เมื่อวันที่ 26 ธันวาคม 2547 เกิดแผ่นดินไหวใต้ทะเลขนาดประมาณ 9.1-9.3 ช่วงเวลาราว 07.58 น. ตามเวลาประเทศไทย โดยศูนย์กลางแผ่นดินไหวอยู่ลึกลงไปในมหาสมุทรอินเดีย ใกล้ด้านตะวันตกของตอนเหนือของเกาะสุมาตรา ประเทศอินโดนีเซีย
แผ่นดินไหวครั้งนี้เกิดจากการยุบตัวของเปลือกโลกใต้มหาสมุทรอินเดีย นับเป็นแผ่นดินไหวที่มีความรุนแรงเป็นอันดับที่ 3 ตามที่เคยวัดได้จากเครื่องวัดแผ่นดินไหว (Seismometer) กระตุ้นให้เกิดคลื่นสึนามิสูงราว 30 เมตร ซัดทำลายบ้านเรือนตามแนวชายฝั่งรอบมหาสมุทรอินเดีย รวมถึง 6 จังหวัดภาคใต้ของไทย ได้แก่ ภูเก็ต, พังงา, ระนอง, กระบี่, ตรัง และสตูล
คาดว่ามีผู้เสียชีวิตจากแผ่นดินไหวครั้งนี้ใน 14 ประเทศมากกว่า 2.3-2.8 แสนคน ในไทยประมาณ 5,400 คน นับเป็นหนึ่งในภัยพิบัติทางธรรมชาติครั้งร้ายแรงที่สุดในประวัติศาสตร์ โดยประเทศที่ได้รับความเสียหายมากที่สุดได้แก่ อินโดนีเซีย, ศรีลังกา, อินเดีย และไทย ตามลำดับ
ผ่านมา 20 ปี โศกนาฏกรรมครั้งนั้นดูเลือนรางไปจากความรับรู้ของใครหลายคน มีเพียงภาพความสูญเสียและคำบอกเล่าของผู้ประสบเหตุการณ์ แต่แทบไม่รู้เลยว่าหากเกิดสึนามิขึ้นอีกครั้ง เราควรทำอย่างไร
ON THIS DAY ชวนรำลึกถึงภัยพิบัติครั้งรุนแรงที่สุดของมวลมนุษยชาติ แนวทางจัดการวิกฤต รวมถึงความรู้ในการเอาตัวรอด เพื่อไม่ให้ความสูญเสียในครั้งนั้นต้องเกิดซ้ำอีกครั้ง
คำเตือน: วิดีโอนี้อาจมีภาพและเนื้อหาบางส่วนเกี่ยวกับศพ