×

Microsoft เผย 5 แนวโน้มสำคัญของวงการ AI ที่ธุรกิจไทยต้องเจอในปี 2025

23.12.2024
  • LOADING...

‘AI เปลี่ยนโลก’

 

คำนี้ไม่เกินจริง เพราะในปี 2024 ถือเป็นช่วงแห่งการเริ่มต้นนำ AI เข้ามาใช้เป็นเครื่องมือขับเคลื่อนองค์กร รวมถึงชีวิตประจำวันของพนักงานและผู้คนทั่วไป

 

สำหรับในปี 2025 เทคโนโลยี AI จะยังได้รับการพัฒนาอย่างต่อเนื่องและถูกนำไปใช้ในวงกว้างมากขึ้น ทั้งช่วยสร้างขีดความสามารถในการแข่งขันขององค์กร และค้นหาแนวทางรับมือกับการเปลี่ยนแปลงของประเทศไทยและโลก

 

ธนวัฒน์ สุธรรมพันธุ์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ไมโครซอฟท์ (ประเทศไทย) จำกัด เผยเทรนด์ AI ที่น่าจับตามองในปี 2025 เพื่อให้องค์กรไทย ทั้งภาคธุรกิจ ภาครัฐ และคนไทย เตรียมความพร้อมในการใช้ AI ที่จะแพร่หลายมากยิ่งขึ้น โดยเทรนด์ที่ธนวัฒน์มองว่าสำคัญ มีดังนี้

 

1. Scaling Laws: AI จะยกระดับศักยภาพและเติบโตอย่างก้าวกระโดด

 

ในปีหน้า AI จะได้รับการพัฒนาอย่างก้าวกระโดดยิ่งกว่าทุกการปฏิวัติอุตสาหกรรมที่ผ่านมา ฉีกกฎการเติบโตจากเดิมที่เติบโตด้วยตัวเองอย่างค่อยเป็นค่อยไป โดยคาดการณ์ว่า AI จะเพิ่มศักยภาพขึ้นแบบทวีคูณในทุกๆ ครึ่งปี จากประสิทธิภาพของคอมพิวเตอร์ที่พัฒนาสูงขึ้น ซึ่งองค์กรที่เริ่มใช้และยังไม่ได้ใช้ AI ควรปรับตัวตามเรื่องนี้ให้ทัน

 

ปัจจุบันมีหลายองค์กรในไทยที่นำ AI มาประยุกต์ใช้ในการลดต้นทุน เพิ่มประสิทธิภาพงาน และลดระยะเวลาในการทำงานให้กับพนักงานแล้ว

 

รายงานของ IDC ประจำปี 2024 พบว่า 60% ขององค์กรที่ได้รับการสำรวจจากทั่วโลก วางแผนที่จะนำ AI เข้ามาใช้กับภาคธุรกิจอย่างเต็มประสิทธิภาพภายใน 2 ปีข้างหน้า ซึ่งสูงกว่าในปี 2023 ที่มีสัดส่วนเพียง 46% เท่านั้น โดยอุตสาหกรรมที่มีความพร้อมมากที่สุด 3 อันดับแรก ได้แก่ การศึกษา สุขภาพ และการเงิน

 

“ภายในเวลาไม่ถึง 2 ปี AI มีพัฒนาการที่เพิ่มมากขึ้นอย่างรวดเร็ว สามารถช่วยทำงานที่ซับซ้อน และเข้าใจการสื่อสารได้เหมือนกับมนุษย์อย่างเป็นธรรมชาติ สร้างโอกาสและประโยชน์อย่างมหาศาล เราจะเริ่มเห็นความแตกต่างของคนที่ใช้ AI กับคนที่ไม่ใช้มากขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งในปัจจุบัน AI เป็นเทคโนโลยีที่ทุกคนสามารถเข้าถึงและใช้งานได้” ธนวัฒน์กล่าว

 

2. Agentic World: เสริมประสิทธิภาพให้องค์กร และช่วยพนักงานมุ่งเน้นการทำงานที่สำคัญ

 

AI Agent จะเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของทีมงานและกระบวนการทำงาน ช่วยแบ่งเบาภาระการทำงานซ้ำซ้อนหรือ Routine Work เพื่อให้พนักงานมีเวลาไปโฟกัสกับการทำงานที่สำคัญกว่า

 

ในอนาคตธนวัฒน์มองว่าเราจะเห็นการทำงานร่วมกันระหว่างมนุษย์และ AI อย่างแพร่หลาย เราจะได้เห็น AI Agent มาช่วยพนักงานในการค้นหาข้อมูล และที่สำคัญผู้ใช้งานที่ไม่ความรู้ด้านไอทีก็สามารถสร้าง AI Agent ของตนเองได้อย่างง่ายดายและสะดวกรวดเร็วผ่านเครื่องมือต่างๆ เช่น Microsoft 365 Copilot และ Microsoft Copilot Studio

 

3. Multimodal AI: สร้างนวัตกรรมจาก AI ที่เข้าใจข้อมูลจากสื่อทุกประเภท

 

ในการทำงานปัจจุบัน แหล่งข้อมูลการทำงานอาจไม่ได้มาจากเอกสารหรือข้อความเพียงอย่างเดียว แต่ยังมีข้อมูลในรูปแบบอื่นๆ เช่น รูปภาพและเสียง ซึ่งในอนาคต AI จะสามารถนำข้อมูลในสื่อหลากหลายประเภทมาใช้ประโยชน์ได้ ก้าวข้ามขีดจำกัดในการป้อนข้อมูล คำสั่ง และแสดงผลลัพธ์ในรูปแบบของข้อความเพียงอย่างเดียวเท่านั้น ทำให้การสื่อสารกับ AI เป็นธรรมชาติมากยิ่งขึ้น

 

ปัจจุบัน Copilot ของ Microsoft สามารถใส่ Prompt ได้ทั้งข้อความ เสียงพูดเป็นภาษาไทย และรูปภาพ สามารถมองเห็นสิ่งที่มนุษย์เห็นบนหน้าจอ ซึ่งจะทำให้เกิด User Interface ที่ใช้งานง่ายยิ่งขึ้น หรือจะเป็นระบบการตรวจจับเสียง (Voice Recognition) รวมทั้ง Sora โมเดล AI ที่สามารถช่วยสร้างวิดีโอที่สมจริงได้จากข้อความ ซึ่งโซลูชันต่างๆ เหล่านี้จะสร้างบริการใหม่ๆ เพื่อให้ความสะดวกและสร้างแต้มต่อให้กับธุรกิจ

 

4. Data Security: ความปลอดภัยต้องไปคู่กับ AI

 

หนึ่งในเรื่องที่สำคัญไม่แพ้กันคือการรักษาความปลอดภัยของข้อมูล เนื่องจาก AI สามารถเข้าถึงข้อมูลทั้งหมดได้ จึงมีความจำเป็นที่องค์กรต้องระมัดระวังในการแชร์ข้อมูล

 

หากมีการแชร์ข้อมูลเกินควรและไม่ได้รับการป้องกัน ข้อมูลที่ไม่ควรเปิดเผยก็รั่วไหลออกไปได้ เช่น ข้อมูลส่วนตัวของพนักงานและลูกค้า ซึ่งจะต้องเป็นความลับขององค์กร

 

ในอดีตการแชร์ข้อมูลโดยไม่มีการควบคุมอาจยังไม่เป็นปัญหาใหญ่ เพราะไม่มีเครื่องมือที่สามารถรวบรวมข้อมูลทั้งหมดได้ แต่ในปัจจุบันสิ่งเหล่านี้เปลี่ยนไป การรักษาความปลอดภัยของข้อมูลจึงเป็นเรื่องที่ทุกองค์กรต้องให้ความสำคัญควบคู่ไปกับการพัฒนาเทคโนโลยีใหม่ๆ รวมถึงการกำหนดแนวทางการจัดการข้อมูล (Data Governance)

 

5. Responsible AI: จริยธรรม AI ต้องใช้อย่างเป็นธรรมกับทุกฝ่าย

 

เพื่อให้ AI ถูกนำไปใช้งานอย่างสร้างสรรค์ เป็นธรรม และเกิดประโยชน์กับทุกคนอย่างแท้จริง บริษัทผู้พัฒนายักษ์ใหญ่ในหลายประเทศต่างร่วมกันในการหาแนวทางกำกับดูแลการใช้งาน AI โดย Microsoft ได้กำหนดมาตรการการใช้งาน AI อย่างมีจริยธรรมและรับผิดชอบต่อสังคม เน้นความโปร่งใส ความเป็นธรรม และความปลอดภัย ทั้งยังมีคณะกรรมการตรวจสอบ เพื่อให้แน่ใจว่าบริการ AI ใหม่ๆ ที่สร้างขึ้นจะต้องผ่านเกณฑ์ Responsible AI ก่อนการนำออกมาใช้

 

Microsoft ยังเสริมมาตรการ AI Guardrail เพื่อป้องกันการใช้งาน AI ในรูปแบบที่ไม่ได้รับอนุญาต โดยกำหนดเกณฑ์การใช้งานที่ชัดเจนและป้องกันการใช้งานในทางที่ผิด เช่น การใช้งานที่ละเมิดความเป็นส่วนตัว การใช้เพื่อการก่ออาชญากรรม หรือการใช้ในการเผยแพร่ข้อมูลเท็จ เพื่อให้แน่ใจว่า AI จะถูกใช้งานตามวัตถุประสงค์ที่ถูกต้อง

 

จากเทรนด์เทคโนโลยีที่ Microsoft ระบุมา จะเห็นว่า AI สามารถสร้างประโยชน์ต่อภาคธุรกิจได้อย่างไรบ้าง

 

“AI ไม่ใช่กระแสเทคโนโลยี แต่เป็นโอกาสพลิกโฉมธุรกิจ ซึ่งหัวใจสำคัญในการนำ AI เข้าไปใช้งานในธุรกิจคือการที่ผู้บริหารต้องให้การสนับสนุน กำหนดกลยุทธ์ AI ที่ชัดเจน เพิ่มทักษะและจัดหาเครื่องมือที่เหมาะสมให้กับพนักงาน รวมถึงมีมาตรการการกำกับดูแล เพื่อให้การใช้ AI เกิดประโยชน์สูงสุดและมีความรับผิดชอบ” ธนวัฒน์กล่าวทิ้งท้าย

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X