วันนี้ (3 ธันวาคม) แพทองธาร ชินวัตร นายก รัฐมนตรี เป็นประธานการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) โดยก่อนการประชุม ขรรค์ ประจวบเหมาะ ผู้อำนวยการสำนักงานจัดหารายได้ สภากาชาดไทย รองประธานคณะกรรมการอำนวยการจัดงานกาชาดประจำปี 2567 และคณะผู้บริหาร นำศิลปิน ดารา กุลบุตร-กุลธิดากาชาด และมาสคอต ‘ไอจัง’ เข้าพบนายกรัฐมนตรี เพื่อจัดกิจกรรมประชาสัมพันธ์งานกาชาดประจำปี 2567 ภายใต้แนวคิด ‘ทศมราชา 72 พรรษา ถวายพระพร’ ระหว่างวันที่ 11-22 ธันวาคม 2567 ณ สวนลุมพินี และบนแพลตฟอร์มออนไลน์
สำหรับวาระที่คาดว่าจะเข้าสู่การพิจารณาในวันนี้ กระทรวงมหาดไทยเตรียมเสนอเงินเยียวยาผู้ประสบอุทกภัยภาคใต้ วงเงินเบื้องต้นกว่า 5 พันล้านบาท ให้กับทุกจังหวัดที่ประสบภัย เป็นการจ่ายตามหลักเกณฑ์เดียวกับทุกภาคที่ประสบภัยในช่วงที่ผ่านมา สูงสุดครัวเรือนละ 9,000 บาท ซึ่งการประเมินความเสียหายจะใช้ 2 หลักเกณฑ์ คือ 1. เกิดน้ำท่วมฉับพลัน ทรัพย์สินได้รับความเสียหาย น้ำท่วมขังไม่เกิน 7 วัน 2. กรณีน้ำท่วมขังเกิน 7 วัน
ด้านกระทรวงการคลังเตรียมเสนอโครงการสนับสนุนค่าบริหารจัดการและพัฒนาคุณภาพผลผลิตเกษตรกรผู้ปลูกข้าวประจำฤดูกาลผลิต 2567/2568 ไร่ละ 1,000 บาท หรือโครงการไร่ละพัน หลังรับฟังความเห็นไปก่อนหน้านี้ และคาดว่าจะเริ่มจ่ายเงินได้ทันสิ้นปีนี้ เพื่อเป็นของขวัญปีใหม่ให้กับเกษตรกร โดยจ่ายเงินผ่านธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.)
นอกจากนี้คาดว่าที่ประชุมจะพูดคุยเรื่องโครงการกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านผู้สูงอายุด้วยการแจกเงิน 10,000 บาท ที่มีกลุ่มเป้าหมายไม่เกิน 4 ล้านคน โดยใช้งบประมาณ 4 หมื่นล้านบาท หรือโครงการกระตุ้นเศรษฐกิจด้วยการแจกเงินหมื่นเฟส 2
รวมไปถึงต้องติดตามที่ประชุมวันนี้จะตั้งคณะกรรมการศูนย์ภัยพิบัติแห่งชาติ เพื่อเตรียมรับมือกับภัยพิบัติอย่างทันท่วงที
ด้าน ประเสริฐ จันทรรวงทอง รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม เปิดเผยว่า นายกรัฐมนตรีมอบหมายให้ตนลงพื้นที่ภาคใต้ใน 3 จังหวัดที่ประสบอุทกภัยในวันที่ 6 ธันวาคมนี้ เพื่อไปตรวจและติดตามการทำงานของสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.)
ประเสริฐเปิดเผยว่า ในส่วนของกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมที่ผ่านมา ดำเนินการเกี่ยวกับการติดตั้งเสาสัญญาณต่างๆ ที่ล้มจากอุทกภัย และทำให้สัญญาณขาดหายไปบางส่วน แม้ว่าความเสียหายในการใช้สัญญาณจะยังไม่ปรากฏมากนัก แต่ตนกำชับไปทางสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) และผู้ให้บริการเครือข่ายมือถือ ให้ดำเนินการอำนวยความสะดวกและช่วยเหลือพี่น้องประชาชนในพื้นที่อับสัญญาณอย่างเต็มที่ เพื่อให้พี่น้องประชาชนสามารถใช้โทรศัพท์มือถือหรืออุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์อื่นๆ ติดต่อภายในสู่ภายนอกได้ ฉะนั้นยืนยันว่าในพื้นที่ไม่มีปัญหาเรื่องสัญญาณโทรศัพท์แน่นอน
ส่วนเรื่องการเตือนภัย ประเสริฐย้ำว่าหากมีเหตุที่ถึงขั้นต้องเตือนภัย ระบบ Cell Broadcast ที่วางไว้ก็จะแจ้งเตือนภัยตามปกติ ซึ่ง สทนช. ตั้งศูนย์ส่วนหน้าเตรียมรับมือกับเหตุอุทกภัยไว้แล้วตั้งแต่ต้นเดือนพฤศจิกายน เพราะทราบดีว่าในช่วงปลายเดือนพฤศจิกายนถึงต้นเดือนธันวาคมอาจเกิดอุทกภัยขึ้น