รมว.คลัง เตรียมปฏิรูประบบภาษีไทยครั้งใหญ่! ลั่นเล็งปรับลดภาษีเงินได้นิติบุคคลและส่วนบุคคลเหลือ 15% เพื่อดึงดูดเม็ดเงินลงทุนและแรงงานมีฝีมือต่างชาติ พร้อมส่งสัญญาณขึ้นภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) เพื่อนำรายได้ภาษีส่วนนี้มาช่วยผู้มีรายได้น้อย
วันนี้ (3 ธันวาคม) พิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวในงาน Sustainability Forum 2025: Synergizing for Driving Business ซึ่งจัดโดยกรุงเทพธุรกิจ โดยระบุว่า ปัจจุบันการลงทุนในประเทศไทยต่ำเกินไป ดังนั้นเพื่อที่จะดึงดูดการลงทุนในประเทศให้เพิ่มขึ้น รัฐบาลจึงอยากให้ต้นทุนการเงินต่ำลง ผ่านการทำนโยบายการคลังและการเงิน ดังนี้
นโยบายการคลัง: จ่อหั่นภาษีเงินได้นิติบุคคล-ส่วนบุคคล
พิชัยกล่าวว่า “วันนี้เศรษฐกิจโลกเปลี่ยนไปแล้ว ทำให้บริษัทข้ามชาติต่างๆ โดยเฉพาะประเทศตะวันตก ขยายการไปลงทุนทั่วโลก ผ่านการตั้งบริษัทไว้ที่ต่างๆ ในโลก โดยภาษีอาจจะไม่ได้เสียไปถึงเจ้าของประเทศ แต่ไปอยู่ในดินแดนปราศจากภาษี (Tax Haven) แทน ทั่วโลกจึงพยายามที่จะกำหนดภาษีเงินได้นิติบุคคลขั้นต่ำทั่วโลก (Global Minimum Tax) ขึ้นมา โดยควรจะอยู่ที่ 15% ขณะที่อัตราภาษีนิติบุคคลไทยปัจจุบันที่ 20% รัฐบาลจึงคิดว่าทำอย่างไรจะลดลงมาเพื่อให้ไทยแข่งขันกับชาวโลกได้ ผมมองว่าคนอื่นลดได้ เราก็ต้องลดได้”
ทั้งนี้ องค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา (OECD) กำลังเสนอแนวทางการจัดเก็บภาษีรูปแบบใหม่กับบริษัทข้ามชาติขนาดใหญ่ (MNEs) ซึ่งมีสมาชิกกว่า 130 ประเทศเข้าร่วมข้อตกลง รวมถึงประเทศไทย ให้อยู่ที่ 15%
ไม่ใช่แค่ภาษีนิติบุคคลเท่านั้น พิชัยยังกล่าวถึงการลดภาษีส่วนบุคคล (Personal Income Tax) เพื่อแย่งแรงงานมีฝีมือ โดยระบุว่า “วันนี้มีการแย่งคนเก่งมีสติปัญญาให้เข้ามาทำงานในประเทศ หลายประเทศจึงลดภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาลง” พร้อมกล่าวอีกว่า “ปัจจุบันอัตราภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาของไทยสูงสุดอยู่ที่ 35% ก็ไม่ได้มีคนจ่ายในอัตรานี้กันมากนัก หลายประเทศก็ลงมาที่ 15% แล้ว แปลว่าไทยต้องปรับตัวเอง”
เล็งขึ้น VAT เก็บรายได้มาช่วย ‘คนจน’
พิชัยกล่าวอีกว่า ปัจจุบันไทยเก็บภาษีบริโภคต่ำเกินไป ดังนั้นหากไทยเก็บ VAT ได้สูงขึ้นในอัตราที่เหมาะสม ก็จะเป็นการช่วยคนรายได้ต่ำมากขึ้น รวมทั้งช่วยลดช่องว่างระหว่างรายได้คนจนและคนรวยให้แคบลง
“ปัจจุบันทั่วโลกเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) เฉลี่ยอยู่ที่ 15-25% แปลว่าวันนี้ไทยยังเก็บภาษีบริโภคน้อย ถ้าไทยเก็บ VAT ในอัตราที่เหมาะสม จะช่วยให้คนจนรอด” พิชัยกล่าว
รมว.คลัง อธิบายเพิ่มเติมว่า การเก็บ VAT เพิ่มขึ้นจะลดความเหลื่อมล้ำได้ เนื่องจากการขึ้น VAT จะทำให้รัฐบาลสามารถจัดเก็บภาษีได้ทั้งจากคนรายได้สูงและรายได้ต่ำมากขึ้น ทำให้รัฐบาลมีรายได้เข้ากองกลางมากขึ้น และนำรายได้ดังกล่าวมาคืนให้คนรายได้น้อยมากขึ้นผ่านมาตรการต่างๆ เช่น สาธารณสุขและการศึกษา รวมถึงนำรายได้ดังกล่าวมาเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน ผ่านการสร้างโครงสร้างพื้นฐาน เพื่อลดต้นทุนต่างๆ ให้กับภาคธุรกิจ
“ผมคิดทุกคืนว่าจะทำอย่างไรให้คนเข้าใจเรื่องนี้ (ขึ้น VAT) เพราะถ้าคนไม่เข้าใจ ผมจะอยู่รอดถึงวันไหนนะ อันนี้จึงเป็นเรื่องละเอียดอ่อนนะครับ” พิชัยกล่าว
ด้านแหล่งข่าวระดับสูงเปิดเผยกับ THE STANDARD WEALTH ว่า เบื้องต้นรัฐบาลวางแผนที่จะปรับขึ้น VAT จากอัตราปัจจุบันที่ 7% เป็น 8% แต่ไม่ใช่ในระยะเวลาอันใกล้ โดยคาดว่าโอกาสที่จะปรับขึ้นจะเป็นหลังปีงบประมาณ พ.ศ. 2568 เป็นต้นไป
นโยบายการเงิน: อยากเห็นการลดดอกเบี้ยนโยบายดึงต้นทุนการเงินให้ต่ำ
รมว.คลัง กล่าวอีกว่า เพื่อดึงดูดเม็ดเงินการลงทุน จึงต้องการเห็นอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ลดลงและเงินบาทที่อ่อนค่ากว่านี้ พร้อมมองว่าอัตราเงินเฟ้อไทยเฉลี่ยทั้งปีนี้ไม่ถึง 1%
“แม้อัตราเงินเฟ้อที่ต่ำจะทำให้ชาวบ้านรู้สึกดี แต่ผู้ผลิตอาจไม่สบายเนื้อสบายตัว เนื่องจากผลิตของไม่ได้ เห็นได้จากการผลิตในประเทศค่อนข้างต่ำ” พิชัยกล่าว
นอกจากนี้พิชัยยังกล่าวอีกว่า เนื่องจากประเทศไทยเป็นประเทศส่งออก โดยการส่งออกคิดเป็น 65-66% ของ GDP จึงอยากเห็นเงินบาทอ่อนลงด้วย
อย่างไรก็ตาม พิชัยยืนยันว่านโยบายการเงินเหล่านี้เป็นเพียงนโยบายที่รัฐบาลอยากเห็นเท่านั้น กระนั้นเพื่อให้การบริหารเป็นไปด้วยความรอบคอบ รัฐบาลจึงต้องให้หน่วยงานที่กำกับดูแลด้านนี้สามารถคิดได้อย่างอิสระ