รายงาน Life Trends ประจำปีครั้งที่ 18 โดย Accenture เผยข้อมูลสะเทือนวงการการตลาด เมื่อผู้บริโภคมากกว่าครึ่งเริ่มตั้งคำถามกับเนื้อหาออนไลน์ และ 62% ระบุว่า ‘ความไว้วางใจ’ เป็นปัจจัยสำคัญในการตัดสินใจมีปฏิสัมพันธ์กับแบรนด์ สะท้อนให้เห็นถึงการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญในพฤติกรรมผู้บริโภคยุคดิจิทัล ท่ามกลางความท้าทายของเทคโนโลยีที่ก้าวกระโดด
สุนาถ ธนสารอักษร กรรมการผู้จัดการ Accenture Song (ประเทศไทย) อธิบายว่า เทคโนโลยีใหม่ๆ โดยเฉพาะ Generative AI กำลังเปลี่ยนแปลงวิถีชีวิตของผู้คน แม้ผู้คนจะปรับตัวเข้ากับโลกออนไลน์ แต่ก็เริ่มมีความกังวลเกี่ยวกับความเชื่อมั่นในโลกดิจิทัลมากขึ้น
ส่งผลให้การคัดกรองข้อมูลและการเลือกเชื่อถือต้องทำอย่างระมัดระวัง ปรากฏการณ์นี้เกิดขึ้นในทุกประเทศ รวมถึงประเทศไทย ทำให้ต้องปรับนิยามของการสร้างการมีส่วนร่วมระหว่างลูกค้ากับธุรกิจที่กำลังแข่งขันกันแย่งชิงความสนใจของผู้บริโภค
จากการรวบรวมข้อมูลอินไซต์ทั่วโลก Accenture Song เผย 5 เทรนด์หลักที่กำลังเปลี่ยนแปลงปฏิสัมพันธ์ระหว่างผู้บริโภคกับเทคโนโลยี โดยแต่ละเทรนด์สะท้อนให้เห็นถึงความท้าทายและโอกาสที่แบรนด์ต่างๆ ต้องเผชิญ
‘ความลังเลมีต้นทุน’ เป็นเทรนด์แรกที่สะท้อนความน่าเชื่อถือของเทคโนโลยีดิจิทัลที่ถูกสั่นคลอน เมื่อ 33% ของผู้บริโภครายงานว่า ถูกโจมตีหรือหลอกด้วย Deepfake ในปีที่ผ่านมา การแยกแยะระหว่างเนื้อหาจริงและปลอมทำได้ยากขึ้น โดยเฉพาะเมื่อ Generative AI เข้ามามีบทบาท ทำให้แบรนด์ต้องเร่งสร้างความเชื่อมั่นผ่านการสื่อสารและการส่งมอบผลิตภัณฑ์ที่น่าเชื่อถือมากขึ้น
‘ผู้ปกครองหัวหมุน’ เผยให้เห็นความท้าทายของพ่อแม่ในการดูแลลูกๆ ให้มีความสัมพันธ์ที่ดีกับโลกดิจิทัล โดย Gen Z และมิลเลนเนียลประมาณ 2 ใน 3 ยอมรับว่า ใช้เวลากับโลกออนไลน์มากเกินไป
และคนอายุ 18-24 ปี มีแนวโน้มมองว่าโซเชียลมีเดียมีอิทธิพลต่ออัตลักษณ์ความเป็นตัวตนมากกว่าคนที่อายุ 55 ปีขึ้นไปถึง 2 เท่า นำมาสู่การเรียกร้องมาตรการป้องกันที่เหมาะสมและการสร้างสมดุลในการใช้ชีวิต
‘เศรษฐกิจไร้ความอดทน’ สะท้อนการเปลี่ยนแปลงของเป้าหมายและลำดับความสำคัญในยุค Decade of Deconstruction เมื่อ 3 ใน 4 ของผู้บริโภคต้องการให้บริษัทตอบสนองความต้องการเร็วขึ้น จนหันไปพึ่งข้อมูลแบบ Crowdsourced และยอมรับความเสี่ยงมากขึ้นเพื่อบรรลุเป้าหมาย
โดยเฉพาะด้านสุขภาพและการเงิน นอกจากนี้ บทบาทของอินฟลูเอ็นเซอร์ก็เปลี่ยนไป จากที่เคยเน้นไลฟ์สไตล์และการท่องเที่ยว มาสู่เรื่องพื้นฐานของชีวิตมากขึ้น
‘ความภาคภูมิใจในงาน’ แสดงให้เห็นผลกระทบของ Generative AI ต่อการทำงาน โดย 3 ใน 4 ของคนทำงานมองว่าเป็นประโยชน์ ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพ (44%) และคุณภาพงาน (38%) แต่บางส่วนกังวลว่าจะจำกัดความคิดสร้างสรรค์ (14%) ทำให้งานเป็นระบบซ้ำๆ (15%) และกระทบต่อความมั่นคงในงาน (11%) ท้าทายผู้นำในการสร้างแรงจูงใจและความตระหนักในคุณค่าของงาน
‘ฟื้นคืนสังคม’ เทรนด์สุดท้ายที่สะท้อนความต้องการประสบการณ์จริงและการเชื่อมโยงกับธรรมชาติ เมื่อ 42% บอกว่า ความสุขมาจากกิจกรรมในชีวิตจริง ขณะที่มีเพียง 15% ที่มาจากประสบการณ์ดิจิทัล แสดงให้เห็นถึงการแสวงหาสมดุลระหว่างเทคโนโลยีและคุณภาพชีวิต
สำหรับประเทศไทย สุนาถเผยว่า คนไทยกำลังทบทวนความสัมพันธ์กับเทคโนโลยี เกิดปรากฏการณ์ JOMO (Joy of Missing Out) ที่เลือกมีความสุขโดยไม่ต้องตามกระแสโซเชียล และหันมาให้ความสำคัญกับการสร้างความสัมพันธ์ที่จริงใจและลึกซึ้งมากขึ้น โดยคนไทยให้ค่ากับเทคโนโลยีที่ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพ ขณะเดียวกันก็ยังรักษาสายสัมพันธ์ที่มีความหมายในโลกออฟไลน์
ความเปลี่ยนแปลงนี้สร้างโอกาสให้แบรนด์ในการพัฒนาประสบการณ์ที่ตอบโจทย์ความคาดหวังของผู้บริโภค การสร้างความเชื่อมั่น และพัฒนาสายสัมพันธ์ที่แข็งแกร่ง รายงานชี้ให้เห็นว่า แบรนด์ต้องปรับตัวในการนำเสนอประสบการณ์ที่ผสมผสานระหว่างดิจิทัลและกายภาพ
พร้อมทั้งสร้างความไว้วางใจผ่านความโปร่งใสและความจริงใจในการสื่อสาร เพื่อการเติบโตอย่างยั่งยืนในยุคที่ผู้บริโภคให้ความสำคัญกับคุณค่าและความหมายมากกว่าแค่การตามกระแส
ภาพ: Brilliantist Studio / Shutterstock