตพื้นที่ที่อุ่นกว่าจากภาวะโลกร้อนและสภาพอากาศเปลี่ยนแปลง 

 

เมื่ออากาศเย็นเจอกับปรากฏการณ์ลานีญาเข้าไป จึงทำให้หลายพื้นที่อากาศเย็นกว่าปกติ เช่น สหรัฐอเมริกาและยุโรป เกิดพายุหิมะพัดถล่ม ญี่ปุ่นและจีนเผชิญหิมะตกหนักในหลายเมือง 

 

ขณะที่ประเทศไทยและกรุงเทพมหานครได้รับผลกระทบจาก ‘กระแสลมวนขั้วโลก’ บ้าง แต่ไม่ใช่ผลกระทบโดยตรง เนื่องจากมีเทือกเขาหิมาลัยขวางกั้น แต่ปัจจัยความหนาวเย็นที่สำคัญของไทยคือมวลอากาศเย็นจากประเทศจีนที่แผ่ลงมาปกคลุมเป็นระลอกๆ ทำให้อุณหภูมิลดลงเป็นระลอกเช่นกัน

 

สัปดาห์หน้าหนาวสุดท้ายของปี 2568

 

รศ. ดร.เสรี ศุภราทิตย์ ผู้อำนวยการศูนย์การเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศและภัยพิบัติ มหาวิทยาลัยรังสิต เปิดเผยว่า ระหว่างวันที่ 11-14 มกราคมนี้จะมีลมแรง และหนาวแรงจะมาเป็นรอบที่ 2 (วันที่ 13 มกราคมจะหนาวที่สุด) และเป็นหนาวสุดท้ายของปีนี้ 

 

อุณหภูมิจะลดลง 2-3 องศาเซลเซียสในหลายพื้นที่ โดยเฉพาะภาคเหนือและภาคอีสานตอนบน อุณหภูมิต่ำสุดในพื้นราบต่ำกว่า 12 องศาเซลเซียส โดยเฉพาะพื้นที่จังหวัดแม่ฮ่องสอน เชียงใหม่ และลำปาง จะหนาวสุดๆ 

 

ส่วนภาคกลาง กรุงเทพมหานครและปริมณฑล อุณหภูมิจะต่ำสุดในพื้นราบ คาดว่าจะมีอุณหภูมิต่ำกว่า 16 องศาเซลเซียส หลังจากนั้นอุณหภูมิจะค่อยๆ อุ่นขึ้นตั้งแต่สัปดาห์สุดท้ายของเดือนมกราคมนี้ 

 

ขณะที่กรมอุตุนิยมวิทยาคาดการณ์ว่า ในช่วงวันที่ 10-14 มกราคมนี้ บริเวณความกดอากาศสูงหรือมวลอากาศเย็นกำลังแรงอีกระลอกจากประเทศจีนจะแผ่เสริมลงมาปกคลุมประเทศไทยตอนบน ภาคใต้ตอนบน และทะเลจีนใต้ ทำให้บริเวณดังกล่าวจะมีอุณหภูมิลดลงกับมีลมแรง โดยภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ อุณหภูมิจะลดลง 5-7 องศาเซลเซียส 

 

ส่วนภาคกลาง รวมทั้งกรุงเทพมหานครและปริมณฑล และภาคตะวันออก อุณหภูมิจะลดลง 3-5 องศาเซลเซียส ขอให้ประชาชนดูแลรักษาสุขภาพเนื่องจากสภาพอากาศที่หนาวเย็นลงด้วย

 

แนวโน้มสภาพอากาศปี 2568

 

รศ. ดร.เสรี เตือนด้วยว่า ในความหนาวเย็นที่สัมผัสได้จะมาพร้อมกับลมในระดับรุนแรงมากกว่า 70% เกษตรกรไม้ผลจึงควรเฝ้าระวังป้องกันผลกระทบด้วย ซึ่งในปี 2568 คาดการณ์ว่าอุณหภูมิเฉลี่ยโลกยังคงมีแนวโน้มสูงขึ้น ส่งผลให้สภาพอากาศแปรปรวนมากขึ้นจากการสลับขั้วของปรากฏการณ์เอนโซ (การเปลี่ยนแปลงของระบบบรรยากาศมหาสมุทรในมหาสมุทรแปซิฟิกเขตร้อน

 

ปรากฏการณ์ดังกล่าวทำให้ปี 2568 ยังคงเป็นปีที่ร้อน 3 ปีต่อเนื่อง อุณหภูมิโลกที่เพิ่มขึ้นเฉลี่ยใกล้แตะ 1.5 องศาเซลเซียส ซึ่งจะทำให้ระบบนิเวศและชุมชนมีขีดจำกัดในการฟื้นตัว ช่วงเวลาคลื่นความร้อนมีแนวโน้มยาวและรุนแรงมากขึ้น โดยเฉพาะบริเวณภูมิภาคเอเชียใต้ ยุโรปใต้ และอเมริกาตอนบน ทำให้อุณหภูมิสูงขึ้นในเขตชุมชนเมืองที่มีประชากรหนาแน่น

 

ส่วนระดับน้ำทะเลสูงขึ้นยังเป็นภัยคุกคามต่อชุมชนชายฝั่งทะเลในปีนี้ โดยเฉพาะหลายๆ ประเทศ เช่น มัลดีฟส์ บังกลาเทศ ประเทศหมู่เกาะ รวมทั้งชุมชนบริเวณอ่าวหัวตัว ก ในอ่าวไทย (สมุทรสงคราม สมุทรสาคร กรุงเทพมหานคร และสมุทรปราการ) นอกจากนี้ชุมชนริมชายฝั่งทะเลยังต้องเผชิญกับภัยรวม (น้ำท่วมชายฝั่ง น้ำท่วมเมือง และน้ำหลากล้นตลิ่ง) จากทั้งน้ำทะเลสูงขึ้นและปริมาณฝนตกหนักมากขึ้น 

 

ความถี่และความรุนแรงของพายุมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น ขณะที่ความไม่มั่นคงทางอาหารจากภัยแล้ง คลื่นความร้อน และปริมาณฝนที่ผิดปกติ จะส่งผลกระทบต่อผลผลิตภาคเกษตรกรรม การปรับตัวเพื่อรับกับสภาพอากาศที่เปลี่ยนแปลงต่อจากนี้จึงนับเป็นความท้าทายที่มากขึ้น

 

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X