เมื่อวันพุธที่ผ่านมา (18 ธันวาคม) ธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) ปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลง 0.25% ซึ่งเป็นการลดดอกเบี้ยเป็นครั้งที่ 3 ติดต่อกัน และยังส่งสัญญาณเตือนเกี่ยวกับการปรับลดดอกเบี้ยเพิ่มเติมในปีต่อๆ ไป
คณะกรรมการนโยบายการเงินของธนาคารกลางสหรัฐฯ (FOMC) ตัดสินใจปรับลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ข้ามคืนลงสู่ระดับ 4.25-4.50% ซึ่งเป็นระดับเดียวกับที่ธนาคารกลางเคยปรับขึ้นเมื่อเดือนธันวาคม 2022
แม้ว่าจะไม่มีใครสนใจการตัดสินใจครั้งนี้มากนัก แต่คำถามหลักก็คือ Fed จะส่งสัญญาณอย่างไรเกี่ยวกับดอกเบี้ยในอนาคต ขณะที่อัตราเงินเฟ้อยังคงสูงกว่าเป้าหมายอย่างต่อเนื่อง และการเติบโตทางเศรษฐกิจค่อนข้างมั่นคง ซึ่งเป็นเงื่อนไขที่ปกติแล้วจะไม่สอดคล้องกับการผ่อนคลายนโยบายทางการเงินเท่าไรนัก
ในการตัดสินใจลดอัตราดอกเบี้ย 0.25% นั้น Fed ระบุว่า น่าจะมีการปรับลดอัตราดอกเบี้ยอีกเพียง 2 ครั้งในปี 2025 ตามข้อมูล Dot Plot ซึ่งเป็นข้อมูลคาดการณ์อัตราดอกเบี้ยในอนาคตของสมาชิก Fed แต่ละคนที่ถูกจับตามองอย่างใกล้ชิด การลดอัตราดอกเบี้ยอีก 2 ครั้งนั้นบ่งชี้ว่าความตั้งใจของคณะกรรมการ Fed กว่าครึ่งหนึ่ง หลังจากที่มีการอัปเดตข้อมูลครั้งล่าสุดในเดือนกันยายน
เจ้าหน้าที่ Fed ระบุว่า อาจลดอัตราดอกเบี้ยอีก 2 ครั้งในปี 2026 และอีกครั้งในปี 2027 โดยในระยะยาว คณะกรรมการมองว่าอัตราดอกเบี้ยจะอยู่ที่ 3% ซึ่งสูงกว่าการอัปเดตเมื่อเดือนกันยายน
เจอโรม พาวเวลล์ ประธาน Fed กล่าวในการแถลงข่าวหลังการประชุมว่า “เราลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลง 1% จากจุดสูงสุด และนโยบายของเราในปัจจุบันก็มีข้อจำกัดน้อยลงอย่างมาก ดังนั้นเราจึงสามารถระมัดระวังนโยบายการเงินมากขึ้นได้ในขณะที่เราพิจารณาปรับอัตราดอกเบี้ยตามนโยบายเพิ่มเติม”
ด้านตลาดหุ้นเจอกับแรงเทขาย หลังจากที่ Fed ประกาศนโยบายดอกเบี้ย ในขณะที่ผลตอบแทนพันธบัตรพุ่งสูงขึ้น
ในการแถลงการณ์ หลังการประชุมแทบไม่มีการเปลี่ยนแปลงใดๆ ยกเว้นในเรื่อง ‘ขอบเขตและระยะเวลา’ ของการเปลี่ยนแปลงอัตราดอกเบี้ยเพิ่มเติม ซึ่งเป็นการเปลี่ยนแปลงภาษาเล็กน้อยจากการประชุมในเดือนพฤศจิกายน
ขณะที่ Goldman Sachs กล่าวว่า การปรับนโยบายครั้งนี้บ่งบอกถึงการลดอัตราดอกเบี้ยที่ชะลอตัวลง
การตัดสินใจดังกล่าวเกิดขึ้นแม้ว่าคณะกรรมการจะปรับเพิ่มการคาดการณ์การเติบโตของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ทั้งปี 2024 เป็น 2.5% ซึ่งสูงกว่าเดือนกันยายนครึ่งเปอร์เซ็นต์ อย่างไรก็ตาม ในปีต่อๆ ไปเจ้าหน้าที่ Fed คาดว่า GDP จะชะลอตัวลงสู่การคาดการณ์ระยะยาวที่ 1.8%
ในสรุปการคาดการณ์เศรษฐกิจ คณะกรรมการปรับลดอัตราการว่างงานที่คาดไว้ในปีนี้ลงเหลือ 4.2% ในขณะที่อัตราเงินเฟ้อทั่วไปและอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานอาจสูงขึ้นเป็นประมาณการ 2.4% และ 2.8% ตามลำดับ ซึ่งสูงกว่าประมาณการในเดือนกันยายนเล็กน้อย และสูงกว่าเป้าหมาย 2% ของ Fed
แม้ว่าเงื่อนไขเหล่านี้จะสอดคล้องกันมากที่สุดกับการขึ้นอัตราดอกเบี้ยของ Fed หรือคงอัตราดอกเบี้ยไว้ แต่เจ้าหน้าที่ก็ระมัดระวังที่จะคงอัตราดอกเบี้ยไว้สูงเกินไป ยิ่งไปกว่านั้น Fed จะต้องรับมือกับผลกระทบของนโยบายการคลังภายใต้ประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์ ที่ระบุถึงแผนการจัดเก็บภาษีและการลดหย่อนภาษี ซึ่งทั้งหมดนี้อาจทำให้เกิดภาวะเงินเฟ้อและทำให้หน้าที่ของธนาคารกลางซับซ้อนขึ้น
อ้างอิง: