วันนี้ (16 ธันวาคม) ที่โรงแรมอนันตรา สยาม กรุงเทพฯ ศุภมาส อิศรภักดี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) พร้อมด้วย โรเบิร์ต เอฟ. โกเดค เอกอัครราชทูตสหรัฐอเมริกาประจำประเทศไทย, ดร.ปกรณ์ อาภาพันธุ์ ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) หรือ GISTDA, ผู้แทนจาก NASA และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เข้าร่วมงานลงนามข้อตกลง Artemis Accords ซึ่งเป็นความร่วมมือด้านพลเรือนกับสหรัฐอเมริกาในการสำรวจอวกาศ
ตามที่มติคณะรัฐมนตรีเห็นชอบการลงนามข้อตกลงเมื่อวันอังคารที่ 29 ตุลาคม 2567 ให้ GISTDA ภายใต้กระทรวง อว. ซึ่งเป็นหน่วยลงนามและหน่วยประสานงานหลักของประเทศไทย (National Focal Point) ลงนามใน Artemis Accords
สำหรับ Artemis Accords เป็นข้อตกลงสำคัญที่มุ่งเน้นการสำรวจและใช้งานอวกาศอย่างสันติ โดยลงนามครั้งแรกเมื่อวันที่ 13 ตุลาคม 2563 ประกอบด้วยสหรัฐอเมริกา ออสเตรเลีย แคนาดา อิตาลี ญี่ปุ่น ลักเซมเบิร์ก สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ และสหราชอาณาจักร ร่วมลงนามเป็นสมาชิก ปัจจุบันข้อตกลงดังกล่าวมีสมาชิกร่วมลงนามแล้ว 50 ประเทศ และประเทศไทยจะเป็นประเทศที่ 51 ของโลก สำหรับในภูมิภาคอาเซียน ประเทศไทยเป็นประเทศที่ 2 ที่ร่วมลงนามใน Artemis Accords ต่อจากประเทศสิงคโปร์
นอกจากนี้ Artemis Accords ยังทำหน้าที่เสริมสร้างความร่วมมือใน Artemis Program เพื่อการสำรวจดวงจันทร์และอวกาศร่วมกับ NASA ให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพและยั่งยืนในระดับสากล เป็นโอกาสของประเทศไทยในการสร้างโอกาสในการพัฒนาวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และเศรษฐกิจ
ศุภมาสกล่าวถึงความสำคัญของการเข้าร่วมข้อตกลงนี้ว่า การลงนามในข้อตกลง Artemis Accords ถือเป็นก้าวสำคัญที่สะท้อนถึงความมุ่งมั่นของประเทศไทยในการก้าวสู่เวทีอวกาศระดับโลก ความร่วมมือครั้งนี้จะช่วยยกระดับขีดความสามารถทางเทคโนโลยีอวกาศของประเทศ และสร้างโอกาสให้กับนักวิจัย นักศึกษา และผู้ประกอบการไทย ในการเรียนรู้และพัฒนาเทคโนโลยีขั้นสูง พร้อมเสริมศักยภาพในการแข่งขันบนเวทีโลกอย่างยั่งยืน
การลงนามในวันนี้เป็นการลงนามครั้งประวัติศาสตร์ในเรื่องของกิจการอวกาศที่ กระทรวง อว. ให้ความสำคัญและเป็นเป้าหมายที่เราพยายามผลักดันมาโดยตลอด ไม่ว่าจะเป็นเทคโนโลยี การหาองค์ความรู้ทางวิทยาศาสตร์และการวิจัย เราสามารถที่จะนำสิ่งเหล่านี้ไปใช้ประโยชน์กับสาธารณะได้
ดังนั้นการเข้าสู่ Artemis Accords ในวันนี้ เป็นการแสดงเจตจำนงของเราต่อการพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศ โดยเฉพาะการสำรวจอวกาศ ซึ่งเป็นหนึ่งในภารกิจของกระทรวง อว. ที่เรามุ่งเน้นที่จะผลิตบุคลากร และการที่เราอยู่ใน Artemis Accords นั้นจะทำให้เรามีองค์ความรู้และได้รับความช่วยเหลือจากประเทศภาคีสมาชิกทั้ง 50 ประเทศ ทำให้นักวิทยาศาสตร์ นักวิจัย และนักวิชาการของประเทศไทย มีองค์ความรู้เรื่องของอวกาศและนำไปสู่เทคโนโลยีที่มีความทันสมัยทัดเทียมกับประเทศอื่นๆ ได้
เมื่อถามถึงโอกาสของการพัฒนาศักยภาพของบุคลากรคนไทยหลังจากเข้าร่วม Artemis Accords ศุภมาสกล่าวว่า หลังจากนี้เราจะมีการตั้งทีมไทยแลนด์ที่เป็นบอร์ดแห่งชาติเพื่อจะศึกษาเรื่องเหล่านี้ แต่เราจะไม่จำกัดเพียงแค่เป็นบุคลากรในกระทรวง อว. เท่านั้น แต่จะต้องเป็นความร่วมมือของทุกฝ่าย ทั้งข้าราชการ รัฐ และเอกชน
ศุภมาสกล่าวว่า สำหรับธุรกิจอวกาศนั้นกว่าที่เราจะส่งอุปกรณ์ชิ้นหนึ่งไปสู่ดวงจันทร์ได้จะต้องผ่านเรื่องราวระหว่างทางมากมาย จะทำให้มีองค์ความรู้ ทำให้เกิดรายได้และมีธุรกิจใหม่ๆ แม้จะไปไม่ถึงดวงจันทร์ แต่องค์ความรู้นั้นย่อมนำไปสู่งานอื่นๆ ได้เช่นเดียวกัน ดังนั้นการสำรวจอวกาศนั้นเป็นเรื่องที่เราต้องสนับสนุน
ส่วนแผนงานหลังนี้ ศุภมาสกล่าวว่า ขออนุญาตยังไม่เปิดเผย เนื่องจากยังต้องมีการดำเนินการอีกมาก ซึ่งจะมีการแถลงข่าวความคืบหน้าเป็นระยะ เพราะแผนงานนั้นเป็นเรื่องละเอียดอ่อนที่จะต้องมีการนำเสนอต่อสังคมรวมถึงรัฐบาล แต่ยืนยันว่าจะได้เห็นแผนงานที่เกี่ยวข้องกับอวกาศเรื่อยๆ
ส่วน ดร.ปกรณ์ กล่าวว่า หลังจากนี้ประเทศไทยจะเข้าสู่ยุคใหม่ของการสำรวจอวกาศอย่างเต็มตัว ซึ่งประเทศไทยต้องเร่งศึกษาและร่วมหารือกับ NASA อย่างใกล้ชิด พร้อมกับตั้งทีมงานที่เกี่ยวข้อง ทั้งด้านกฎหมาย ด้านการต่างประเทศ และด้านเทคนิค เพื่อนักวิจัยและหน่วยงานต่างๆ รวมถึงภาคเอกชนในประเทศไทยมีส่วนร่วมในโครงการ Artemis อย่างเต็มรูปแบบ ซึ่ง GISTDA จะทำหน้าที่เป็นหน่วยประสานงานหลักให้กับประเทศ
พร้อมทั้งจะเสนอโครงการ Artemis Thailand ผ่านความเห็นชอบของคณะกรรมการนโยบายอวกาศแห่งชาติตามขั้นตอนต่อไป ทั้งนี้ การลงนามครั้งนี้ไม่เพียงแต่ส่งเสริมความก้าวหน้าในด้านเทคโนโลยีอวกาศเท่านั้น แต่ยังสร้างโอกาสใหม่ให้กับประเทศไทยในเวทีโลก ทั้งในด้านวิชาการและอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้อง เพื่อยกระดับศักยภาพของประเทศให้ก้าวสู่ยุคแห่งการสำรวจอวกาศอย่างต่อเนื่องและยั่งยืน