ทรูย้ำ ปัจจุบันเสาสัญญาณเครือข่ายทรู-ดีแทค ถูกอัปเกรดสู่ความทันสมัยแล้ว มั่นใจ 5G เร็วขึ้นกว่าเดิม พร้อมชูกลยุทธ์ ‘3Zero’ ยกระดับโครงข่ายด้วย AI ตัวช่วยแก้ปัญหาลูกค้าแบบเรียลไทม์
ประเทศ ตันกุรานันท์ หัวหน้าคณะผู้บริหารด้านเทคโนโลยี บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) กล่าวถึงความคืบหน้าการยกระดับโครงข่ายสู่ความทันสมัย (Network Modernization) ดำเนินการมาแล้วกว่า 10,800 สถานีฐาน คิดเป็น 64% ของแผนงานทั้งหมด
เบื้องต้นคาดว่าจะแล้วเสร็จภายในปี 2568 โดยการพัฒนาครั้งนี้ทำให้ประสิทธิภาพเครือข่ายเพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดด ในพื้นที่ที่ได้รับการอัปเกรดจะมีความเร็ว 5G เพิ่มขึ้น 48% ส่วนความเร็ว 4G เพิ่มขึ้น 13% และแบนด์วิดท์เพิ่มขึ้น 35% พร้อมรองรับการเติบโตของผู้ใช้บริการ 5G ที่มีจำนวน 12.4 ล้านราย เพิ่มขึ้น 5.4% จากไตรมาสก่อน
ข่าวที่เกี่ยวข้อง:
- TRUE เผยงบไตรมาส 1 รายได้ 3.9 หมื่นล้านบาท แต่ขาดทุนสุทธิ 492 ล้านบาท คงเป้าหมายรายได้ – EBITDA ปีนี้ โตหลักเดียวในระดับต่ำ
- สิ้นสุดทางเพื่อนของนายและใบเฟิร์น สู่การเป็นพรีเซนเตอร์ร่วมกันภายใต้ ‘ทรู คอร์ปอเรชั่น’ ที่หวังสร้างความมั่นใจให้ลูกค้าหลังควบรวมกิจการ
- TRUE คิกออฟธุรกิจไลฟ์สไตล์หลังการควบรวม DTAC เปิดตัวแบรนด์ใหม่ ‘TrueX’ พร้อมดึง ‘ลิซ่า BLACKPINK’ มาเป็นแบรนด์แอมบาสเดอร์
ถึงกระนั้นที่ผ่านมาบริษัทพัฒนาประสิทธิภาพเครือข่ายด้วยการอัปเกรดอุปกรณ์ส่งสัญญาณรุ่นใหม่ที่รองรับการกระจายสัญญาณหลายความถี่ มุ่งเน้นการขยายคลื่น 700 MHz และ 2600 MHz พร้อมเพิ่มประสิทธิภาพคลื่น 700 MHz และ 2100 MHz ส่งผลให้ลูกค้าทรูและดีแทคได้ใช้งานเครือข่ายที่ครอบคลุมพื้นที่ และยังอยู่ระหว่างรอดูเกณฑ์การประมูลคลื่นความถี่ที่ชัดเจนจากสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) เพื่อเตรียมแผนเข้าร่วมประมูลคลื่นความถี่ใหม่ในปี 2568
สำหรับทิศทางต่อจากนี้ จะเร่งพัฒนาเครือข่ายอัจฉริยะที่ขับเคลื่อนด้วย AI ภายใต้ กลยุทธ์ 3Zero ซึ่งเป็นเป้าหมาย 3 ปี ประกอบไปด้วย 1. Zero Touch นวัตกรรม เครือข่ายอัตโนมัติขั้นสูงที่ผสานพลัง AI และ Machine Learning เพื่อสร้างระบบบริหารจัดการแบบ AI-powered closed-loop automation ที่จะตรวจจับ วิเคราะห์ แก้ไข และยืนยันการแก้ปัญหาแบบอัตโนมัติ มุ่งยกระดับประสิทธิภาพการบริหารโครงข่ายให้สูงขึ้น 80% พร้อมลดการใช้พลังงานลง 30% และป้องกันความผิดพลาดจากการปฏิบัติงานได้ถึง 80%
- Zero Wait เป็นระบบ AI ที่ปรับแต่งเครือข่ายแบบเรียลไทม์ตามพฤติกรรมผู้ใช้งานแบบไร้รอยต่อ เพิ่มประสิทธิภาพเครือข่ายทันที เช่น กรณีมีการรวมตัวใช้งานของกิจกรรมต่างๆ เช่น พื้นที่จัดคอนเสิร์ต หรือกิจกรรมที่มีผู้ใช้งานหนาแน่น โดยตั้งเป้าเพิ่มความเร็วในการปรับแต่งเครือข่าย 50% พร้อมแก้ไขปัญหาลูกค้าได้เร็วขึ้น 3-4 เท่า
และ 3. Zero Trouble ระบบ AI จะช่วยวิเคราะห์ข้อมูลเครือข่ายแบบเรียลไทม์ เพื่อคาดการณ์และป้องกันปัญหา พร้อมวางแผนบำรุงรักษาเชิงป้องกัน (Proactive Maintenance) โดยตั้งเป้าลดเวลาเครือข่ายขัดข้อง 40% ลดข้อร้องเรียน 40% และเพิ่มความพึงพอใจลูกค้า (NPS) 30% ภายใน 3 ปี
นอกจากการพัฒนาโครงข่ายแล้ว สิ่งที่ ทรู คอร์ปอเรชั่น จะให้ความสำคัญไปพร้อมกันคือการขับเคลื่อนเศรษฐกิจดิจิทัล สังคมเมือง ความยั่งยืน และการพัฒนาชุมชน ด้วยการนำโครงข่ายไปผสาน Tech For Good สร้างนวัตกรรมเทคโนโลยียกระดับคุณภาพชีวิตให้ได้อย่างยั่งยืน
ที่ผ่านมาบริษัทจับมือกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช และ WWF ประเทศไทย ทำโครงการเฝ้าระวังช้างป่าด้วยระบบเตือนภัยล่วงหน้า ด้วยการใช้โซลูชัน True Smart Early Warning System (TSEWS) ในเขตพื้นที่อุทยานแห่งชาติกุยบุรี จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ซึ่งเห็นแล้วว่าสามารถลดความขัดแย้งระหว่างคนกับช้างได้เป็นอย่างดี และจากนี้เตรียมนำโมเดลดังกล่าวขยายสู่พื้นที่กลุ่มป่าตะวันออก หรือป่ารอยต่อทั่วประเทศไทย