SCB EIC ปรับลดประมาณการเศรษฐกิจไทยปี 2025 ลงเหลือ 2.4% นับว่าต่ำกว่าประมาณการเศรษฐกิจไทยปี 2024 หมายความว่า GDP ไทยปีหน้ามีแนวโน้มจะขยายตัวต่ำกว่าปีปัจจุบัน ทำให้ธนาคารอาจระมัดระวังการปล่อยสินเชื่อต่อไป ย้ำ การลดดอกเบี้ยเพิ่มเติมจะช่วยบรรเทาภาระหนี้และลดผลกระทบภาวะการเงินตึงตัวต่อกิจกรรมทางเศรษฐกิจได้บ้าง
วันนี้ (20 ธันวาคม) SCB EIC ปรับลดประมาณการเศรษฐกิจไทยปีหน้า 2025 ลงเหลือ 2.4% จากคาดการณ์ก่อนหน้านี้เมื่อเดือนกันยายน 2024 ที่ 2.7% โดยสาเหตุหลักมาจากผลนโยบาย Trump 2.0 โดยเฉพาะช่วงครึ่งหลังของปีนี้
“สำหรับปี 2025 เศรษฐกิจไทยจะเริ่มได้รับผลกระทบจากมาตรการกีดกันการค้าของ Trump 2.0 ตั้งแต่ครึ่งปีหลัง เพราะไทยมีความเสี่ยงสูงที่จะถูกขึ้นภาษีนำเข้าจากสหรัฐฯ ซึ่งกว่า 70% ของสินค้าส่งออกไทยไปสหรัฐฯ เป็นกลุ่มสินค้าที่สหรัฐฯ จะตั้งเป้าลดการขาดดุลการค้าและต้องการสนับสนุนห่วงโซ่อุปทานในประเทศแทน เช่น อิเล็กทรอนิกส์ ยานยนต์และชิ้นส่วน เครื่องจักรและคอมพิวเตอร์
“นอกจากนี้ปัญหา China’s Overcapacity จะกดดันความสามารถในการแข่งขันของสินค้าไทยทั้งตลาดในและนอกประเทศ ส่งผลให้การส่งออกไทยเริ่มชะลอตัว ซ้ำเติมภาคการผลิตอุตสาหกรรมที่ยังไม่ฟื้นตัว ท่ามกลางแรงกระตุ้นการคลังที่จะออกมาเพิ่มเติมในปีหน้า” SCB EIC ระบุ
เตือนเศรษฐกิจปีหน้า ‘ยากลำบาก’ ขึ้น
สำหรับประมาณการเศรษฐกิจไทยปี 2024 SCB EIC คาดว่าจะขยายตัว 2.7% นับว่าสูงกว่าประมาณการก่อนหน้านี้ที่ 2.5% หมายความว่าเศรษฐกิจไทยปีหน้ามีแนวโน้มจะขยายตัวต่ำกว่าปีปัจจุบัน
“เศรษฐกิจไทยไตรมาส 4 อาจขยายตัวได้ถึง 4% ตามแรงส่งการส่งออกและการใช้จ่ายภาครัฐที่โตต่อเนื่องจากไตรมาส 3 รวมถึงการท่องเที่ยว” SCB EIC ระบุ
แบงก์จ่อเข้มงวดต่อ เหตุปัญหาโครงสร้างเศรษฐกิจไทยยังไม่ดีขึ้น
SCB EIC กล่าวว่า ปัญหาเชิงโครงสร้างของเศรษฐกิจไทยเร่ิมเช่ือมโยงไปยังภาคการเงินมากขึ้น หมายความว่าเมื่อเศรษฐกิจไทยเติบโตช้า เปราะบาง และไม่แน่นอนสูง ส่งผลให้ฐานะการเงินของครัวเรือนอ่อนแอลงและความสามารถในการชำระหนี้ด้อยลง
ดังนั้นธนาคารจึงระมัดระวังการปล่อยสินเชื่อมากขึ้น ทำให้ครัวเรือนเข้าถึงสินเชื่อยากขึ้น นำไปสู่ปัญหาสภาพคล่องรุนแรงขึ้น ภาวะการเงินที่ตึงตัวเช่นนี้ยิ่งซ้ำเติมฐานะการเงินครัวเรือน และส่งผลให้เศรษฐกิจชะลอลงในเชิงวัฏจักรตามมาอีก
ธุรกิจไทยยังมีความเสี่ยงอยู่มาก ผลกระทบจะขึ้นอยู่กับแต่ละธุรกิจ
SCB EIC ระบุอีกว่า แนวโน้มธุรกิจไทยยังมีความเสี่ยงอยู่มาก ทั้งจากความผันผวนของเศรษฐกิจโลก นโยบาย Trump 2.0 การแข่งขันรุนแรงจากต่างประเทศ แรงกดดันจาก Megatrends รวมถึงปัญหาเชิงโครงสร้างในภาคการผลิตของไทยเอง แต่ขนาดผลกระทบจะขึ้นอยู่กับความสามารถในการปรับตัวของแต่ละธุรกิจ เช่น ธุรกิจยานยนต์ที่ได้รับผลกระทบจากความผันผวนของเศรษฐกิจโลก ความเปราะบางของครัวเรือน ซ้ำเติมด้วยแรงกดดันการเปลี่ยนผ่านสู่รถ EV ส่งผลให้ผู้ประกอบการมีข้อจำกัดในการปรับตัว
ขณะที่ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ ที่อยู่อาศัย แม้ได้รับผลกระทบจากกำลังซื้อชะลอตัว แต่ผู้ประกอบการบางส่วนสามารถปรับตัวและเจาะกลุ่มลูกค้าที่มีศักยภาพทดแทนได้
ย้ำ การลดดอกเบี้ยเพิ่มเติมช่วยบรรเทาภาระหนี้-ช่วยเศรษฐกิจ
SCB EIC ประเมินว่า คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) จะลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายอีกครั้ง 0.25% ในเดือนกุมภาพันธ์ 2025 ไปอยู่ที่ 2% และคงไปตลอดช่วงที่เหลือของปี
แม้ว่าสถานการณ์ปัจจุบันอาจยังไม่มีปัจจัยกดดันชัดเจนที่ทำให้ กนง. ต้องเร่งปรับลดดอกเบี้ย แต่ในระยะข้างหน้าเศรษฐกิจไทยจะเผชิญความเสี่ยงเพิ่มขึ้น ทั้งจากความเปราะบางภายในและความท้าทายภายนอก นอกจากนี้การลดดอกเบี้ยเพิ่มเติมจะช่วยบรรเทาภาระหนี้และลดผลกระทบภาวะการเงินตึงตัวต่อกิจกรรมทางเศรษฐกิจได้บ้าง
เงินบาทอาจอ่อนค่า ‘ไม่ได้มากกว่านี้แล้ว’
สำหรับเงินบาทจะอ่อนค่าลงอีกไม่มาก อยู่ในกรอบราว 34.00-35.00 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐในช่วงที่เหลือของปีนี้ แต่ยังต้องจับตาความผันผวนของเงินสกุลอื่นที่อาจกระทบเงินบาทได้
สำหรับปี 2025 คาดว่าเงินทุนเคลื่อนย้ายจะยังไหลออกต่อเนื่องกดดันเงินบาทอ่อนค่าต่อในช่วงครึ่งแรกของปี แต่เงินบาทอาจกลับมาแข็งค่าได้ช่วงครึ่งปีหลัง ตามทิศทางการลดดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) ราคาน้ำมันโลกที่มีแนวโน้มลดลง ราคาทองคำที่อาจสูงขึ้น และเงินทุนเคลื่อนย้ายไหลกลับ มองกรอบปลายปีที่ 33.50-34.50 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ