ดร.อมรเทพ จาวะลา ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ ผู้บริหารสำนักวิจัย ธนาคารซีไอเอ็มบี ไทย เปิดเผยว่า มองต่อไปในปี 2025 เชื่อว่าคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) น่าจะปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงได้อีกจากระดับ 2.25% ในปี 2024 สู่ระดับ 1.50% ในปี 2025 ด้วย 5 ปัจจัย ดังนี้
- กำลังซื้อครัวเรือนระดับล่างอ่อนแอ - เศรษฐกิจไทยเติบโตในรูปแบบที่ความเหลื่อมล้ำระหว่างรายได้มีมากขึ้น มีความเสี่ยงที่คนรายได้น้อยจะยังมีปัญหาขาดรายได้ โดยเฉพาะครัวเรือนภาคเกษตร อีกทั้งธุรกิจขนาดกลางและขนาดเล็ก หรือ SMEs ภาคบริการในต่างจังหวัด โดยเฉพาะเมืองที่ไม่ได้รับประโยชน์จากนักท่องเที่ยวต่างชาติยังคงมียอดขายตกต่ำลากยาวต่อเนื่อง ซึ่งจะซ้ำเติมการเข้าถึงสินเชื่อจากความเสี่ยงด้านเครดิตที่สูง แม้มีมาตรการแจกเงินคนในกลุ่มเปราะบางไปแล้วในปลายไตรมาสที่ 3 ของปี 2024 แต่กิจกรรมทางเศรษฐกิจกลับไม่คึกคัก และคาดว่าเม็ดเงินที่จะแจกต่อไปอาจไม่ได้ให้คนกลุ่มนี้มากเท่าในอดีต
- ภาคการผลิตซึมยาว – ดัชนีภาคการผลิตหดตัวต่อเนื่อง โดยเฉพาะในอุตสาหกรรมยานยนต์ จากยอดขายรถยนต์ที่หดตัวแรงในปี 2024 แม้เราคาดว่าสถานการณ์ตลาดรถยนต์น่าจะกลับมาทรงตัวได้ในช่วงกลางปี 2025 แต่ในช่วงครึ่งแรกของปี กำลังซื้อของแรงงานและคนในอุตสาหกรรมนี้ยังอ่อนแอ รวมทั้งมีความเสี่ยงด้านการส่งออกที่อาจเติบโตช้าท่ามกลางสงครามการค้าที่อาจกระทบอุตสาหกรรมอื่นๆ เช่น อิเล็กทรอนิกส์ อาหารแปรรูป และเคมีภัณฑ์ ซึ่งจะกดดันกำลังซื้อในภาคอุตสาหกรรมได้
- อัตราเงินเฟ้อต่ำไม่ถึงกรอบล่างนโยบายการเงิน – เราคาดว่าอัตราเงินเฟ้อในปี 2025 จะเฉลี่ยที่ระดับ 1.0% ซึ่งแตะกรอบล่างของเป้าหมายอัตราเงินเฟ้อที่ระดับ 1.0-3.0% แต่หากกำลังซื้ออ่อนแอจากทั้งภาคเกษตร อุตสาหกรรม และบริการ ในกลุ่มที่ไม่ใช่ภาคการท่องเที่ยวแล้ว ราคาสินค้าก็ยากที่จะขยับขึ้นได้ นอกจากปัจจัยด้านอุปสงค์อ่อนแอแล้ว เศรษฐกิจไทยยังมีปัญหาอื่นที่กระทบผู้ประกอบการไทย ในปี 2025 เราคาดว่าราคาน้ำมันดิบจะลดลง ซึ่งแม้จะช่วยทำให้ต้นทุนสินค้าลดลงตามค่าขนส่ง แต่จากการแข่งขันที่รุนแรง เราห่วงว่าราคาสินค้าอาจปรับย่อลงมากจนกระทบผู้ประกอบการ รวมทั้งสินค้าราคาถูกจากจีนที่ทะลักเข้ามาจนผู้ประกอบการไทยแข่งขันยากลำบาก อาจทำให้ธุรกิจต้องปิดตัวลง ซึ่งปัจจัยด้านหลังอาจไม่สามารถแก้ไขได้ด้วยการลดอัตราดอกเบี้ย แต่ดอกเบี้ยที่ลดลงก็น่าจะช่วยพยุงนักธุรกิจไทยได้บ้างในช่วงที่การส่งผ่านของอัตราดอกเบี้ยที่ลดลงไปสนับสนุนกำลังซื้อคนในประเทศ
- เศรษฐกิจไทยขยายตัวต่ำลากยาว - ศักยภาพของเศรษฐกิจไทยน่าจะเติบโตได้ไม่ถึง 3% ในระยะยาว อาจจำกัดไว้ที่ 2.50-3.00% ในอีก 5 ปี และอาจปรับลดลงไปต่ำกว่า 2.50% ในภายหน้าที่เศรษฐกิจไทยเสี่ยงโตช้าลงในระยะยาวเพราะปัญหาเชิงโครงสร้าง ทั้งสังคมสูงวัย ขาดแคลนแรงงาน ทักษะแรงงานต่ำ การลงทุนภาคเอกชนต่ำ ขาดนวัตกรรม และอื่นๆ อีกมากมาย ซึ่งอาจมองว่าการลดอัตราดอกเบี้ยไม่ได้แก้ที่ต้นเหตุ แต่เราก็พอเห็นได้ว่าหากอัตราดอกเบี้ยลดลงได้จริงก็น่าสนับสนุนการลงทุน เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตของแรงงาน และช่วยให้เศรษฐกิจไทยขยายตัวได้ดีขึ้นในระยะยาว
- เผชิญสงครามค่าเงิน - สุดท้ายสงครามการค้ามักนำไปสู่สงครามค่าเงิน เพราะเมื่อสหรัฐฯ ตั้งกำแพงภาษีจากจีนและประเทศที่เกินดุลการค้ากับสหรัฐฯ ประเทศจีน และประเทศอื่นๆ รวมทั้งไทยด้วย จะเผชิญความลำบากในการส่งออก หากต้องการส่งออกมากขึ้นก็ต้องเพิ่มความสามารถในการแข่งขันด้านราคา นั่นก็คือขายของให้ถูกลงในรูปแบบสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งหนีไม่พ้นการหามาตรการปล่อยให้ค่าเงินตัวเองอ่อนค่าเทียบดอลลาร์สหรัฐและคู่แข่ง
ทั้งนี้ มาตรการทางการเงินสามารถสนับสนุนให้ค่าเงินอ่อนค่าได้ด้วยการลดดอกเบี้ย เพื่อลดความน่าสนใจของสกุลเงินตัวเอง สนับสนุนให้เกิดเงินไหลออก แต่ต้องระวังว่าทรัมป์อาจเพ่งเล็งประเทศเหล่านี้ว่าบิดเบือนค่าเงินหรือทำค่าเงินให้อ่อนเกินปัจจัยพื้นฐาน เพื่อให้เกินดุลการค้ากับสหรัฐฯ ซึ่งจะเสี่ยงโดนจัดเก็บภาษีเพิ่มขึ้น
ด้วยปัจจัยเหล่านี้ เราจึงเตรียมรับมือดอกเบี้ยที่ลดลงเพื่อปรับสมดุลกับเศรษฐกิจไทยที่เปลี่ยนแปลงไป ซึ่งไม่ใช่ดอกเบี้ยขาลงเพื่อรับมือกับวิกฤตเศรษฐกิจหรือความเสี่ยงเศรษฐกิจถดถอย และเชื่อว่าหากในอนาคตเศรษฐกิจไทยต้องเผชิญกับปัญหาในรูปแบบอื่นๆ ธนาคารแห่งประเทศไทยก็จะมีเครื่องมือในการรับมือได้ ไม่ได้สูญเสียขีดความสามารถในการดำเนินนโยบายการเงินแต่อย่างไร และน่าจะเห็นรอบการลดอัตราดอกเบี้ยนี้ตั้งแต่การประชุมแรกของปี 2025 และไปจบรอบการลดอัตราดอกเบี้ยในช่วงไตรมาสที่ 3
อย่างไรก็ดี ปี 2025 เป็นปีที่มีความผันผวนและความไม่แน่นอนภาคต่างประเทศสูง ซึ่งอาจทำให้ กนง. ลดอัตราดอกเบี้ยน้อยกว่าคาด เช่น ปัญหาเงินเฟ้อในสหรัฐฯ รุนแรงขึ้นจนกระทบเงินเฟ้อโลก ราคาน้ำมันดีดตัวสูงขึ้นจากปัญหาภูมิรัฐศาสตร์ในรัสเซียและตะวันออกกลาง รวมทั้งความเป็นไปได้ที่สงครามการค้าอาจเลื่อนออกไปหรือลดความรุนแรงลง รวมทั้งอาจมีมาตรการดูแลปัญหาหนี้ครัวเรือนที่ช่วยคนมีภาระหนี้เฉพาะกลุ่ม ซึ่งล้วนพอจะทำให้นโยบายการเงินต้องให้น้ำหนักด้านเสถียรภาพทางเศรษฐกิจควบคู่ไปกับการดูแลด้านเงินเฟ้อและการเติบโตทางเศรษฐกิจในระยะยาว รวมทั้งอาจลดอัตราดอกเบี้ยเหลือเพียง 1.75% เท่านั้น และจบรอบการลดอัตราดอกเบี้ยในช่วงไตรมาสที่ 2