เสียงโห่ดังขึ้นแล้วในช่วงสุดท้ายของเกมที่แมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด พ่ายแพ้ต่อบอร์นมัธแบบหมดรูปด้วยสกอร์ 0-3 เป็นฤดูกาลที่ 2 ติดต่อกัน
ความรู้สึกที่ระเบิดออกมานั้นอาจเป็นเพราะนี่ก็เข้า 9 นัดแล้วที่ รูเบน อโมริม เข้ามารับตำแหน่งหัวหน้าโรงละครแห่งความฝันคนใหม่ แต่ทำไมนักเตะภายในทีมไม่ว่าจะเกมรับหรือเกมรุกยังคงเล่นกันเหมือนไม่เคยซ้อมด้วยกันอยู่เลย
จริงอยู่ที่มีเหตุผลมากมายที่ชวนหงุดหงิดและผิดหวัง แต่ก็อยากให้สาวกเรดอาร์มีทุกคนอดทนกับกุนซือคนนี้
ด้วยการฟังเพลงเหล่านี้ใน Playlist ‘This is Amorim’ ไปพลางๆ ก่อน
ลมเปลี่ยนทิศ
“ใบไม้หล่น เมื่อลมพัดผ่าน เป็นสัญญาณ แห่งความผันเปลี่ยน”
อย่างแรกที่สำคัญที่สุด การมาถึงของ รูเบน อโมริม ไม่ต่างอะไรจาก ‘ลมเปลี่ยนทิศ’ สำหรับแมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด
เพราะถึงภายในระดับโครงสร้างการบริหารของสโมสรจะมีการเปลี่ยนแปลงตั้งแต่ได้ INEOS ที่นำโดย เซอร์จิม แรตคลิฟฟ์ เข้ามาซื้อหุ้นส่วนหนึ่งของแมนฯ ยูไนเต็ดจากครอบครัวเกลเซอร์ด้วยความหวังและความตั้งใจ (ดี) ที่อยากจะกอบกู้สโมสร
แต่คนสำคัญที่สุดที่จะเปลี่ยนแปลงทุกอย่างได้คือคนที่ทำหน้าที่ในการควบคุมทีมฟุตบอลซึ่งเป็นหัวใจของสโมสร และนั่นก็คือหน้าที่รับผิดชอบของอโมริมโดยตรง
ปัญหาคือสายลมอย่างอโมริมค่อนข้างเป็นการเปลี่ยนแปลงที่มีระดับความแรงของลมสูง
เพราะทีมเปลี่ยนแปลงระบบการเล่นใหม่จากที่เคยใช้กองหลัง 4 คนตลอด มาเป็นกองหลัง 3 คน ซึ่งไม่ใช่เรื่องง่าย
ทางผ่าน
“อยากให้เธอได้เจอหนทางเดินใหม่”
การเปลี่ยนแปลงหลังการมาของอโมริมนั้น พูดให้เห็นภาพง่ายๆ คือเหมือนเคยเรียนสายศิลป์-ภาษา แต่ตอนนี้โดนย้ายห้องมาเรียนสายวิทย์-คณิตแทน โดยไม่มีช่วงเวลาให้ปรับตัวการเรียนพื้นฐานด้วย
ดังนั้นถ้าจะเห็นทีมเล่นแบบงงๆ บ้างก็ไม่ต้องแปลกใจไป การเปลี่ยนแปลงระดับโครงสร้างแบบนี้ไม่ใช่จะเปลี่ยนกันได้ใน 3 วัน 7 วัน
ของแบบนี้กินเวลานาน บางทีอาจจะหลายเดือนหรือถึงปี และนั่นเป็นเหตุผลที่กุนซือคนหนุ่มวัย 39 ปีออกตัวเตือนเอาไว้ตั้งแต่เนิ่นๆ เลยว่าแมนฯ ยูไนเต็ดจะต้องเผชิญกับ ‘พายุ’ อีกหลายลูก
มันอาจจะมีทั้งวันที่ดีและวันที่เลวร้าย
จะผ่านมันไปได้ก็ต้อง Walk Through the Storm ไปด้วยกัน (เอ๊ะ…เพลงคุ้นๆ)
คนไม่เอาถ่าน
“เธอเหนื่อยไหม ที่ยังทนกับคนไม่เอาถ่าน เธอเบื่อไหม ที่ยังยอมให้คนไม่ได้ความ”
ในวันที่ผลงานของทีมเลวร้าย สิ่งที่ดีที่สุดที่มองเห็นคืออย่างน้อยมันก็ช่วยกรองให้เห็นว่าใครบ้างที่พอจะไปต่อกับทีมได้ไหว และใครบ้างที่ควรจะตัดทิ้งออกจากทีม
นักเตะอย่าง มาร์คัส แรชฟอร์ด ต่อให้เก่งกาจระดับนักเตะพรสวรรค์และเป็นลูกหม้อคนสำคัญของสโมสร แต่ไม่มีหัวใจที่จะรับใช้ทีมและ ‘ล้ำเส้น’ ในการให้สัมภาษณ์กับสื่อเกี่ยวกับเรื่องอนาคตของตัวเอง ก็เป็นเหตุให้อโมริม ‘ตัดหางปล่อยวัด’ ไปเป็นที่เรียบร้อยด้วยการดรอปพ้นทีม 3 นัดติดต่อกัน
นอกเหนือจากนั้นยังไม่มีนักเตะคนไหนมีปัญหาเรื่อง ‘ทัศนคติ’ อีก แต่ในเรื่องของฝีเท้ามีคำถามสำหรับหลายคน
คริสเตียน อีริกเซน, ลิซานโดร มาร์ติเนซ, วิคเตอร์ ลินเดอเลิฟ, ไทเรลล์ มาลาเซีย, เมสัน เมาท์, คาเซมิโร, แฮร์รี แม็กไกวร์, มัทไธจ์ส เดอ ลิกต์, อเลฮานโดร การ์นาโช หรือแม้แต่ ราสมุส ฮอยลุนด์, โจชัว เซิร์กซี และ อังเดร โอนานา
แต่พูดๆ มานี่แทบจะหมดทีมแล้วนะ…
ข้าน้อยสมควรตาย
“ฉันไม่ได้อยากเลว ไม่อยากทำอย่างนี้ มันผิดจริงๆ ก็พอรู้ตัวดี”
ย้อนกลับไปในเกมกับบอร์นมัธ จุดเปลี่ยนสำคัญคือลูกที่เสียประตูให้กับทีมเยือนในช่วงครึ่งแรก ซึ่งมาจากการเสียฟรีคิกริมเส้นที่ทำให้แฟนปีศาจแดงหลายคนใจตุ๊มๆ ต่อมๆ แล้วมันก็เกิดขึ้นจนได้ เมื่อเซิร์กซีปล่อยให้ ดีน เฮาเซน ขึ้นขวิดบอลคนเดียวเข้าประตูสบายๆ
โหม่งเสร็จยังทำท่า ‘Chill Guy’ ฉลองให้เห็นว่าสบายจริงๆ ลูกนี้
นี่เป็นการเสียประตูจากลูกเซ็ตเพลย์ลูกที่ 7 ใน 6 นัดหลังสุดแล้วของแมนฯ ยูไนเต็ดในยุคของอโมริม และทำให้กุนซือวัย 39 ปีต้องออกตัวปกป้อง คาร์ลอส เฟอร์นันเดส ทีมงานของเขาเองที่มอบหมายงานในเรื่องการซักซ้อมลูกเซ็ตพีซให้แทนที่จะใช้โค้ชเซ็ตพีซมืออาชีพของทีมที่มีอยู่เดิมอย่าง อันเดรียส จอร์จสัน ที่ก็ยังคงอยู่ในทีมงานเหมือนกัน
อโมริมบอกในทำนองว่า ‘ข้าน้อยสมควรตาย’ ยอมรับความผิดแทนลูกน้อง
สิ่งที่ดีที่สุดในเรื่องนี้คืออย่างน้อยเขาก็มองเห็นความผิดพลาดและยอมรับมันด้วยความเต็มใจ ซึ่งหมายถึงการจะปรับปรุงแก้ไขปัญหาให้ดีขึ้น
แม้ไม่รู้จะใช้เวลาอีกนานแค่ไหน
ฝุ่น
“คำว่ารักมันกลายเป็นฝุ่นไปแล้ว”
ปัญหาสำหรับอโมริมที่มาเร็วเกินคาดคือ ‘ขีดความอดทน’ ของแฟนแมนฯ ยูไนเต็ดที่บางกรอบเหมือนไส้แก้ว และนั่นทำให้เวลาผ่านมาไม่ถึง 2 เดือน ช่วงน้ำผึ้งพระจันทร์ระหว่างเขากับแฟนๆ เริ่มจะมองเห็นว่ามันจบลงไปแล้ว
จากที่เคยเข้าใจและยอมรับได้ถึงผลการแข่งขันที่ไม่เป็นใจบ้าง และเสียงชื่นชมเมื่อเก็บผลงานที่ดีได้เช่นการบุกชนะแมนเชสเตอร์ ซิตี้ได้ถึงถิ่นด้วยการโกงความตาย เกมกับบอร์นมัธเป็นนัดแรกที่อโมริมเจอเสียงวิจารณ์แบบยิงเต็มข้อ
ในความเห็นใจต่ออโมริมที่เข้ามารับเผือกที่ร้อนยิ่งกว่าร้อน พร้อมเผชิญความท้าทายมากมาย แต่อีกด้านเขาเองก็ต้องเข้าใจความรู้สึกของแฟนๆ ด้วยเช่นกัน โดยเฉพาะคนที่ตามไปเชียร์ในสนามทุกนัด (ซึ่งยังเดือดดาลกับความเขี้ยวของสโมสรที่ขึ้นราคาค่าตั๋วจนเตรียมรวมตัวกับแฟนลิเวอร์พูลประท้วงด้วยกันเลยในเกมแดงเดือด)
แฟนๆ เหล่านี้เคยชินกับความสำเร็จที่ยาวนานเกือบ 3 ทศวรรษภายใต้ยุคของ เซอร์อเล็กซ์ เฟอร์กูสัน แต่ความอดทนและความรักของพวกเขามันเหลือน้อยลงทุกที
อโมริมจำเป็นจะต้องเติมใจให้กันให้ได้โดยเร็ว ซึ่งไม่มีอะไรจะดีไปกว่าการหาทางทำให้ทีมเล่นได้น่าเชียร์ เพราะแฟนๆ นั้นไม่ได้ไม่ฉลาด พวกเขารู้ว่าทีมต้องการเวลา แต่พวกเขาจะให้เวลาก็ต่อเมื่อนักเตะและโค้ชพิสูจน์แล้วว่าคู่ควรจะได้สิ่งที่มีค่าที่สุดในโลกอย่างเวลาไป
เล่นของสูง
“รู้ว่าเสี่ยงแต่คงต้องขอลอง รู้ว่าเหนื่อยถ้าอยากได้ของที่อยู่สูง”
อันดับในวันที่อโมริมเข้ามารับตำแหน่งนายใหญ่คนใหม่ของแมนฯ ยูไนเต็ด ต่อจาก รุด ฟาน นิสเตลรอย ผู้รับอาสาดูแลให้ชั่วคราวหลังการปลด เอริก เทน ฮาก คืออันดับที่ 13
ตอนนี้แมนฯ ยูไนเต็ดก็อยู่อันดับที่ 13 เท่าเดิม โดยที่ผลงานในลีก 6 นัดแรกของอโมริมแย่ยิ่งกว่า 6 นัดสุดท้ายของเทน ฮากด้วย
อย่างไรก็ดี นั่นไม่ได้หมายความว่าเขาและลูกทีมจะไม่มีสิทธิ์หวังอะไรแล้วในฤดูกาลนี้ เพราะความคิดแบบนั้นมันอันตรายที่สุด ในทางตรงกันข้าม แมนฯ ยูไนเต็ด ยังมีเวลาและโอกาสจะกลับมาได้เสมอ
ระยะห่างระหว่างอันดับที่ 13 กับอันดับ 4 น็อตติงแฮม ฟอเรสต์ นั้นแค่ 9 แต้มเท่านั้น และห่างจากอันดับที่ 5 อย่างบอร์นมัธ (ที่ยอดเยี่ยมเอามากๆ) แค่ 6 แต้มเท่านั้น ซึ่งนั่นหมายความว่าหากแมนฯ ยูไนเต็ด เข้าเบรกโชว์ผลงานชนะต่อเนื่องเป็นชุดได้สัก 4-5 นัดติดต่อกัน สถานการณ์พร้อมจะเปลี่ยนทันที
แน่นอนว่ามันไม่ง่ายเมื่อมองถึงฟอร์ม สภาพทีม ปัญหาภายในทีม และคุณภาพของทีมเวลานี้
แต่เขาก็จ้างอโมริมมาเพื่อทำงานยากๆ แบบนี้ไม่ใช่หรือ?
อย่างน้อย
“มีใครบางคนให้คำนิยาม ว่ารักคือความทุกข์”
แต่ไม่ว่าจะอย่างไรก็ตาม สิ่งที่แฟนๆ แมนฯ ยูไนเต็ด มั่นใจได้คืออโมริมเป็นคนที่ ‘แคร์’ ทุกอย่างในทีม ใส่ใจในรายละเอียด และทุกสิ่งที่ทำไปไม่ได้ทำเพราะใจสั่งมาอย่างเดียว
มันมีเหตุและผลในตัวของมันอยู่ ไม่ว่าจะเป็นการตัดสินใจตัดแรชฟอร์ดออกจากทีม ไปจนถึงการหมุนเวียนเปลี่ยนทีมที่บางครั้งงงยิ่งกว่าการหมุนโชว์ 3 รอบของแอนโทนีเสียอีก
แต่การลองทีมของอโมริมก็เพื่ออนาคต Long Term ของแมนฯ ยูไนเต็ดเอง ได้เห็นว่าใครเล่นได้หรือไม่ได้ ใครดีหรือไม่ดี ใครเอาด้วยและไม่เอาด้วยกับแนวทางของเขา
อย่างน้อยที่สุดจะเป็นอย่างไรก็ได้ทำทุกอย่างด้วยความตั้งใจแล้ว
ที่เหลือก็รอแค่ให้เวลาได้ทำหน้าที่ของมัน ถ้าความตั้งใจนั้นดีมากพอ ทุกอย่างจะเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีได้อย่างแน่นอน
Bonus Track!
ยักษ์ใหญ่ไล่ยักษ์เล็ก
“ไอ้ฉันนั้นมีแค่มือ แต่เขานั้นมีอำนาจ”
งานในการฟื้นฟูแมนฯ ยูไนเต็ด น้ำหนักเกินครึ่งอยู่ในมือของอโมริม แต่อีกจำนวนไม่น้อยอยู่ที่ฝ่ายบริหารอย่าง โอมาร์ เบอร์ราดา ซีอีโอ, เซอร์เดฟ เบรลส์ฟอร์ด มือขวาของ เซอร์จิม แรตคลิฟฟ์ และมหาเศรษฐีผู้ทำแต่ละอย่างชวนป๋วยปี่แปกอในความรู้สึกของแฟนๆ (เช่น การขอยกเลิกสัญญาทูตสโมสรของ เซอร์อเล็กซ์ เฟอร์กูสัน)
เห็นได้ชัดว่าอโมริมต้องการ ‘การสนับสนุน’ อย่างเต็มที่และจริงจังในช่วงตลาดการซื้อขายหลังจากนี้ ไม่ว่าจะเป็นรอบฤดูหนาวที่กำลังจะมาถึง หรือรอบฤดูร้อนที่ควรจะมีการ ‘ยกเครื่อง’ (Overhaul) ทีมครั้งใหญ่
ถ้าถึงตรงนั้นแล้วเบื้องบนเอาด้วย เต็มที่ด้วย งานก็มีโอกาสจะสำเร็จได้ง่ายและเร็วขึ้น
แต่ถ้าเบื้องบนไม่เอาด้วยหรือไม่เอาไหน ไม่มีวิสัยทัศน์ ปฏิบัติไม่เก่ง
สิบอโมริมก็ช่วยบ่ไหวเหมือนกัน