สัญญาณของการเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นในวันอาทิตย์ที่ผ่านมา (15 ธันวาคม) เมื่อ รูเบน อโมริม ตัดสินใจไม่ใส่ชื่อของ มาร์คัส แรชฟอร์ด ไว้ในทีมของแมนฯ ยูไนเต็ด
ไม่ใช่แค่ใน 11 ผู้เล่นคนแรก แต่แม้แต่บนม้านั่งสำรองก็ไม่มีที่ว่างให้
เกมแมนเชสเตอร์ดาร์บี้นัดนี้จึงกลายเป็นเกมที่ไม่มี Local Lad Hero อยู่
เรื่องนี้เป็นการตัดสินใจและเป็นการเดิมพันครั้งใหญ่ของอโมริม ที่ต้องการความเปลี่ยนแปลงให้เกิดขึ้นในทีม และสิ่งที่จะทำให้เกิดแรงกระเพื่อมครั้งใหญ่ได้ในความรู้สึกของหัวหน้าโรงละครคนใหม่ คือการตัดผู้เล่นที่ขาดแรงมุ่งมั่นในการทำหน้าที่ในสนามออกไปจากทีม
แรชฟอร์ดไม่ได้เป็นคนเดียวที่ถูกตัดชื่อในวันนั้น อเลฮานโดร การ์นาโช ไอ้หนุ่มผู้เคยเป็นความหวังสูงสุดคนใหม่ก็ถูกตัดชื่อทิ้งด้วย ท่ามกลางข่าวอื้อฉาวว่าเขาเป็นหนึ่งใน ‘หนอนบ่อนไส้’ ที่แอบเอาข้อมูลเรื่องรายชื่อผู้เล่นไปเล่าต่อจนรายชื่อผู้เล่นของทีมหลุดไปก่อนถึงเวลาแข่งขัน แม้ว่าจะมีการยืนยันในเวลาต่อมาว่าเขาไม่มีส่วนรู้เห็นเกี่ยวข้อง
ขณะที่อโมริมบอกว่าทั้งคู่มีโอกาสจะเริ่มต้นใหม่ได้เสมอ
แต่ในความเป็นจริงแล้ว โอกาสมีให้สำหรับแค่คนเดียวเท่านั้น และคนที่จะได้โอกาสนั้นคือการ์นาโช
วันจันทร์ที่ผ่านมา (16 ธันวาคม) แรชฟอร์ดซึ่งลงฝึกซ้อมในวันอาทิตย์ ได้รับอนุญาตให้พักหนึ่งวันเช่นเดียวกันกับเพื่อนร่วมทีมคนอื่นที่บุกไปคว้าชัยชนะที่ยิ่งใหญ่เหนือแมนฯ ซิตี้ ได้แบบโกงความตายที่เอติฮัด สเตเดียม
กิจกรรมวันหยุดของเขาคือการเดินทางไปโรงเรียนประถมเก่า Button Lane ซึ่งอยู่ทางตอนใต้ของเมืองแมนเชสเตอร์ ผ่านการบอกเล่าของ Henry Winter อดีต Chief Football Writer แห่ง The Times ที่เป็นผู้ได้รับความไว้วางใจให้ร่วมเดินทางไปเก็บเกี่ยวเรื่องราวในช่วงเวลาที่อ่อนไหวสำหรับตัวเขา
แรชฟอร์ดไม่ได้ไปมือเปล่า แต่เอากล่องของขวัญไปฝากเด็กๆ มากถึง 420 กล่อง เพื่อเป็นของขวัญในวันคริสต์มาสล่วงหน้าสำหรับทุกคน ซึ่งเรื่องนี้เป็นสิ่งที่วางแผนเอาไว้ล่วงหน้าเป็นเวลานานแล้ว และการทำเพื่อเด็กๆ เป็นส่วนหนึ่งในชีวิตของเขาที่มีความสำคัญ หรือหากจะพูดให้ถูกคือสำคัญมากขึ้นเรื่อยๆ
นับตั้งแต่เกิดโรคระบาดโควิด-19 เป็นต้นมา แรชฟอร์ดอุทิศกำลังกาย กำลังใจ และกำลังทรัพย์มากมายเพื่อให้ความช่วยเหลือประคับประคองแก่เด็กๆ และครอบครัวที่ตกอยู่ในสถานการณ์ลำบาก
ความตั้งใจของเขาไม่มีอะไรซับซ้อน แค่ไม่อยากเห็นเด็กคนไหนต้อง ‘หิว’ เหมือนที่เขาเคยพบเจอช่วงเวลาที่ยากลำบากในชีวิต
เหมือนวันนี้ที่หนึ่งในคำพูดที่ทำให้แรชฟอร์ดยิ้มออก นอกจากคำขอบคุณสำหรับของขวัญคริสต์มาส และสนามฟุตบอล 3G ขนาด Five-a-Side ที่เขาเป็นคนออกทุนค่าก่อสร้างให้เด็กๆ ทุกคนมีที่โลดแล่นเล่นฟุตบอลกัน ยังมีเรื่องอื่นด้วย
“ขอบคุณสำหรับอาหารด้วยเช่นกันนะครับมาร์คัส” ข้อความพิเศษที่เขียนจากใจของหนุ่มน้อยที่ดูแล้วอายุไม่น่าเกิน 4 ขวบ
คำขอบคุณเล็กๆ เหล่านี้เป็นหนึ่งในความสุขในช่วงชีวิตของเขา และเป็นสิ่งที่ทำให้เขาตั้งใจที่จะสานต่อโครงการนี้ต่อไปให้นานเท่านาน
บางทีโครงการนี้อาจจะยืนยาวกว่าช่วงเวลาของเขากับแมนฯ ยูไนเต็ด และเรื่องนี้คนที่รู้ดีที่สุดคือตัวของแรชฟอร์ดเอง
ในวัย 27 ปีที่ผ่านการรับใช้สโมสรมากว่า 426 เกม ทำไป 138 ประตู และเคยเป็นหนึ่งในความหวังที่ยิ่งใหญ่ที่สุดของยุคสมัย แรชฟอร์ดควรจะได้อยู่ในโอลด์แทรฟฟอร์ดไปตลอดช่วงชีวิตการเล่นที่เหลือ เหมือน ไรอัน กิกส์ หรือ แกรี เนวิลล์ ในฐานะ “One-Club-Man” ชายผู้ไม่เคยไปจากสโมสร
แต่ด้วยเหตุผลหลายอย่าง โดยเฉพาะเรื่องของผลงานในสนามที่ตกต่ำลงอย่างน่าใจหายในช่วง 2 ฤดูกาลที่ผ่านมา ทำให้เขาถูกตั้งคำถาม
เจ็บที่สุดคือเรื่องของ ‘ความเป็นมืออาชีพ’ การถูกตัดชื่อจากเกมแมนเชสเตอร์ดาร์บี้โดยนายใหญ่คนใหม่ที่เพิ่งเข้ามาทำงานได้ไม่ถึง 2 เดือน เหมือนเป็นการตอกย้ำสิ่งที่ผู้คนพูดกันมากมายว่าเขาสูญเสียความมุ่งมั่นตั้งใจที่จะลงสนามไปแล้ว
เสียงสะท้อนยังถูกส่งผ่านกล่องข้อความของเขาในโซเชียลมีเดียที่ไม่น่าพิสมัยนัก
“ผมรู้สึกไม่ค่อยเข้าใจ (ในสิ่งที่คนกล่าวหา) แต่ผมก็รับไหว ผมเป็นคนง่ายๆ แบบนี้แหละ ผมรักฟุตบอล มันเป็นส่วนหนึ่งในชีวิตของผมมาตั้งแต่เริ่ม” แรชฟอร์ดบอก
ก่อนจะยอมรับว่าการโดนตัดชื่อจากทีมในเกมดาร์บี้เป็นเรื่องที่ทำให้เขา ‘หัวใจสลาย’
แต่เมื่อมันผ่านไปแล้ว และทีมก็ชนะ ทุกอย่างก็ดำเนินต่อไป แรชฟอร์ดบอกว่าวันนี้เขาเป็นคนที่เติบโตขึ้นกว่าเก่า และรับมือกับช่วงเวลาที่ยากลำบากได้ “จะให้ผมทำอะไร? นั่งตรงนี้แล้วร้องไห้ หรือพยายามให้ดีที่สุดในครั้งต่อไปเมื่อผมได้โอกาส”
พูดถึงการเริ่มต้นใหม่กับเจ้านายคนใหม่อย่างอโมริม ความจริงเขาก็เริ่มต้นได้ไม่เลวร้ายเลย
การเข้าฮอสจบสกอร์ในเกมที่แมนฯ ยูไนเต็ดพบกับอิปสวิช ทาวน์ ที่พอร์ตแมนโรดตั้งแต่นาทีที่ 2 เป็นการจุดประกายที่แวววาวไม่เบา เพียงแต่ในขณะที่ อาหมัด ดิยัลโล ปีกที่เคยถูกลืมซึ่งเป็นผู้กระชากบอลไปเปิดเข้ามาให้ในวันนั้นชีวิตกำลังรุ่งโรจน์เหมือนเปลวไฟ ล่าสุดกลายเป็นฮีโร่คนใหม่ทำประตูชัยในเกมแมนเชสเตอร์ดาร์บี้
ชีวิตของแรชฟอร์ดไม่ต่างอะไรจากแมนฯ ยูไนเต็ด ในวันนั้นที่โดนอิปสวิชของ คีแรน แมคเคนนา อดีตทีมงานยุคของ โอเล กุนนาร์ โซลชาร์ ลูกหม้อของสโมสรตามตีเสมอจนทุกอย่างกลับมาหยุดชะงักอีกครั้ง
ไม่ต่างอะไรจากดอกไม้ไฟที่จุดขึ้นแล้วสว่างวาบเพียงแวบเดียว
แรชฟอร์ดทำได้ 3 ประตูนับตั้งแต่อโมริมเข้ามารับตำแหน่งอย่างเป็นทางการ แต่ยิ่งเวลาผ่านไปก็มองเห็นความยากลำบากกับระบบการเล่นใหม่ 3-4-2-1 ที่เจ้าตัวเองก็ยอมรับว่าไม่ใช่ระบบที่เข้ากับสไตล์การเล่นของเขามากนัก
“ผมสามารถเล่นได้ในทั้ง 3 ตำแหน่ง (ปีกซ้าย, หมายเลข 9, หมายเลข 10) บางตำแหน่งอาจจะเป็นธรรมชาติสำหรับผมมมากกว่า บางตำแหน่งผมอาจจะต้องซ้อมให้มากขึ้น และต้องปรับเรื่องแท็กติก แต่การยืนทางซ้ายเหมาะกับผมที่สุด “
แล้วการยืนเป็น The Left 10 หรือหมายเลข 10 ฝั่งซ้ายเป็นไปได้ไหมสำหรับเขา? แรชฟอร์ดย้ำว่าเขาเองก็มีสกิลเซ็ตในการปรับตัว (Adaptability) เรื่องนี้เป็นสิ่งที่คนอาจจะมองไม่เห็น แต่ถ้าสังเกตดีๆ จะพบว่าเขาเล่นมาหลายตำแหน่ง และบทบาทใต้การคุมของผู้จัดการทีมทุกคน
ว่ากันว่านักฟุตบอลอาชีพ – ซึ่งเป็นอาชีพที่มีอายุการใช้งานสั้นแค่ราวสิบกว่าปี – จะถึงช่วงสูงสุดของชีวิตการเล่นในอายุราว 28-30 ปี
เช่นนั้นสำหรับแรชฟอร์ด เขาเชื่อว่าตัวเองยังไม่ถึงจุดพีคของชีวิตการเล่น และความจริงเขาเชื่อว่า 9 ปีกับพรีเมียร์ลีกเป็นแค่ ‘ครึ่งทาง’ เท่านั้น และนั่นนำไปสู่คำถามที่หลายคนอยากรู้
เขาอยากจะอยู่
หรือว่าจะไป
“สำหรับผม ผมคิดว่าพร้อมแล้วสำหรับความท้าทายใหม่และก้าวต่อไปในชีวิต”
ตลอดช่วงเวลาที่ผ่านมาสอนอะไรเขามากมายในชีวิต ไม่มีอะไรที่จะต้องเสียใจเมื่อมองย้อนกลับไป และจะไม่มีอะไรให้เสียใจเมื่อคิดถึงวันข้างหน้า “ผมใช้ชีวิตอยู่กับปัจจุบัน วันต่อวัน บางวันก็มีเรื่องไม่ดีเกิดขึ้น บางวันก็มีเรื่องที่ดีเกิดขึ้น ผมก็แค่ต้องหาความสมดุล”
ดังนั้นต่อให้จะต้องไป ก็จะไม่มีความรู้สึกที่ไม่ดีเกิดขึ้นระหว่างกัน
“คุณไม่มีวันจะได้ยินผมพูดถึงแมนฯ ยูไนเต็ด ในแง่ลบจากผมแน่นอน”
Always a Red ไม่ว่าอะไรจะเปลี่ยนแปลงไป นี่คือสิ่งเดียวที่แรชฟอร์ดจะไม่ยอมเปลี่ยนแปลง